ตากุ้งยิง วิธีรักษาให้หายไวด้วยตนเอง ทำอย่างไร?

ตากุ้งยิง (Hordeolum, Stye) ทําไงหาย รักษาอย่างไรให้หายไว ด้วยตนเอง รักษาด้วยวิธีธรรมชาติหรือยาถึงจะได้ผลดี หายทันใจ ต้นเหตุมาจากอะไรถึงเป็นโรคตากุ้งยิง รวมคำถามคาใจ ตอบปัญหาอาการตากุ้งยิงโดยแพทย์

เป็นตากุ้งยิง รักษาด้วยตัวเองได้ไหม

เป็นตากุ้งยิงจำเป็นต้องไปหาหมอแล้วเจาะไหมครับหรือแค่กินยาพอ ?

เบื้องต้น ถ้าก้อนตากุ้งยิงไม่ใหญ่มาก สามารถรับประทานยาฆ่าเชื้อให้ก้อนยุบได้ค่ะ

ถ้าก้อนยุบลง ควรรับประทานต่อให้ครบ 7 วัน สามารถซื้อยาได้จากร้านขายยาทั่วไป และใช้สำลีชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณก้อนก่อนนอน จะช่วยลดการอักเสบลงได้

ทานยาฆ่าเชื้อและประคบอุ่น ดูอาการประมาณ 3 วันค่ะ

ถ้าก้อนไม่ยุบลง หรือบวมมากขึ้น แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์นะคะ

ตอบโดย พญ. สุพิชชา แสงทองพราว

เป็นตากุ้งยิง มีหนอง ตาบวมแดง

เป็นตากุ้งยิง แล้วมีหนองค่ะ หนองแตกเอง เป็นมาสักพักแล้วค่ะ ตอนนี้ที่ตายังมีอาการแดงๆบวมๆยังไม่ยุบเลยค่ะ สามารถรักษาได้อย่างไรบ้างคะ ?

ในกรณีที่หนองจากตากุ้งยิงแตกออกแล้วแต่ตายังไม่ยุบบวมหลังผ่านไป 1-2 วันก็มีความเป็นไปได้ที่จะยังมีหนองค้างอยู่ภายในครับ ในกรณีนี้การรักษาจะสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. การใช้ยาฆ่าเชื้อแบบหยอดหรือรับประทาน
  2. ผ่าเปิดระบายหนองออก

หมอแนะนำว่าในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินความรุนแรงของอาการก่อน เพื่อที่จะได้เลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ

ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์

เป็นตากุ้งยิง 1 อาทิตย์ยังไม่หาย

หนูเป็นตากุ้งยิงค่ะ เป็นมาได้ 1 อาทิตย์แล้วค่ะ เคยไปหาหมอหมอให้ยาฆ่าเชื้อมาค่ะ หนูก็กินแล้วก็เอาน้ำอุ่นมาประคบที่เปลือกตาตรงที่เป็นตากุ้งยิงแล้ว แต่ยังไม่หายเลย อยากทราบว่าต้องทำยังไงคะถึงจะหาย อายเพื่อนมากเลยค่ะ เพื่อนล่อว่าไปแอบดูของใครมาอายมากเลยค่ะ อยากให้หายเร็วๆค่ะ!!

ตากุ้งยิงเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันในเปลือกตา เเล้วมีการติดเชื้อครับ

ถ้ารับประทานยาฆ่าเชื้อยังไม่หาย ต้องพิจารณากรีดระบายหนองครับ เเนะนำให้พบจักษุเเพทย์ครับ

อาจปรึกษาเเพทย์ทั่วไปก่อนก็ได้ครับ (เพียงเเต่คุณหมอบางคนอาจจะไม่เคยทำ พบจักษุแพทย์โดยตรงน่าจะดีกว่า)

ตอบโดย นพ. วชิรวิทย์ สุทธิศักดิ์

เป็นตากุ้งยิงภายใน รักษาอย่างไร

พอดีว่าเป็นตากุ้งยิงภายใน เมื่อตอนแรกทั้งเจ็บร้าวไปหมด แล้วก็ได้ไปหาหมอ เค้าก็ให้ยาอักเสบ หลายวันมันก็ไม่ปวดเท่าไหร่ มันไม่หายคะ เป็นแข็งๆ เป็นลูกนูนๆ อยู่ บนเปลือกตาบนบวม อยู่พยายามเอาน้ำอุ่นประคบ แต่ก็ยังไม่หาย

