ตรวจภาวะมีบุตรยาก ราคาเท่าไหร่? ขั้นตอนเป็นอย่างไร?

มีคู่รักจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะมีลูกแต่ก็ไม่สำเร็จ โดยหนึ่งในสาเหตุที่หลายคู่มีลูกยากนั้น มาจากการสร้างครอบครัวช้าเกินไป หรือวางแผนมีลูกช้าจนร่างกายของทั้งสามี และภรรยาไม่พร้อมมีลูกเท่ากับวัยหนุ่มสาวอีกต่อไป

มีคำถามเกี่ยวกับ ภาวะมีบุตรยาก? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคู่ของคุณตั้งใจมีลูกโดยมีความสัมพันธ์ทางเพศเป็นปกติ 1-2 ปี แต่ยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า คุณ หรือคนรักอาจประสบปัญหามีลูกยาก และควรที่จะเข้ารับการตรวจหาสาเหตุมีลูกยาก หรือตรวจภาวะมีลูกยากเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

ความหมายของภาวะมีลูกยาก

ภาวะมีลูกยาก หรือภาวะมีบุตรยาก (Infertility) หมายถึง ภาวะที่คู่สมรส หรือคู่รักไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ หลังจากพยายามมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี แม้คุณ และคนรักจะมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งโดยไม่ได้มีการป้องกันก็ตาม

ภาวะมีบุตรยากสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง โดยผู้หญิงนั้นจะถือว่า มีภาวะมีลูกยากก็ต่อเมื่อพยายามจะตั้งครรภ์มาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว และไม่มีการใช้ยาคุมกำเนิด แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ส่วนผู้ชายจะดูจากการมีจำนวนอสุจิน้อยเกินไป หรืออสุจิไม่แข็งแรงพอที่จะไปปฏิสนธิกับไข่ได้

การปฏิสนธิ และตั้งครรภ์นั้นต้องอาศัยความพร้อมด้านสุขภาพของคนทั้งคู่ อีกทั้งปัจจัยหลายๆ อย่างจึงจะประสบความสำเร็จ โดยจากสถิติพบว่า ปัญหามีลูกยากของคู่รักมีสาเหตุมาจากฝ่ายชาย 33% และฝ่ายหญิง 40-50% ส่วนที่เหลือนั้นเกิดจากปัญหาของทั้งคู่ หรือไม่สามารถระบุได้แน่ชัด

ทั้งนี้หากเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหามีลูกยาก คุณสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจภาวะมีลูกยากได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 1 ปี โดยเฉพาะหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เพราะยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย

สาเหตุของภาวะมีลูกยากในฝ่ายชาย

  • มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำอสุจิ และสเปิร์ม เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น มีจำนวนอสุจิน้อยเกินไป อสุจิไม่แข็งแรง หรือผิดปกติ ทำให้ว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก
  • ท่อนำเชื้อ หรือท่อปัสสาวะตีบตัน
  • อัณฑะเสียหายจากการติดเชื้อ มะเร็งอัณฑะ ภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง โรคหนองในแท้ การผ่าตัดอัณฑะ หรือมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
  • มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • เคยทำหมันชายมาก่อน
  • มีภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ
  • ใช้ยาบางชนิด ได้แก่ ยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine) ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic steroids) ยาเคมีบำบัด รวมถึงสมุนไพรบางอย่างที่อาจส่งผลต่อการผลิตอสุจิ หรือทำให้อัณฑะมีขนาดเล็กลง
  • ใช้สารเสพติดที่อาจส่งผลต่อคุณภาพ ความแข็งแรงของอสุจิ เช่น โคเคน กัญชา บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้น
  • อ้วน
  • ภาวะทุพโภชนา
  • ความเครียด
  • มีโรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการไคลน์เฟลเดอร์ (Klinefelter’s syndrome) โครโมโซมจะมีลักษณะเป็น XXY ไม่ใช่ XY คือมีโครโมโซม X เกินมา 1 ตัว

