การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านม ได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ซึ่งเป็นระยะที่มีโอกาสรักษาหายสูง และไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่มีหลายเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจนี้ ทำให้ไม่ได้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในวัยที่เหมาะสม กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมในระยะท้ายๆ จนยากที่จะรักษาแล้ว
เพื่อให้รู้สึกสบายใจในการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมากขึ้น สามารถดูแลสุขภาพเต้านมของตนเองได้อย่างเหมาะสม ในบทความนี้ เราจะพาไปดูเรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจเต้านมกัน จะมีเรื่องอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย
สารบัญ
1. ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว
หลายคนคิดว่า ถ้าตรวจเต้านมด้วยตนเอง แล้วไม่พบความผิดปกติอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาล เพราะไม่น่าจะเป็นอันตราย นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการใดๆ ส่วนอาการอย่างคลำพบก้อนที่เต้านม จะเป็นอาการของมะเร็งเต้านมในระยะที่ 1 หรือ 2 แล้ว
เพื่อการดูแลสุขภาพเต้านมของตนเองอย่างถูกต้อง แนะนำให้ผู้หญิงทุกคนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในช่วงวัยที่เหมาะสม โดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการแสดง เช่น ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ให้ตรวจอัลตราซาวด์เต้านมและตรวจแมมโมแกรม ทุก 1-2 ปี เป็นต้น
2. คลำเจอก้อนที่เต้านม แต่ไม่เจ็บ เท่ากับไม่ใช่มะเร็ง
การคลำเจอก้อนที่เต้านมเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่จะทำให้เกิดอาการอื่นๆ มากกว่า เช่น ผิวหนังดึงรั้ง หัวนมดึงรั้ง หรือต่อมน้ำเหลืองโต ใครที่พบว่ามีก้อนที่เต้านม แต่ไม่เจ็บ เท่ากับไม่ใช่มะเร็ง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก้อนที่เต้านมว่าเป็นก้อนอะไร เกิดจากสาเหตุใด จะปลอดภัยที่สุด
3. ตรวจแมมโมแกรมต้องเจ็บมากแน่ๆ
การตรวจแมมโมมแกรมในอดีตจะทำให้รู้สึกเจ็บมาก เพราะต้องมีการบีบและกดทับเต้านมในระหว่างที่ตรวจ แต่ในปัจจุบัน เราสามารถเลือกตรวจแบบดิจิทัลแมมแกรม (Digital Mammogram) ได้ ซึ่งเป็นการตรวจแมมโมแกรมในรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดการกดทับเต้านมที่รุนแรง ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจไม่รู้สึกเจ็บเต้านมมากเหมือนในอดีต
อยากตรวจดิจิทัลแมมแกรม คัดกรองมะเร็งเต้านมที่ รพ. ใกล้คุณ ทักหาทีม HDcare ช่วยค้นหาดีลดี ราคาโดนใจ นัดคิวให้ สะดวก รวดเร็วไม่ต้องคอยนาน คลิกเลย
4. ตรวจแมมโมแกรมบ่อย ๆ ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม
หลายคนเข้าใจผิดว่า การตรวจแมมโมแกรมจะทำให้ร่างกายได้รับรังสีมาก และทำให้เป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับรังสีในปริมาณที่น้อยมากๆ โดยการตรวจแมมโมแกรม 1 ครั้ง จะได้รับปริมาณรังสีเทียบเท่ากับรังสีที่ได้รับในชีวิตประจำวันเพียง 7 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้แต่อย่างใด
5. ต้องตรวจเต้านมเฉพาะผู้ที่มีหน้าอกขนาดใหญ่เท่านั้น
ผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่จะเสี่ยงเป็นมะเร็งมากกว่าผู้หญิงที่หน้าอกเล็ก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนมักเข้าใจผิด ทั้งที่จริงๆ แล้ว ขนาดหน้าอกไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด
สิ่งที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะอยู่ที่จำนวนของเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมมากกว่า โดยผู้ที่มีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมมากกว่า 75% จะมีความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงทั่วไป 4-6 เท่า ซึ่งเราสามารถเช็กได้ด้วยการตรวจแมมโมแกรม
5 ข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจเต้านมที่เรานำมาฝากในบทความนี้ หวังว่าจะช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ถูกต้องมากขึ้น และเข้ารับการตรวจในช่วงวัยที่เหมาะสม เพื่อเตรียมรับมือกับโรคในเต้านมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
สำหรับใครที่มีอาการผิดปกติที่เต้านม แล้วกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หรือภาวะที่อันตรายรึเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย