ปวดหลังช่วงเอว เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่นขึ้นไปจนถึงในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าผู้มีอาการปวดเอวจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ มีการประมาณการจากหลายสถาบันและองค์กรว่า อาการปวดเอวเป็นอาการที่กระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์มาก และยังจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษาสูงติดอันดับ 1 ใน 3 ของค่ารักษาเฉลี่ยตลอดหลายปีที่ผ่านมา
การทำความเข้าใจถึงสาเหตุ ประเภท และการบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างเบื้องต้นด้วยตนเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของอาการปวดเอวได้ ทั้งปวดเอวข้างขวา ปวดเอวด้านหลังซ้าย ปวดหลังช่วงเอว ผู้หญิง ปวดเอวผู้ชาย
สารบัญ
อาการปวดหลังช่วงเอว
ปวดหลังช่วงเอว (Low back pain หรือ Lower back pain) หรือ ปวดหลังส่วนล่าง คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine) กล้ามเนื้อที่ยึดเกาะกับกระดูกสันหลังส่วนเอวทั้งสองข้าง (Spinal muscles) สะโพก (Gluteal area) ไปจนถึงขอบล่างของแก้มก้น (Gluteal fold)
กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่มีการทำงานหนักตลอดเวลา ทั้งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวขณะเดิน ทำกิจกรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งตอนที่นั่งทรงตัวอยู่กับที่ กล้ามเนื้อในบริเวณนี้ก็ยังคงทำงาน
นอกจากนี้ บริเวณหลังส่วนล่างยังมีกระดูกที่ไม่สามารถจำแนกรูปร่างได้ ทำให้เกิดข้อต่อจำนวนมาก เมื่อมีการใช้งานที่มากเกินไปจนกล้ามเนื้อบาดเจ็บหรือข้อต่อเกิดการเสียดสีกันมาก จึงสนับสนุนให้เกิดอาการปวดเอวได้ง่าย
ปวดหลังช่วงเอว ข้างซ้าย ข้างขวา
ร่างกายคนเราสามารถแบ่งออกเป็นสองด้านที่สมมาตรกันได้ คือ ซีกซ้ายกับซีกขวา ทั้งอวัยวะที่สังเกตเห็นจากภายนอก รวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่อยู่ภายในก็เช่นกัน
เมื่อมีความความผิดปกติเกิดขึ้น อาจเกิดกับกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทเพียงด้านเดียวได้ ปรากฎเป็นอาการปวดเอวด้านซ้าย หรือปวดเอวด้านขวา ปวดหลังช่วงเอวพบได้บ่อยทั้งผู้หญิง ผู้ชาย โดยเฉพาะผู้มีอายุ
อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาต่อมา อาการปวดเอวมักจะมีแนวโน้มลุกลามไปที่อีกข้างด้วย เพราะอวัยวะของร่างกายทั้งสองข้างทำงานประสานกันอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อกล้ามเนื้อเอวด้านซ้ายถูกใช้งานมากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บ จะทำให้มีอาการปวดหลังเกิดขึ้น หลังจากนั้นเพื่อให้ร่างกายยังคงทำกิจวัตรได้ตามเดิม กล้ามเนื้อหลังด้านขวาก็จะทำงานแทนกล้ามเนื้อหลังด้านซ้ายบางส่วน ส่งผลให้กล้ามเนื้อด้านขวาทำงานมากกว่าปกติ และเกิดการบาดเจ็บตามมา กลายเป็นปวดเอวทั้งสองข้างในที่สุด
ปวดหลังช่วงเอว นอนหงาย หรือนั่งทำงาน
อาการปวดเอวหรือปวดหลังส่วนล่างที่เกิดขึ้นขณะทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ในทางการภาพบำบัดเรียกว่า การปวดหลังเชิงกล (Mechanical back pain) เป็นอาการปวดหลังส่วนล่างประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งอาการปวดหลังแบบเชิงกลนี้ยังเป็นข้อบ่งชี้สำคัญด้วยว่า สามารถรักษาได้ด้วยวิธีกายภาพบำบัด
ถ้าปวดเฉพาะเวลาทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ปวดเอวขณะเดินหรือวิ่งเท่านั้น หมายความว่า ขณะทำกิจกรรมนั้น กล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือข้อต่อ กำลังถูกใช้งานในทิศทางที่ไม่เหมาะสม เมื่อหยุดทำกิจกรรม เปลี่ยนท่าทาง หรือได้พัก อาการผิดปกติมักจะหายไปหรือบรรเทาลง
โดยทั่วไป ท่าทางที่มักจะบรรเทาอาการปวดเอวได้มักจะเป็นท่านอน แต่หากขณะนอนพักแล้วยังมีอาการปวดมากไม่เปลี่ยนแปลง อาจจะเป็นสัญญาณของอาการปวดชนิดอื่นที่รุนแรงไม่ใช่การปวดเชิงกล
ปวดเอวร่วมกับมีอาการปวดร้าวลงขา
หลังส่วนล่างเป็นบริเวณที่เส้นประสาทที่แตกแขนงออกมาจากไขสันหลัง ลอดผ่านช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังออกไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทั้งบริเวณหลังส่วนล่าง สะโพก และขาทั้งสองข้าง นอกจากนี้เส้นประสาทที่เดินทางไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขาจำเป็นต้องลอดกล้ามเนื้อ หรือพาดผ่านข้อต่อต่างๆ มากมาย ซึ่งหากทางเดินของเส้นประสาทเหล่านี้มีปัญหา ก็จะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของเส้นประสาทได้
เมื่อเส้นประสาทไขสันหลังมีการทำงานที่ผิดปกติ หรือถูกรบกวนการทำงาน อาจมีอาการแสดงดังนี้
- มีอาการปวดร้าวลงไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง
- มีอาการทั้งอาการเหมือนเป็นเหน็บ หรืออาการชาแบบผิวหนังหนาๆ หลังฉีดยาชาเวลาไปพบทันตแพทย์
- กล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง สะโพก ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างอ่อนแรงลง ในผู้ป่วยบางราย หากกล้ามเนื้อลำตัวหรือขาอ่อนแรงมาก จะทำให้มีปัญหาหารทรงตัว เดินเซ และอาจจะสังเกตเห็นการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงได้
อาจจะพบเพียงอาการใดอาการหนึ่งหรือหลายอาการร่วมกันก็ได้ นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นแล้ว หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง หรือกระดูกสันหลังเสื่อมก็สามารถเป็นสาเหตุให้เส้นประสาทไขสันหลังมีการทำงานที่ผิดปกติ หรือถูกรบกวนการทำงาน ซึ่งทำให้รู้สึกปวดเอวร่วมกับปวดร้าวลงขาได้เช่นกัน
วิธีบรรเทาอาการ เมื่อมีอาการปวดเอว
อาการปวดเอวส่วนใหญ่เป็นอาการปวดแบบเชิงกล คือ ปวดเมื่อทำกิจกรรมใดกรรมหนึ่ง เมื่อมีอาการเกิดขึ้นจึงควรหยุดทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด (Pain aggravating factors) ทันที แล้วให้พักด้วยการอยู่ในท่าทางที่ทำให้อาการปวดลดลง (Pain easing factors)
ผู้ปวดเอวแต่ละคนจะมีท่าทางเฉพาะที่ทำแล้วช่วยบรรเทาอาการลงได้ โดยมากมักจะเป็นท่าทางสบายๆ เช่น การนอนหงาย การนอนตะแคงทับด้านตรงข้ามที่ไม่มีอาการปวด
นอกจากนี้ อาการปวดเอวสามารถลดลงได้ด้วยการใช้อุณหภูมิทั้งร้อนหรือเย็นในการประคบ หากอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มีสาเหตุชัดเจน เช่น หลังบิดเอี้ยวตัวเร็วๆ หรือการยกของหนักๆ แนะนำให้ใช้การประคบเย็นก่อนเพื่อลดกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ
หากมีอาการปวดเอวแบบค่อยๆ เป็น เป็นๆ หายๆ มาสักระยะหนึ่งแล้ว การประคบร้อนจะเหมาะสมกว่า เพราะจะช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ทำให้ความปวดลงได้ เพราะสารที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดถูกพัดพากลับเข้าสู่กระแสเลือด
วิธีป้องกันแก้ไขการยกของหนักแล้วปวดเอว
หนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุดของอาการปวดหลังส่วนล่าง คือ การยกของหนัก โดยเฉพาะการก้มลงไปยกของที่วางกับพื้น เนื่องจากการยกของหนักนั้นต้องอาศัยการก้มและเอี้ยวตัวร่วมด้วย ซึ่งเป็นท่าที่ง่ายต่อการบาดเจ็บ นอกจากนี้ยิ่งของที่ยกมีน้ำหนักมาก ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของอาการปวดเอวหรือปวดหลังส่วนล่างมากขึ้น
อาการปวดเอวหรือหลังส่วนล่างจากการยกของหนักอาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อบาดเจ็บ หมอนรองกระดูกบาดเจ็บ เอ็นยึดกระดูกฉีก การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยการพักการใช้งานหลัง และการประคบด้วยความเย็นตามที่ได้อธิบายไว้แล้วด้านบน
วิธีการป้องกันอาการปวดเอวหรือปวดหลังจากการยกของ สามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการยกของที่มีน้ำหนักมากเกิน 5 กิโลกรัม ถ้าจำเป็นต้องยกของหนักอาจใช้เครื่องทุ่นแรงที่เหมาะสม นอกจากนี้การเรียนรู้ท่าทางที่เหมาะสมในการยกของที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องยกของหนักบ่อยๆ
อาการปวดหลัง ปวดเอว ที่ควรพบแพทย์
ในทางกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดมักจะประเมินความรุนแรงของอาการด้วยอาการและอาการแสดงของโรคร้ายแรง (Red flag sign and symptoms) ซึ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มของความเจ็บป่วยที่รุนแรง อาจจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทันที
อาการอันตรายของผู้ป่วยที่มีอาการปวดเอวหรือปวดหลังส่วนล่าง ได้แก่
- ปวดเอวหรือหลังส่วนล่างแบบรุนแรงมาก และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าให้เป็นคะแนนโดย 0 คะแนน คือไม่มีอาการปวดเลย และ 10 คะแนนคือปวดมากจนทนไม่ได้ หากผู้ป่วยรายงานว่าปวดมากกว่า 7 คะแนนขึ้นไป อาจจะเป็นข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติที่รุนแรง
- ปวดเอวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร
- ปวดเอวแม้กระทั่งเวลากลางคืน จนไม่สามารถนอนหลับได้
- กล้ามเนื้อขาอ่อนแรงแบบฉับพลัน
- ไม่สามารถควบคุมการทำงานของระบบปัสสาวะ หรืออุจาระได้
นอกจากนี้ หากผู้มีอาการปวดเอว ปวดหลังช่วงเอว หรือหลังส่วนล่างเคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง มีน้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรเดินทางไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อรับคำแนะนำและได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที
คำถามเรื่องปวดหลังช่วงเอว ปวดเอว
ปวดหลังช่วงเอว ผู้หญิง
ปวดช่วงบริเวณเอวด้านหลัง ข้างขวา มาเป็นเดือนแล้วค่ะ จะเจ็บแปล๊บ เวลาบิดตัว ขยับตัว เวลานอนต้องนอนหงายอย่างเดียวเลยคะ นอนตะแคงไม่ได้เลย บางทีเจ็บด้านซ้าย บางทีเจ็บด้านขวา ไปหาหมอบอกว่ากล้ามเนื้ออักเสบ กินยาแต่มันก็ไม่หายปวดสักที มีคนแนะนำให้ไปทำกายภาพบำบัด ก่อนหน้านี้ยกของหนักมาค่ะ ทำงานหนักพักผ่อนน้อย ตอนนี้ก็เป็นกรดไหลย้อนร่วมด้วย เวลาเรอ หาว หายใจไม่เต็มปอด มันก็เกร็งกล้ามเนื้อ มันก็เจ็บด้วยคะ ?