สาเหตุของภาวะมีลูกยากในฝ่ายหญิง

  • มีความผิดปกติของฮอร์โมนทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ ได้แก่ ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ โรคไทรอยด์ และภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี
  • มีแผลจากการผ่าตัดที่ส่งผลให้ท่อนำไข่เสียหาย
  • มีความผิดปกติของมูกตกไข่ ทำให้สเปิร์มว่ายผ่านไปปฏิสนธิได้ยาก
  • มีพังผืด หรือเนื้องอกในมดลูก ทำให้ไปขัดขวางท่อนำไข่
  • ท่อรังไข่อุดตัน
  • ผนังมดลูกเจริญไม่เต็มที่
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งจะส่งผลต่อรังไข่ หรือท่อนำไข่ และนำไปสู่ภาวะมีลูกยาก
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อในมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ ส่วนมากมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • เคยทำหมันหญิงมาก่อน
  • ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic medicines) ยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) รวมถึงยาเสพติดอย่างกัญชา และโคเคน

ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะมีลูกยาก

  • อายุ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ภาวะมีลูกยาก เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิงจะค่อยๆ ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป คุณภาพ และปริมาณไข่ที่ผลิตออกมาเริ่มมีจำนวนน้อยลง ส่วนผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็จะมีความสมบูรณ์ทางเพศน้อยลงเช่นกัน
  • การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา หากต้องการตั้งครรภ์ ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดน้อยลง และทำให้ผู้ชายเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือมีจำนวนอสุจิน้อยลง
    นอกจากนั้นยังเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือเสี่ยงเกิดการแท้งบุตรได้
  • น้ำหนักตัวที่มากเกินพอดี เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดภาวะมีลูกยา และอาจส่งผลต่อจำนวนอสุจิลดน้อยลงด้วย
  • ออกกำลังกายไม่เพียงพอ การออกกำลังสามารถช่วยลดภาวะอ้วนซึ่งนำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก และยังเพิ่มความแข็งของร่างกาย รวมทั้งลดความเสี่ยงของปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ของผู้หญิงอีกด้วย

ทั้งนี้หากเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหามีลูกยาก คุณสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจภาวะมีลูกยากได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 1 ปี โดยเฉพาะหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เพราะยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย

ขั้นตอนการตรวจภาวะมีบุตรยาก

1. การซักประวัติ

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติ และถามคำถามเพื่อประเมินสาเหตุของภาวะมีลูกยากของคู่รักดังนี้

  • ฝ่ายหญิงเคยมีลูกมาก่อนหรือไม่ หากเคยมี การตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ เป็นอย่างไร มีภาวะแทรกซ้อน หรือการแท้งบุตรเกิดขึ้นหรือไม่ และฝ่ายชายเคยมีลูกกับคนรักเก่าหรือไม่
  • คุณพยายามมีลูกมานานแค่ไหนแล้ว โดยคู่รักมากกว่า 80% จะสามารถมีลูกได้ภายใน 1 ปี หากฝ่ายหญิงมีอายุน้อยกว่า 40 ปี และมีเพศสัมพันธ์ทุกๆ 2-3 วัน โดยไม่มีการป้องกัน ส่วนอีกประมาณ 10% จะมีลูกสำเร็จในปีถัดไป และส่วนที่เหลือจะประสบภาวะมีลูกยาก
  • คุณมีเพศสัมพันธ์บ่อยแค่ไหน และมีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ทั้งคู่ควรเปิดอก และบอกให้แพทย์ทราบอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องเขินอาย หรือปกปิด เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่แพทย์ผู้วินิจฉัยจะต้องทราบ เพื่อจะให้คำแนะนำ และวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง
  • ก่อนหน้านั้นคุณใช้วิธีคุมกำเนิดแบบใด และหยุดใช้มานานแค่ไหนแล้ว
  • ประจำเดือนของฝ่ายหญิงมาเป็นปกติหรือไม่ มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือหลังการมีเพศสัมพันธ์หรือเปล่า
  • คุณมีโรคประจำตัว โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเคยรับการผ่าตัดใดๆ มาก่อนหรือไม่
  • คุณใช้ยารักษาโรคทั้งที่หาซื้อได้เอง และสั่งจ่ายโดยแพทย์ วิตามิน สมุนไพร หรืออาหารเสริมชนิดใดอยู่หรือไม่
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณเป็นอย่างไร เพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะมีลูกยากได้ เช่น สูบบุหรี่ น้ำหนักเกินมาตรฐาน ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เครียด หรือใช้สารเสพติด ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้มีลูกยากได้

