เจ็บตาข้างเดียว แก้ยังไง รักษาได้ไหม ?

ปวดตา เจ็บตาข้างเดียว เป็นอาการที่พบบ่อยในทุกเพศ ทุกวัย มีสาเหตุที่แตกต่างกันไป วิธีการดูแล รักษา จึงแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เจ็บดวงตา

เจ็บตาข้างเดียว

เจ็บกระบอกตาข้างเดียวมากๆ เป็นเพราะอะไรคะ

อาการปวดกระบอกตามักพบได้บ่อยๆ คนไข้จะปวดกระบอกตาจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อแถวต้นคอ และท้ายทอย อาการปวดมักจะไม่มีตำแหน่งที่แน่นอน มักจะปวดร้าวไปที่บริเวณขมับและหน้าฝาก หรือกระบอกตา อาการปวดแบบนี้อาจเกิดจากความเครียดในการทำงาน นอนผิดท่า นอนตกหมอนเป็นต้น

การปวดกระบอกตา บางครั้งอาจเป็นหลังจากการทำงานที่ละเอียด หรือต้องใช้สายตา เช่น งานฝีมือ หรืออ่านหนังสือตัวเล็กๆ นานๆ พวกนี้จะมีอาการปวดกระบอกตาและอาจร้าวไปถึงท้ายทอยได้

สาเหตุ

เกิดจากล้ามเนื้อตาล้า หรือกล้ามเนื้อตาที่ทำงานเกี่ยวกับการเพ่งไม่แข็งแรงคือเพ่งไม่เก่งนั้นเอง

ไมเกรน มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว ตามด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน อารมณ์หวุดหวิด อาจจะเห็นภาพมัวไปชั่วขณะ หรือเห็นแสงไฟแลบฟ้าแลบกับอาการปวดหัวได้

กล้ามเนื้อตาล้า คือ ปวดกระบอกตา ที่เกิดขึ้นเวลาทำงานที่ต้องใช้สายตาใกล้ๆ ในงานที่ละเอียดคนเหล่านี้จะทำงานใช้สายตาใกล้ๆนานๆ ไม่ได้ เพราะกล้ามเนื้อตาที่ใช้มองใกล้ หรือรวมตัวเพ่งในที่ใกล้นั้นไม่แข็งแรงพอ พูดง่ายๆ คือเพ่งไม่เก่งนั่นเอง คนไข้จะมีอาการปวดตา ปวดหัว อาจจะปวดที่กระบอกตาและร้าวไปถึงท้ายทอยได้ บางครั้งก็ตาลายเวลาอ่านหนังสือ หรือทำงานที่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้ๆ อาการนี้มักพบในวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่ต้องอดทนอ่านหนังสือเป็นเวลานาน หรือเล่นเกมส์นานๆ อีกกลุ่มที่อายุเข้า 40 ปี ซึ่งจำเป็นต้องใช้แว่นดูใกล้ๆ คือแว่นสายตายาว

การรักษา

ในกรณีที่ปวดตาจากกล้ามเนื้อตาล้า ควรจะพบจักษุแพทย์ก่อนเพื่อดูว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสายตาหรือไม่ ถ้ามีก็ควรแก้ไข โดนใส่แว่นในขนาดที่ถูกต้อง คนที่มีอายุ 40 ก็อาจจะต้องตัดแว่นดูใกล้ หรือแว่นสายตายาวเข้าช่วยครับ

ตอบโดย นพ. สุเทพ สุขนพกิจ

อาการปวดที่กระบอกตาข้างเดียว เกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ เช่น

– สาเหตุมาจากดวงตา เช่น กล้ามเนื้อตาล้า จากการทำงานหนัก ใช้สายตามาก เพ่งหน้าจอนานๆ อาการมักจะเป็นชั่วคราว เมื่อพักสายตาแล้วจะดีขึ้น
-ปวดตาจากสายตาที่ผิดปกติไป เช่นสายตาสั้นหรือยาวมากขึ้น หรือสายตาเอียง จะทำให้ต้องเพ่งตามากๆเพื่อปรับการมองเห็นให้ชัดเจนขึ้นจึงทำให้ปวดตาได้
-ปวดตาจากความดันลูกตาสูง เช่นโรคต้อหิน ทำให้มีอาการปวดตาได้ อาจมีอาการตาพร่ามัว หรือตาแดงอักเสบร่วมด้วยได้

– สาเหตุจากสมอง เช่น โรคไมเกรน อาการจะมีปวดศีรษะข้างเดียว ร้าวมากระบอกตา เห็นแสงออร่าหรือไม่เห็นก็ได้ คลื่นไส้อาเจียนได้ มักมีปัจจัยกระตุ้นเช่น เจอแสงแดดจัด ร้อนจัด ความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะกระตุ้นอาการของไมเกรนได้
เนื้องอกในสมอง อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวร่วมกับปวดตาได้ มักจะมีอาเจียนมาก ลักษณะแบบอาเจียนพุ่งเนื่องจากมีความดันในสมองขึ้นสูง โดยไม่ได้มีปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ

– สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคโพรงจมูกหรือไซนัสอักเสบ สามารถทำให้มีอาการปวดบริเวณกระบอกตาได้เช่นกัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วยเช่น คัดแน่นจมูกนำมาก่อน น้ำมูกมีกลิ่นเหม็น รู้สึกปวดจากโพรงจมูกร้าวมากระบอกตา เป็นต้น

แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการใช้สายตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน เบื้องต้นสามารถไปวัดสายตาที่ร้านแว่นเพื่อดูว่าสายตาผิดปกติหรอไม่ สามารถทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือปวดมากขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์นะคะ