ปวดบั้นเอวด้านหลังเป็นได้จากหลายสาเหตุครับ อาจจะเกี่ยวกับ ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต/ท่อไต อาจจะมีอาการปวดหลังด้านนั้นเรื้อรัง ปัสสาวะแดง/เป็นก้อนกรวด, กรวยไตอักเสบติดเชื้อ อาจมีไข้หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่นหรือแสบขัด ปวดบั้นเอวร่วมด้วย เป็นต้น หรือจะเป็นเกี่ยวกับระบบกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ แต่ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับท่าทางครับ
เบื้องต้นแนะนำ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เอี้ยวตัวแรงๆ ดื่มน้ำมากๆ ไม่กลั้นปัสสาวะครับ
ดีที่สุดอยากให้ไปพบแพทย์เพื่อซักประวัติตรวจร่างกายอย่างละเอียด จะได้วินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องครับ
ตอบโดย นพ. ชินไตร ถาวรลัญฉ์
ถ้ามีประวัติใช้งานกล้ามเนื้อมาก เช่น เดินเยอะวิ่งเยอะ ปวดไม่มาก เเละไม่ได้เเพ้ยา เเนะนำยาบรรเทาอาการเบื้องต้น เช่น Paracetamol, ยาลดอักเสบกลุ่มNSAIDs (เช่น Diclofenac, Ibuprofen, Naproxen, Etoricoxib, Celecoxib), ยาคลายกล้ามเนื้อ (เช่น Tolperisone, Orphrenadrine) ปรึกษาเภสัชกรได้ครับ
ถ้ามีอาการเเพ้ เช่น ผื่นขึ้น ปากลอก หอบ ให้หยุดใช้เเล้วพบเเพทย์ครับ
ส่วนถ้ามีประวัติกระเเทกรุนเเรง ยกของหนักเเล้วปวด อาการปวด ปวดก้นกบเเล้วเเปล๊บไฟช็อตร้าวลงขา กรณีนี้เเนะนำพบเเพทย์ เเผนกกระดูกเเละข้อ หรือเวชศาสตร์ฟื้นฟูครับ ต้องระวังพวกหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นต้นครับ
ตอบโดย นพ. วชิรวิทย์ สุทธิศักดิ์
ปวดบั้นเอวด้านขวา แล้วก็มีประจำเดือนมาวันแรกเป็นสีน้ำตาล พอตอนกลางคืนเป็นสีน้ำตาลเข้มผสมสีแดงค่ะ ?
ทางการแพทย์ปัจจุบันเชื่อว่า อาการปวดประจำเดือนเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนซึ่งโดยทั่วไปมักจะ สัมพันธ์กับรอบเดือน ปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อย ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ปกติ และช่วงวันแรกอาจจะออกมาเป็นสีน้ำตาลหรือแดงก่ำ ๆ ได้ค่ะ แต่ยังมี อาการปวดประจำเดือนที่ผิดปกติโดยมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของ อุ้งเชิงกรานหรือพูดง่ายๆ ว่าปวดประจำเดือนจากการมีโรคซ่อนอยู่ ภายในนั่นเองค่ะ ซึ่งอาการปวดที่ผิดปกติ เช่น
- มีอาการปวดประจำเดือนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกรอบเดือน
- มีอาการปวดประจำเดือนมากจนไม่สามารถทำงานได้ตาม ปกติ ถึงแม้จะรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ตาม
- อาการปวดประจำเดือนยังมีอยู่ถึงแม้ประจำเดือนในรอบนั้น ๆ จะหมดไปแล้ว
- มีอาการปวดประจำเดือนมากร่วมกับมีเลือดออกกะปริบกระปอย หรือมีประจำเดือนมากกว่าปกติ
- ปวดประจำเดือนร่วมกับมีไข้สูง มีตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น ปริมาณมาก หรือปวดท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งมากเป็นพิเศษ
- ปวดประจำเดือนร่วมกับคลำได้ก้อนที่ท้อง หรือหน้าท้องโต ขึ้นแบบผิดปกติ
เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
- การเจริญผิดที่ของเยื่อบุโพรงมดลูก หากไปอยู่ที่ใดก็จะทำให้มีอาการปวดได้เนื่องจาก ตัวเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ภายใต้อิทธิพลของข-ฮอร์โมน เมื่อมีรอบเดือนจึงทำให้บริเวณนั้นมีอาการปวดไปด้วยค่ะ เช่น บริเวณอุ้งเชิงกราน บริเวณรังไข่ที่เราเรียกกันว่า ช็อกโกแลตซิสต์นั่นเองค่ะ เจ้าตัวนี้เป็นตัวการที่ ทำให้เราปวดประจำเดือนมากแบบผิดปกติ และยังมีผลต่อการมีบุตรยากในอนาคตด้วย
- เนื้องอกในโพรงมดลูก
- เนื้องอกในรังไข่
ให้ลองสังเกตอาการดูว่ามีความผิดปกติอย่างที่หมอบอกไปข้างต้นหรือไม่ ถ้ามีแนะนำว่าควรไปพบแพทย์ค่ะ
ตอบโดย พญ. วิภา สุวรรณชีวะศิริ
ปวดหลังบริเวณเอวช่วงล่าง
ผมปวดหลังตรงบริเวณเอว ปวดมานานแล้วนั้งนานก็ปวดยืนนานก็ปวด ผมเป็นโรคอะไรครับ ?
ปวดหลังช่วงล่าง อาจเกิดจาก กล้ามเนื้อ เอ็น กระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และเส้นประสาท เกิดการบาดเจ็บ/ผิดปกติค่ะ/เสื่อมสภาพ ควรไปพบแพทย์ทำการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาแต่เนิ่นๆนะคะ
ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
ปวดหลังด้านขวาช่วงบน
ปวดหลังด้านขวาช่วงบนเอวเหมือนมีเข็มทิ่มอยู่ที่หลังตลอดเป็นๆหายๆเกิดจากอะไรคะเป็นมาเป็นเดือนแล้ว ?
อาการปวดหลังเหมือนมีเข็มทิ่มที่หลังที่เป็นมาเป็นเดือนแล้วอาจเกิดจากการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อหรือจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกที่ไปกดทับเส้นประสาทได้ครับ ซึ่งในกรณีนี้ก็ควรได้รับการตรวจร่างกายและเอ็กซเรย์เพื่อประเมินอาการเพิ่มเติมก่อน
ในกรณีนี้หมอแนะนำว่าควรไปพบแพทย์ศัลยกรรมกระดูกเพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อนเพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ
ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์
ปวดหลังแปล๊บๆ
อาการปวดหลังช่วงเอวขึ้นมาแปล๊บๆเป็นครั้งคราว เกิดจากสาเหตุอะไรคะ ?
อาจบ่งถึงอาการปวดเหตุประสาท ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบรับความรู้สึก (ระบบประสาทส่วนกลาง+ระบบประสาทส่วนปลาย)
การปวดเหตุประสาทมีลักษณะเด่น คือ การปวดเป็นๆ หายๆ เพียงระยะเวลาสั้นๆ เป็นเสี้ยววินาที หรือเป็นตลอดเวลาก็ได้ โดยอาการปวดมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ปวดจี๊ด ปวดแสบ ปวดแปล๊บ ปวดเสียว เจ็บเหมือนเข็มแทง รู้สึกเหมือนมีแมลงไต่ ออกร้อนเหมือนถูกพริกทา เหมือนไฟเผา รู้สึกหนาวเย็นเหมือนจับน้ำแข็ง เมื่อรู้สึกผิดปกติควรไปพบแพทย์เข้ารับการรักษาค่ะ
ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
ปวดเอวสองข้าง
มีอาการปวดช่วงเอวทั้ง 2 ข้าง ปวดหลังช่วงเอว มีไข้ มักเมื่อยหลัง อาการของโรคเกี่ยวกับไตหรือเปล่าคะ ?
มีไข้+ปวดช่วงเอว อาจเกิดจากการติดเชื้อที่กรวยไต ทำให้กรวยไตเกิดการอักเสบเฉียบพลัน อาการเด่นได้แก่
- มีไข้สูง ร่วมกับอาการหนาวสั่นอย่างมาก ต้องห่มผ้าหนาๆ คล้ายอาการของไข้มาลาเรีย แต่จะจับไข้ไม่เป็นเวลาแน่นอน และมีอาการหนาวสั่นได้วันละหลายครั้ง
- มีอาการปวดบริเวณบั้นเอวหรือสีข้าง เมื่อใช้กำปั้นทุบเบาๆ ตรงบริเวณที่ปวดจะมีความรู้สึกเจ็บจนสะดุ้งโหยง
- ปัสสาวะขุ่นขาว บางครั้งอาจข้นเป็นหนอง
- มีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย แต่จะไม่เป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอ
หากไม่มีอาการไข้สูง และปวดเอวปวดหลัง ถ้าพบว่ามีอาการหนาวสั่นอย่างมากจนต้องห่มผ้าหนาๆ ปัสสาวะขุ่นขาวหรือใช้กำปั้นทุบเบาๆ ที่เอวแล้วรู้สึกเจ็บ ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงค่ะ
ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
คำถามเพิ่มเติม
เขียนบทความโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล