เหงือกร่นคือ การที่เนื้อเยื่อขอบเหงือกรอบๆ ฟันร่นออกไปจนเห็นเนื้อฟัน หรือรากฟันมากขึ้น เกิดเป็นช่องว่างระหว่างฟันและเหงือก ซึ่งบริเวณนี้อาจดูไม่สวยงามและจะกลายเป็นแหล่งสะสมของคราบสกปรก แบคทีเรียต่างๆ สุดท้ายหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด
สารบัญ
เหงือกร่นมีอาการอย่างไรบ้าง?
อาการเหงือกร่นมักไม่ค่อยชัดเจนเท่าไรนัก ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่ทราบว่า ตนเองมีอาการเหงือกร่น โดยอาการเหงือกร่นอาจมีจากเสียวฟันเวลาดื่มของร้อน หรือของเย็น
ส่วนในรายที่มีอาการชัดเจน เมื่อส่องกระจกดูภายในปากตัวเองจะพบว่า เหงือกร่นลงไปจนซี่ฟันดูยาวขึ้น ทำให้เนื้อฟันที่เดิมเคยอยู่ใต้เหงือกโผล่ออกมาอย่างชัดเจน จนสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้โดยตรง
สิ่งที่ตามมาคือ เกิดคราบหินปูน (ในทางการแพทย์เรียกว่า หินน้ำลาย) ที่เนื้อฟันและรากฟัน ซึ่งเป็นแหล่งเจริญเติบโตของเชื้อโรค ถ้าไม่รีบรักษา เช่น การขูดหินปูน จะทำให้โครงสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อที่รองรับฟันเสียหายไปเรื่อยๆ จนส่งผลให้ฟันหลุดในที่สุด
เหงือกร่นยังทำให้มีความเสี่ยงต่อการผุของรากฟันอีกด้วย
สาเหตุของการเกิดเหงือกร่น
เหงือกร่นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การแปรงฟันผิดวิธี การแปรงฟันด้วยการถูไปมาอย่างแรงในแนวนอน อาจทำให้เหงือกร่นและคอฟันสึกได้ โดยอาการเหงือกร่นที่เกิดจากการแปรงฟันมักเกิดขึ้นบริเวณฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย และฟันกรามตรงกระพุ้งแก้ม
- โรคปริทันต์อักเสบ เป็นโรคเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้เหงือกอักเสบ มีหินปูนใต้เหงิอก โรคนี้ถือเป็นสาเหตุหลักของอาการเหงือกร่นเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกที่รองรับฟันเสียหาย เหงือกร่น และตามมาด้วยฟันหลุดร่วง
- การขาดสุขอนามัยในการดูแลฟัน เช่น แปรงฟันไม่บ่อยเท่าที่ควร ไม่ใช้ไหมขัดฟัน และไม่ไปตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน จนอาจทำให้เกิดคราบหินปูน โรคเหงือกอักเสบ เหงือกร่น หรือปัญหาสุขภาพในช่องปากและฟันอื่นๆ ได้
- การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟัน ทำให้เกิดคราบที่ฟัน เหงือกอักเสบ และเหงือกร่นในที่สุดได้
- พันธุกรรม งานวิจัยชี้ว่า ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่ครอบครัวมีอาการเหงือกร่น อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเหงือกมากกว่าคนอื่น แม้ว่าจะดูแลสุขภาพปากและฟันเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม อีกทั้งแบคทีเรียก่อโรคยังติดต่อกันทางน้ำลายอีกด้วย
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ในช่วงตั้งครรภ์ ในวัยเจริญพันธ์ุ หรือในช่วงวัยทอง สามารถส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือกและเหงือกร่นได้
- การมีฟันเก หรือฟันซ้อน ฟันที่เรียงตัวไม่สม่ำเสมออาจเป็นสาเหตุให้เกิดแรงตึงบนเหงือกและกระดูกฟันจนส่งผลให้เหงือกร่น
- การเจาะริมฝีปาก หรือลิ้น อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเหงือกและทำให้เหงือกร่นได้เช่นกัน
เหงือกร่น รักษาได้อย่างไร?