คู่รักบางคู่เพียงเข้ารับคำปรึกษาดังข้างต้น และทำตามคำแนะนำจากแพทย์ก็มีลูกสำเร็จได้ แต่บางคู่ก็ต้องตรวจหาสาเหตุ และรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ต่อไป

2. การตรวจภาวะมีบุตรยาก

การตรวจมีลูกยากในฝ่ายชายมักเริ่มจากการตรวจน้ำอสุจิ ส่วนมากวิธีนี้จะสามารถบอกได้ทันทีว่า มีภาวะมีลูกยากหรือไม่

สิ่งสำคัญในการตรวจภาวะมีบุตรยาก คือ คุณจะต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ และงดการหลั่งน้ำอสุจิเป็นเวลา 3-7 วันก่อนมาตรวจ ไม่ควรน้อย หรือนานกว่านี้ ส่วนการตรวจมีลูกยากในฝ่ายหญิงจะมีขั้นตอน และวิธีตรวจที่ซับซ้อนกว่า เช่น

  • ตรวจภายใน
  • ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน
  • อัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อดูมดลูก และรังไข่
  • ฉีดสีเข้าโพรงมดลูกพร้อมกับส่องกล้องดูโพรงมดลูก และท่อนำไข่
  • ส่องกล้องดูโพรงมดลูก และอุ้งเชิงกราน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างวิธีที่แพทย์อาจใช้ในการตรวจ แน่นอนว่า คุณไม่จำเป็นต้องตรวจทุกวิธี การตรวจที่เหมาะสมจะพิจารณาจากประวัติ และผลการตรวจร่างกายของคุณว่า ปัญหามีลูกยากน่าจะเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

วิธีรักษาภาวะมีบุตรยาก

คู่รักทุกคู่อาจไม่ทราบว่า ตนเองสามารถเพิ่มโอกาสในการมีลูกโดยเปลี่ยนจากพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพเป็นคนรักสุขภาพได้ โดยไม่ต้องถึงมือแพทย์ โดยทำได้ตามคำแนะนำง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วนทั้ง 5 หมู่
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ และคุณภาพของอสุจิ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด
  • หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น พูดคุยกับเพื่อน นวดผ่อนคลาย เล่นกีฬา นั่งสมาธิ ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ

หากเป็นภาวะมีลูกยากที่การดูแลสุขภาพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยได้ คุณจำเป็นต้องรับการรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น

  • ท่อนำไข่ตีบตัน อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดให้กลับมาเป็นปกติ
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สามารถรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อนำเยื่อบุโพรงมดลูกที่ผิดปกติออก แต่หากมีมากเกินไปอาจต้องใช้การทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเป็นการนำไข่ และอสุจิมาผสมกันภายนอกร่างกาย ก่อนจะฉีดกลับเข้าไปภายในมดลูกของฝ่ายหญิงเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์
  • ภาวะไข่ไม่ตก มีวิธีรักษาโดยการให้ยากระตุ้นการตกไข่
  • อสุจิมีความผิดปกติ เบื้องต้นจะมีการตรวจหาสาเหตุ และอาจต้องเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์โดยฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก หรือทำเด็กหลอดแก้ว
  • เคยทำหมันมาก่อน แม้จะสามารถแก้หมันได้ แต่ก็ไม่สำเร็จเสมอไป
  • ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด กรณีนี้แพทย์จะพยายามเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การกระตุ้นรังไข่ และการฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก

หากการรักษาเบื้องต้นตามสาเหตุใช้ไม่ได้ผลก็อาจต้องใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์เข้าช่วย แต่ส่วนมากจะมีกระบวนการที่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น

  • การปฏิสนธินอกร่างกายอย่างการทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertillization: IVF)
  • การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI)
  • การฉีดเชื้ออสุจิเขาไปในเซลล์ไข่ (intrauterine insemination: IUI)

ค่าใช้จ่ายในการตรวจภาวะมีลูกยาก และรักษาภาวะมีลูกยาก 

การตรวจภาวะมีลูกยากในขั้นรับคำปรึกษา และตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายใน หรือตรวจความสมบูรณ์ของอสุจินั้นมีค่าใช้จ่ายประมาณไม่เกิน 2,000 บาท

