แนะนำวิธีดูแลตัวเองหลังการถอนฟันกราม scaled

แนะนำวิธีดูแลตัวเองหลังการถอนฟันกราม

การถอนฟันเป็นหนึ่งในศัลยกรรมช่องปากที่ต้องให้การดูแลหลังการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากการถอนฟันได้ เช่น การติดเชื้อ หรือกระดูกเบ้าฟันอักเสบ

ใครหลายคนมักคิดว่า การถอนฟันเป็นเรื่องไกลตัว เพียงแค่ดูแลสุขภาพฟันและช่องปากอย่างดี เข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและช่องปากและขูดหินปูน ทุกๆ 6 เดือน ก็จะช่วยป้องกันการเกิดฟันผุ ทำให้ไม่จำเป็นต้องถอนฟัน

อย่างไรก็ตาม นอกจากฟันและฟันกรามผุแล้ว ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้จำเป็นต้องถอนฟันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ฟันน้ำนมไม่หลุดตามระยะเวลาที่สมควร ฟันคุด ถอนฟันเพื่อจัดฟัน หรือได้รับอุบัติเหตุจนทำให้ฟันแตก หรือรากฟันได้รับความเสียหายจนไม่สามารถอุดฟัน หรือรักษาคลองรากฟันได้ ดังนั้นการรู้จักวิธีดูแลตนเองหลังถอนฟันอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นหลังการถอนฟันกรามผุ หรือหลังการถอนฟันคุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

อาการที่พบบ่อยหลังการถอนฟันกราม

ก่อนที่จะไปรู้จักกับวิธีดูแลตนเองหลังถอนฟัน ควรทำความรู้จักอาการหลังการถอนฟันที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อน โดยอาการหลังการถอนฟันกรามที่พบบ่อยนั้นจะเหมือนกับการถอนฟันทั่วไป ดังนี้

1.เลือดออกและเลือดออกไม่หยุด (Hemorrhage)

อาการเลือดซึมหลังการถอนฟันเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากเลือดออกจำนวนมาก หรือมีลิ่มเลือดอยู่ในปาก ควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที

สาเหตุที่ทำให้เลือดออกไม่หยุดนั้นอาจเกิดจากโรคประจำตัว หรือภาวะผิดปกติของผู้เข้ารับการถอนฟัน เช่น โรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia) ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือมีภาวะขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินเค โรคตับ รวมทั้งการมีเหงือกอักเสบติดเชื้อตั้งแต่ก่อนถอนฟัน

ดังนั้นหากผู้เข้ารับการถอนฟันมีโรคประจำตัว หรือกำลังรับประทานยารักษาโรคอยู่ ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบเพื่อที่ทันตแพทย์จะได้ประเมินความเสี่ยง และเตรียมวิธีการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

2.ฟกช้ำ หรือห้อเลือด (Ecchymosis)

อาการฟกช้ำ หรือห้อเลือดเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือการผ่าตัดที่ต้องเปิดแผ่นเนื้อเยื่อ (Flaps) กว้างๆ หากไม่บวมมาก ไม่ปวด สามารถหายได้เองภายใน 7-14 วัน

แต่ถ้าเป็นห้อเลือดขนาดใหญ่ สีม่วงหรือแดงและบวมมากควรพบทันตแพทย์ อาจต้องทำการรักษาอื่นๆ เพิ่มเติม เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อภายหลังได้

สาเหตุของอาการฟกช้ำนั้นเกิดจากการที่มีเลือดซึมใต้เยื่อเมือก (Submucosa) หรือใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) ทำให้บริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นสีคล้ำๆ หรือรอยช้ำ โดยสามารถพบได้ทั้งบริเวณในช่องปาก หรือบนใบหน้า

3.บวมน้ำ (Edema)

อาการบวมน้ำเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากการตอบสนองของเนื้อเยื่อต่อการบาดเจ็บ (Trauma) ที่เกิดขึ้น ซึ่งการถอนฟันนับเป็นการบาดเจ็บอย่างหนึ่ง ดังนั้นการถอนฟันจึงทำให้มีโอกาสเกิดการบวมได้นั่นเอง