โรค ตากุ้งยิง คิอการมีการ ติดเชื้อ เช่น เชื้อ แบคทีเรีย และมีอักเสบที่บริเวณเปลือกตาค่ะ

วิธีการรักษาคือ การให้ยาฆ่าเชื้อค่ะ มีทั้งชนิดกิน และชนิดป้าย หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีขนาดใหญ่กีดขวางการมองเห็น อาจต้องผ่าตัดระบายหนองค่ะ

โดยเบื้องต้น แนะนำให้คนไข้ ไปตรวจซ้ำ เพื่อดูว่าก้อนที่ตา เป็นอย่างไร และอาจต้องกรีดระบายหนองออกค่ะ นอกจากนี้ แนะนำให้ รักษาความสะอาดเล็บ มือ ตัดเล็บให้สั้น งดแคะ ขยี้ตา แบะไม่ใช่ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่นนะคะ

ตอบโดย พญ. พิศุทธิกาญจญ์ รังคกูลนุวัฒน์

เป็นตากุ้งยิงบ่อย

เป็นตากุ้งยิงบ่อยมาก เฉลี่ย 1-3 เดือนต่อครั้ง อยากทราบสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เป็นบ่อยๆ

ส่วนใหญ่แล้วตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) เป็นส่วนใหญ่ โดยการอักเสบมักเริ่มจากท่อทางออกของสารต่างๆ จากต่อมต่างๆ ดังกล่าวบริเวณหนังตาเกิดการอุดตัน จึงส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในต่อมเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ จึงก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมดังกล่าวตามมา แล้วตามมาด้วยการบวมเป็นก้อนนูน มีหนองสะสม ก่อให้เห็นเป็นตุ่มฝี

สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการมีฝุ่นหรือเชื้อโรคเข้าตาก่อน แล้วผู้ป่วยเผลอไปใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้ตา จนทำให้ต่อมที่เปลือกตาอุดตันและเกิดการอักเสบตามมา

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้เป็นตากุ้งยิงได้ง่าย เช่น

  1. ไม่รักษาความสะอาด เช่น ปล่อยให้มือ ใบหน้า ผิวหนัง หรือเสื้อผ้าสกปรก (มักพบโรคนี้ในคนที่ชอบขยี้ตา ผู้ที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาดของใบหน้า ใช้เครื่องสำอางที่ใบหน้าและดวงตา สวมใส่คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สกปรก)
  2. ผู้ที่มีโรคผิวหนังบริเวณใบหน้า หรือมีใบหน้ามัน จึงทำให้เกิดการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณใบหน้ารวมทั้งหนังตาได้สูงกว่าปกติ
  3. มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเข สายตาเอียง รวมถึงมีการอักเสบบริเวณหนังตาอยู่บ่อย ๆ
  4. มีสุขภาพทั่วไปไม่ดีนัก เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ขาดอาหาร อดนอน ฟันผุ
  5. มีภาวะที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคพิษสุราเรื้อรัง กินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง (ตากุ้งยิงมักพบในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนในวัยผู้สูงอายุจะพบได้น้อย ถ้าพบกุ้งยิงในวัยผู้สูงอายุอาจจำเป็นต้องตรวจเช็กร่างกาย ซึ่งอาจพบโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง)

วิธีรักษาตากุ้งยิง

เมื่อเริ่มมีอาการในระยะแรก ๆ คือยังไม่เห็นเป็นตุ่มนูนชัดเจน เพียงแต่มีอาการอักเสบแดงโดยรอบ ๆ หรือในกรณีที่เพิ่งเริ่มขึ้นเป็นตุ่มฝีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นตุ่มแข็ง ยังไม่กลัดหนอง การรักษาและการดูแลตนเองในเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้

