หลายคนกลัวเจ็บจนไม่อยากผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุดออก แล้วถ้าไม่เอาฟันออก ปล่อยทิ้งไว้จะเป็นไรไหม โดยเฉพาะถ้าปวดฟันหรือมีความผิดปกติในช่องปาก มาหาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้
สารบัญ
ฟันคุด คืออะไร เป็นแบบไหน
ฟันคุด (Wisdom Teeth, Impacted Tooth) เป็นฟันแท้ที่ไม่สามารถงอกขึ้นมาตามปกติเหมือนฟันซี่อื่น ๆ เพราะมีกระดูกขากรรไกรหรือเหงือกขวางอยู่ หรือไม่มีพื้นที่พอให้ฟันขึ้น
ฟันคุดมักจะเกิดกับฟันกรามซี่ในสุดหรือฟันกรามซี่ที่สาม แต่ก็เกิดกับฟันซี่อื่นได้ด้วย อย่างฟันเขี้ยวและฟันกรามน้อย ฟันคุดอาจโผล่ขึ้นมาให้เห็นทั้งซี่ โผล่ขึ้นมาบางส่วน หรือไม่โผล่ตัวฟันให้เห็นเลยก็ได้
รวมถึงลักษณะการขึ้นของฟันคุดก็มีอยู่หลายแบบ
- ฟันคุดขึ้นในแนวตั้ง แต่อาจยังติดอยู่ภายใต้กระดูกขากรรไกรหรือเหงือก
- ฟันคุดขึ้นในแนวนอน มักก่อให้เกิดอาการปวดจากการกดเบียดฟันซี่ข้างเคียง
- ฟันคุดขึ้นในแนวเฉียง อาจเบียดเข้าหรือออกจากฟันซี่ข้างเคียง
อาการบ่งบอกว่ามีฟันคุด คือ ปวดฟัน เหงือกบวมแดงหรือมีเลือดออก ปวดกราม ใบหน้าบวม มีกลิ่นปาก รู้สึกถึงรสชาติแปลก ๆ ในปาก อ้าปากและกลืนอาหารได้ลำบาก แต่บางคนอาจไม่มีอาการปวดฟัน หรือสัญญาณเตือนของฟันคุดแสดงให้เห็นเลย จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ไม่ถอนหรือผ่าฟันคุดได้ไหม นั่นเอง
ถ้าไม่ถอนหรือผ่าฟันคุดออกจะเป็นอย่างไร?
ทันตแพทย์มักแนะนำให้ถอนหรือผ่าฟันคุดทุกซี่ออก โดยไม่ต้องรอให้มีอาการปวดหรือบวม เหตุผลสำคัญคือ เรื่องสุขอนามัยในช่องปากและภาวะแทรกซ้อนจากฟันคุดต่อไปนี้
- ฟันคุดที่โผล่พ้นเหงือกมาบางส่วน มักทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารและแบคทีเรียเข้าไปสะสมระหว่างซี่ฟันได้ง่าย จึงเสี่ยงต่อปัญหากลิ่นปาก ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือโรคเหงือก
- ฟันคุดมักไปเบียดฟันซี่ข้างเคียงจนกระทบต่อการเรียงตัวของฟัน ทำให้ฟันล้ม ฟันเก ฟันซี่อื่นเสียหายหรือติดเชื้อ จนสร้างความเจ็บปวดและเคี้ยวอาหารได้ลำบาก
- แรงดันจากฟันคุดสามารถทำลายรากฟันข้างเคียงจนละลายหรือเสียหาย
- ฟันคุดอาจทำให้เกิดถุงน้ำรอบฟันคุด และอาจทำลายเหงือกและกระดูกบริเวณใกล้เคียง
- รวมถึงปวดที่โพรงไซนัส ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ทันตแพทย์มักแนะนำให้เอาฟันคุดออกแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 18-25 ปี เพราะเป็นช่วงที่รากฟันยังไม่ไปชิดกับเส้นประสาทฟันมาก ทำให้ถอนหรือผ่าฟันคุดได้ง่ายกว่า แผลฟื้นฟูได้เร็ว และเสี่ยงกับผลข้างเคียงน้อย
ถอนฟันกับผ่าฟันคุด ต่างกันอย่างไร
การถอนหรือผ่าฟันคุดจะต้องดูลักษณะของฟันคุด ถ้าฟันคุดโผล่ขึ้นมาทั้งซี่ เพียงพอที่จะใช้เครื่องมือโยกแล้วถอนฟันออกมาได้ ทันตแพทย์จะใช้วิธีการถอนฟันคุดออก แต่ถ้าฟันคุดยังอยู่ใต้เหงือก โผล่ขึ้นมาเพียงบางส่วน ไม่ครบทั้งซี่ จะใช้เป็นการผ่าฟันคุดออกมาแทน
ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ คนที่มีฟันคุดจึงควรไปพบทันตแพทย์ เพื่อวางแผนการถอนหรือผ่าฟันคุดก่อนเกิดอาการปวดฟันหรือปัญหาภายในช่องปากตามมา
ไม่แน่ใจมีฟันคุดไหม? ให้คุณหมอช่วยดูดีกว่า หาโปรถอนหรือผ่าฟันคุดทุกระดับความยากได้ ที่นี่ จองผ่าน HDmall.co.th วันนี้ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ให้คุณหมอประเมินก่อนได้ จ่ายตามรักษาจริง แถมมีส่วนลดทุกครั้งที่จอง