ยาแก้เวียนหัว วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน มึนหัว มีอะไรบ้าง ?

อาการวิงเวียนศีรษะ เป็นอาการป่วยที่พบได้บ่อยและมีระดับของอาการมึนหัวหลายระดับ บางคนเวียนหัวเล็กน้อยพอประคองตัวเองได้ ส่วนบางคนเวียนหัวหนัก มีอาการบ้านหมุน จนทรงตัวไม่ได้ จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ แล้วอาการมึนหัวตลอดเวลา ควรกินยาอะไรดี มียาอะไรบ้าง มาทำความรู้จักกับยาแก้เวียนหัวกัน

ยาแก้เวียนหัว มึนหัว ที่นิยมใช้

ยาแก้วิงเวียนศีรษะมีหลายชนิด ขึ้นกับที่เภสัชกรและแพทย์แนะนำให้ใช้ โดยจะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยตามความเหมาะสม

  •  Flunarizine (ฟลูนาริซีน) ใช้รักษาอาการวิงเวียน มึนงง จากความผิดปกติของอวัยวะ ทรงตัวในหูชั้นใน และป้องกันไมเกรน
  •  Cinnarizine (ซินนาริซีน) ใช้รักษาอาการมึนงง เวียนศีรษะ จากการเมารถ เมาเรือ เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะรับการทรงตัว หรือความผิดปกติของระบบหลอดเลือดและสมอง ใช้เมื่ออาการเกิดจากปัญหาความดันโลหิตต่ำหรือการไหลเวียนเลือดไม่ปกติ รวมถึงสามารถใช้ป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนได้ด้วย
  • Betahistine (เบตาฮีสทีน) ใช้รักษาอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน เช่น โรค Meniere’s (โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน) ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดในหูชั้นใน ส่งผลให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้น นิยมใช้เมื่อมีอาการบ้านหมุนรุนแรงและต่อเนื่อง
  • Dimenhydrinate (ไดเมนไฮดริเนต) ใช้สำหรับอาการเมารถ เมาเรือ หรืออาการเวียนศีรษะจากการเคลื่อนไหว มีฤทธิ์ต้านการอาเจียนร่วมด้วย ช่วยลดการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ทำให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้น
  • Meclizine (เมคลิซีน) ใช้บรรเทาอาการเวียนศีรษะจากหลายสาเหตุ รวมถึงอาการบ้านหมุน เมารถ และเวียนศีรษะที่เกิดจากปัญหาหูชั้นใน ช่วยลดการกระตุ้นของระบบประสาทที่ควบคุมการทรงตัว ทำให้อาการดีขึ้นและสามารถใช้ได้ในระยะสั้น
  • Prochlorperazine (โปรคลอร์เพอราซีน) ใช้รักษาอาการเวียนศีรษะที่มีความเกี่ยวข้องกับการอาเจียนและคลื่นไส้ เช่น อาการเวียนศีรษะจากการอักเสบของหูชั้นใน ยานี้ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมกับการลดอาการเวียนศีรษะ

อาการวิงเวียนศีรษะ เกิดจากอะไร ?

อาการวิงเวียนศีรษะ มึนหัวตลอดเวลา เป็นอาการป่วยที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ระบบการทรงตัวในหูชั้นในผิดปกติ
  • ระบบประสาทและสมองทำงานผิดปกติ
  • ระบบหมุนเวียนโลหิตผิดปกติ
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ภาวะโลหิตจาง

หากทานยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนยังคงมีอยู่นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มองเห็นภาพซ้อน เดินเซ หรืออาการชาที่ใบหน้า ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด

ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้เวียนศีรษะ

  • ยาแก้เวียนหัวมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรหลังการใช้ยา
  • การใช้ยาแก้เวียนศีรษะควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตต่ำ หรือการใช้ยาร่วมกับยาตัวอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพของยา

ทำไมถึงไม่ควรกินยาแก้วิงเวียนพร่ำเพรื่อ

ยาฟลูนาริซีน และยาซินนาริซีน หากใช้ผิดไม่ว่าจะใช้ยาในปริมาณสูง หรือใช้ยาเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลาง และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลายผิดปกติ ทำให้การก้าวเดินผิดปกติ เดินได้ช้าลง มือสั่น พูดไม่ชัด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อหยุดยา อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายได้เอง แต่บางรายอาการต่าง ๆ อาจไม่ได้หายไปในทันที หรืออาจส่งผลระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ดังนั้น เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ยาแก้วิงเวียนเหล่านี้ควรใช้ยาในขนาดต่ำและใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ ที่สำคัญควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร

หากใช้ยาแล้วมีอาการแพ้ หน้าบวม เปลือกตาหรือผื่นลมพิษ หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก ควรหยุดยา แล้วรีบไปพบแพทย์ในทันที


บทความเกี่ยวข้อง

คำถามสุขภาพที่พบบ่อย

Scroll to Top