abdominal pains disease definition

ปวดท้องบริเวณไหน บอกโรคอะไรได้บ้าง?

อาการปวดท้อง ไม่ว่าจะเป็น ปวดหน่วงๆ ปวดแปลบ ปวดท้องจี๊ดๆ บางครั้งอาจปวดไม่มาก แต่เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หรือปวดท้องอย่างรุนแรงฉับพลัน ฯลฯ อาจเป็นสัญญาณบอกโรคต่างๆ ได้ และตำแหน่งที่ปวด เช่น ปวดท้องด้านซ้าย ปวดท้องด้านขวา ปวดจุกบริเวณลิ้นปี่หรือกลางๆ ท้อง ปวดรอบๆ สะดือ หรือปวดท้องน้อย ก็ช่วยบ่งบอกโรคที่เป็นได้ในเบื้องต้น

ดังนั้นหากคุณมีอาการปวดท้องบ่อยๆ การสังเกตลักษณะการปวดท้อง และนำมาแจ้งกับคุณหมออย่างครบถ้วน จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้น

ในช่องท้อง มีอวัยวะอะไรอยู่บ้าง?

เพื่อจะให้เข้าใจว่าปวดท้องบริเวณไหน บอกโรคอะไร เรามาทำความรู้จักอวัยวะภายในช่องท้องในเบื้องต้นกันก่อน

ในช่องท้องมีอะไรอยู่บ้าง

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ปวดท้องบริเวณไหน บ่งบอกถึงโรคอะไร?

1. ปวดบั้นเอวขวาหรือซ้าย สัญญาณโรคเกี่ยวกับไต

อาการปวดบริเวณ บั้นเอวขวาหรือซ้าย โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติเกี่ยวกับไตได้ เช่น กรวยไตอักเสบ หรือ นิ่วในไต มีรายละเอียดดังนี้

กรวยไตอักเสบ (Kidney Infection) 

เป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ มักเริ่มต้นกระเพาะปัสสาวะอักเสบก่อน จากนั้นจึงแพร่กระจายไปที่ไต โดยผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที เนื่องจากการติดเชื้ออาจทำให้ไตเสียหายถาวรหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

  • อาการ: ปวดท้องด้านขวาไปถึงบั้นเอวขวาแบบแปลบๆ ร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะสีขุ่น
  • กลุ่มเสี่ยง: มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกหมด

นิ่วในไต (Kidney Stone) 

เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุชนิดต่างๆ ที่ตกตะกอนในทางเดินปัสสาวะ และรวมตัวกันจนกลายเป็นก้อนแข็งที่มีชนิดและขนาดแตกต่างกัน เรียกว่า ก้อนนิ่ว

สาเหตุที่ทำให้เกิดการตกตะกอนนั้น เนื่องจากปัสสาวะมีสารบางอย่าง เช่น แคลเซียม ออกซาเลต กรดยูริก ในระดับที่สูง หรือเมื่อดื่มน้ำน้อยเกินไป

  • อาการ: ปวดท้องด้านล่างขวา หรือซ้าย บางรายอาจรู้สึกปวดหลัง โดยจะเป็นการปวดเสียดหรือปวดบิดเป็นพักๆ มีไข้ ร่วมกับปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย ปัสสาวะมีสีแดง ขุ่น มีเม็ดทรายปนออกมา ถ้าปวดมากขึ้นอาจหมายถึงนิ่วตกลงมาสู่ท่อไต
  • กลุ่มเสี่ยง: พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบในผู้ชายมากกว่า โดยเฉพาะช่วงอายุ 20-49

2. ปวดท้องด้านขวา สัญญาณโรคเกี่ยวกับตับ

อาการปวดท้องด้านขวา เป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติในตับ ถุงน้ำ ดี หรือท่อน้ำดี อาจเตือนถึงมะเร็งตับ นิ่วถุงน้ำดี หรือนิ่วในท่อน้ำดี โดยมีรายละเอียดดังนี้

มะเร็งตับ (Liver Cancer)

มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ที่เกิดในผู้ชายไทย มักพบในผู้ที่อายุ 30-70 ปี อาจเกิดที่ตับโดยตรง หรือเกิดมะเร็งจากอวัยวะอื่นแล้วลุกลามมายังตับ สาเหตุมะเร็งตับที่พบบ่อย ได้แก่ ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ได้รับสารไนโตรซามีน (พบในปลาร้า ปลาส้ม กุนเชียง ไส้กรอก ปลารมควัน เป็นต้น) ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ฯลฯ

