อันตรายของสารหนู

อันตรายของสารหนู

สารหนู (Arsenic) คือ สารที่เป็นธาตุกึ่งโลหะชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย สามารถพบได้หลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบโลหะ (Metallic arsenic) รูปแบบสารประกอบอนินทรีย์ (Inorganic arsenic) และรูปแบบสารประกอบอินทรีย์ (Organic arsenic) นอกจากนี้สารหนูยังมักพบได้ในแร่หลายชนิด เช่น ทองแดง นิเกิล เหล็ก โคบอลท์

มีคำถามเกี่ยวกับ สารหนู? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

สารหนูเกิดจากอะไร?

สารหนูเกิดได้จากทั้งธรรมชาติ หรือจากการผลิตของมนุษย์เพื่อนำไปใช้ในการทำอุตสาหกรรมบางชนิด

1. สารหนูที่เกิดจากธรรมชาติ

สารหนูเกิดขึ้นได้จากการชะล้าง หรือการสึกกร่อนของตะกอนหิน ดิน แร่ ก๊าซจากภูมิเขาไฟ และซึมลงสู่ชั้นใต้ดิน หรือแหล่งน้ำใต้ดิน เช่น น้ำบ่อ น้ำบาดาล น้ำพุ ทะเลสาบ แม่น้ำ

2. สารหนูที่เกิดจากการผลิตของมนุษย์

มีการผลิตสารหนูขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมมากมายหลายชนิด

สารประกอบสำหรับสารหนูคือ สารอาร์เซนิก ไตรออไซด์ (arsenic trioxide) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการถลุงแร่ทองแดง และตะกั่วจนได้สารหนูในรูปของควัน จากนั้นนำไปจับด้วยความเย็นจนเปลี่ยนมาอยู่ในรูปของผงสีขาว

อุตสาหกรรมที่นิยมนำสารหนูมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตได้แก่

  • อุตสาหกรรมสารกำจัดแมลง ยากำจัดศัตรูพืช และสารกำจัดวัชพืช
  • อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ปีก โดยใช้สารหนูผสมกับอาหารเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์
  • อุตสาหกรรมฟอกหนังสัตว์
  • อุตสาหกรรมเหมืองแร่
  • อุตสาหกรรมผลิตกระจกเงา
  • อุตสาหกรรมเชื่อมโลหะ
  • อุตสาหกรรมเผาถ่านหิน
  • อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์ เช่น โซลาร์แบตเตอรี (Solar Battery)

นอกจากนี้ยังมีการนำสารหนูไปใช้ในยารักษาทางการแพทย์ได้หลายชนิด โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว เช่น เชื้อทริพาโนโซมา (Trypanosoma) รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ทางด้านการทหาร สารหนูยังถูกนำไปใช้ผลิตสารพิษเพื่อทำเป็นอาวุธสงคราม หรือก่อจลาจลด้วย

แหล่งที่สามารถพบสารหนูได้ง่าย

1. ตามแหล่งธรรมชาติ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สารหนูเกิดได้จากตะกอนดิน หิน แร่ และปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หากคุณไปในสถานที่ทางธรรมชาติ อย่าวางใจดื่มน้ำจากแหล่งธรรมชาติในทันที เพราะอาจมีการปนเปื้อนสารหนูอยู่ก็เป็นได้

2. ตามโรงงานอุตสาหกรรม

จากรายชื่ออุตสาหกรรมที่มักใช้สารหนูเป็นส่วนประกอบด้านบน โรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็อาจมีการปล่อยสาร  หรือปล่อยน้ำทิ้งซึ่งปนเปื้อนสารหนูอยู่ออกมา

นอกจากนี้มวลอากาศรอบๆ โรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวอาจจะปนเปื้อนสารหนูด้วย ทางที่ดีจึงควรอยู่ให้ห่างจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้

ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมด้านบนก็ต้องมีมาตรการระมัดระวังตนเองให้มาก ควรสวมชุดและหน้ากากป้องกัน รวมทั้งดูแลสุขอนามัยของตนเองให้ดี เพื่อไม่ให้สารพิษชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายได้

3. จากไร่ผลไม้ หรือที่เก็บปุ๋ย น้ำยากำจัดศัตรูพืช

สารหนูเป็นที่นิยมอย่างมากในการใช้ผสมเป็นสารกำจัดแมลง หรือน้ำยากำจัดศัตรูพืช คุณต้องระมัดระวังไม่ให้ร่างกายปนเปื้อนสาร ปุ๋ย น้ำยา หรือดินในไร่ หรือสวนผลไม้ที่ใช้สารเหล่านี้ในการดูแลปลูกพืช

