ผ่าฟันคุดเป็นวิธีรักษาฟันคุด (Wisdom Teeth, Impacted Tooth) ที่ทันตแพทย์แนะนำ เพราะฟันคุดมักก่อให้เกิดอาการปวดฟัน เหงือกบวมแดง ฟันผุ ฟันล้มเก และปัญหาในช่องปากอีกมากมาย
เมื่อต้องไปผ่าฟันคุดจริง ๆ ก็อาจรู้สึกกลัวปนกังวลใจไปพร้อมกัน วันนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมเรื่องควรรู้เกี่ยวกับการผ่าฟันคุดมาฝาก ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการผ่าฟันคุด ผลข้างเคียง และการดูแลแผลหลังผ่าฟันคุด มาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปหาทันตแพทย์กัน
สารบัญ
ทำไมต้องผ่าฟันคุด
ฟันคุดอาจส่งผลต่อฟันซี่ข้างเคียงหรือก่อปัญหาช่องปากในอนาคต แม้จะไม่อาการปวดหรือความผิดปกติใด ๆ ทันตแพทย์มักจะให้ผ่าฟันคุด (Tooth Removal) ออก เพราะเศษอาหารมักติดตามซอกฟัน และรักษาความสะอาดได้ยาก จึงเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาช่องปากในอนาคต เช่น
- ฟันผุ อาจจะผุที่ฟันคุดเองหรือฟันซี่ข้างเคียง
- ฟันล้มเกจากแรงดันของฟันคุด
- เหงือกที่คลุมฟันคุดเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ
- โรคเหงือก
- รากฟันข้างเคียงละลาย
- ถุงน้ำรอบฟันคุด
ทันตแพทย์มักแนะนำให้ผ่าฟันคุดตั้งแต่อายุไม่มาก (ประมาณ 18-25 ปี) เพราะทำได้ง่าย แผลหายเร็ว และเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าฟันคุดได้น้อย
ฟันคุดรู้ได้ก่อน อย่ารอจนมีอาการปวด! ให้คุณหมอช่วยตรวจดูจะดีกว่า เปรียบเทียบราคา หาโปรผ่าหรือถอนฟันคุด หรือดูรีวิว HDmall.co.th รวมมาให้แล้ว จองวันนี้ ได้ส่วนลดทุกครั้งที่ซื้อ คลิกเลย
ผ่าฟันคุด มีขั้นตอนอะไรบ้าง ใช้เวลาผ่านานไหม
การผ่าฟันคุดจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที ไปจนถึง 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของฟันคุด และสามารถกลับบ้านได้เลยหลังจากผ่าเสร็จ โดยขั้นตอนการผ่าฟันคุดมีรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 วัดชีพจรและความดันเลือด
ก่อนผ่าฟันคุดจะมีการตรวจวัดชีพจรและความดันเลือด ถ้าความดันเลือดสูงมากจะต้องเลื่อนการผ่าฟันคุดออกไปก่อน เพราะอาจส่งผลให้เลือดออกมากหรือเป็นอันตรายได้
ขั้นตอนที่ 2 ฉีดยาชา
ทันตแพทย์จะฉีดยาชาที่ฟันและเหงือกบริเวณที่ต้องผ่าตัด บางรายอาจป้ายยาชาบริเวณดังกล่าวก่อนฉีดยาชา เพื่อลดความเจ็บปวดขณะฉีดยาชา เมื่อยาชาออกฤทธิ์จะให้ความรู้สึกตึง ไม่มีความรู้สึก โดยทันตแพทย์จะประเมินก่อนว่ายาชาออกฤทธิ์ดีแล้ว ถึงจะเริ่มขั้นตอนถัดไป
บางรายอาจต้องใช้ยาชากล่อมประสาทมาช่วยคลายกังวล หรือใช้ดมยาสลบแทน เช่น เด็กเล็ก ผู้ป่วยที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ คนที่มีฟันคุดซับซ้อนมาก คนที่แพ้ยาชา หรือคนที่รู้สึกวิตกกังวล
ขั้นตอนที่ 3 เปิดเหงือกและนำฟันคุดออก
ฟันคุดที่ยังไม่ขึ้นทะลุเหงือกหรือขึ้นมาเพียงบางส่วนจะต้องกรีดเปิดเหงือกออกก่อน เพื่อให้เห็นฟันที่อยู่ภายใน หลังจากนั้นทันตแพทย์จะกรอหรือตัดกระดูกที่ปิดขวางออก และตัดฟันออกเป็นส่วนเล็ก ๆ เพื่อให้นำออกมาได้สะดวกขึ้น คนไข้อาจรู้สึกได้ถึงความตึงและแรงกดบริเวณที่ผ่าฟันคุด เพราะทันตแพทย์จะค่อย ๆ โยกฟันไปมา เพื่อขยายเบ้าฟันให้ง่ายต่อการนำฟันออก
