ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ก่อนโรคแทรกซ้อนจะมาเยือน

โรคนิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากการเสียสมดุลระหว่างสารละลายหลักในถุงน้ำดี ได้แก่ คอเลสเตอรอล ไขมันฟอสเฟต และกรดน้ำดี จนเกิดเป็นตะกอนและนิ่วในที่สุด โดยก้อนนิ่วในถุงน้ำดี อาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ และมีจำนวนที่แตกต่างกัน ซึ่งโรคนี้พบมากในกลุ่มคนอ้วน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนในการก่อตัวของก้อนนิ่ว แต่ด้วยอาการของโรคคล้ายโรคกระเพาะอาหาร จึงถูกมองว่าไม่เป็นอันตราย ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ เช่น ตับอ่อนอักเสบ เพราะก้อนนิ่วเคลื่อนไปอุดตันท่อที่ตับอ่อน และติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้ยาเพื่อละลายก้อนนิ่วนั้น เมื่อหยุดยาอาจจะทำให้เกิดก้อนนิ่วซ้ำได้อีก ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุด คือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก วันนี้ HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูลสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมาฝากกัน

สารบัญ

ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร?

การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี (Cholecystectomy) คือ การผ่าตัดนำถุงน้ำดีออก โดยผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) หรือโดยการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)

ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะขนาดเล็กในระบบย่อยอาหาร ทำหน้าที่กักเก็บน้ำดีที่ตับผลิตส่งออกมา ทำให้น้ำดีเข้มข้นเพื่อพร้อมสำหรับย่อยไขมัน เมื่อร่างกายเราต้องการย่อยไขมัน น้ำดีก็จะถูกส่งไปตามท่อ เข้าสู่ลำไส้เพื่อย่อยสลายไขมัน ดังนั้นการตัดถุงน้ำดีออก จึงไม่มีผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร เพราะถุงน้ำดีเป็นเพียงที่เก็บพักน้ำดีเท่านั้น

ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมีกี่แบบ?

การผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบัน มี 2 แบบคือ

1. ผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) เป็นการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกด้วยการเปิดแผลทางหน้าท้องบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวายาวประมาณ 10 ซม. ปัจจุบันจะเลือกใช้การผ่าตัดวิธีนี้กรณีที่ถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบมาก หรือแตกทะลุในช่องท้อง และในรายที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะตับอ่อนอักเสบร่วมด้วย โดยหลังจากการผ่าตัดใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน และพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาลอีกประมาณ 1 เดือน

2. ผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นการผ่าตัดโดยการเจาะรูเล็กๆ ที่บริเวณสะดือและชายโครงขวา ขนาดประมาณ 0.5-1 ซม. จำนวน 3-4 รู จากนั้นจะสอดท่อที่มีไฟฉายและกล้องขนาดเล็กลงไป และส่งภาพมายังจอมอนิเตอร์ เพื่อให้แพทย์ทำการผ่าตัดผ่านจอโทรทัศน์ ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้จะทำให้แผลมีขนาดเล็ก อาการปวดน้อย โดยหลังจากการผ่าตัดใช้เวลาพักอยู่โรงพยาบาล 1-2 วัน และพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาลอีก 1 สัปดาห์ก็กลับไปทำงานได้ตามปกติ

ใครควรผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี?

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี หากพบอาการดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการปวดท้อง ปวดเสียดท้องบริเวณลิ้นปี่ข้างขวา ปวดร้าวที่สะบักขวา โดยเฉพาะเวลาหลังอาหาร หรือหลังมื้ออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง สาเหตุเกิดจากก้อนนิ่วอุดตันที่ปากถุงน้ำดี
  • ผู้ที่มีอาการปวดระบมที่ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ เพราะถุงน้ำดีอักเสบอย่างเฉียบพลัน
  • ผู้ที่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาหารไม่ย่อย เนื่องจากถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) เนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีหลุดเข้าไป ทำให้ท่อน้ำดีใหญ่อุดตัน
  • ผู้ที่มีอาการปวดท้องส่วนบน อาเจียนมาก สาเหตุมาจากตับอ่อนอักเสบเพราะก้อนนิ่วไปอุดตันอยู่ที่ส่วนปลายของท่อตับอ่อน

ใครไม่ควรผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี?

การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี อาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนเสมอไป ผู้ที่เข้าข่ายข้อดังต่อไปนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้หลีกเลี่ยงการผ่าตัด

  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ที่มีอาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
  • ผู้ที่มีอาการโรคทางหัวใจหรือปอดรุนแรง
  • ผู้ที่ไม่สามารถดมยาสลบได้
  • ผู้ที่มีอาการตับแข็งขั้นรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้าข่ายข้อดังกล่าวและมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับถุงน้ำดี ก็ไม่ควรคิดเองว่าตนเองไม่สามารถผ่าตัดรักษาได้หรือปล่อยปละละเลย แต่ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์เป็นผู้แนะนำแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

ในกรณีที่เป็นการผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉิน (Elective Case) การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำก็จะคล้ายกับการเตรียมตัวผ่าตัดทั่วไป คือ

  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ปราศจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดหรือยากลุ่ม Antiplatelet ต้องแจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพราะต้องหยุดยาอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันผ่าตัด
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 48 ชั่วโมง
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดที่มีโรคประจำตัวที่รับประทานยาเป็นประจำ ต้องแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบ เพื่อทางแพทย์จะได้วินิจฉัยว่าจะต้องทานยาหรืองดยานั้นๆ ก่อนการผ่าตัดหรือไม่
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดที่ใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่นหรือมีฟันผุฟันโยกควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาล
  • ถ้าทาเล็บ ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องล้างสีเล็บออกก่อนวันผ่าตัด เพราะสียาทาเล็บทำให้การวัดค่าออกซิเจนที่ปลายนิ้วคาดเคลื่อน
  • งดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารว่าง ป้องกันการอาเจียนหลังระงับความรู้สึก

ขั้นตอนการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

ขั้นตอนผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแบ่งตามวิธีการผ่าตัดดังนี้

ขั้นตอนการผ่าตัดแบบเปิดแผลหน้าท้อง

  1. วิสัญญีแพทย์จะให้ยาสลบและดูแลเรื่องการระงับปวด
  2. เมื่อยาสลบออกฤทธิ์ ศัลยแพทย์จะเริ่มผ่าตัดกล้ามเนื้อหน้าท้องบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา ประมาณ 10 ซม.
  3. ศัลยแพทย์ใช้เครื่องมือแพทย์เปิดแผลทางหน้าท้อง เข้าไปในช่องท้อง เลาะเอาถุงน้ำดีออกจากตับ
  4. ใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผล และตัดขั้วถุงน้ำดีแล้วเลาะส่วนที่เหลือให้หลุดออก
  5. ศัลยแพทย์นำถุงน้ำดีออกมา
  6. ศัลยแพทย์เย็บปิดแผล
  7. ในบางรายถ้ามีการอักเสบมาก อาจต้องมีการใส่ท่อระบายไว้ 2-3 วัน

ขั้นตอนการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้อง

  1. วิสัญญีแพทย์จะให้ยาสลบและดูแลเรื่องการระงับปวด
  2. เมื่อยาสลบออกฤทธิ์ ศัลยแพทย์เจาะรูเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง 4 แห่ง ด้วยเครื่องมือที่ออกแบบเฉพาะ ขนาดของรูประมาณ 0.5 ซม. 3 ตำแหน่ง และขนาด 1 ซม. ที่สะดือ 1 ตำแหน่ง
  3. ศัลยแพทย์ใส่กล้องที่มีก้านยาวและเครื่องมือผ่านรูที่ผนังหน้าท้องลงไป ศัลยแพทย์มองถุงน้ำดีและอวัยวะต่างๆ ผ่านจอโทรทัศน์ซึ่งกล้องส่งสัญญาณภาพมา
  4. ศัลยแพทย์เลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับ ใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผล และตัดขั้วถุงน้ำดีแล้วเลาะส่วนที่เหลือให้หลุดออก
  5. เมื่อตัดถุงน้ำดีได้แล้ว บรรจุใส่ถุงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะแล้วดึงออกจากร่างกายบริเวณรูสะดือ
  6. ศัลยแพทย์จะสำรวจความเรียบร้อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนดึงเครื่องมือและกล้องออกแล้วเย็บปิดแผล
  7. ในบางรายถ้ามีการอักเสบมาก อาจต้องมีการใส่ท่อระบายไว้ 2-3 วัน

