กินข้าวแล้วปวดท้อง รักษาอย่างไร ?

เมื่อกินข้าวแล้ว รู้สึกปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ มีโอกาสเป็นได้หลายโรค การซื้อยามารักษาเองควรสังเกตอย่างไร และปวดท้องแบบไหนถึงควรไปพบแพทย์

ปวดท้องทุกครั้ง หลังทานอาหาร

อาการปวดท้องทุกครั้งหลังทานอาหาร

อาการดังกล่าวน่าจะเป็นอาการที่ทางการแพทย์เรียกว่า dyspepsia ค่ะ ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่ จะมีอาการปวดอืดแน่นบริเวณ ลิ้นปี่ บางรายเป็นหลังรับประทาน บางรายมีอาการเมื่อ ไม่ได้รับประทานหรือรับประทานอาหารผิดเวลา บางรายมีคลื่นไส้อาเจียน อิ่มเร็ว สาเหตุจองอาการดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ คือ กระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ แต่ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร บางส่วนเกิดจาก แผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น นิ่วในถุงน้ำดี กรดไหลย้อน มะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยอาจจะลองปรับพฤติพรรมการบริโภค เช่น งดชากาแฟ อาหารรสจัด รับประทานอาหารย่อยง่าย ไม่ควรทานแล้วนอนทันที การรักษาในช่วงแรกแพทย์มักจะจ่ายยาลดกรดให้รับประทาน ร่วมกับยาลดอาการตัวอื่นๆ หากรับประทานติดต่อกันทุกวันจนครบ 6-8 สัปดาห์ แล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจะต้องตรวจหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติม เช่น ส่องกล้อง อัลตราซาวน์ค่ะ

ตอบโดย พญ. วิภา สุวรรณชีวะศิริ

กินข้าวแล้ว ปวดท้องแบบเสียดๆ

มีอาการปวดท้องหลังกินอาหารกลางวันมาประมาณ 3-4 วันติดกันแล้ว รู้สึกปวดแบบเสียดๆ ตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็นเพราะอาหารที่กินมาแต่สุดท้ายเปลี่ยนร้าน เปลี่ยนเมนูอาหารแล้วก็ปวดเหมือนเดิมค่ะ มันเกิดจากอะไรหรือคะ

สำหรับการปวดท้องบริเวณ ซ้ายบน อาจจะเกิดได้จาก หลายอย่างครับ เช่น
1.โรคกระเพาะ ที่เรียกๆกันทั่วไป คือจะปวด จุกๆ แสบๆ บริเวณ ใต้ลิ้นปี่ ไปจนถึง ซ้ายบน ครับ
2.แผลในกระเพาะ จะมีอาการปวดจุก มักปวด ก่อนหรือกิน อาหาร
3.ตับอ่อนอักเสบ คือจะปวดท้องมาก ปวดใต้ลิ้นปี่ ปวดท้องซ้ายบน ขยับตัวแล้วปวดมากขึ้น นอนนิ่งๆงอตัวจะปวดลดลงครับ
4.กล้ามเนื่ออักเสบ คือจะปวดท้อง เวลาขยับตัว หรืองอตัว เป็นต้นครับ

เบื้องต้นสามารถเป็นได้หลายอย่างแนะนำว่าควรลองไปตรวจร่างกายเพิ่มที่โรงพยาบาลครับ

ตอบโดย นพ. ปวริศ ยืนยง

อาการปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่เป็นได้จากหลายสาเหตุครับ แต่ในคนอายุน้อยสาเหตุหลักๆคือ

1. โรคกระเพาะอาหารอักเสบแผลในกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน **พบบ่อยที่สุด
2. นิ่วในถุงน้ำดี
3. ตับอ่อนอักเสบ
4. การติดเชื้อในทางเดินอาหาร
ส่วนในผู้สูงอายุต้องระวังโรคหัวใจขาดเลือดด้วยครับ