ทันตแพทย์จะรักษาอาการเหงือกร่นตามสาเหตุรวมถึงการทำความสะอาดคราบหินปูนบนฟันและผิวรากฟันใต้เหงือก พร้อมกับทำให้ผิวรากฟันที่โผล่ขึ้นมาเรียบกว่าเดิม เพื่อที่แบคทีเรียจะได้เกาะตัวได้ยาก
นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดแบคทีเรียอันตรายที่ยังหลงเหลืออยู่ด้วย ซึ่งหากมีอาการไม่รุนแรง ไม่นานเหงือกก็จะกลับมาเป็นปกติดังเดิม
ในกรณีที่ยังคงมีเหงือกร่นเหมือนเดิม แม้จะรักษาที่ต้นเหตุไปแล้ว หรือกรณีที่ไม่อาจทำความสะอาดคราบหินปูนได้ เนื่องจากกระดูกและเบ้าฟันที่เสียหายนั้นอยู่ลึกมาก
ทันตแพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเหงือกบริเวณที่มีปัญหาโดยใช้เนื้อเยื่อจากส่วนอื่นๆ ภายในช่องปาก หรือการซ่อมแซมกระดูกรองรับฟันที่เสียหายโดยใช้เนื้อเยื่อปลูกถ่ายหรือเยื่อบุผิวเหงือก
การป้องกันอาการเหงือกร่น
การดูแลรักษาสุขภาพปากและฟันให้ดีอยู่เสมอ เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับช่องปากได้ดีที่สุด ซึ่งรวมถึงอาการเหงือกร่นด้วย สามารถทำได้ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แปรงฟันอย่างถูกวิธี
- ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน ถ้าเป็นไปได้ควรแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารเสร็จแล้ว
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และควรเปลี่ยนแปรงสีฟันใหม่ทุกๆ 3 เดือน
- ก่อนแปรงฟันและหลังแปรงฟันเสร็จ ควรล้างแปรงสีฟันให้สะอาดทุกครั้ง
- ทันตแพทย์แนะนำให้บีบยาสีฟันให้เหมาะสมตามอายุ ดังนี้
- เด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 3 ปี) ให้แต้มยาสีฟันลงบนขนแปรงบางๆ
- เด็กโต (อายุ 3-6 ปี) ให้ทำการบีบยาสีฟันเท่าแนวกว้างของขนแปรง
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 6 ปี บีบยาสีฟันตามแนวยาวของขนแปรง
- สามารถแปรงฟันซ้ำอีกรอบได้หากรู้สึกว่า ฟันยังไม่สะอาดพอ
- หมั่นไปพบทันตแพย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนเป็นประจำ เพราะหินปูนเป็นตัวการที่ดันเหงือกให้ร่นลง ซึ่งหากปล่อยไว้นานก็ยิ่งมีหินปูนสะสมมากขึ้น ทำให้เหงือกร่นลงเรื่อยๆ จึงควรไปขูดหินปูนและตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุกๆ 3-6 เดือน
- หยุดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุให้เหงือกอักเสบได้และจะทำให้เกิดอาการเหงือกร่นตามมา
- เลี่ยงการใช้ไม้จิ้มฟัน การใช้ไม้จิ้มฟันเพื่อเขี่ยเศษอาหารออกจากฟันส่งผลให้ฟันห่างยิ่งขึ้นและเศษอาหารเข้าไปติดในร่องฟันมากขึ้น ทางที่ดีจึงควรหันมาแปรงฟันหลังรับประทานอาหารแทนการใช้ไม้จิ้มฟัน
- นวดเหงือกบ้าง การนวดเหงือกเบาๆ ทุกๆ เช้าหรือเย็น จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณเหงือกได้อย่างดี เหงือกจึงแข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหงือกร่น
หากมีอาการเหงือกร่น ควรรีบเข้ารับการรักษาทันทีเพื่อให้เหงือกฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ หากปล่อยไว้นานโดยไม่รักษา สุดท้ายจะส่งผลให้ฟันเสียหายและหลุดร่วง ทั้งยังทำให้เหงือกไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้อีก ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือใส่ฟันปลอมเท่านั้น
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช