abdominal pain colon cancer disease definition scaled

ปวดท้อง ขับถ่ายผิดปกติ สัญญาณโรคมะเร็งลำไส้ สาเหตุ วิธีตรวจ รักษา

ท้องผูก ขับถ่ายยาก ถ่ายไม่สุด ท้องผูกสลับท้องเสีย มีมูกเลือดปน…รู้ไหม อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้! 

โรคมะเร็งลำไส้คืออะไร อาการที่เด่นชัดเป็นยังไง เกิดจากสาเหตุใด เป็นแล้วรักษาได้ไหม มีวิธีรักษากี่วิธี บทความนี้จะพาไปเจาะลึกทุกแง่มุมให้คุณทราบ

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร? มีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) เป็นอีกโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเองข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่าในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้รายใหม่ถึง 15,000 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้โรคมะเร็งลำไส้ เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ และเจริญเติบโตกลายเป็นติ่งเนื้อ ก่อนจะพัฒนากลายเป็นเชื้อมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ โดยแบ่งระยะได้ดังต่อไปนี้

  • ระยะที่ 0: มีติ่งเนื้อเกิดขึ้นที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นบ่อเกิดสำคัญที่มักจะพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลัง แต่หากตรวจพบในระยะนี้ แพทย์สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต
  • ระยะที่ 1: ก้อนติ่งเนื้อเริ่มพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง และฝังตัวเข้าไปในใต้เยื่อบุลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายลึกลงไปยังชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ รวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง 
  • ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
  • ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด 

อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น มักไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาเลย หรืออาจแสดงอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบขับถ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้บางคนอาจละเลย และคิดว่าไม่ใช่อาการร้ายแรงได้ จึงไม่ได้เข้ารับการรักษา

หรือบางคนอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจเลือด หรือตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ถึงค่อยเจอรอยโรค

หรือในผู้ป่วยหลายรายก็มักมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจไปทับซ้อนกับอาการของโรคในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ อีกได้ จนทำให้ไม่รู้ว่า กำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยอาการเด่นๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ปวดท้อง โดยมักจะปวดแสบร้อน หรือรู้สึกปวดเป็นตะคริวที่ท้อง
  • ท้องเสียสลับท้องผูก 
  • ท้องอืด หรือรู้สึกแน่นท้อง คล้ายกับอาหารไม่ย่อย ไม่ผายลม
  • หลังถ่ายอุจจาระ ยังรู้สึกว่าขับถ่ายไม่สุด
  • มีอุจจาระปนเลือดสด หรือมีสีคล้ำมาก 
  • ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไป เช่น เป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือเรียวยาวกว่าปกติ 
  • มีไข้ 
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • อ่อนเพลียง่ายผิดปกติ
  • พบภาวะโลหิตจาง

หากใครเริ่มรู้สึกว่า ตนเองมีอาการเหล่านี้ หรือมีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่ผิดสังเกต แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หากมีสัญญาณเสี่ยงจะได้วางแผนรักษาได้ทัน

สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เชื่อกันว่า โรคนี้สามารถเกิดได้จากปัจจัยกระตุ้นบางประการ เช่น

  • อายุที่มากขึ้น โดยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักพบได้บ่อยในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป และพบบ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • ประวัติมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือมีประวัติเกี่ยวกับโรคที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม
  • มีประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้
  • โรคเบาหวาน รวมถึงการมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ หรือมีภาวะอ้วน
  • พฤติกรรมการกินอาหารแปรรูป อาหารประเภทเนื้อแดงบ่อยครั้ง การบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงเป็นประจำ
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่
  • พฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย

วิธีตรวจโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แนวทางการตรวจโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถแบ่งออกได้ 3 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่

  • การเก็บอุจจาระ เพื่อหาเลือดที่ปะปนในอุจจาระและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สามารถช่วยตรวจคัดกรองโรคในระบบทางเดินอาหารได้หลายอย่าง เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคริดสีดวงทวาร ถุงผนังลำไส้ใหญ่โป่งพอง การมีติ่งเนื้อและเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ รวมถึงเนื้องอกชนิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Colonoscopy ผ่านการสอดอุปกรณ์และสารทึบรังสีเข้าไปในทวาร เพื่อถ่ายภาพเงาภายในลำไส้ซึ่งอาจมีลักษณะผิดปกติ และเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งลำไส้ได้
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยแพทย์จะสอดลำกล้องขนาดเล็กที่โค้งงอได้เข้าไปในทวารหนัก เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ได้อย่างละเอียด

วิธีรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

วิธีรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะแบ่งออกได้ 3 วิธีหลัก ๆ ได้แก่

  • วิธีผ่าตัด (Surgery) เพื่อตัดนำลำไส้และต่อมน้ำเหลืองส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเซลล์มะเร็งออก นิยมใช้รักษาในผู้ที่พบโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกๆ โดยแบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 2 รูปแบบคือ 
    • การผ่าตัดแบบเปิด (​​Open Colectomy) เป็นการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ประมาณ 20-30 เซนติเมตรทางหน้าท้อง นิยมใช้ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก หรือก้อนมะเร็งไปติดกับเนื้อเยื่อข้างเคียงมาก
    • การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Colectomy) เป็นการผ่าตัดเปิดแผล 3-4 รู ขนาดรูละประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ทำให้เจ็บแผลน้อยกว่า และฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วกว่า
  • วิธีฉายแสง (Radiation Therapy) หรือการทำรังสีรักษา เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงในการกำจัดและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยส่วนมากนิยมรักษาร่วมกับวิธีผ่าตัดและการทำเคมีบำบัด
  • วิธีทำเคมีบำบัด หรือการทำคีโม (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาที่สามารถหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ นิยมรักษาร่วมกับวิธีผ่าตัดหรือวิธีฉายแสง 

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากยิ่งตรวจพบเร็ว โอกาสรักษาหายขาดก็สูง ฉะนั้นหากพบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการผิดปกติที่คล้ายคลึงกับโรคมะเร็งลำไส้ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองอย่างละเอียด เพื่อจะได้รักษาได้ทันท่วงที

ไม่แน่ใจว่าปวดท้องแบบนี้ อึเป็นแบบนี้คือสัญญาณโรคอะไรมั้ย ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top