บางกรณีอาจตัดเอาเฉพาะตัวฟันออกไป เหลือทิ้งไว้แต่รากฟันในขากรรไกร (Coronectomy) เพื่อป้องกันเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียงรากฟันนั้นเสียหาย โดยวิธีนี้อาจปลอดภัยกับผู้ป่วยสูงอายุมากกว่า
ขั้นตอนที่ 4 ล้างและเย็บแผล
หลังนำฟันคุดออกหมดแล้ว ถัดมาจะล้างแผลให้เรียบร้อยเพื่อป้องการติดเชื้อ เย็บปิดแผล แล้วใช้ผ้าก๊อซปิดที่ปากแผล ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตัดไหมและติดตามอาการหลังผ่าฟันคุดภายใน 7-10 วัน
ดูแลตัวเองหลังผ่าฟันคุดอย่างไร
ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นให้กับผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการหลังผ่าฟันคุด และป้องกันอาการแย่ลง เช่น
- หลังผ่าฟันคุดควรกัดผ้าก๊อซทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง ห้ามบ้วนเลือดและน้ำลายทิ้ง เพราะอาจกระตุ้นให้เลือดไหลมากขึ้น ถ้ายังมีเลือดไหลอยู่ ให้เปลี่ยนผ้าก๊อซอันใหม่ กัดไว้ประมาณ 15 นาที
- ควรพักฟื้นที่บ้านอย่างน้อย 3-5 วัน เพื่อฟื้นฟูร่างกาย
- ประคบเย็นลดอาการบวมบริเวณแก้ม ครั้งละ 20 นาที สามารถทำได้วันละหลายครั้ง
- รักษาความสะอาดภายในช่องปากด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ และแปรงฟันตามปกติ ยกเว้นบริเวณแผลผ่าฟันคุด และไม่ควรบ้วนปากแรง ๆ
- หลีกเลี่ยงการใช้นิ้วสัมผัสแผลหรือเอาลิ้นดุนแผล
- รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว โดยใช้ฟันข้างที่ไม่ได้ผ่าฟันคุดเคี้ยวแทน
- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด รสจัด อาหารแข็ง กรอบ ของทอด หรือต้องเคี้ยว เพราะอาจทำให้ระคายเคือง แผลหายช้า
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ งดน้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มร้อนในช่วง 24 ชั่วโมงแรก
- รับประทานยาให้ครบตามที่ทันตแพทย์แนะนำ และไม่หยุดใช้ยาด้วยตัวเอง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหลังผ่าตัด เพราะอาจเสี่ยงต่ออาการปวด บวม หรือเลือดออกมากขึ้น
ผ่าฟันคุด มีผลข้างเคียงหรือไม่
หลังผ่าฟันคุดอาจจะมีเลือดซึมออกจากแผล แผลอักเสบบวมแดง บวมช้ำที่ปากหรือแก้ม รู้สึกปวดแผล อ้าปากได้น้อย และอาจมีอาการชาตามใบหน้าหรือริมฝีปากไม่กี่ชั่วโมงหลังผ่า อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นใน 2-3 วัน และมักหายดีภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าอาการแย่ลง อาการไม่หายไป หรือพบอาการผิดปกติหลังผ่าฟันคุด ควรรีบไปพบทันตแพทย์โดยด่วน เช่น
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีเลือดออกมากผิดปกติ
- อาการปวดอย่างรุนแรงที่ยาแก้ปวดใช้ไม่ได้ผล
- อาการชา ไม่มีความรู้สึก
- กลืนหรือหายใจได้ยาก
- อาการบวมแย่ลงหลังผ่านไป 3 วัน
- มีเลือดหรือหนองปนในน้ำมูก
- เกิดการติดเชื้อ ทำให้มีหนองที่เบ้าฟันหรือแผลผ่าฟันคุด
การผ่าฟันคุดทุกวันนี้มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ปลอดภัยสูง ใช้เวลาเพียงไม่นานก็กลับบ้านได้แล้ว แถมไม่ต้องพักฟื้นนาน ถ้าพบว่ามีฟันคุดก็อย่าลังเลที่จะไปพบทันตแพทย์
ปล่อยฟันคุดทิ้งไว้ เสี่ยงกระทบฟันซี่อื่นได้! ไม่รู้จะผ่าฟันคุดที่ไหนดี ลองดูโปรผ่าฟันคุดได้ที่ HDmall.co.th สะดวก ประหยัดเวลา เทียบราคาได้หลายคลินิกและโรงพยาบาล แถมได้ส่วนลดทุกครั้งที่จอง คลิกเลย