มะเร็งตับระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็ง

  • อาการ: ปวดจุกแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่ ร่วมกับมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • กลุ่มเสี่ยง: พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือรับประทานไขมันสูง ผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง

นิ่วถุงน้ำดี (Gall Stone)

นิ่วถุงน้ำดี เป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ประเภทของนิ่วที่เกิดได้ ได้แก่ นิ่วจากคอเลสเตอรอล เกิดจากการตกตะกอนของไขมัน นิ่วจากเม็ดสี เกิดจากความผิดปกติของเลือด หรือ นิ่วโคลน เกิดจากการติดเชื้อบริเวณตับ ท่อน้ำดี ตับอ่อน

  • อาการ: ปวดจุก แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย หลังจากรับประทานอาหารไขมันสูง หรือปวดบิดรุนแรงเป็นพักๆ แถวใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาจียน ร่วมด้วย กดตรงที่ปวดอาจพบก้อนแข็ง
  • กลุ่มเสี่ยง: ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้รับประทานอาหารไขมันสูงบ่อยๆ

นิ่วในท่อน้ำดี (Bile Duct Stone)

นิ่วในท่อน้ำดี มีทั้งกรณีที่เกิดก้อนนิ่วถุงน้ำดีก่อน แล้วก้อนนิ่วนั้นหลุดมายังท่อน้ำดี หรืออาจเกิดนิ่วในท่อน้ำดีโดยตรง ซึ่งมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำๆ ภายในท่อน้ำดี โดยส่วนใหญ่แล้วนิ่วท่อน้ำดีมักสังเกตอาการได้เด่นชัดกว่านิ่วถุงน้ำดี แต่อาการนั้นอาจหายไปถ้านิ่วเคลื่อนหลุดออกจากท่อน้ำดีแล้ว

  • อาการ: ปวดท้องแถวๆ ลิ้นปี่หรือชายโครงขวานานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมงขึ้นไป อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
  • กลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่รับประทานอาการไขมันสูงบ่อยๆ

3. ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ กลางท้อง สัญญาณโรคเกี่ยวกับกระเพาะ ตับอ่อน หรือหัวใจ

อาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ กลางท้อง เป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของกระเพาะ ตับอ่อน หรืออาจบอกโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับอ่อน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยมีรายละเอียดดังนี้

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD)

กรดไหลย้อน คือ โรคที่เกิดจากสารคัดหลั่ง เช่น กรดหรือแก๊ส ในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหารบ่อยหรือมากกว่าผู้ไม่เป็นโรค หรือหลอดอาการมีความไวต่อกรดมากกว่าปกติ

  • อาการ: ปวดเสียด ตื้อ จุก รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ เรอเปรี้ยว เมื่อกินอาหารเสร็จใหม่ๆ แล้วมีอาการแสบร้อนกลางอก ถ้านอนราบอาจมีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
  • กลุ่มเสี่ยง: เป็นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้มีพฤติกรรมเข้านอนทันทีหลังกินอาหารเสร็จ มีความเครียดสูง ดื่มสุรา สูบบุหรี่

กระเพาะอาการอักเสบ (Gastritis)

กระเพาะอาหาร เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร โดยจะมีการหลั่งน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดออกมา ตามปกติกรดนี้จะไม่กัดผิวกระเพาะเอง เนื่องจากร่างกายจะมีกลไกสร้างเมือกขึ้นมาเคลือบผิวกระเพาะไว้

ในผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ การทำงานของกระเพาะอาจเปลี่ยนไป เช่น มีกรดหลั่งออกมามากเกินปกติ กลไกป้องกันตัวของผิวกระเพาะบกพร่องไป ทำให้กรดกัดกระเพาะ โดยทั่วไปโรคกระเพาะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง แต่อาจเป็นๆ หายๆ ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

  • อาการ: ปวดท้องก่อนหรือหลังรับประทานอาหารแบบเป็นๆ หายๆ บางทีอาจปวดท้องตอนท้องว่าง หรือตอนกลางดึก
  • กลุ่มเสี่ยง: เป็นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา

ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

ตับอ่อนอักเสบ เกิดจากเนื้อเยื่อตับอ่อนถูกทำลาย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน กับตับอ่อนอักเสบแบบเรื้อรัง

ตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลันอาจเป็นผลมาจากภาวะนิ่วถุงน้ำดี หรือมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือมาจากพันธุกรรม หรือบางครั้งก็ไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนตับอ่อนอักเสบแบบเรื้อรังมีสาเหตุหลักมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • อาการ ปวดกลางท้องหรือแถวๆ ลิ้นปี่ ถ้าเป็นตับอ่อนอักเสบชนิดเรื้อรังจะปวดแบบเป็นๆ หายๆ ถ้าเป็นตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลันจะปวดร้าวทะลุไปถึงหลัง ถ้านั่งงอตัวจะรู้สึกสบายขึ้น ร่วมกับอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • กลุ่มเสี่ยง ผู้มีประวัติดื่มสุราปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือรับประทานอาหารไขมันสูงบ่อยๆ

มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer)

มะเร็งตับอ่อน เป็นชนิดมะเร็งที่พบไม่บ่อยนัก แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากระยะแรกมักไม่มีอาการ หรือเมื่อมีอาการแล้วก็มักเป็นเพียงปวดท้อง ปวดหลัง ทำให้ผู้ป่วยอาจเข้าใจว่าเป็นโรคอื่นที่ไม่ร้ายแรง กว่าจะได้รับการตรวจ เนื้อเยื่อมะเร็งตับอ่อนจึงมีขนาดใหญ่หรือเข้าสู่ระยะแพร่กระจายโรคแล้ว ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดเนื้อร้ายออกได้

  • อาการ ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ลามไปถึงหลัง ร่วมกับท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นิยมบริโภคอาหารไขมันสูง

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial Ischemia)

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือ ภาวะที่เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ โดยอาจมาจากหลอดเลือดหัวใจเกิดการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอลจนอุดตัน

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นภาวะอันตรายและฉุกเฉิน การที่หัวใจขาดเลือดนานเกิน 2-3 นาทีอาจทำให้เกิดหัวใจวาย ถ้าสงสัยว่ามีภาวะนี้ หรือมีคนใกล้ชิดที่แสดงอาการถึงภาวะนี้ ควรรีบน้ำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

  • อาการ ปวดแสบลิ้นปี่ แน่นเหมือนลมดัน เจ็บแน่นกลางหน้าอก
  • กลุ่มเสี่ยง ผู้ชายที่อายุ 45 ปีขึ้นไป และ ผู้หญิงที่อายุ 55 ปีขึ้นไป

4. ปวดท้องรอบสะดือ สัญญาณโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงในท้อง

อาการปวดท้องรอบสะดือ เป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของหลอดเลือดแดงในท้อง มีรายละเอียดดังนี้

หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง (Aortic Aneurysm)

หลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นเส้นทางหลักให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญในร่างกาย การที่หลอดเลือดนี้เกิดโป่งพองขึ้นเป็นภาวะที่อันตราย ถ้าหลอดเลือดแตกออกและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากได้

  • อาการ ปวดท้องแถวๆ รอบสะดืออย่างรุนแรง และปวดหลังบริเวณบั้นเอวหรือท้องน้อย อาจเป็นร่วมกับอาการหน้ามืด มือเท้าเย็น อาจคลำพบก้อนเต้นได้ในช่องท้อง
  • กลุ่มเสี่ยง พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

5. ปวดท้องด้านซ้าย สัญญาณโรคเกี่ยวกับม้าม

อาการปวดท้องด้านซ้าย เป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของม้าม มีรายละเอียดดังนี้

ม้ามโต (Splenomegaly)

ม้าม เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรค ป้องกันการติดเชื้อในร่างกาย และช่วยกรองเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่า ภาวะม้ามโต หรือ ม้ามขยายขนาดขึ้น เป็นอาการที่บ่งบอกความผิดปกติของม้าม เช่น อาจเกิดโรคติดเชื้อ โรคธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตับอักเสบ ฯลฯ

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลยแม้ว่าจะมีภาวะม้ามโต แต่อาจสังเกตพบว่าท้องด้านซ้ายบนดูบวมขึ้น