ตอบโดย พญ. สุพิชชา แสงทองพราว

ปวดตา พร้อมปวดหัว

อยู่กับคอมพิวเตอร์ทุกวัน ทำให้ปวดตาข้างเดียวและปวดหัวข้างเดียว รักษาอย่างไร

ปวดศีรษะ เป็นอาการ ที่มีคำถามพบบ่อยมากที่สุดประการหนึ่ง และเป็นอาการที่นำมาพบแพทย์มากที่สุดอาการหนึ่ง​
อาจมีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรง อันตราย เช่น เนื้องอกในสมอง ความดันในสมองสูงขึ้น แต่พบได้น้อยกว่า และมักจะมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นแขนขาอ่อนแรง หน้าเบี้ยว ลานประสาทตาแคบลงทำให้เดินชนสิ่งต่างๆ
แต่ที่พบบ่อยมากกว่า จะเป็นอาการปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นเป็น หายหาย ไม่ว่าจะ ลักษณะการปวดเป็นเช่นไร เช่นปวดตุ้บ ๆ ปวดต้นคอ ปวดศีรษะข้างเดียว เหล่านี้พบได้มากกว่า อาจมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย ซึ่งมักจะเป็นจากความเครียด หรือ วิตกกังวล ซึ่ง ถ้าเครียดมาก ๆ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ใจสั่น หน้ามืด วูบได้ หรือจากพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่นนอนไม่หลับ วิธีรักษาก็สามารถ กินยาแก้ปวด ศีรษะที่ไม่อันตราย เช่นพาราเซตามอล ตามขนาด
และในระยะยาว ควรหาวิธีจัดการกับความเครียด ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การทำสมาธิ การทำไบโอฟีดแบค ฯลฯ
การออกกำลังกาย อย่างหนักพอเพียง ทำประจำสม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้สุขภาพกาย สุขภาพจิตดีขึ้น จัดการกับความเครียดได้ อาการปวดศีรษะก็จะดีขึ้น หรือหายไปได้
ถ้าใช้วิธีต่างๆแล้ว อาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้น หรือเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุอย่างจริงจัง

ในกรณีที่ใช้สายตามาก เช่น อ่านหนังสือ หรือ เพ่งจอคอมพิวเตอร์ ควรพักสายตาบ้างเป็นระยะ เช่นทุก ครึ่งถีงหนึ่งชั่วโมง มองไกล ๆ หรือ หลับตา สักพัก

ตอบโดย นพ. ชัยวัฒน์ จิรานันท์สกุล

มีอาการปวดตา แล้วตามด้วยอาการปวดหัวบ่อยๆๆ สามารถรักษาให้หายได้มั้ยค่ะ

ปวดศีรษะ เป็นอาการ ที่มีคำถามพบบ่อยมากที่สุดประการหนึ่ง และเป็นอาการที่นำมาพบแพทย์มากที่สุดอาการหนึ่ง​

อาจมีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรง อันตราย เช่น เนื้องอกในสมอง ความดันในสมองสูงขึ้น แต่พบได้น้อยกว่า และมักจะมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นแขนขาอ่อนแรง หน้าเบี้ยว ลานประสาทตาแคบลงทำให้เดินชนสิ่งต่างๆ

แต่ที่พบบ่อยมากกว่า จะเป็นอาการปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นเป็น หายหาย ไม่ว่าจะ ลักษณะการปวดเป็นเช่นไร เช่นปวดตุ้บ ๆ ปวดต้นคอ ปวดขมับ ปวดเบ้าตา ปวดศีรษะข้างเดียว เหล่านี้พบได้มากกว่า มากกว่า 80%

ถ้ามีอาการปวดตาด้วย ควรตรวจสายตาว่า มี สายตาสั้น ยาว หรือเอียง หรือไม่
ถ้าใช้สายตาอ่านหนังสือหรือเพ่งจอคอมพิวเตอร์ ก็ควรพักสายตาทุก ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ด้วยการมองไปไกลๆ หรือ หลับตา

อาจมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย ซึ่งมักจะเป็นจากความเครียด หรือ วิตกกังวล ซึ่ง ถ้าเครียดมาก ๆ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ใจสั่น หน้ามืด วูบได้ หรือจากพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่นนอนไม่หลับ
วิธีรักษาก็สามารถ กินยาแก้ปวดศีรษะที่ไม่อันตราย เช่นพาราเซตามอล ตามขนาด

และในระยะยาว ควรหาวิธีจัดการกับความเครียด ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การทำสมาธิ การทำไบโอฟีดแบค ฯลฯ

การออกกำลังกาย อย่างหนักพอเพียง ทำประจำสม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้สุขภาพกาย สุขภาพจิตดีขึ้น จัดการกับความเครียดได้ อาการปวดศีรษะก็จะดีขึ้น หรือหายไปได้

ถ้าใช้วิธีต่างๆแล้ว อาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้น หรือเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุอย่างจริงจัง

ตอบโดย นพ. ชัยวัฒน์ จิรานันท์สกุล

ปวดหนังตา หนังตาตก

ปวดหนังตาข้างเดียว เกิดจากอะไรและแก้ไขยังไงได้บ้างคะ

การมีหนังตาตกลงมา 1 ข้างนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อเปลือกตาบน ความผิดปกติของเส้นประสาทที่มาควบคุมการเปิดเปลือกตาได้ครับ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงบางชนิด ตากุ้งยิง

หมอแนะนำว่าในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจตาเพิ่มเติมโดยละเอียดให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อนเพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมกับสาเหตุครับ

ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำถามเกี่ยวกับสุขภาพ

Scroll to Top