กรวยไตอักเสบเรื้อรัง โรคร้ายในทางเดินปัสสาวะ

กรวยไต (pelvis) คือ ส่วนของไตที่เชื่อมต่อกับท่อไต มีลักษณะเป็นโพรง มีหน้าที่เก็บของเหลวที่กรองแล้วเพื่อปล่อยออกสู่ท่อไตและขับออกเป็นปัสสาวะ หากเกิดภาวะกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) จะทำให้ไตเสียหาย และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวาย หรือติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้ กรวยไตอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนบน ซึ่งพบได้บ่อยในคนทุกวัยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่พบมากเป็นพิเศษ  ส่วนอาการที่เกิดขึ้นมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง

อาการของกรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบอาจแสดงอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน หลายครั้งก็มีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวดท้อง อาจปวดไปถึงหลังและสีข้าง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปัสสาวะลำบาก
  • ปัสสาวะบ่อย
  • รู้สึกปวดปัสสาวะตลอดเวลา
  • รู้สึกแสบขัดเวลาปัสสาวะ
  • ปัสสาวะสีขุ่น มีกลิ่นเหม็น บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมา
  • เท้าบวม
  • คัน

กรวยไตอักเสบเรื้อรัง ต่างกับกรวยไตอักเสบเฉียบพลันอย่างไร

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกรวยไตมักแสดงอาการอักเสบแบบเฉียบพลัน แต่มีบางส่วนที่เป็นกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรัง คือไม่แสดงอาการผิดปกติหลังจากติดเชื้อ ตรวจพบเพียงแบคทีเรียและเม็ดเลือดขาวสูงในปัสสาวะเท่านั้นทำให้ผู้ป่วยอาจละเลยและไม่ได้ไปรักษา ผู้เป็นกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรังอาจมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว เช่น ปวดท้อง ปัสสาวะแสบขัด แลจากการที่กรวยไตเกิดการอักเสบเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ไตเสื่อม และกลายเป็นภาวะไตวายได้

สาเหตุของกรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่กรวยไต ซึ่งเชื้อที่พบบ่อยคือ E.coli สาเหตุที่มักทำให้กรวยไตติดเชื้อ ได้แก่ มีการติดเชื้อที่ส่วนอื่นๆ ของทางเดินปัสสาวะอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ มีภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับท่อไต (Vesicoureteral Reflux) หรือมีเชื้อโรคปนเปื้อนจากอุปกรณ์สายสวนปัสสาวะ

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดกรวยไตอักเสบ

โรคกรวยไตอักเสบนั้นเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่จัดว่ามีความเสี่ยงต่อโรคสูง ได้แก่

  • ผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชาย รวมถึงท่อเปิดอยู่ใกล้กับทวารหนัก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อทางท่อปัสสาวะได้สูง
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนแปรปรวนทำให้ความดันในท่อไตสูงขึ้นจนอาจเกิดกรวยไตอุดตันและมีการติดเชื้อได้
  • ผู้ที่เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนอื่นๆ เช่น ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ อาจเกิดการติดเชื้อลุกลามมายังกรวยไตได้
  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในไต เช่น เป็นนิ่วไต ท่อปัสสาวะตีบ
  • ผู้ที่ใช้อุปกรณ์สายสวนปัสสาวะ
  • ผู้ที่เพิ่งรับการผ่าตัดและพักฟื้นในโรงพยาบาล รวมถึงผู้ที่รับการส่องกล้องในทางเดินปัสสาวะด้วย
  • ผู้ที่กลั้นปัสสาวะบ่อยๆ และดื่มน้ำน้อย ทำให้มีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ
  • ผู้ที่มีความผิดปกติอื่นๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือมีภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ

การรักษากรวยไตอักเสบ

แนวทางการรักษาโดยทั่วไป คือการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาไซโพรฟล็อกซาซิน ซัลฟาเมท็อกซาโซล ไทรเมโทพริม หากมีอาการรุนแรงก็อาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลและให้ยาทางหลอดเลือดดำ นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีไข้สูงและมีอาการปวดท้องก็ต้องให้ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟนด้วย

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นกรวยไตอักเสบ

หากมีอาการของโรคกรวยไตอักเสบ ไม่ควรไปซื้อยาฆ่าเชื้อมารับประทานเองเพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้ แต่ควรไปพบแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้อง สำหรับแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อดูแลอาการ ได้แก่ รับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง และไปตรวจติดตามตามที่แพทย์นัด ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ และหลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนานๆ

การป้องกันกรวยไตอักเสบ

  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อให้มีปริมาณปัสสาวะมากพอจะขับของเสียออก
  • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ หรือกลั้นเป็นเวลานาน
  • ดูแลสุขอนามัยให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

Scroll to Top