กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อย่าปล่อยเรื้อรัง ระวังหัวใจหยุดเต้น

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นโรคที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่หากปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษา จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจถาวรจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้

ส่งผลให้เกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงของหัวใจ เกิดเป็นภาวะหัวใจขาดเลือด หรือลิ่มเลือดที่หัวใจไหลตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ และหากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขั้นรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะและหัวใจหยุดเต้น เป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สามารถเกิดได้ทั้งเพศชายและหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป ซึ่งบางรายไม่รู้ตัวว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เพราะอาการที่แตกต่างและหลากหลายของโรค

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคืออะไร?

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือหัวใจอักเสบ (Myocarditis หรือ Inflammatory Cardiomyopathy) คือ ภาวะที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อสำคัญที่ทำหน้าที่บีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะทั่วร่างกาย

ดังนั้นเมื่อเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจขึ้น การสูบฉีดเลือดของหัวใจจะลดน้อยลง ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจมีอาการหลายชั่วโมง และเป็นต่อเนื่องหลายเดือน จนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง

ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในหัวใจ และนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นอย่างไร?

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบหรือความอ่อนแอและความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก เหมือนถูกของมีคมแทง
  • หายใจลำบาก และจะมีอาการแย่ลงเมื่อนอนราบหรืออยู่ในท่าคว่ำ
  • เหนื่อยง่าย เมื่อออกแรงมากขึ้น
  • บวมตามขา ข้อเท้า และเท้า
  • ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นแรงและเต้นผิดจังหวะ
  • หายใจถี่ขณะพักหรือระหว่างทำกิจกรรมทั่วไป
  • มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ มีไข้ หรือเจ็บคอ
  • วิงเวียนศีรษะและเป็นลมบ่อยครั้ง เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
  • หมดสติกระทันหัน และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว
  • บางรายอาจไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการอื่นที่เป็นสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ตามข้อ และกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร รวมถึงอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องร่วมกับท้องเสีย อาเจียน เป็นต้น
  • ในกรณีเด็กที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะพบอาการเซื่องซึม ปวดท้อง อาเจียน ตัวเย็น ไอมีเสมหะ มีไข้และอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจหอบถี่ขึ้น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคหอบหืด หากเป็นเด็กเล็กอาจมีการดูดนมช้าหรือน้อยลง มีอาการกระวนกระวาย ตัวซีด มีเหงื่อออกมากผิดปกติ บางรายอาจตัวเขียว ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดจากอะไร?

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดจากสาเหตุหลากหลายประการ ที่พบบ่อย ได้แก่

  • การติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุดของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ได้แก่ ไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคหัด และไวรัสโรคหัดเยอรมัน และจากไวรัสอื่น เช่น ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น
  • การติดเชื้อโรคอื่น ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียพบได้รองลงมาจากไวรัส เช่น เชื้อแบคทีเรียสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส(Staphylococcus Aureus) ที่เป็นสาเหตุของโรคพุพอง และแบคทีเรียโครินแบคทีเรียมดิฟทีเรีย(Corynbacterium diphtheria) ที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ เชื้อวัณโรค และโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา เป็นต้น ติดเชื้อราหรือเชื้อยีสต์ พบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ รวมถึงติดเชื้อในกลุ่มเชื้อปรสิต ซึ่งพบได้น้อยมาก
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยาต้านอาการชัก ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และยาต้านไวรัส รวมถึงยาเสพติดอย่างโคเคน เป็นต้น
  • โรคประจำตัว เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้อรูมาตอยด์ หรือโรคที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย เช่น โรคคาวาซากิ (โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดงในร่างกาย) และโรคทากายาสุ (โรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดขนาดเล็กที่เรียกว่า Wegener’s Granulomatosis) เป็นต้น
  • การแพ้ยา เช่น การแพ้ยาปฏิชีวนะ
  • สารพิษบางชนิด เช่น สารหนู สารตะกั่วหรือก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ เป็นต้น
  • พิษของสัตว์ เช่น พิษ งู ผึ้ง ต่อ แมงป่อง และแมงมุม เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น อาทิเช่น การได้รับรังสีรักษาบริเวณหัวใจ การทำเคมีบำบัด หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ใครเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ?

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ได้แก่

  • ผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ไม่ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และไม่รักษาความสะอาด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคได้ง่าย
  • ผู้ที่ต้องมีการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด เป็นประจำ
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดทุกชนิด หรือผู้ที่มีการสัมผัสสารเคมีและสารรังสี
  • ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคหัดเยอรมัน หรือโรคคอตีบ เป็นต้น
  • ผู้ที่เคยได้รับพิษจากสัตว์ที่เป็นสาเหตุของโรค

การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีอาการแตกต่างและคล้ายกับหลายโรค เช่น เนื้อเยื่อหัวใจอักเสบ และบางรายอาจแสดงอาการที่มาจากสาเหตุของการเกิดโรค ทั้งนี้ การวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามถึงอาการที่เกิดขึ้น รวมถึงประวัติการแพ้ยาหรือโรคประจำตัว เพื่อจะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นต่อไป ได้แก่

  • ตรวจร่างกายเบื้องต้นและตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุของการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น ตรวจวัดระดับเอนไซม์เพื่อบ่งบอกถึงความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ และตรวจภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำหน้าที่ต่อต้านต่อเชื้อไวรัสหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
  • ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก ปอด หัวใจ เพื่อตรวจขนาดและรูปร่างของหัวใจ
  • ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG/EKG) เพื่อตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติและตรวจความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อให้เห็นภาพของรูปร่างและโครงสร้างของหัวใจและตรวจการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ตรวจเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงเพื่อจำลองภาพการทำงานของหัวใจและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะหัวใจโต การสูบฉีดเลือดที่ผิดปกติ ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ การอุดตันภายในหัวใจหรือมีของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
  • การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) และตรวจตัวอย่างกล้ามเนื้อหัวใจ (Endomyocardial Biopsy) เป็นการสอดสายสวนขนาดเล็กทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหรือลำคอผ่านเข้าไปยังหัวใจ เพื่อตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อจากกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการและนำมาใช้วินิจฉัยอาการอักเสบหรือติดเชื้อ ทั้งนี้ปกติแล้ว แพทย์จะตัดชิ้นนเนื้อบางส่วนไปตรวจก่อนเป็นขั้นตอนสุดท้าย จึงจะยืนยันว่ามีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือไม่ พร้อมไปกับการพิจารณาแนวทางที่ใช้ในการรักษาต่อไป

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรักษาอย่างไร?

การรักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะขึ้นกับสาเหตุและระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่แพทย์จะทำการรักษาได้ 3 วิธี ดังนี้

1. รักษาจากสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  • การติดเชื้อไวรัสชนิดที่มียาต้านไวรัส รักษาด้วยยาต้านไวรัส
  • การแพ้ยา รักษาด้วยการหยุดใช้ยาหรือให้ยาแก้แพ้ที่เป็นสาเหตุของโรค

2. รักษาเพื่อประคับประคองตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น

  • หากมีไข้หรืออาการปวด ก็ให้รับประทานยาแก้ปวด ลดไข้
  • หากมีภาวการณ์ขาดออกซิเจน อาจพิจารณาให้ออกซิเจน
  • หากรับประทานอาหารได้น้อย หรือมีระดับเกลือแร่ผิดปกติ อาจให้น้ำและอาหารทางหลอดเลือดดำ

3. ป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น เช่น

  • ลดปริมาณเกลือโซเดียมในเลือด ด้วยการจำกัดอาหารเค็ม เนื่องจากเกลือโซเดียมในเลือด ซึ่งทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หัวใจทำงานมากขึ้น จึงมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย
  • ควบคุมโรคประจำตัวที่มีผลต่อภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยจำกัดอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลมาก แต่เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและพยายามลดความเครียด
  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบกี่วันหาย?

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสามารถรักษาให้หายได้ แต่จะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อาการขณะที่ตรวจพบ การตอบสนองต่อการรักษา โรคประจำตัว และหากรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจมีโอกาสรักษาให้หายได้มากกว่า 50%

แต่หากมาพบแพทย์ขณะที่มีอาการมากหรือรุนแรงแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะหัวใจล้มเหลว อัตราการเสียชีวิตจะสูง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนอื่นเกิดขึ้น ได้แก่ หัวใจล้มเหลว จากกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอกับความต้องการ รวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง จากลิ่มเลือดในหัวใจหลุดไปอุดตันที่เส้นเลือดสมอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้นฉับพลัน เป็นต้น

การป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

หัวใจสำคัญของการป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือ การป้องกันการติดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พร้อมกับการลดความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รักษาความสะอาดและสุขอนามัยให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน โดยควรลดอาหารเค็ม หวาน แป้ง น้ำตาล ไขมัน แต่ควรเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้สารเสพติดทุกชนิด หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อไวรัส หรือผู้ที่มีอาการไข้หวัด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่เป็นสาเหตุโรค และสารรังสีโดยไม่จำเป็น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัดเยอรมัน วัคซีนโรคคอตีบ วัคซีนโรคหัด วัคซีนไวรัสตับอีกเสบ บี

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นได้จากอาการง่ายๆ เช่น การเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก การดูแล ป้องกัน และลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงใส่ใจสุขอนามัย ความสะอาดป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโรค และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุด

Scroll to Top