ปกติแล้ว ผู้ที่เข้ารับการผ่าฟันคุดจะมีอาการบวมบริเวณใบหน้าข้างที่ผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดจะทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากบริเวณดังกล่าวเกิดการบาดเจ็บ จนทำให้เกิดอาการบวมตามมา

อาการบวมจะบวมมากที่สุดในเวลา 48-72 ชั่วโมงหลังการถอนฟัน หลังจากนั้นจะค่อยๆ บวมน้อยลงตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการถอนฟันธรรมดา แต่ใบหน้าบวมมาก หรือมีอาการบวมมากขึ้นหลังวันที่ 3 ของการถอนฟันอาจเกิดจากการภาวะติดเชื้อได้ ควรไปพบทันตแพทย์ทันที

4.อาการปวดและไม่สบายหลังการผ่าตัด (Pain and Discomfort)

ปกติแล้ว ผู้เข้ารับการถอนฟันจะมีอาการปวดไม่รุนแรงบริเวณแผลถอนฟันหลังการถอนฟันประมาณ 12 ชั่วโมง ซึ่งเกิดจากกระบวนการฟื้นฟูของร่างกายเมื่อได้รับบาดเจ็บ

หลังจากนั้นอาการปวดจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ และควรจะหายปวดภายใน 2 วัน หากเกินกว่านั้น หรือปวดมากผิดปกติควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ

5.อ้าปากได้จำกัด (Trismus)

อาการอ้าปากได้จำกัดหลังการถอนฟัน เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยว มักพบในเคสที่ถอนฟันยากอย่างการถอนฟันคุด การผ่าตัดฟันกรามล่างซี่ที่ 3 หากมีอาการอ้าปากได้จำกัดควรแจ้งทันตแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งสังเกตได้จากการมีหนองบริเวณแผลถอนฟัน ทันตแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าเอาหนองออก (Incision and drainage)

6.กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Aleveolar osteitis)

กระดูกเบ้าฟันอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังการถอนฟัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • มีกระดูก หรือเนื้อเยื่อได้รับการบาดเจ็บในขณะที่ถอนฟันแบบยาก มักพบในการถอนฟันคุดด้านล่าง
  • ลิ่มเลือดที่ปิดแผลหลุดไปก่อนเวลาอันสมควร

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้น มีอาการแสดงหลังจากถอนฟันไปแล้ว 3-4 วัน

หากผู้เข้ารับการถอนฟันมีอาการปวดอย่างรุนแรงหลังถอนฟันไปแล้ว 3-4 วัน มองเห็นกระดูกในแผลถอนฟันควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที

ทันตแพทย์จะรักษากระดูกเบ้าฟันอักเสบ โดยการลดความเจ็บปวดและคลายการอักเสบด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ แล้วใช้ยาลดอาการปวดเข้าไปในเบ้ารากฟัน

7.การติดเชื้อ (Post operative infection)

แผลหลังถอนฟันติดเชื้อจะสังเกตได้จากการปวด บวม มีไข้ เกิดหนองบริเวณแผลถอนฟัน ซึ่งหนองเกิดจากการตายของเม็ดเลือดขาวจำนวนมากที่เข้ามากำจัดเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง

การติดเชื้อนั้นจะเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ มีการติดเชื้อของฟันบริเวณนั้นอยู่ก่อน หรือผู้เข้ารับการถอนฟันมีความต้านทานต่อการติดเชื้อน้อย ซึ่งทันตแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว หรือใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าตัดเอาหนองออก

ข้อควรระวังในการรับประทานยาปฏิชีวนะนั้น ผู้ที่รับประทานยาจะต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์รุนแรงขึ้น และส่งผลให้มีผลข้างเคียงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

วิธีบรรเทาอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังการถอนฟันกราม

วิธีบรรเทาอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังการถอนฟันกราม รวมไปถึงการถอนฟันอื่นๆ จะขึ้นอยู่กับอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • ให้กัดผ้าก็อซไว้ให้แน่น อย่างน้อย 1 ชั่วโมง งดการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดการออกกำลังกายหนัก รวมถึงงดบ้วนปากเพราะจะทำให้เลือดออกจากแผลถอนฟันได้
  • ในกรณีที่เลือดไหลออกมาก หรือไหลไม่หยุด ทันตแพทย์จะทำการเย็บแผลร่วมกับการใช้สารห้ามเลือด เช่น Gel foam หรือ Surgicel (Oxidised cellulose) pack เพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น
  • ในกรณีที่มีรอยช้ำบนใบหน้า สามารถบรรเทาอาการได้โดยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณที่มีอาการห้อเลือด ซึ่งเริ่มทำได้หลังการถอนฟันไปแล้ว 3 วันขึ้นไป
  • ในกรณีที่มีอาการบวม สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการประคบเย็น โดยใช้คูลแพ็ค หรือน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกห่อผ้า ประคบบริเวณที่มีอาการบวม ทุกๆ 20 นาที
  • ในกรณีที่มีอาการปวดไม่รุนแรงหลังการถอนฟัน สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ขนาด 500-1,000 มิลลิกรัม ทุกๆ 4-6 ชั่วโมงจนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งปกติแล้วควรหายปวดภายใน 2 วัน
  • ในกรณีที่มีอาการปวดมากหลังการถอนฟัน สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non steroidal anti inflammatory drugs: NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือนาพร็อกเซน (Naproxen)
  • ทั้งนี้ผู้มีโรคประจำตัว หรือแพ้ยา ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

คำแนะนำในการดูแลตัวเองหลังถอนฟันกราม เพื่อช่วยให้แผลหลังถอนฟันหายเร็วขึ้น

มีหลายพฤติกรรมที่ควรทำและไม่ควรทำหลังการถอนฟัน ซึ่งจะช่วยให้การดูแลแผลหลังถอนฟันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้

  • ห้ามแคะ หรือเอาลิ้นดูด ดุนแผลถอนฟันเล่น
  • ในวันแรกสามารถบ้วนปากเบาๆ และแปรงฟันได้ แต่ไม่ควรกลั้วปากแรง และระมัดระวังการแปรงฟันบริเวณแผลถอนฟัน
  • หมั่นบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำยาบ้วนปากที่ทันตแพทย์จ่ายให้
  • หากทันตแพทย์ให้รับประทานยาปฏิชีวนะ จะต้องรับประทานให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่ง
  • งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
  • งดการรับประทานอาหารเผ็ดจัด ร้อนจัด เพราะอาจทำให้แผลหลังถอนฟันอักเสบได้
  • ในวันแรกหลังการถอนฟัน ควรรับประทานอาหารอ่อน หรืออาหารเหลวที่ไม่ร้อนมากเกินไป เช่น นม โจ๊ก ซุปข้าวโพด ซุปฟักทอง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการสมานแผลอย่างเพียงพอ เช่น โปรตีน ธาตุเหล็กและสังกะสี ไขมันดี หรือวิตามินซี

ข้อควรรู้เกี่ยวกับแผลถอนฟัน

ลักษณะของแผลหลังถอนฟันจะมีลิ่มเลือดมาปกปิดเหนือแผลถอนฟัน ซึ่งลิ่มเลือดจะเป็นตัวช่วยให้เกิดกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อ หรือเหงือกขึ้นมาทดแทนช่องว่างของฟันที่ถูกถอนไป ดังนั้นผู้เข้ารับการถอนฟันจึงไม่ควรบ้วนปากเพื่อเอาลิ่มเลือดออกนั่นเอง

แม้ว่า การถอนฟันจะดูไม่เป็นอันตรายเท่ากับการทำศัลยกรรมอื่นๆ แต่ถ้าหากดูแลไม่ดีก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้เช่นกัน

ดังนั้นผู้ที่เข้ารับการถอนฟันจึงควรขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลฟันและช่องปากที่เหมาะสมจากทันตแพทย์ เมื่อเกิดอาการผิดปกติก็ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบทันที เพราะการพบความผิดปกติและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มากยิ่งขึ้น


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช

Scroll to Top