  1. การดูแลตนเองที่ควรปฏิบัติในเบื้องต้น ได้แก่ การงดใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาทุกชนิด, งดใส่คอนแทคเลนส์, ห้ามบีบหรือเค้นเพื่อเอาหนองออกเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น (หากหนองแตกเองให้ล้างบริเวณหนองด้วยน้ำต้มสุก), ไม่ขับรถเองในช่วงเป็นกุ้งยิง เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้, ผู้ป่วยที่เป็นตากุ้งยิงยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้สายตามาก ควรหมั่นพักสายตาเป็นระยะ ๆ
  2. เมื่อพบว่าเป็นตากุ้งยิงในระยะแรก ควรเช็ดขอบตารอบ ๆ บริเวณที่เป็นให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (เช็ดจากหัวตาไปหางตา โดยในขณะทำให้หลับตาไว้) และดูแลรักษาความสะอาดบริเวณใบหน้าอยู่เสมอ
  3. ประคบตาด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ โดยใช้ผ้าสะอาดห่อหุ้มปลายด้ามช้อน แล้วชุบน้ำอุ่นจัด ๆ กดตรงบริเวณหัวฝี และนวดเบา ๆ โดยให้ทำเช่นนี้วันละ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 20-30 นาที (การประคบอุ่นจะช่วยทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่เป็นมากขึ้น มาช่วยกันต่อสู้กับเชื้อโรค และช่วยทำให้ไขมันที่อุดตันต่อมเปิดออก ทำให้หนองไหลออกมาได้เอง และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น)
  4. หลังจากประคบตาทุกครั้ง ให้ใช้ยาป้ายตาหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะ เช่น ยาป้ายตาเทอรามัยซิน หรือยาหยอดตาอิริโทรมัยซิน (ในกรณีที่จะซื้อยามาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ) ถ้าอาการเจ็บไม่ลดลง ก้อนไม่ยุบ หรือมีเลือดออกจากแผล ควรไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หรือผ่าเอาหนองออก
  5. ถ้ามีอาการปวด ให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
  6. ถ้ามีอาการหนังตาบวมแดง หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่หน้า หูโตร่วมด้วย ให้กินยาไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน เป็นเวลา 5-7 วัน หรือตามที่แพทย์สั่ง
  7. โดยทั่วไป แม้ไม่ได้ใช้ยา ในบางรายอาจหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น เกิดเป็นก้อนนูนชัดเจน และใช้ยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของเภสัชกรแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยการผ่าเอาหนองออก (แต่ทางที่ดีสุดก็คือ เมื่อเริ่มมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ในทันที ไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง)
  8. หากมีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปแพทย์ในทันที ได้แก่ อาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์, ก้อนมีขนาดใหญ่มากและเจ็บตา, ก้อนที่เปลือกตาพบว่ามีเลือดออก, พบตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่เปลือกตา, เปลือกตามีแผลตกสะเก็ด, เปลือกตาแดงหรือตาแดงทั่วไปหมด, สายตาผิดปกติ, มีอาการแพ้แสงแดด และกุ้งยิงกลับมาเป็นซ้ำอีกภายหลังจากรักษาจนหายดีแล้ว

ตอบโดย พญ. นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์

เป็นตากุ้งยิง ส่งผลต่อการมองเห็นไหม

เราเป็นตากุ้งยิงค่ะ เป็นคืนแรกตื่นมาอีกวันเราไปหาหมอ หมอก็ให้ยามากินเรียบร้อย ตอนนี้ตากุ้งยิงหายค่ะ แต่ที่ไม่หาย คือ เช้าแรกที่ตื่นมาหลังจากเป็นตากุ้งยิงตาเราเบลอมากเลยค่ะ เหมือนกล้องไม่ปรับโฟกัส เราสายตาสั้นนะ แต่ปกติถ้าไม่ใส่แว่นหรือคอนแทคฯมองใกล้ๆจะชัด ไกลๆจะเบลอใช่ไหมคะ ถ้าใส่แว่นหรือคอนแทคฯก็จะชัดปกติ แต่นี่ไม่ค่ะ ถ้าไม่ใส่มองระยะใกล้มากๆจะเบลอค่ะ มองระยะปกติได้ ส่วนถ้าใส่นี่ระยะไหนก็เบลอไปหมดเลยค่ะ เหมือนสายตาไม่ปรับโฟกัสอะไรเลยอะค่ะ แล้วเราก็ต้องไปเรียนก็ไม่รู้จะทำยังไง ถ้าใส่คอนแทคฯมองใกล้ๆไม่เห็น ถ้าไม่ใส่ก็มองไกลๆไม่เห็น เป็นมาประมาณ 3 วันค่ะ ช่วยหน่อยนะคะ

กรณีดังกล่าวอาจจะไม่เกี่ยวกับตากุ้งยิงแล้วค่ะ เนื่องจากตากุ้งยิงเป็นการอักเสบของเปลือกตาซึ่งไม่เกี่ยวกับการมองเห็นหรือการโฟกัสภาพค่ะ อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น จอประสาทตา เลนส์ตา หรือเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการมองเห็นอื่น ๆ ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยละเอียดค่ะ

ตอบโดย พญ. วิภา สุวรรณชีวะศิริ


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top