เมื่อแพทย์ประเมินว่าจำเป็นต้องผ่าตัดมดลูก เพื่อแก้ไขปัญหาหรือรักษาโรคที่เกิดกับอวัยวะภายในของผู้หญิง ผู้หญิงหลายคนอาจรู้สึกลังเลหรือกลัว เพราะเกรงว่าอาจจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
HDmall.co.th จึงได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดมดลูก ที่จำเป็นต้องรู้สำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดมดลูก เพื่อให้เข้าใจถึงความจำเป็นของการรักษาและสามารถเตรียมพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจได้
สารบัญ
- ผ่าตัดมดลูกคืออะไร?
- ผ่าตัดมดลูกช่วยอะไร?
- ผ่าตัดมดลูกมีกี่ประเภท?
- การผ่าตัดมดลูกมีกี่วิธี?
- ใครควรผ่าตัดมดลูก?
- การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดมดลูก
- ขั้นตอนการผ่าตัดมดลูก
- การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูก
- ความเสี่ยงหลังผ่าตัดมดลูก
- ผ่าตัดมดลูกพักฟื้นกี่วัน?
- ผ่าตัดมดลูกใช้เวลานานไหม?
- ผ่าตัดมดลูกแล้วมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
- ผ่าตัดมดลูกแล้วจะเป็นอีกไหม?
ผ่าตัดมดลูกคืออะไร?
การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) คือการผ่าตัดเพื่อนำมดลูกทั้งหมดหรือบางส่วนออก เพื่อแก้ไขปัญหาหรือโรคในระบบสืบพันธุ์ เช่น เนื้องอกในมดลูก พังผืดในมดลูก เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือโรคที่อาจเป็นอันตรายร้ายแรง เช่น มะเร็ง โดยหลังการผ่าตัด หากได้ตัดรังไข่ออกไปด้วย ผู้หญิงที่รับการผ่าตัดก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป
ผ่าตัดมดลูกช่วยอะไร?
- แก้ปัญหาเนื้องอกในมดลูก โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย มีโอกาสเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งไม่ถึง 1 % แต่สร้างความลำบากในชีวิตประจำวัน เช่น มีบุตรยากหรือแท้งบุตรง่าย ปวดท้อง มีเลือดประจำเดือนมาก ท้องผูก เป็นต้น
- แก้ปัญหาพังผืดในมดลูก ที่มักมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงมาจากการทำหัตถการในโพรงมดลูก การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกทางหน้าท้อง การแท้งค้าง และการอักเสบหรือติดเชื้อที่เยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เช่น ภาวะมีบุตรยาก การแท้งซ้ำ ประจำเดือนไม่ปกติ
- รักษามะเร็งปากมดลูก และมะเร็งที่เกี่ยวกับมดลูก
- รักษาอาการเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
- รักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- รักษาอาการเจ็บในอุ้งเชิงกราน ซึ่งเกี่ยวข้องกับมดลูก และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้
- รักษาภาวะมดลูกหย่อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ หรือถ่ายอุจจาระลำบาก
- รักษาความผิดปกติขณะคลอด เช่น ภาวะเลือดไหลไม่หยุด
ผ่าตัดมดลูกมีกี่ประเภท?