  • อาการ ปวดท้องด้านซ้าย และอาจลามไปถึงหัวไหล่ซ้าย ร่วมกับอิ่มเร็วกว่าปกติ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
  • กลุ่มเสี่ยง เป็นได้ทุกเพศทุกวัย แต่มีผู้ที่เสี่ยงกว่าปกติ ได้แก่ เด็กกับวัยรุ่นที่เป็นโรคโมโนนิวคลิโอซิส และผู้ที่อาศัยหรือไปเที่ยวในบริเวณที่มีมาลาเรียระบาด

6. ปวดท้องส่วนล่าง สัญญาณโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่

อาการปวดท้องด้านซ้าย เป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ มีรายละเอียดดังนี้

ลำใส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)

ลำใส้ใหญ่อักเสบ เกิดขึ้นเมื่อเกิดการบาดเจ็บ หรือภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรือเชื้อรา ที่ผนังลำไส้ การรับประทานสารมีพิษหรืออาหารที่ย่อยยากปริมาณมากก็ทำให้เกิดลำไส้อักเสบได้เช่นกัน

โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงอย่างรุนแรง จึงเสี่ยงต่อภาวะช็อกและขาดน้ำ

  • อาการ ปวดท้องส่วนล่างแบบปวดเกร็ง ร่วมกับมีภาวะท้องร่วง มักเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน และอาการอาจทุเลาลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
  • กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีภาวะเครียด ผู้มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมถึงผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ต้องรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยสะอาดหรือไม่ค่อยถูกหลักสุขอนามัย

7. ปวดท้องน้อย สัญญาณโรคเกี่ยวกับลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ มดลูก

อาการปวดท้องน้อย เป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ มดลูก เช่น ลำไส้แปรปรวน ถุงผนังลำไส้อักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคถุงน้ำในรังไข่ (ซีสต์ในรังไข่) หรือ ปีกมดลูกอักเสบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ลำไส้แปรปรวน (IBS)

ลำไส้แปรปรวน คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดกับส่วนปลายลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องร่วมกับมีพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนไป

โดยทั่วไปแล้วโรคลำไส้แปรปรวนไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่มักเป็นเรื้อรัง ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

  • อาการ ปวดท้องน้อยแบบปวดเกร็ง แต่ละครั้งความรุนแรงของการปวดท้องไม่เท่ากัน อาการที่ว่านี้มักดีขึ้นหลังถ่ายอุจจาระ ร่วมกับพบว่าการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย รู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุด
  • กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีภาวะเครียด ผู้ที่มีพฤติกรรมรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ไม่ค่อยกินผัก ดื่มน้ำน้อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ

ถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)

ถุงผนังลำไส้อักเสบ เป็นโรคที่เกิดในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย โดยจะมีถุงเล็กๆ ขึ้นภายในผิวลำไส้ ถุงที่ว่านี้อาจเกิดอาการบวม อักเสบ ติดเชื้อ จนกลายเป็นฝีในลำไส้ ลำไส้อุดตัน หรือมีเลือดออกได้ 

  • อาการ ปวดท้อง เมื่อกดท้องน้อยซ้ายหรือขวาแล้วเจ็บ ร่วมกับหนาวสั่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ท้องอืด ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือผู้มีพฤติกรรมกลั้นผายลมบ่อยๆ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยผู้หญิงมักมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ชายเนื่องจากท่อปัสสาวะสั้นกว่า เชื้อโรคต่างๆ จึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า การกลั้นปัสสาวะก็สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบเช่นกัน เพราะอาจทำให้แบคทีเรียที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ ภาวะ นิ่ว ก็อาจนำไปสู่กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

  • อาการ ปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะสุด อาจปวดแบบบิดเกร็ง แบบหน่วงๆ อาจปวดแบบเป็นๆ หายๆ หรือปวดตลอดเวลา ร่วมกับปัสสาวะไม่ค่อยออก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะขุ่น หรือมีเลือดปนออกมาเวลาปัสสาวะ
  • กลุ่มเสี่ยง ผู้หญิง และ ผู้ชายอายุ 50-60 ปีที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต

โรคถุงน้ำในรังไข่ (Ovarian Cyst)