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

หลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว เจ้าหน้าที่จะย้ายผู้รับบริการไปสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้นของโรงพยาบาลก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยพิจารณาจากอาการก่อนให้กลับไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน ซึ่งการดูแลตัวเองทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้านอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ดังต่อไปนี้

การดูแลตัวเองหลังย้ายไปห้องพักฟื้น

โดยปกติการพักฟื้นที่โรงพยาบาลจะมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำอยู่แล้ว ซึ่งคำแนะนำที่อาจพบ มีดังต่อไปนี้

  • ควรหายใจเข้าลึกๆ แล้วกั้นไว้ 5-10 ครั้ง ทุกๆ ชั่วโมง และไอให้เสมหะออกมา เพื่อป้องกันภาวะปอดอักเสบหลังผ่าตัด
  • ควรเคลื่อนไหว พลิกตะแคงตัว ลุกนั่ง และเดิน ตามลำดับ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ป้องกันท้องอืด และเพื่อป้องกันภาวะพังผืดที่ลำไส้
  • ควรลุกขึ้นเดิน 5-6 ครั้งต่อวันหลังผ่าตัด โดยใช้มือหรือหมอนพยุงบริเวณที่ทำการผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการปวดขณะเดิน
  • ใช้มือหรือหมอนประคองแผลเวลาไอจาม เพื่อลดการกระเทือนที่จะส่งผลให้ปวดแผล
  • สังเกตแผลผ่าตัด ถ้าพบเลือดซึมมาก แผลบวมแดง หรืออักเสบ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หากมีอาการเจ็บปวด ควรแจ้งแพทย์และพยาบาลทราบทันที เพื่อรับยาระงับปวด
  • ถ้าผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) จะมีแก๊สแทรกในช่องท้อง ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจรู้สึกเหมือนมีลมบางส่วนอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งดันกระบังลม ทำให้บางครั้งรู้สึกปวดที่ไหล่ แต่อาการจะหายได้เองใน 1-2 วัน โดยการเคลื่อนไหวและการเดินช่วยลดอาการปวดที่ไหล่ได้
  • ควรงดรับประทานอาหาร 4-6 ชั่วโมง หรือรับประทานอาหารเหลวได้ทันทีวันรุ่งขึ้น
  • ระมัดระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ

การดูแลตัวเองเมื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้าน

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และดื่มน้ำ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ไม่ควรเบ่งขณะขับถ่าย
  • หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมันจากเนื้อสัตว์ที่ทำให้ท้องอืด แน่นท้อง ย่อยยาก
  • แบ่งรับประทานอาหารเป็นวันละ 4-6 มื้อเล็กๆ และหลีกเลี่ยงอาหารมื้อดึก เพื่อช่วยให้ระบบการย่อยง่ายขึ้น ลดการเกิดอาหารท้องอืด
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม
  • ค่อยๆ เพิ่มกิจกรรม ลุกขึ้นและเดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่ขา
  • ห้ามยกของหนักเกิน 6 กิโลกรัม หรือหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก เป็นเวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์
  • รักษาบาดแผลให้สะอาดและปฏิบัติตามคำแนะนำของศัลยแพทย์ว่าควรเปลี่ยนผ้าพันแผลเมื่อใด
  • แผลอาจซึมเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติ หากแผลเปียกชุ่มให้ติดต่อศัลยแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าคับหรือหยาบ เพราะอาจเสียดสีบริเวณแผลและทำให้แผลหายยากขึ้น
  • งดการสูบบุหรี่

อาการหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

หลายคนกังวลว่าเมื่อผ่าตัดถุงน้ำดีออกไปแล้ว อาการหลังผ่าตัดจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ต้องกังวลเพราะผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้โดยไม่มีถุงน้ำดี เพราะตับจะสร้างน้ำดีอย่างเพียงพอที่จะย่อยอาหาร แต่แทนที่จะเก็บไว้ในถุงน้ำดี น้ำดีที่มาจากตับจะค่อยๆ ไหลเข้าสู่ลำไส้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งจะมีผลคล้ายยาระบาย

ปริมาณไขมันที่กินต่อมื้อจึงมีผลต่อการย่อย ถ้าปริมาณไขมันน้อยก็จะย่อยได้ง่ายกว่า ในขณะที่ปริมาณไขมันมากอาจย่อยได้ยากหรือย่อยได้ไม่หมด ทำให้เกิดแก๊ส ท้องอืด และท้องร่วง โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกๆ หลังการผ่าตัด จึงควรพยายามรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ และเมื่อระยะเวลาผ่านไป ร่างกายอาจมีการปรับตัว เช่น ท่อทางเดินน้ำดีมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น น้ำดีก็อาจจะมาค้างที่ท่อทางเดินน้ำดีมากขึ้น ก็จะทำให้ระบบการย่อยอาหารกลับมาเหมือนหรือคล้ายๆ กับปกติได้

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

หากปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รักษาความสะอาดเป็นอย่างดี โอกาสที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงก็จะลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีเองก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดประเภทอื่น โดยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ มีดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัดแบบเปิดแผลหน้าท้อง อาจเกิดภาวะเลือดออกขณะผ่าตัด หรือตกเลือดในช่องท้อง
  • เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะอื่นในช่องท้อง เช่น ท่อน้ำดีใหญ่ หรือลำไส้
  • ผ่าตัดถูกท่อน้ำดีใหญ่ ทำให้น้ำดีรั่ว ช่องท้องอักเสบ ท่อน้ำดีใหญ่อุดตันมีอาการดีซ่าน
  • ในการผ่าตัดแบบส่องกล้อง อาจเจาะถูกอวัยวะข้างเคียง โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน ทำให้ตำแหน่งของอวัยวะมองไม่ชัดเจนจากภายนอก
  • อาจเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดได้เหมือนการผ่าตัดทั่วไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะอักเสบและความรุนแรงของโรค โรคประจำตัว ยาที่รับประทาน และสุขภาพผู้ป่วย
  • ภาวะแทรกซ้อนจากยาสลบ เช่น อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ระคายเคือง หรือเจ็บในคอจากการใส่ท่อช่วยหายใจ
  • ภาวะปอดบวม เนื่องจากผู้ป่วยหายใจไม่เต็มที่หรือไม่สามารถไอเอาเสมหะออกจากทางเดินหายใจได้
  • ภาวะเส้นเลือดดำที่ขาเกิดอุดตัน เพราะไม่มีการลุกเดิน
  • อาจเกิดน้ำดีซึมออกจากท่อทางเดินน้ำดีขนาดเล็กที่ผิวของตับ
  • อาจเกิดภาวะไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด ที่เกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัด
  • ภาวะอักเสบในช่องท้อง หรือการอักเสบเป็นฝีในตับ

อาการผิดปกติหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีที่ควรปรึกษาแพทย์ทันที

หากมีอาการดังต่อไปนี้หลังจากผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือความผิดปกติอื่นๆ ได้

  • ปวดท้องรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
  • คลื่นไส้หรืออาเจียนรุนแรง
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ไม่ถ่ายอุจจาระหลังผายลมนานเกิน 3 วันหลังการผ่าตัด
  • อาการท้องร่วงที่กินเวลานานกว่า 3 วันหลังการผ่าตัด
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส

ไม่ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีได้ไหม?

เมื่อตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี ในบางกรณีแพทย์อาจไม่วินิจฉัยให้ผ่าตัด เช่น ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงหรืออายุยังน้อย แต่ตรวจพบนิ่วถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการ หรืออาการของโรคที่ไม่รบกวนการใช้ชีวิตมากและไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องผ่าตัด

โดยแพทย์จะนัดติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ แต่หากเป็นผู้ที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด เช่น มีอาการปวดจุก แน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้องรุนแรง ตัวและตามีสีเหลือง มีไข้ แพทย์อาจวินิจฉัยให้ผ่าตัดเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น

นิ่วในถุงน้ำดี หากปล่อยไว้นานอาจสร้างความเจ็บปวดให้แก่ร่างกายได้ จึงต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพ และตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเป็นประจำ จะช่วยให้ตรวจเจอความผิดปกติของร่างกายได้ก่อนแสดงอาการ ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

Scroll to Top