การผ่าตัดมดลูก มี 3 ประเภท ดังนี้
- การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด (Total Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำเอามดลูกและปากมดลูก ซึ่งเป็นทางเข้าสู่มดลูกที่อยู่ติดกับช่องคลอดด้านในสุดออกไปด้วยทั้งหมด ภายหลังเอามดลูกออกแล้ว แพทย์จะเย็บแผลด้านในช่องคลอดเข้าหากัน ทำให้ช่องคลอดหลังผ่าตัดมีลักษณะเป็นช่องตัน เพราะไม่มีปากมดลูกเหลืออยู่ ช่องคลอดจึงสั้นลงกว่าเดิม การผ่าตัดมดลูกทั้งหมดนี้ เป็นแบบที่นิยมที่สุดในประเทศไทย
- การผ่าตัดเฉพาะส่วนของมดลูก (Subtotal Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดแผลเล็กๆ ผ่านกล้องที่หน้าท้อง หรือในช่องคลอด ก่อนนำมดลูกออกมาจะปั่นให้ชิ้นเนื้อเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วนำออกมาทางแผลเล็กๆ ที่หน้าท้อง หรือแผลในช่องคลอด แต่ยังคงเหลือส่วนของปากมดลูกไว้เช่นเดิม แต่การผ่าตัดแบบนี้ยังเหลือปากมดลูกและรังไข่ไว้ ทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นเนื้องอกได้อีก
- การผ่าตัดมดลูกแบบถอนราก (Radical Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำเอามดลูกและเนื้อเยื่อในบริเวณที่ใกล้เคียง เช่น ท่อนำไข่ ปีกมดลูก ต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อบางส่วนของช่องคลอดออกไปด้วย วิธีนี้มักนำมาใช้เมื่อต้องการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม โดยตัดเอาเนื้อเยื่อรอบๆ มดลูกซึ่งเป็นทางเดินของน้ำเหลืองที่อาจมีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายออกไปด้วย โดยทั่วไปแพทย์จะทำแผลเปิดหน้าท้อง หรือผ่านกล้อง ซึ่งจำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้เยื่อบุช่องท้อง จึงไม่สามารถทำผ่านช่องคลอดได้
การผ่าตัดมดลูกมีกี่วิธี?
สำหรับวิธีที่ใช้ในการผ่าตัด สามารถทำได้ 4 วิธี ดังนี้
- การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้อง (Abdominal Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดมดลูกโดยการเปิดหน้าท้องในแนวตั้งหรือแนวนอน โดยหลังจากแผลสมานแล้ว อาจพบรอยแผลเป็นที่เห็นได้ชัดกว่าการผ่าตัดวิธีอื่นๆ
- การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบแผลเล็ก (Minilaparotomy Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดมดลูกที่มีแผลจากการเปิดที่เล็กกว่าหรือเท่ากับ 6 เซนติเมตรเท่านั้น
- การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) แพทย์จะผ่าเปิดแผลบริเวณภายในช่องคลอดด้านใน เพื่อทำการผ่าตัดมดลูก วิธีนี้จะไม่มีรอยแผลภายนอกที่มองเห็นได้
- การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic Hysterectomy) แพทย์จะผ่าเปิดแผลช่องเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง 3-4 รอย ขนาดเพียง 0.5-1.0 เซนติเมตรเท่านั้น และใช้เครื่องมือผ่าตัดและเครื่องมือลาพาโรสโคป (Laparoscope) สอดเข้าไปเป็นตัวส่งสัญญาณภาพอวัยวะที่อยู่ภายใน ปัจจุบันวิธีนี้ได้รับการพัฒนาจนสามารถลดจำนวนแผลลงเหลือเพียงแผลเดียวบริเวณสะดือ (Single Port Laparoscopic Surgery) เมื่อแผลหายจึงมองไม่เห็นแผลที่ม้วนเข้าไปในสะดือ
ใครควรผ่าตัดมดลูก?
แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกหรือไม่ โดยผู้ที่อาจได้รับคำแนะนำให้ผ่าตัดมดลูก อาจมีดังนี้
- ผู้ที่มีภาวะโรคในมดลูกและรังไข่
- ผู้ที่มีเนื้องอกมดลูก
- ผู้ที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูก
- ผู้ที่มีภาวะมดลูกหย่อน
- ผู้ที่มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
อย่างไรก็ตามการเลือกที่จะผ่าตัดมดลูกหรือไม่ ผ่าตัดด้วยวิธีไหน ประเภทใดนั้น ขึ้นกับโรคที่เป็น ขนาดของมดลูก ประวัติการผ่าตัดในช่องท้อง โรคประจำตัว สุขภาพโดยรวม ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่รับได้
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดมดลูก
ผู้ที่ตัดสินใจรับการผ่าตัดมดลูกควรเตรียมพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดมดลูก ได้แก่
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดมดลูกให้เข้าใจ ทั้งขั้นตอน การเตรียมตัว ผลข้างเคียง การวางแผนเพื่อดูแลตนเองหลังผ่าตัด
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการใช้ยา การรักษา และการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะการป่วยที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- งดสูบบุหรี่ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการใช้ยาสลบ และการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด
- ลดน้ำหนัก สำหรับผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดและการใช้ยาสลบ
- พักผ่อนให้เพียงพอทั้งร่างกายและจิตใจ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยก่อนผ่าตัด 1 วันควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย และเริ่มงดน้ำ งดอาหารประมาณ 6 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
- ทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ ตัดเล็บ และไม่ทาเล็บไปในวันที่รับการผ่าตัดมดลูก
- เข้าพักเป็นผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลก่อนเวลาผ่าตัดอย่างน้อยที่สุด 4 ชั่วโมง
- ถอดฟันปลอม เครื่องประดับหรือของมีค่า ก่อนเข้าห้องผ่าตัด
- เตรียมพร้อมสำหรับการฉายภาพรังสีที่อาจต้องทำก่อนการผ่าตัด
- เตรียมพร้อมร่างกายตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปพยาบาลจะเป็นผู้ทำให้ เช่น โกนขนบริเวณหน้าท้องและหัวหน่าว สวนล้างช่องคลอด สวนปัสสาวะ และสวนอุจจาระ เป็นต้น
- กรณีมีอาการป่วยก่อนวันผ่าตัด ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาการบางอย่าง ส่งผลต่อการผ่าตัด เช่น การป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม หรือไข้หวัด แพทย์อาจต้องชะลอการผ่าตัดไปก่อน
ขั้นตอนการผ่าตัดมดลูก
แพทย์จะเริ่มต้นจากการใช้ยาสลบ เพื่อให้ไม่รู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด หรือบางรายจะใช้ยาชาเฉพาะที่กรณีแพทย์บล็อคหลัง โดยฉีดยาชาเข้าไปบริเวณไขสันหลัง เพื่อทำให้ช่วงเอวไม่รู้สึกเจ็บปวดในขณะผ่าตัด บางครั้งก็อาจใช้ร่วมกับยาระงับประสาทช่วยผ่อนคลายความกังวลและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงด้วย จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัด โดยแบ่งเป็น 4 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้อง (Abdominal Hysterectomy) แพทย์จะผ่าเปิดหน้าท้องในแนวตั้ง หรือแนวนอน เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแล้วจึงเย็บแผลที่ผ่าตัด
- การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบแผลเล็ก (Minilaparotomy Hysterectomy) แพทย์จะผ่าเปิดหน้าท้องที่มีขนาดเล็กมากเพียงไม่เกิน 6 เซนติเมตร เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแล้วจึงเย็บแผลที่ผ่าตัด
- การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) แพทย์จะผ่าเปิดแผลบริเวณภายในช่องคลอดเข้าไปข้างใน เพื่อผ่าตัดผ่านช่องคลอด และเย็บปิดช่องคลอดด้านบนสุด ซึ่งจะไม่มีรอยแผลให้เห็นจากภายนอก
- การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic Hysterectomy) แพทย์จะผ่าเปิดช่องเล็กๆ 3-4 รอย บริเวณหน้าท้อง หรือเพียง 1 รอยผ่านสะดือ พร้อมสอดเครื่องมือลาพาโรสโคปและเครื่องมือพิเศษเข้าไปทำการปั่นมดลูกให้เป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจึงนำชิ้นส่วนออกมาตามช่องที่ผ่าไว้ โดยหลังการผ่าตัด จะมีรอยแผลขนาดเล็กๆ ประมาณ 2-3 รอย และพักฟื้นในโรงพยาบาล 24-48 ชั่วโมง เท่านั้น