ส่วนการรักษาด้วยเทคโนโลยีแก้ไขภาวะมีลูกยากนั้นอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักหมื่น หรือหลักแสน หลังจากปรึกษา หรือแม้กระทั่งเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาไปแล้วก็ยังไม่สามารถรับประกันว่า จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้ 100%

มีคำถามเกี่ยวกับ ภาวะมีบุตรยาก? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

เปรียบเทียบราคาตรวจมีลูกยากในผู้หญิง

รพ. พญาไท 2 (ตรวจสุขภาพสำหรับผู้มีบุตรยาก)

ราคาประมาณ 3,500 บาท โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

  • ปรึกษา ซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด (CBC)
  • ตรวจหมู่เลือดระบบ ABO และ Rh
  • ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
  • ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV)
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Anti HIV)
  • ตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL)
  • ตรวจหาโรคเลือดทางพันธุกรรม (Hemoglobin Typing)
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (Rubella IgG)

รพ. จุฬารัตน์อินเตอร์ 9 (คัดกรองมีบุตรยาก)

ราคาประมาณ 4,200 บาท โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

  • ปรึกษา ซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์อุ้งเชิงกราน
  • ตรวจเอกซเรย์ดูมดลูกและท่อนำไข่(รวมฉีดสี)

รพ. นนทเวช (แพ็กเกจสำหรับผู้มีบุตรยาก)

ราคาประมาณ 6,900 บาท มีรายละเอียดการตรวจดังนี้

  • ปรึกษา ซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด (CBC)
  • ตรวจหมู่เลือดระบบ ABO และ Rh
  • ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Anti HIV)
  • ตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL)
  • ตรวจหาโรคเลือดทางพันธุกรรม (Hemoglobin Typing)
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์อุ้งเชิงกราน
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกพร้อมตรวจเชื้อเอชพีวี

เปรียบเทียบราคาตรวจมีลูกยากในผู้ชาย

รพ. พญาไท 2 (ตรวจสุขภาพสำหรับผู้มีบุตรยาก)

ราคาประมาณ 3,500 บาท โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

  • ปรึกษา ซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด (CBC)
  • ตรวจหมู่เลือดระบบ ABO และ Rh
  • ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
  • ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV)
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Anti HIV)
  • ตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL)
  • ตรวจหาโรคเลือดทางพันธุกรรม (Hemoglobin Typing)
  • ตรวจดูความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ (Semen Analysis)

รพ. จุฬารัตน์อินเตอร์ 9 (คัดกรองมีบุตรยาก)

  • ราคาประมาณ 800 บาท โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้
  • ปรึกษา ซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์
  • ตรวจดูความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ (Semen Analysis)

รพ. นนทเวช (แพ็กเกจสำหรับผู้มีบุตรยาก)

ราคาประมาณ 3,700 บาท โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

  • ปรึกษา ซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด (CBC)
  • ตรวจหมู่เลือดระบบ ABO และ Rh
  • ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Anti HIV)
  • ตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL)
  • ตรวจหาโรคเลือดทางพันธุกรรม (Hemoglobin Typing)
  • ตรวจดูความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ (Semen Analysis)

*ราคาข้างต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลง และอาจยังไม่รวมค่าแพทย์หรือค่ายา

การมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งในช่วงที่ไข่ตกเป็นวิธีพื้นฐานที่ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งสามารถคำนวณช่วงเวลาที่ไข่ตกโดยเริ่มนับย้อนจากวันแรกที่จะมีประจำเดือนครั้งต่อไปเป็นจำนวน 14 วัน

หรือคุณอาจสังเกตจากมูกบริเวณช่องคลอดที่จะออกมามากในช่วงนี้ และปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันมากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการคำนวณช่วงไข่ตกให้แม่นยำยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพยายามด้วยวิธีธรรมชาติแล้วยังไม่มีเจ้าตัวน้อยสมใจ แต่ต้องการมีลูกจริงๆ การตรวจภาวะมีลูกยาก และเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้

เพียงแต่คู่สามีภรรยาต้องเตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมกำลังทรัพย์ให้พร้อม หากได้ลูกมานำเป็นเรื่องที่ดี แต่หากไม่ได้ลูกมาก็ไม่โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภาวะมีบุตรยาก

มีคำถามเกี่ยวกับ ภาวะมีบุตรยาก? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ HDcare โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ พยาบาล HDcare