ถอนฟันกรามเกิดจากปัญหาอะไร ดูแลตัวเองอย่างไรหลังถอนแล้ว scaled

ถอนฟันกรามเกิดจากปัญหาอะไร ดูแลตัวเองอย่างไรหลังถอนแล้ว

เมื่อพูดถึงการถอนฟัน หลายๆ คนคงรู้สึกหวั่นกลัวเพราะคิดว่า จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวด มีเลือดออก กินอาหารลำบากจนกลายเป็นกินไม่อร่อย และต้องอยู่กับความรู้สึกนั้นไปอีกหลายวันหลายคืน โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงการถอนฟันกราม ซึ่งเป็นฟันซี่ใหญ่ อยู่ด้านในของปาก และอาจทำให้เกิดความรู้สึกตึงเจ็บมากเป็นพิเศษขณะถอนได้

ความหมายของฟันกราม

ฟันกราม (Molar Tooth) คือ ฟันที่ขึ้นอยู่ท้ายสุดของแถวฟันทั้งบน และล่าง โดยจะอยู่บริเวณกระดูกขากรรไกร หน้าที่หลักๆ ของฟันกรามคือ ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร

ดังนั้นฟันกรามจึงจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่กว่าฟันซี่อื่นๆ เพื่อรองรับการใช้งานหนัก

ฟันกรามแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ฟันกรามน้อย 8 ซี่ และฟันกรามธรรมดาอีก 12 ซี่ ฟันกรามโดยปกติจะมีจำนวนทั้งหมด 20 ซี่ แถวบน 10 ซี่ และแถวล่าง 10 ซี่

ความแตกต่างระหว่างฟันกรามน้อย และฟันกรามธรรมดา

ฟันกรามน้อย (Premolar teeth) คือ ฟันกรามซึ่งจะขึ้นเฉพาะฟันแท้เท่านั้น ไม่มีในฟันน้ำนม มีลักษณะรูปร่างกลมกว่าฟันกรามธรรมดา และมีขนาดเล็กกว่า ฟันกรามน้อยมีหน้าที่ฉีกแบ่งกับบดเคี้ยวอาหาร

ดังนั้นความแตกต่างระหว่างฟันกรามน้อยกับฟันกรามธรรมดาจะมีในส่วนของรูปร่างที่ใหญ่เล็กไม่เท่ากันเท่านั้น ส่วนหน้าที่ของฟันทั้ง 2 ชนิดจะเหมือนกัน นั่นคือ ใช้บดเคี้ยวอาหาร เพียงแต่ฟันกรามน้อยอาจช่วยในส่วนของช่วยฉีกแบ่งชิ้นอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วย

สาเหตุที่ทำให้ต้องถอนฟันกราม

ฟันกรามจัดเป็นฟันที่ต้องเผชิญกับเศษอาหาร สิ่งสกปรก รวมถึงแรงบดเคี้ยวมากกว่าฟันซี่อื่น จึงทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติ ฟันผุ หรือฟันสึกหรอได้จากการใช้งานที่ค่อนข้างมาก จนเป็นเหตุให้ต้องอุดฟัน รักษารากฟัน ใส่ที่ครอบฟัน

หากรักษาไม่ได้อีกแล้วจริงๆ ทันตแพทย์ก็จำเป็นถอนฟันกรามซี่ที่มีปัญหาออกไป เพื่อป้องกันปัญหาลุกลามและรุนแรงมากขึ้น เช่น การติดเชื้อ

สาเหตุที่ทำให้หลายคนต้องถอนฟันกราม ได้แก่

  • ฟันผุ เกิดจากการบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากและมักเกิดจากการทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ จนทำให้เนื้อฟันถูกกรดจากแบคทีเรียกัดกินจนผุกร่อน
  • ฟันคุด มักเกิดกับฟันกรามซี่สุดท้าย หรือซี่อื่นๆ ก็ได้ โดยเป็นฟันที่ล้มนอนแล้วไปชนเบียดกับฟันซี่ใกล้เคียง ไม่สามารถขึ้นสู่ช่องปากแบบปกติได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดตามมา ทันตแพทย์จะพิจารณาว่า จะสามารถถอนฟันคุดซี่นั้นๆ ได้หรือไม่ หรือต้องใช้การผ่าฟันคุดแทน
  • ต้องการจัดฟัน จึงจำเป็นต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป เพื่อให้โครงสร้างการเรียงตัวของฟันสวยงามมากขึ้น
  • ได้รับอุบัติเหตุ จนฟันแตก รากฟันเกิดความเสียหาย ขากรรไกรหัก จนไม่สามารถรักษาฟันไว้ได้ และต้องถอนทิ้ง
  • จำเป็นต้องใส่ฟันปลอม หรือฟันเทียม ทำให้ต้องถอนฟันกรามซี่เดิมทิ้งเพื่อนำวัสดุฟันซี่ใหม่ใส่เข้าไปแทน

