ลิ้นหัวใจรั่วป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่มักไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้รู้ตัวเมื่ออาการหนักแล้ว ผู้ป่วยเป็นลิ้นหัวใจรั่วในระยะที่แสดงอาการจะใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างยากลำบาก แต่ด้วยเทคนิคการรักษาที่ก้าวหน้ามากในปัจจุบันทำให้สามารถรักษาลิ้นหัวใจรั่วให้หายขาดได้
สารบัญ
โรคลิ้นหัวใจรั่วคืออะไร?
ลิ้นหัวใจเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณเยื่อบุหัวใจห้องบนซ้าย มีหน้าที่เหมือนเป็นประตูกั้นระหว่างห้องหัวใจ ช่วยควบคุมการไหลเวียนเลือดให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ป้องกันเลือดไหลย้อนกลับลิ้นหัวใจ
โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Valve Heart Disease) คือภาวะที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท มีรูรั่วหรือขาด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือดในหัวใจลดลง และทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
ลิ้นหัวใจรั่วเกิดจากอะไร?
โรคลิ้นหัวใจรั่ว สามารถเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- ลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital) พบว่าลิ้นหัวใจตนเองมีความผิดปกติแต่กำเนิด ปกติลิ้นหัวใจมีทั้งหมด 4 ลิ้น มีลักษณะเป็น 3 แฉก ลิ้นหัวใจผิดปกติจะมีลักษณะ 2 แฉก หรือฉีกขาด แหว่งชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดอาการลิ้นหัวใจรั่ว นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีโอกาสสูงจะลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิดด้วยเช่นกัน
- ความเสื่อมตามอายุ (Adult Degenerative Valve Disease) มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจเสื่อมและมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ (Calcination) จนทำให้การเปิดหรือปิดของลิ้นหัวใจผิดปกติและนำไปสู่โรคลิ้นหัวใจรั่ว
- ลิ้นหัวใจตีบ (Aortic Stenosis) เมื่ออายุมากขึ้นจะเกิดการสะสมแคลเซี่ยมที่ลิ้นหัวใจทำให้ลิ้นหัวใจแข็ง ตีบ และแคบลงทำให้ลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดได้จนเกิดการอุดตันในหัวใจ
- โรครูมาติก (Rheumatic Heart Disease) เป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจที่พบมากที่สุดในวัยเด็ก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ (Streptococcus Group A) ทำให้คออักเสบ โดยเชื้อดังกล่าวมีผลทำลายลิ้นหัวใจระยะยาว ทำให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ
- การติดเชื้อบางชนิด (Infection) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในเลือด และเชื้อโรคไปทำลายลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วหรือฉีกขาด เช่น เชื้อโรคที่เกิดจากการอักเสบของฟัน ฟันผุ เป็นต้น หรือการติดเชื้อที่ส่งผลต่อหัวใจ เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบ
- หัวใจวายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) คืออาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อลิ้นหัวใจขาดจึงเกิดอาการลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน
- ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue Disease) กล้ามเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมีหน้าที่ค้ำจุนอวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น กระดูก หลอดเลือด หัวใจ ดังนั้นหากกล้ามเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเกิดความผิดปกติอาจทำให้ลิ้นหัวใจหย่อนยาน ไม่แข็งแรง ทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจรั่วได้ โดยสาเหตุความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันสามารถเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือป่วยเป็นโรคมาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome) ซึ่งมีผลทำให้กล้ามเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเกิดความผิดปกติ
- ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic Dissection) หรือการฉีกขาดหรือการบาดเจ็บของหลอดเลือดแดงจะทำให้การสูบฉีดเลือดผิดปกติหรือเลือดไหลเวียนย้อนกลับ ทำให้เกิดอาการลิ้นหัวใจรั่วได้
ใครเสี่ยงเป็นลิ้นหัวใจรั่ว?
- ผู้เคยติดเชื้อบางอย่างที่ส่งผลต่อหัวใจ เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบ
- ผู้มีภาวะหัวใจวาย
- ผู้มีปัญหาหัวใจพิการแต่กำเนิด
- ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้น ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป
- ผู้เคยฉายรังสีที่หน้าอก
ลิ้นหัวใจรั่วอาการเป็นอย่างไร?
อาการลิ้นหัวใจรั่วมักค่อยเป็นค่อยไปและไม่แสดงอาการเป็นนานเป็นปี แต่สามารถเกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้จากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ หรือสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ลิ้นหัวใจเสียหาย โดยสามารถสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้
- แน่นหน้าอก หายใจติดขัด ทำให้ต้องหายใจถี่เพราะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ มีผลทำให้สมรรถภาพการทำงานหรือออกกำลังกายลดลง และรู้สึกเหนื่อยแม้จะนั่งอยู่เฉยๆ
- นอนราบไม่ได้ต้องลุกขึ้นหายใจช่วงกลางคืน
- หน้ามืด เป็นลม
- มีอาการใจสั่น รู้สึกว่าหัวใจเต้นอย่างเร็ว
- มีอาการท้องอืด คอโป่ง อวัยวะต่างๆ บวม เช่น ตับ ขา ข้อเท้า หรือเท้าบวม
- หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด
- มีเสียงฟู่ของหัวใจซึ่งเกิดจากการที่เลือดที่ไหลผ่านหัวใจมีการไหลปั่นป่วนจนเกิดเสียง ส่วนใหญ่จะได้ยินได้ด้วยการฟังผ่านหูฟังเท่านั้น
- ชีพจรเต้นผิดจังหวะ
วินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจอย่างไร?
ในการวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่ว แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นทั่วไปและสอบถามอาการรวมถึงประวัติสุขภาพ และพิจารณาเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีเพื่อค้นหาโรคลิ้นหัวใจรั่ว โดยเลือกจากวิธีการต่อไปนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: ECG หรือ EKG) คือ การตรวจโดยใช้คลื่นไฟฟ้าที่ส่งตรงไปยังหัวใจด้วย แผ่นทรานสดิวเซอร์ (Transducer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับพลังงานจากเต้นของหัวใจติดบนหน้าอกผู้เข้ารับการตรวจ แล้วแปลงสัญญาณเป็นภาพบนจอ ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจดูสภาพลิ้นหัวใจและหลอดเลือดแดงใหญ่ และจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) คือการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงโดยตรวจขณะผู้เข้ารับการตรวจกำลังออกกำลังกาย (Stress Echocardiogram) เพื่อประเมินว่าขณะออกกำลังกายกล้ามเนื้อหัวใจของผู้เข้ารับการตรวจได้รับออกซิเจนจากกระแสเลือดเพียงพอหรือไม่ มีอาการตอบสนองในขณะออกกำลังกายที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น หายใจขัด เจ็บแน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีการเปลี่ยนแปลง และตรวจดูการทำงานของลิ้นหัวใจ
- การตรวจผ่านหลอดอาหาร (Transesophageal Echocardiography) เพื่อดูหัวใจและลิ้นหัวใจอย่างใกล้ชิด โดยใช้ทรานสดิวเซอร์ขนาดเล็กที่ติดอยู่ที่ปลายท่อสอดทางปากผ่านหลอดอาหารไปยังกระเพาะอาหารเพื่อตรวจหาความผิดปกติลิ้นหัวใจรั่ว การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ
- การเอกซเรย์ปอด (Chest X-Ray: CXR)เอกซเรย์ทรวงอกสามารถแสดงให้เห็นว่าหัวใจหรือหลอดเลือดแดงใหญ่ขยายใหญ่ขึ้นมากกว่าปกติ หรือเคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อนหรือไม่
- การทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging) หัวใจ คือการตรวจโรคลิ้นหัวใจรั่วผ่านเครื่อง เป็นการใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุ ช่วยสร้างภาพโดยละเอียดของหัวใจและหลอดเลือดแดงใหญ่เพื่อหาความผิดปกติ
- การสวนวัดความดันในห้องหัวใจ (Cardiac Catheterization) หัวใจ คือการสวนหัวใจทำโดยการสอดสายสวนขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตรผ่านหลอดเลือดที่โคนขาหนีบหรือข้อมือ และฉีดสารทึบแสงไหลผ่านสายสวนบริเวณหลอดเลือดหัวใจเพื่อทำให้เห็นสภาพหลอดเลือดชัดเจนในขั้นตอนการเอกซเรย์ ช่วยให้เห็นการทำงานของหัวใจ ตลอดจนความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ เช่น การอุดตัน หรือตีบ และยังสามารถวัดความดันภายในห้องหัวใจ ปกติวิธีนี้ไม่ได้ใช้บ่อยในการวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่ว เว้นแต่การวินิจฉัยอื่นๆ ไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติได้จึงใช้วิธีนี้
ลิ้นหัวใจรั่วรักษาอย่างไร?
แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว โดยพิจารณาจากความรุนแรงของโรค ไม่ว่าผู้เข้ารับการตรวจจะแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษา บรรเทาและป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 3 วิธีดังนี้
1. การรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยา ใช้กรณีอาการระยะแรกที่โรคยังไม่ความรุนแรง แพทย์อาจใช้ยาเพื่อรักษาและบรรเทาอาการ
2. การผ่าตัด
การรักษาด้วยการผ่าตัด มักใช้กรณีอาการรุนแรงหรือมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ (Valve Repair) ใช้ในกรณีที่ลิ้นหัวใจถูกทำลาย ฉีกขาดหรือรั่ว สามารถผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจให้กลับมาเป็นปกติได้ โดยยังคงรักษาโครงสร้างของลิ้นหัวใจไว้เหมือนเดิม และทำให้ไม่ต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดไปตลอดชีวิต การผ่าซ่อมลิ้นหัวใจยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติจากการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement) ใช้ในกรณีที่ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้การได้ หรือใช้การได้น้อย เช่น มีหินปูนเกาะลิ้นหัวใจจนแข็งหรือถูกทำลาย หรือลิ้นหัวใจฉีกขาดจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมโยเป็นแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ลิ้นหัวใจเทียมจากวัสดุสังเคราะห์ประเภทโลหะ หรือพลาสติก โดยอายุการใช้งานลิ้นหัวใจชนิดวัสดุสังเคราะห์ยาวนาน ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ แต่หากเป็นลิ้นหัวใจเทียมจากเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิต เช่น ลิ้นหัวใจหมู มีโอกาสต้องผ่าตัดใหม่เพราะลิ้นหัวใจสามารถเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ซึ่งขึ้นกับอายุผู้เข้ารับการผ่าตัด สภาพร่างกาย และตำแหน่งของลิ้นหัวใจ โดยทั่วไปลิ้นหัวใจเทียมจากเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตมีอายุการใช้งาน 10-15 ปี ซึ่งลิ้นหัวใจเทียมทั้ง2 ชนิดผู้ป่วยต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดไปตลอดชีวิต
3. การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน
การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (Transcatheter Aortic Valve Implantation: TAVI) ใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด แพทย์จะเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมโดยผ่านทางสายสวนผ่านทางหลอดเลือด เพื่อนำลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปเปลี่ยนโดยไม่ต้องผ่าตัดเอาลิ้นหัวใจเดิมออก วิธีการนี้จะต้องดำเนินการโดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ และโรงพยาบาลที่พร้อมเท่านั้น
ป้องกันลิ้นหัวใจรั่วอย่างไร?
