การตรวจสุขภาพเต้านมอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะเต้านมเกิดความผิดปกติต่างๆ ได้มากมาย เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพเต้านมได้อย่างเหมาะสม บทความนี้เราจะพาไปดู 10 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม เนื้องอก และซีสต์เต้านม ซึ่งเป็นความผิดปกติในเต้านมที่พบได้บ่อยกัน
สารบัญ
- 1. คลำเจอก้อนที่เต้านม แสดงว่าเป็นมะเร็งเต้านมแน่นอน
- 2. หน้าอกใหญ่มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่าหน้าอกเล็ก
- 3. การเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้
- 4. การตรวจแมมโมแกรมทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้
- 5. ถ้าเคยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี
- 6. ซีสต์เต้านม ก้อนที่เต้านม ถ้าปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมได้
- 7. ดื่มน้ำเต้าหู้บ่อยๆ ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้
- 8. สวมชุดชั้นในนอนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
- 9. มะเร็งเต้านมพบได้ในผู้หญิงเท่านั้น
- 10. ถ้าไม่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ก็ไม่มีความเสี่ยง
1. คลำเจอก้อนที่เต้านม แสดงว่าเป็นมะเร็งเต้านมแน่นอน
ก้อนที่เต้านม สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งเต้านม เนื้องอกชนิดปกติที่ไม่อันตราย ก้อนที่เกิดจากเซลล์ไขมันในเต้านมที่ตายแล้วจับตัวกัน หรือถุงน้ำในเต้านม ฉะนั้นการคลำเจอก้อนที่เต้านมจึงไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป อย่าเพิ่งกังวลใจเกินไป แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมจะดีกว่า
2. หน้าอกใหญ่มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากกว่าหน้าอกเล็ก
ขนาดของหน้าอกไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม เพียงแต่ขนาดหน้าอกที่ใหญ่จะสามารถตรวจแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์ แล้วเจอเซลล์มะเร็งเต้านมได้ง่ายกว่า จึงมักพบผู้เป็นโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีขนาดหน้าอกใหญ่มากกว่าหน้าอกเล็กนั่นเอง
3. การเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้
การเสริมซิลิโคนหน้าอกไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม และโดยส่วนใหญ่ หากเสริมหน้าอกกับสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ซิลิโคนที่ใช้จะเป็นซิลิโคนเกรดทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัยสูง สามารถใส่เข้าไปในร่างกายได้โดยไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่พบว่าคนเสริมหน้าอกเป็นมะเร็งเต้านม อาจเกิดจากการที่มีเซลล์มะเร็งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมก่อนที่จะเสริมหน้าอก และเมื่อระยะเวลาผ่านไปที่โรคมะเร็งเริ่มลุลาม จึงตรวจพบมะเร็งเต้านมนั่นเอง
4. การตรวจแมมโมแกรมทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้
ไม่จริง รังสีที่ได้รับจากการตรวจแมมโมแกรมมีปริมาณที่น้อยมากๆ การตรวจ 1 ครั้ง จะได้รับปริมาณรังสีเทียบเท่ากับรังสีที่ได้รับในชีวิตประจำวันเพียง 7 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้แต่อย่างใด
ถึงแม้ว่า ผู้ตรวจแมมโมแกรมจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่ไม่ตรวจ แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ตรวจพบเซลล์มะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และเพิ่มโอกาสในการรักษาหายได้มากขึ้น ก็นับว่าคุ้มค่ามากกว่า
5. ถ้าเคยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี
ไม่จริงเสมอไป ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ และปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน หากมีความเสี่ยงมาก เช่น ตรวจพบก้อนที่หน้าอก และมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม ก็อาจจำเป็นต้องตรวจติดตามอาการเป็นประจำทุกปี หากอยากทราบข้อมูลที่แน่ชัด แนะนำให้ถามแพทย์ที่ทำการตรวจโดยตรงจะดีที่สุด
6. ซีสต์เต้านม ก้อนที่เต้านม ถ้าปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมได้
ไม่จริง ซีสต์ที่เต้านม และก้อนที่เต้านมที่เป็นเนื้องอกชนิดปกติ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต และอาจไม่จำเป็นต้องรักษา ถ้าไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือมีขนาดโตขึ้นจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
อย่างไรหากพบว่ามีก้อนที่เต้านม ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด และตรวจติดตามจากแพทย์เฉพาะทางอย่างสม่ำเสมอ
7. ดื่มน้ำเต้าหู้บ่อยๆ ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้
ไม่จริง ถึงแม้ว่าน้ำเต้า รวมไปถึงอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองอื่นๆ จะมีส่วนประกอบบางอย่างที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่สนับสนุนว่า การดื่มน้ำเต้าหู้เป็นประจำทุกวันจะทำให้เป็นโรคมะเร็งเต้านม
8. สวมชุดชั้นในนอนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
การสวมชุดชั้นในนอนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม แต่การที่ใส่ชุดชั้นในนอน โดยเฉพาะชุดชั้นในแบบมีโครงโลหะ ก็อาจทำให้เกิดการกดรัดเนื้อเต้านมจนทำให้เกิดอาการเจ็บ มีกาารเสียดสี เกิดแผล หรืออักเสบ จนทำให้เข้าใจผิดไปได้
9. มะเร็งเต้านมพบได้ในผู้หญิงเท่านั้น
ไม่จริง ผู้ชายก็สามารถเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยกว่าผู้หญิงมาก ถ้าหากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูง หรือเป็นผู้ชายที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิงอย่างต่อเนื่อง แล้วตรวจพบอาการผิดปกติ เช่น คลำพบก้อนที่เต้านม มีของเหลวไหลออกจากหัวนม สีผิว หรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป มีรอยย่น หรือหัวนมบุ๋ม ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
10. ถ้าไม่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ก็ไม่มีความเสี่ยง
มะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบเพียง 5-10% จากชนิดมะเร็งเต้านมทั้งหมด โดยเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการแบ่งเซลล์ และยีนชนิดที่สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลายได้ ได้แก่ BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งเราสามารถตรวจยีนมะเร็งได้ด้วยการตรวจ DNA
ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม เช่น อายุ การมีประจำเดือนเร็ว หรือประจำเดือนหมดช้ากว่ากำหนด ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ดังนั้นการที่คนในครอบครัวไม่ได้มีประวัติมะเร็งเต้านมก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ดี
10 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม เนื้องอก และซีสต์เต้านม ที่เรานำมาฝากในวันนี้ หวังว่าจะช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเต้านมของตัวเองมากขึ้น สามารถตรวจเช็กสุขภาพเต้านมด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง และรับมือกับโรคร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
สำหรับใครที่ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมอยู่ หรือมีอาการผิดปกติที่เต้านม แล้วกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หรือภาวะที่อันตรายรึเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย