กินข้าวแล้วปวดท้อง วิธีแก้กินอาหารแล้วแน่นท้อง ?

อาการปวดท้องหลังกินข้าวปัญหาที่หลายคนประสบ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การย่อยอาหารไม่ดี หรือการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ในบทความนี้เราจะสำรวจวิธีการรักษาและบรรเทาอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นหลังมื้ออาหาร วิธีแก้กินข้าวเสร็จแล้วปวดท้อง พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง เพื่อให้คุณสามารถกลับมารู้สึกสบายได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องพึ่งพายาหรือการรักษาที่ซับซ้อน

กินข้าวเสร็จแล้วปวดท้อง

อาการปวดท้องทุกครั้งหลังทานอาหารเสร็จ กินอะไรเข้าไปก็ปวดท้อง ต้องรักษาอย่างไร ?

อาการที่คุณกล่าวมานั้น น่าจะเป็นภาวะทางการแพทย์ที่เรียกว่า Dyspepsia หรืออาการอาหารไม่ย่อย โดยผู้ป่วยมักรู้สึกปวดหรือแน่นที่บริเวณลิ้นปี่ บางรายมีอาการหลังรับประทานอาหาร บางรายอาจเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับประทานอาหารตรงเวลา หรือทานอาหารที่ไม่เหมาะสม อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอิ่มเร็ว สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของกระเพาะอาหาร แต่ไม่จำเป็นต้องมีโรคชัดเจนเสมอไป เช่น แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน หรือนิ่วในถุงน้ำดี ในการรักษาเบื้องต้น แพทย์อาจแนะนำการปรับพฤติกรรมการรับประทาน เช่น งดอาหารรสจัด ชา กาแฟ และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดกรด หากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 6-8 สัปดาห์ อาจต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องหรืออัลตราซาวน์ เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ค่ะ

ตอบโดย พญ. วิภา สุวรรณชีวะศิริ

ปวดท้องหลังกินข้าว

มีอาการปวดท้องหลังกินอาหารกลางวันมาประมาณ 3-4 วันติดกันแล้ว รู้สึกปวดแบบเสียดๆ ตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็นเพราะอาหารที่กินมาแต่สุดท้ายเปลี่ยนร้าน เปลี่ยนเมนูอาหารแล้วก็ปวดเหมือนเดิมค่ะ มันเกิดจากอะไรหรือคะ มีอาการปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่แถวท้องข้างซ้ายค่ะ ?

อาการปวดท้องบริเวณซ้ายบนอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  1. โรคกระเพาะอาหาร: มักมีอาการปวดจุกหรือแสบบริเวณใต้ลิ้นปี่ถึงซ้ายบน
  2. แผลในกระเพาะอาหาร: มักมีอาการปวดก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร
  3. ตับอ่อนอักเสบ: ปวดท้องรุนแรงใต้ลิ้นปี่และซ้ายบน ขยับตัวแล้วปวดมากขึ้น แต่นอนงอตัวอาจปวดน้อยลง
  4. กล้ามเนื้ออักเสบ: อาการปวดจะสัมพันธ์กับการขยับตัว

เบื้องต้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงครับ

ตอบโดย นพ. ปวริศ ยืนยง

อาการปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่เป็นได้จากหลายสาเหตุครับ แต่ในคนอายุน้อยสาเหตุหลักๆ คือ

1. โรคกระเพาะอาหารอักเสบแผลในกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน (พบบ่อยที่สุด)
2. นิ่วในถุงน้ำดี
3. ตับอ่อนอักเสบ
4. การติดเชื้อในทางเดินอาหาร
ส่วนในผู้สูงอายุต้องระวังโรคหัวใจขาดเลือดด้วยครับ

ปัจจัยในการเกิดโรคกระเพาะอาหาร เช่น

1. ภาวะเครียด
2. กินข้าวไม่ตรงเวลา
3. ชอบกินของเผ็ดของเปรี้ยว
4. ชากาแฟน้ำอัดลม และแอลกอฮอล์
5. ยาแก้ปวด ยาสมุนไพร

ดังนั้น เนื่องจาก กรดไหลย้อน และแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด หมอแนะนำให้ลองปฎิบัติการรักษาโรคนี้ก่อนได้ครับ

การรักษาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน ประกอบไปด้วยสองอย่างคือ

1. การปรับชีวิตประจำวัน ควรปรับเรื่อง อาหาร และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการกินครับ
– อาหาร ควรเป็นอาหารที่ไม่รสจัด ไม่มัน ไม่หวานจัดเผ็ดจัดเค็มจัด
– ลดของหวานของมัน เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และ คาเฟอีน
– รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
– หลังกินควรยกหัวสูง อย่างน้อย 1-3 ชม คือไม่นอนทันทีครับ
– หากมียาที่มีผลข้างเคียงที่รับประทานเป็นประจำ ทำให้ปวดท้อง เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน ควรปรึกษาแพทย์

ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุ อาจจะเป็นโรคกระเพาะไม่มีสาเหตุ การติดเชื้อเรื้อรังในกระเพาะอาหาร ก้อน นิ่ว เป็นต้น หลังจากตรวจ อาจจะได้นามารับประทาน ให้รับประทานต่อเนื่อง ร่วมกับการปรับชีวิตประจำวันครับและไปตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอครับ

2. การใช้ยา โดยทั่วไป ยาสามัญประจำบ้านที่คนไข้สามารถซื้อเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยา alum milk, ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน, simeticone เป็นต้นค่ะ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ครับ

สำหรับอาการดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยอย่างพอสังเขป การให้การรักษาต้องได้รับการตรวจร่างกายเพิ่มเติมโดยแพทย์ ดังนั้น แนะนำให้ไปตรวจร่างกายที่ รพ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องหากอาการไม่ดีขึ้นครับ

ตอบโดย นพ. นิธิวัฒน์ ตั้งชมพู

กินอาหารแล้วปวดท้อง

ดิฉันเป็นโรคกระเพาะอยู่แล้ว และเมื่อทานข้าวไม่ตรงเวลาก็จะมีอาการปวดท้อง แต่ตอนนี้ทานยาโรคกระเพาะทุกเช้าก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และพยายามทานข้าวตรงเวลาสม่ำเสมอ แต่ยังคงมีอาการแสบท้องและปวดท้องอยู่บ่อย ๆ ทั้งที่ดูแลสุขภาพอย่างดี จึงอยากทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เป็นเพราะโรคกระเพาะ หรืออาจเป็นโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่านี้ รบกวนคุณหมอช่วยตอบด้วยค่ะ ?

โดยปกติแล้วถ้ามีอาการโรคกระเพาะแล้วรับประทานยาลดกรดเป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารเพื่อตรวจดูการติดเชื้อ H.pylori ในกระเพาะอาหารค่ะ เพราะถ้ามีการติดเชื้อมีความจำเป็นต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาค่ะ ส่วนอีกกรณีนึงคือถ้ามีสัญญาณอันตรายข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

  1. อายุมากกว่าเท่ากับ 50 ปี
  2. มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งระบบทางเดินอาหารส่วนบน
  3. น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
  4. ซีดไม่ทราบสาเหตุ
  5. กลืนเจ็บ/กลืนลำบาก
  6. อาเจียนเยอะ
  7. คลำได้ก้อนผิดปกติใ่นช่องท้อง

ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งมีความจำเป็นต้องพบแพทย์โดยด่วนเพื่อพิจารณาส่องกล้อง ดูรอยโรคในระบบทางเดินอาหารค่ะ

ตอบโดย พญ. ณัฐชยา รอดแป้น


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top