ปัจจัยในการเกิดโรคกระเพาะอาหาร เช่น

1. ภาวะเครียด
2. กินข้าวไม่ตรงเวลา
3. ชอบกินของเผ็ดของเปรี้ยว
4. ชากาแฟน้ำอัดลม และแอลกอฮอล์
5. ยาแก้ปวด ยาสมุนไพร

ดังนั้น เนื่องจาก กรดไหลย้อน และแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด หมอแนะนำให้ลองปฎิบัติการรักษาโรคนี้ก่อนได้ครับ

การรักษาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน ประกอบไปด้วยสองอย่างคือ

1. การปรับชีวิตประจำวัน ควรปรับเรื่อง อาหาร และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการกินครับ
– อาหาร ควรเป็นอาหารที่ไม่รสจัด ไม่มัน ไม่หวานจัดเผ็ดจัดเค็มจัด
– ลดของหวานของมัน เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และ คาเฟอีน
– รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
– หลังกินควรยกหัวสูง อย่างน้อย 1-3 ชม คือไม่นอนทันทีครับ
– หากมียาที่มีผลข้างเคียงที่รับประทานเป็นประจำ ทำให้ปวดท้อง เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน ควรปรึกษาแพทย์

ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุ อาจจะเป็นโรคกระเพาะไม่มีสาเหตุ การติดเชื้อเรื้อรังในกระเพาะอาหาร ก้อน นิ่ว เป็นต้น หลังจากตรวจ อาจจะได้นามารับประทาน ให้รับประทานต่อเนื่อง ร่วมกับการปรับชีวิตประจำวันครับและไปตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอครับ

2. การใช้ยา โดยทั่วไป ยาสามัญประจำบ้านที่คนไข้สามารถซื้อเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยา alum milk, ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน, simeticone เป็นต้นค่ะ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ครับ

สำหรับอาการดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยอย่างพอสังเขป การให้การรักษาต้องได้รับการตรวจร่างกายเพิ่มเติมโดยแพทย์ ดังนั้น แนะนำให้ไปตรวจร่างกายที่ รพ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องหากอาการไม่ดีขึ้นครับ

ตอบโดย นพ. นิธิวัฒน์ ตั้งชมพู

กินยาโรคกระเพาะ แต่กินข้าวแล้วปวดท้อง

ดิฉันเป็นโรคกระเพาะอยู่แล้ว เมื่อทานข้าวไม่ตรงเวลาก็จะเกิดอาการปวดท้อง แต่ตอนนี้ทานยาโรคกระเพาะตอนเช้าทุกวัน ก่อนทานข้าวเช้า 1 ชั่วโมง และก็ทานข้าวตรงเวลาตลอด แต่ทำไมอยู่ๆ ถึงเกิดอาการแสบท้อง และบางทีก็ปวดท้องเฉยเลย ทั้งที่พยายามรักษาสุขภาพตลอด อยากรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เป็นโรคกระเพาะ หรือเป็นโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่านี้ คุณหมอรบกวนตอบหน่อยนะคะ

โดยปกติแล้วถ้ามีอาการโรคกระเพาะแล้วรับประทานยาลดกรดเป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารเพื่อตรวจดูการติดเชื้อ H.pylori ในกระเพาะอาหารค่ะ เพราะถ้ามีการติดเชื้อมีความจำเป็นต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาค่ะ ส่วนอีกกรณีนึงคือถ้ามีสัญญาณอันตรายข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

  1. อายุมากกว่าเท่ากับ 50 ปี
  2. มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งระบบทางเดินอาหารส่วนบน
  3. น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
  4. ซีดไม่ทราบสาเหตุ
  5. กลืนเจ็บ/กลืนลำบาก
  6. อาเจียนเยอะ
  7. คลำได้ก้อนผิดปกติใ่นช่องท้อง

ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งมีความจำเป็นต้องพบแพทย์โดยด่วนเพื่อพิจารณาส่องกล้อง (Gastroscope) ดูรอยโรคในระบบทางเดินอาหารค่ะ

ตอบโดย พญ. ณัฐชยา รอดแป้น


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top