ถุงน้ำในรังไข่ หรือ เป็นซีสต์ในรังไข่ คือ ภาวะที่มีถุงน้ำเกิดขึ้นภายในรังไข่ หรือ รอบๆ รังไข่ ซึ่งอาจเป็นถุงน้ำที่เกิดขึ้นมาเองพร้อมกับรอบเดือน สามารถฝ่อไปเองเอง ไม่เป็นอันตรายอะไร หรือเป็นถุงน้ำที่เกิดจากการแบ่งเซลล์ผิดปกติ ไม่ได้เนื้อร้าย ก็ได้

นอกจากนี้ยังมีชนิดถุงน้ำในรังไข่ที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ ถุงน้ำชนิดนี้เกิดจากการที่เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่บริเวณรังไข่ เกิดการอักเสบ กลายเป็นถุงน้ำที่ด้านในมีเลือดค้างอยู่ จนดูเป็นของหลวสีคล้ายช็อกโกแลต ถุงน้ำชนิดนี้ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก

  • อาการ ปวดท้องน้อยแบบหน่วงๆ ร่วมกับปัสสาวะบ่อย ท้องผูก หรือคลำพบก้อน กรณีที่รู้สึกปวดท้องน้อยเฉียบพลัน นั่นอาจหมายถึงถุงน้ำในรังไข่เกิดอาการรั่ว แตก หรือติดเชื้อ
  • กลุ่มเสี่ยง ผู้หญิงทุกช่วงอายุ

ปีกมดลูกอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID)

ปีกมดลูกอักเสบ หรือ อุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ การอักเสบมักเริ่มจากการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านทางช่องคลอด เข้าไปยังปากมดลูก โพรงมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ แล้วต่อเนื่องไปยังท่อรังไข่ ตามมาด้วยภาวะอักเสบติดเชื้อในเยื่อบุช่องท้องและเชิงกราน

ถ้าปล่อยโรคปีกมดลูกอักเสบ หรือ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ทิ้งไว้ ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมา

  • อาการ ปวดท้องน้อย โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์หรือมีประจำเดือน ร่วมกับอาจมีตกขาวเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะขัด
  • กลุ่มเสี่ยง ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีเพศสัมพันธ์ โดยจะมีความเสี่ยงมากขึ้นในผู้ที่มีคู่นอนหลายคน หรือผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ปากมดลูกยังไวต่อการติดเชื้อ

8. ปวดท้องไส้ติ่ง อาจปวดรอบสะดือ ปวดท้องด้านขวา หรือปวดค่อนลงมาทางท้องน้อย

ไส้ติ่ง คือ อวัยวะลักษณะเป็นท่อปลายตันยาวประมาณ 3-4 นิ้ว อยู่ระหว่างลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ เมื่อท่อนี้มีของเสีย สิ่งแปลกปลอม หรืออุจจาระตกลงมาสะสมอยู่ ก็อาจเกิดการอักเสบ กลายเป็นโรคที่เรียกว่า ไส้ติ่งอักเสบ (Appendictis) แบ่งโรคนี้ออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ไส้ติ่งระยะเริ่มอุดตัน ไส้ติ่งระยะเริ่มบวม และไส้ติ่งแตก

ไส้ติ่งแตก ทำให้แบคทีเรียกระจายในช่องท้อง และถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือดได้

  • อาการ ปวดท้องแบบเสียดแน่น มักจะเริ่มปวดที่รอบๆ สะดือก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นปวดท้องน้อยด้านขวา อาจคลำพบก้อนนูน กดเจ็บ
  • กลุ่มเสี่ยง เป็นได้ในทุกเพศทุกวัย โดยพบมากในคนช่วงอายุ 12-60 ปี

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรสังเกตอาการปวดท้องแล้วพยายามรักษาด้วยตนเอง เพราะบางโรคอาจมีอาการใกล้เคียงกัน แต่อันตรายต่างกัน จำเป็นต้องรับการวินิจฉัยแยกโรคโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ หรืออาจต้องรับการตรวจเฉพาะทางเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ทำ MRI ประกอบด้วย โดยเฉพาะถ้าอาการปวดท้องนั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ

การรักษาด้วยตัวเองด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้น หรือทำให้ปิดบังอาการของโรคที่แท้จริง ทำให้การรักษายากขึ้น

ปวดท้องแบบนี้ เรากำลังป่วยเป็นโรคอะไร อยากปรึกษาคุณหมอ ตรวจให้แน่ชัด ทักหาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top