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมดลูก
ผู้เข้ารับการผ่าตัดมดลูก ควรเตรียมพร้อมสำหรับการดูแลตนเองเมื่อกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน ดังนี้
- เตรียมจัดวางของใช้ที่จำเป็นให้อยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้งาน รวมถึงอาหารที่ใช้รับประทานในระหว่างพักฟื้น หรืออาจให้คนใกล้ชิดช่วยดูแลก็ได้
- ไม่ขับรถกลับบ้านเอง ให้มีคนมารับ
- หลังผ่าตัด ภายใน 24 ชั่วโมง ให้นอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ขยับตัวบ่อยๆ
- โดยทั่วไปให้งดน้ำและอาหารประมาณ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด หรือจนกว่าจะมีคำสั่งแพทย์ให้เริ่มอาหาร
- หลังรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรลุกนั่งหรือเดินอย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อป้องกันภาวะท้องอืด
- หลังผ่าตัด อาจมีไข้ ท้องอืด หรือมีเลือดอออกทางช่องคลอดได้ ควรแจ้งแพทย์เพื่อแก้ไขต่อไป
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเน้นผักผลไม้ และดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อป้องกันท้องผูก
- งดของหมักของดองและอาหารรสจัด
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด เพราะอาจทำให้แผลหายช้าและอักเสบได้
- ไม่ยกของหนัก
- งดการมีเพศสัมพันธ์ ประมาณ 6 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการขับรถอย่างน้อย 7-10 วัน หลังผ่าตัด เพราะอาจจะได้รับแรงกระแทกระหว่างขับรถ
- งดอาบน้ำในอ่างน้ำ หรือ ว่ายน้ำ ประมาณ 6 สัปดาห์
- พักผ่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและเนื้อเยื่อโดยรอบฟื้นตัวจนเป็นปกติ
- หากต้องการกลับไปทำกิจกรรมตามปกติ เช่น ออกกำลังกาย หรือทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวมาก ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- ไม่กลั้นปัสสาวะ เพราะช่วงหลังผ่าตัด ทางเดินปัสสาวะจะเกิดการอักเสบได้ง่าย
- ทำใจให้สบาย ไม่วิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ มากจนเกินไป
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหากมีอาการผิดปกติ ควรแจ้งแพทย์ทันที
ความเสี่ยงหลังผ่าตัดมดลูก
ปัจจุบันการผ่าตัดมดลูกมีเครื่องมือทันสมัย มีอัตราความเสี่ยงต่ออันตรายต่ำ แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงบ้างเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกประเภท ซึ่งความเสี่ยงและความบาดเจ็บต่างๆ ที่อาจพบได้ มีดังนี้
- การเสียเลือดมากจนต้องให้เลือดทดแทน
- การบาดเจ็บที่ลำไส้
- การบาดเจ็บที่กระเพาะปัสสาวะและหลอดไต
- การอักเสบติดเชื้อ ในบริเวณแผลหน้าที่ได้รับการผ่าตัด
- ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ เช่น ปอดบวม ระบบหัวใจ เป็นต้น
กรณีการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกด้วยพร้อมกัน ร่างกายจะไม่มีรังไข่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนอีกต่อไป ส่งผลให้ผู้รับการผ่าตัดหมดประจำเดือนทันที และอาจมีอาการข้างเคียงและความเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- อาการวัยทอง หงุดหงิด ร้อนวูบวาบ
- อารมณ์ทางเพศลดลง
- ช่องคลอดแห้ง รู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
- ภาวะกระดูกพรุน
- โรคหัวใจ
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- อาการซึมเศร้าหรือเสียใจจากการไม่สามารถมีบุตรได้
อย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดประมาณ 4-6 สัปดาห์ แพทย์จะนัดติดตามผล และตรวจสอบการฟื้นตัวของร่างกาย ภาวะอาการแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงหลังผ่าตัด แต่หากผู้รับการผ่าตัดมีปัญหาสุขภาพหรือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดความกังวล เช่น แผลอักเสบ บวมแดง มีไข้ มีหนองนอกช่องคลอด ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ทันที
ผ่าตัดมดลูกพักฟื้นกี่วัน?
ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังผ่าตัด แยกตามวิธีที่ผ่าตัด คือ
- การผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง (Abdominal hysterectomy) โดยทั่วไปจะใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดประมาณ 2-4 วัน และใช้เวลาพักฟื้นที่บ้านต่ออีก 6-8 สัปดาห์
- การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic hysterectomy) และ การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy)โดยทั่วไปจะใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-3 วัน ใช้เวลาพักฟื้นที่บ้านต่ออีกประมาณ 2 สัปดาห์
ระยะเวลาในการพักฟื้น แยกตามแบบการผ่าตัด คือ
- การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด (Total Hysterectomy) และการผ่าตัดมดลูกแบบถอนราก (Radical Hysterectomy) โดยทั่วไปจะใช้เวลาพักฟื้น ประมาณ 1 เดือน โดยไม่ทำงานหรือทำสิ่งใดที่อาจส่งผลให้แผลได้รับความกระทบกระเทือน แต่สามารถทำกิจกรรมทั่วไปเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น เดินเล่น เดินเข้าห้องน้ำ ซึ่งโดยทั่วไปจะพักอยู่ที่โรงพยาบาล 3-5 วัน และใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนที่แผลจะหายดีและร่างกายจะกลับมาแข็งแรงเป็นปกติ
- การผ่าตัดมดลูกแบบเหลือปากมดลูกไว้ (Subtotal Hysterectomy) โดยทั่วไปจะพักอยู่ที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน และใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 สัปดาห์เท่านั้น
ผ่าตัดมดลูกใช้เวลานานไหม?
โดยทั่วไปการผ่าตัดมดลูกจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้รับการผ่าตัดจะมาสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้นหลังผ่าตัดต่ออีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ผู้รับการผ่าตัดก็สามารถกลับมาพักในห้องปกติของโรงพยาบาล และกลับบ้านตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดได้
ผ่าตัดมดลูกแล้วมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
หลังการผ่าตัดมดลูก ผู้รับการผ่าตัดควรงดมีเพศสัมพันธ์ใน 6 สัปดาห์แรก หรือจนกว่าแผลจะหาย ทั้งนี้ในการผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด (Total Hysterectomy) จะทำให้ช่องคลอดสั้นลง ส่งผลให้เมื่อมีเพศสัมพันธ์อาจรู้สึกเจ็บในช่องคลอด เมื่อมีการสอดใส่เข้าไปลึก ซึ่งแก้ไขได้โดยการเลือกใช้ท่าที่สอดใส่เข้าไปไม่ลึก
สำหรับในกรณีผ่าตัดมดลูกและมีการตัดรังไข่ออกด้วย จะส่งผลให้อารมณ์ทางเพศลดลง เพราะร่างกายไม่มีรังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจกับผู้รับการผ่าตัดบางรายมาก จนอาจมีอาการซึมเศร้าได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทน
ผ่าตัดมดลูกแล้วจะเป็นอีกไหม?
เมื่อผ่าตัดมดลูกแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่กลับมาเป็นอีก แต่ประมาณ 10-25% ของผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูก อาจต้องรับการผ่าตัดเป็นครั้งที่ 2 ภายใน 5-10 ปี โดยมีสาเหตุจาก
- การผ่าตัดเอาเนื้องอกออกแต่เก็บมดลูกไว้ หรือกรณีผ่าตัดเอาเนื้องอกที่ลามไปยังมดลูกข้างหนึ่งด้วย จึงต้องตัดมดลูกออกข้างหนึ่ง เหลือไว้ข้างหนึ่ง พบว่า 30% ของผู้ที่รับการผ่าตัด มีโอกาสกลับมาเป็นอีกภายใน 5 ปี
- ผู้ที่มีเนื้องอกหลายก้อน มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำมากกว่าผู้ที่พบเพียงก้อนเดียว
- ผู้รับการผ่าตัดที่ยังมีปากมดลูกอยู่ อาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกแบบนี้ จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี
ทั้งนี้ การผ่าตัดมดลูก แพทย์จะแนะนำให้ทำเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เพื่อเป็นการรักษาหรือให้เกิดผลที่ดีที่สุดต่อสุขภาพของผู้รับการผ่าตัด โดยแพทย์จะประเมินวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมและให้คำแนะนำ ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้กับผู้เข้ารับการผ่าตัด ผู้รับการผ่าตัดจึงควรวางใจและไม่กังวลจนเกินไป