ขั้นตอนการถอนฟันกราม

ขั้นตอนการถอนฟันกรามจะไม่ได้แตกต่างไปจากขั้นตอนการถอนฟันซี่อื่น หรือตำแหน่งอื่นๆ แต่อาจมีเทคนิคการถอนที่แตกต่างกันไปตามลักษณะฟัน หรือความผิดปกติของฟันซี่ที่ถอน

ลำดับการถอนฟันกรามโดยหลักๆ จะเริ่มจากทันตแพทย์จะซักประวัติ แล้วตรวจความผิดปกติของฟันกราม จากนั้นหากจำเป็นต้องถอนฟัน ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง ทันตแพทย์จะวัดความดันโลหิตของคนไข้ ถ่ายภาพรังสี x-ray แล้วถอนฟันได้เลย

หากผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัวซึ่งต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด หากเป็นการถอนฟันที่ง่าย เสียเลือดน้อย ทันตแพทย์อาจถอนฟันให้ได้เลย โดยมีการใส่วัสดุห้ามเลือดและเย็บแผลห้ามเลือดให้

แต่ในกรณีที่เป็นการถอนฟันหลายซี่ หรือการผ่าตัดที่มีแนวโน้มเสียเลือดมาก ทันตแพทย์จะให้คนไข้ไปปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนว่าสามารถหยุดยาดังกล่าวได้หรือไม่

แล้วจึงนัดหมายให้ผู้ป่วยมาถอนฟันในภายหลัง ซึ่งหากแพทย์ไม่อนุญาตให้หยุดยา อาจจำเป็นต้องรับการถอนฟันในโรงพยาบาล

การถอนฟันกรามต้องมีการฉีดยาชาให้ผู้ป่วยด้วยเพื่อไม่ให้เกิดอาการเจ็บปวดขณะถอนฟัน จากนั้นหลังถอนฟันเสร็จทันตแพทย์จะใส่ผ้าก๊อซให้ผู้ป่วยกัดไว้บนแผลเพื่อห้ามเลือดนั่นเอง

เทคนิคการถอนฟันกราม

เมื่อฉีดยาชาจนยาออกฤทธิ์แล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มกระบวนการถอนฟันกราม เทคนิคการถอนฟันหลักๆ มี 3 เทคนิค ได้แก่

  • เทคนิคถอนฟันโดยใช้คีมถอนฟัน เป็นเทคนิคถอนฟันที่มักใช้เมื่อผู้ป่วยมีเนื้อฟันให้ถอนมากพอสมควร และไม่ได้มีอาการรากฟันผิดปกติ
  • เทคนิคถอนฟันโดยใช้แรงแบบคานงัด หรือใช้ Elevator เป็นเทคนิคถอนฟันที่มักใช้สำหรับถอนฟันกรามซี่ในสุด ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว ทันตแพทย์จะใช้เทคนิคคานงัด ร่วมกับการใช้คีมถอนฟัน
  • เทคนิคถอนฟันโดยการแบ่งฟัน เป็นเทคนิคถอนฟันที่ช่วยในการนำตัวฟันและรากฟันออกมาทีละส่วน หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีฟันเหลือแต่รากอยู่ใต้เหงือก หรือฟันมีหลายราก โค้งงอไปหลายทิศทาง ซึ่งทำให้ไม่สามารถถอนโดยวิธีปกติได้

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการผ่าตัดฟันคุด ฟันฝัง ซึ่งเป็นเทคนิคการถอนฟันที่ต้องใช้กับฟันคุด ฟันฝัง ซึ่งติดอยู่ใต้กระดูก หรือใต้ฟันซี่อื่นๆ