โรคลิ้นหัวใจรั่วจัดเป็นโรคที่อันตรายต่อชีวิตแต่สามารถป้องกันได้ด้วยการทำตามคำแนะนำต่อไปนี้อย่างเคร่งครัดเพื่อลดโอกาสเกิดโรคที่อาจเกิดขึ้น
- หากพบว่าเราเป็นโรคหัวใจประเภทใดก็ตาม ต้องไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อให้แพทย์ติดตาม เฝ้าระวังการเกิดลิ้นหัวใจรั่วที่อาจเกิดแทรกขึ้น
- ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมีลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด ควรตรวจการไหลเวียนโลหิตย้อนกลับหัวใจที่เป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่ว หากพบระยะแรกจะทำให้รักษาง่ายขึ้น
- ทำความเข้าใจเกี่ยวกับไข้รูมาติก และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้รูมาติก หรือหากพบว่ามีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะโรคคออักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ไข้รูมาติกที่เป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่ว
- ผู้เป็นความดันโลหิตสูงควรตรวจสอบความดันโลหิตเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่ามีการควบคุมอย่างดีเพื่อป้องกันโรคลิ้นหัวใจรั่ว และรับประทานยาสำหรับความดันโลหิตสูงอย่างสม่ำเสมอ
- จัดการสภาพแวดล้อมและที่อาศัยให้สะอาด สุขอนามัยดีเพื่อลดการแพร่เชื้อโรค
- ออกกำลังสม่ำเสมอ
- รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
- การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้ยาเสพติด ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กรณีกำลังรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วต้องรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามผล
ลิ้นหัวใจรั่วอยู่ได้นานไหม?
โดยทั่วไปหากไม่ได้รับการผ่าตัดหลังจากโรคเริ่มแสดงอาการ อาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตภายใน 2-3 ปี แต่หากได้การผ่าตัด อายุขัยของผู้เข้ารับการผ่าตัดจะน้อยกว่าคนปกติทั่วไปเพียง 2 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตามผู้เป็นโรคล้นหัวใจรั่วจะมีอายุขัยนานแค่ไหนยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้ด้วย
- ความรุนแรงของการรั่วไหล
- ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้หรือไม่
- พบอาการและรักษาเร็วไหมหรือไม่ เพราะลิ้นหัวใจรั่วทำให้หัวใจเสียหายมากน้อยขึ้นอยู่กับระยะที่ปล่อยทิ้งไว้
- สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยและประวัติการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่อาจทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว
- อายูของผู้ป่วย
รู้ว่าเป็นลิ้นหัวใจรั่วควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
เมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว หากเป็นระยะแรกโรคจะไม่แสดงอาการ สามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นระยะที่โรคแสดงอาการต้องปฏิบัติตัว ดังนี้
- ทำกิจกรรมให้น้อยลง และงดกิจกรรมที่หักโหม
- งดการดื่มแอลกอฮอลล์ สูบบุหรี่
- งดอาหารที่มีรสจัด
- ออกกำลังกายเบาๆ ไม่หักโหม เพราะอาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้
- ผู้ที่ต้องรักษาฟันที่จะทำให้เกิดแผลในช่องปากหรือต้องทำการผ่าตัดใดๆ ต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อวางแผนป้องกันการติดเชื้อ
การรักษาโรคลิ้นหัวใจนั้นแพทย์จะต้องพิจารณาถึงพยาธิสภาพของลิ้นหัวใจ อายุ โรคประจำตัว ความเสี่ยงของผู้ป่วยอย่างละเอียด การวินิจฉัยและรักษาโรคที่ถูกต้องจะต้องอาศัยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ ความชำนาญ และโรงพยาบาลที่มีทีมงานและเครื่องมือพร้อมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด มีโอกาสสูงสุดที่จะหายขาดและปลอดภัย