สำหรับคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก ลองผสมเทียมด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว หรือใช้เทคนิคพิเศษอย่างการฉีดอสุจิเข้าไปที่ไข่โดยตรงแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ การทำ IMSI (Intracytoplasmic Morphologically Selected Sperm Injection) อาจช่วยได้
สารบัญ
IMSI คืออะไร?
IMSI เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization: IVF) จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีปกติ หรือใช้เทคนิคพิเศษ ICSI (Intracytoplasmic sperm injection) ในการทำให้เกิดการปฏิสนธิแบบเจาะจง แล้วยังไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์
IMSI คือ เทคโนโลยีการคัดเลือกอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง 6,000 เท่า มากกว่าการคัดเลือกอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ด้วยเทคนิค ICSI ที่มีกำลังขยายเพียง 200-400 เท่า ทำให้สามารถเห็นลักษณะรูปร่างของตัวอสุจิได้ละเอียดกว่า
IMSI เหมาะกับใคร?
การทำ IMSI เหมาะสำหรับคู่สมรสที่เคยทำ IVF หรือ ICSI แล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จทั้งในด้านการปฏิสนธิ ล้มเหลวในการฝังตัวอ่อนในโพรงมดลูก หรือเกิดการแท้งขณะตั้งครรภ์
IMSI มีข้อดีอย่างไร?
ข้อดีของการทำ IMSI คือ สามารถประเมินความสมบูรณ์นิวเคลียสของอสุจิ และตรวจดูส่วนหัวของอสุจิว่า มีแวคิวโอล (Vacuole) หรือไม่
การเลือกฉีดอสุจิที่ส่วนหัวปราศจากแวคิวโอลเข้าไปผสมกับไข่ พบว่า ช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการปฏิสนธิ อัตราการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน (blastocyst) ความสำเร็จในการฝังตัวในโพรงมดลูก และลดการเกิดภาวะแท้ง
IMSI มีข้อเสียอย่างไร?
การทำ IMSI เป็นเทคนิคที่ซับซ้อนกว่าการทำ ICSI ทำให้มีราคาค่าใช้จ่ายสูงกว่า และถึงแม้จะช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ แต่ผลการวิจัยในปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด
ขั้นตอนการทำ IMSI เป็นอย่างไร?
ขั้นตอนการทำ IMSI คล้ายกับการทำเด็กหลอดแก้วทั่วไป ดังนี้
- คู่สมรสเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ และเตรียมความพร้อมร่างกายในการทำเด็กหลอดแก้ว
- กระตุ้นการตกไข่ของฝ่ายหญิงให้มีปริมาณมากกว่า 1 ใบ โดยการใช้ยาฮอร์โมน
- ติดตามตกไข่ และขนาดของไข่ เมื่อไข่มีขนาดสมบูรณ์ แพทย์จะทำการนำไข่ออกมาจากรังไข่ และเก็บอสุจิในวันเดียวกัน
- คัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดด้วยเทคนิค IMSI และฉีดเข้าไปผสมกับไข่โดยตรง
- หลังจากที่ไข่ผสมแล้วจะถูกนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนกว่าเจริญเป็นตัวอ่อน ระยะเวลา 5 วัน
- แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของตัวอ่อนในระยะก่อนฝังตัว (Preimplantation Genetic Diagnosis: PGD) หากผลตรวจเป็นปกติจะทำการย้ายตัวอ่อนไปฝังในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตในครรภ์ของฝ่ายหญิงต่อไป
การดูแลตัวเองหลังทำ IMSI
หลังทำ IMSI ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น
- ในช่วงวันแรกหลังทำ IMSI ให้นอนพักผ่อน 12-24 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก และต้องไม่มีการเกร็งหน้าท้อง
- งดการมีเพศสัมพันธ์ และการสวนล้างช่องคลอด
- ไม่รับประทานยานอกเหนือจากแพทย์สั่ง และควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง มีเลือดออก หรือมีตกขาวมากผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ที่ดูแลทันที
เปอร์เซ็นต์สำเร็จในการทำ IMSI
การทำ IMSI มีอัตราการตั้งครรภ์สำเร็จอยู่ที่ประมาณ 35-44% และมีความเสี่ยงในการแท้งบุตร 5% อย่างไรก็ตาม หลักฐานการวิจัยยังคงมีจำกัด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเป็นรายบุคคลไป
การทำ IMSI สามารถเลือกเพศได้ไหม?
ในขั้นตอนเลี้ยงไข่ที่ผสมแล้วในห้องแล็ปเพื่อให้เจริญเป็นตัวอ่อน แพทย์จะมีการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของตัวอ่อนในระยะก่อนฝังตัว หรือ PGD เพื่อตรวจความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งในขั้นตอนนี้สามารถตรวจดูเพศของตัวอ่อนได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเลือกตัวอ่อนที่มีผลตรวจปกติ ซึ่งอาจได้เพศที่ตรงกับความต้องการ หรือไม่ตรงกับความต้องการก็ได้
ดังนั้นการผสมเทียมด้วยวิธี IMSI ไม่สามารถเลือกเพศได้ แต่การตรวจ PGD จะช่วยให้รู้ว่า ตัวอ่อนที่จะทำการย้ายไปฝังในโพรงมดลูกเป็นเพศอะไรนั่นเอง
การทำ IMSI มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดเท่าไหร่?
การทำ IMSI มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดคล้ายกับการทำ IVF และ ICSI คือ มีโอกาสประมาณ 30-35% ในการเกิดฝาแฝด และมีโอกาสประมาณ 5-10% ในการเกิดแฝดสามขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์แฝดในเด็กหลอดแก้วจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ และมีโอกาสที่เด็กจะมีร่างกายไม่สมบูรณ์ จึงไม่แนะนำให้ตั้งครรภ์แฝด
ทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IMSI หรืออิมซี่ ราคาเท่าไร?
การทำเด็กหลอดแก้วด้วยเทคนิคพิเศษ IMSI ราคาเริ่มต้นประมาณ 175,000-200,000 บาท