  • เทคนิคการกรอกระดูก เป็นเทคนิคการนำฟันออกโดยการกรอกำจัดกระดูกฟันส่วนที่ปกคลุมฟันคุดอยู่ จากนั้นจึงนำฟันกรามที่เป็นฟันคุดออกมาทั้งซี่
  • เทคนิคการแบ่งฟัน เป็นเทคนิคการถอนฟันโดยการกรอตัดฟันออกเป็นส่วนๆ แล้วค่อยๆ นำแต่ละส่วนออกมาจนครบซี่

ทันตแพทย์จะเลือกใช้แต่ละเทคนิคนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะตัวฟันและรากฟันของคนไข้

ฟันคุดเป็นฟันที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับฟันซี่อื่นๆ ได้หากไม่ผ่า หรือถอนออก ดังนั้นเมื่อไปตรวจสุขภาพฟันอาจขอให้ทันตแพทย์เอ็กซเรย์เหงือกและฟันเพื่อจะได้เห็นว่า มีฟันคุดซ่อนอยู่ใต้เหงือกอยู่ไม่

หากมีจะได้ผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุดซี่นั้นๆ ออกโดยเร็วที่สุด

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการถอนฟันกราม

เมื่อถอนฟันกรามเสร็จ ผู้ป่วยอาจเผชิญกับปัญหาของแผล หรือผลข้างเคียงจากการถอนฟันกรามที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น

ปัญหาเลือดไหลไม่หยุด (Hemorrhage)

โดยปกติแล้วอาจมีเลือดซึมได้เล็กน้อย แต่ถ้ากรณีมีเลือดไหลออกมากนั้นถือว่า ผิดปกติ ปัญหาเลือดไหลไม่หยุดเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังจากถอนฟัน หรือการผ่าตัด

สาเหตุหลักคือ ผู้ป่วยไม่กัดผ้าก๊อซให้แน่นและนานพอ (1-2 ชั่วโมง) บ้วนน้ำ รับประทานอาหารกระทบกระเทือนแผล ดูดแผล

นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ แผลที่เกิดจากโรคเหงือก มีเหงือกอักเสบอยู่ก่อนมาก แผลผ่าตัดได้รับบาดเจ็บ ไหมเย็บหลุด หรือในกรณีที่คนไข้มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด รับประทานยาบางอย่างที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด

ทั้งนี้ให้รีบกัดผ้าก๊อซผืนใหม่บนแผล แล้วรีบไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด หรือหากมีเลือดออกเยอะมากตอนกลางคืน ไม่สามารถไปพบทันตแพทย์ได้ ให้ไปพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล

ปัญหาเกิดอาการฟกช้ำ และห้อเลือด (Ecchymosis)

เป็นอาการแผลช้ำที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติจากเลือดซึ่งซึมอยู่ในผิวชั้นใต้เยื่อเมือก หรืออาจเกิดได้จากการที่ลักษณะของฟันถอนหรือผ่าตัดได้ยาก ทำให้ใช้เวลานาน จนทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ถอนฟันช้ำกว่าปกติ

ปัญหาอ้าปากได้อย่างจำกัด (Trismus)

เกิดจากการอักเสบ บวมของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณฟันกรามซึ่งมักพบได้บ่อย

ปัญหาการติดเชื้อ

เกิดจากการไม่ทำความสะอาดแผลถอนฟัน หรือแผลผ่าตัดในช่องปากดีพอ กล่าวคือ ไม่แปรงฟันซี่อื่นๆ ให้สะอาดเพียงพอนั่นเอง หรืออาจเกิดได้จากการบาดเจ็บหลังจากถอนฟันมากก็ได้

นอกจากนี้ยังอาจเกิดในกรณีที่เป็นการผ่าตัดขนาดใหญ่ หรือคนไข้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและการหายของแผล เช่น เบาหวาน ทั้งนี้หากทันตแพทย์ให้รับประทานยาปฏิชีวนะหลังการรักษา ต้องรับประทานให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่ง

ปัญหากระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Alveolar osteitis หรือ Dry socket) 

มักพบได้บ่อยในการถอนฟันคุดซี่ล่าง โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอาการบาดเจ็บของกระดูกเนื้อเยื่อบริเวณฟันกราม

การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ การพยายามอมน้ำแข็งหลังการถอนฟัน (ห้ามทำ) หารมีส่วนประกอบบางอย่างในน้ำลายของผู้ป่วยซึ่งทำให้ลิ่มเลือดปิดแผลหลุดไปก่อนปกติ หรือการรับประทานยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน

ปัญหาอาการบวม (Edema)

เป็นอาการที่พบได้ในการผ่าตัดฟันคุด โดยเฉพาะเทคนิคการผ่าตัดแบบเปิดเหงือก หรือเกิดได้จากการถอนฟันหลายซี่ ซึ่งต้องทำให้กล้ามเนื้อเหงือกเกิดฉีกขาด ใบหน้าผู้ป่วยจะมีอาการบวมบริเวณที่ถอนฟันออกไป

การดูแลตนเองหลังถอนฟันกราม

ผู้ป่วยที่ถอนฟันกรามแต่ละรายจะมีวิธีการดูแลแผลถอนฟันที่ต่างกันไป ตามแต่ความซับซ้อนของแผล รวมถึงอาการที่เกิดขึ้นหลังจากถอนฟันกรามเสร็จแล้ว แต่โดยหลักๆ จะมีวิธีดูแลตนเองดังต่อไปนี้

  • กรณีถอนฟันกัดผ้าก๊อซไว้แน่นๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง หากเป็นการผ่าตัด ให้กัดไว้ 2 ชั่วโมงหลังถอนฟันเพื่อห้ามเลือด แต่หากเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้วแผลยังมีเลือดไหลอยู่ก็ให้กัดผ้าก๊อซชิ้นใหม่ต่ออีก 1 ชั่วโมง
  • รับประทานยาปฏิชีวนะ หากทันตแพทย์สั่งจ่ายเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล และหากรู้สึกปวดก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้
  • ประคบเย็นบริเวณแก้มให้ตรงกับตำแหน่งที่ถอนฟันเพื่อลดอาการบวมและลดอาการปวดแผล
  • หากอ้าปากได้จำกัด อ้าไม่ขึ้น ให้ฝึกอ้าปากแล้วใช้นิ้วกดลิ้น ง้างปาก ร่วมกับประคบน้ำอุ่นบริเวณกล้ามเนื้อบดเคี้ยว (การประคบอุ่นจะทำได้ก็ต่อเมื่อ หลังจากผ่าตัดไปแล้ว 3 วันขึ้นไป)
  • ประคบน้ำอุ่นเพื่อลดอาการห้อเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดรอยช้ำบริเวณใบหน้า แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์
  • มาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของแผลตามนัด หรือมาพบก่อนวันนัด หากมีอาการผิดปกติ
  • แปรงฟันอย่างระมัดระวัง ไม่กลั้วปาก ไม่แปรงฟันใกล้กับแผลแรงๆ เพื่อป้องกันการฉีกขาดของแผล
  • วันรุ่งขึ้นให้บ้วนปากเบาๆ ด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ และอย่าเอามือไปจับ ขูด หรือแตะแผล เพราะจะเสี่ยงติดเชื้อจากสิ่งสกปรกจากมือได้
  • งดรับประทานอาหารรสจัด หรือเผ็ดจัดชั่วคราว แต่ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น นม โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป รวมถึงงดเคี้ยวอาหารแรงๆ ชั่วคราว เพื่อไม่ให้แผลกระทบกระเทือนประมาณ 1-2 วันแรกหลังถอนฟัน โดยเฉพาะการผ่าฟันคุด

การถอนฟันกับการเบิกประกันสังคม

หากจำเป็นต้องถอนฟันไม่ว่าซี่ใดก็ตาม คุณสามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ได้ โดยสามารถจ่ายได้ไม่เกินปีละ 900 บาท และไม่ต้องสำรองเงินตามสถานพยาบาลที่ใช้สิทธิ์ด้วย

การถอนฟันกรามอาจเป็นการทำทันตกรรมที่คุณอาจต้องเผชิญกับความเจ็บปวด และยังต้องดูแลตนเองหลังจากถอนฟันเสร็จแล้วอย่างเหมาะสม

แต่เพื่อสุขภาพช่องปากโดยรวมที่ยังสามารถใช้งานไปได้อีกในระยะยาว บางครั้งการถอนฟันก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หลายคนต้องทำ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช

Scroll to Top