มีคำถามเกี่ยวกับ สารหนู? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

4. ในอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด

มีอาหารบางชนิดที่คุณต้องระมัดระวังเกี่ยวกับปริมาณสารหนูที่อาจปนเปื้อนอยู่ เช่น

  • อาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง ปลาหมึก สาหร่ายทะเล
  • สัตว์ปีก
  • สุกร รวมถึงอาหารแปรรูปจากสุกร เช่น ไส้กรอก
  • ไวน์
  • น้ำแร่
  • บุหรี่
  • ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคผิวหนัง ยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

การแพร่กระจายของสารหนูสู่ร่างกาย

สารหนูสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง ได้แก่ ผ่านการหายใจ ผ่านการดูดซึมทางผิวหนัง และผ่านการรับประทาน หรือดื่ม

ส่วนบริเวณอวัยวะภายในที่สารหนูจะเข้าไปตกค้าง ได้แก่ ช่องจมูก คอหอย กล่องเสียง หลอดลม เนื้อเยื่อ จากนั้นก็จะเข้าไปแพร่กระจายอยู่ในกระแสเลือด ลุกลามไปที่ตับ ม้าม ปอด ไต

เมื่อร่างกายรับสารหนูเข้าไป พิษของมันจะทำให้เกิดอาการแสดงทางระบบต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันรุนแรงจากการรับสารหนูในปริมาณมากเพียงครั้งเดียว หรืออาจเกิดขึ้นจากการรับสารหนูทีละน้อยแต่ต่อเนื่อง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อสารหนูเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่

  • สารหนูเข้าสู่ระบบผิวหนัง จะเกิดอาการแสบร้อนในปาก ลิ้น และลำคอ ผมร่วง เกิดผื่นขึ้นตามตัวซึ่งมีอยู่หลายแบบ เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นแพ้ยา (Fixed drug eruption) เกิดตุ่มแข็งใส ผิวหนังด้านแข็ง สีเข้มขึ้น หรืออาจหลุดลอก โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า นอกจากนี้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสสารหนูยังอาจเกิดเป็นจุดขาวกระจายออก และกลายเป็นหูดในภายหลัง อีกทั้งสารหนูยังสามารถก่อให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบบริเวณซอกมุมอย่าง รักแร้ หนังตา มุมปาก ซอกหู และอาจลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็งผิวหนังต่อไป
  • สารหนูเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จะเกิดอาการหายใจลำบาก ลมหายใจเหม็นมีกลิ่นคล้ายกระเทียม คัดจมูก หลอดลมอักเสบ และอาจกลายเป็นโรคมะเร็งปอดได้
  • สารหนูเข้าสู่ระบบการมองเห็น จะเกิดอาการระคายเคืองตา กลายเป็นโรคตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) โรคเกี่ยวกับกระจกตา
  • สารหนูเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ท้องร่วง
  • สารหนูเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะ จะทำให้เกิดอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะมีเลือดปน มีไข่ขาวในปัสสาวะ
  • สารหนูเข้าสู่ระบบประสาท ทำให้เกิดอาการมึนงง สับสน เวียนศีรษะ ความจำเสื่อม เบื่ออาหาร เหน็บชา ปลายประสาทอักเสบ

ผลกระทบระยะยาวจากการรับสารหนู

  • โรคมะเร็งปอด
  • โรคมะเร็งผิวหนัง
  • โรคมะเร็งที่ไต หรือโรคร้ายเกี่ยวกับไต
  • โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะโลหิตจาง
  • ระบบย่อยอาหารไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาท และอาการรับรู้ เช่น สูญเสียการได้ยิน โรคสมองเสื่อม
  • เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

นอกจากนี้สารหนูยังสามารถเป็นตัวเร่งให้อาการโรคประจำตัวที่เป็นอยู่แล้วให้ร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือด ผู้ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิต หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับสารหนูก็จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างมากจนถึงขั้นทำให้แท้งได้ หรือเด็กอาจคลอดก่อนกำหนด และมีโรคแทรกซ้อนแต่กำเนิด

แนวทางการรักษาเมื่อรับสารหนูเข้าร่างกาย

หากพบผู้ได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกาย ควรทำการปฐมพยาบาลดังนี้

1. กรณีเกิดอาการแบบเฉียบพลัน

เมื่อผู้ป่วยได้รับสารหนูแล้วมีอาการแบบเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยผู้ที่เข้าไปปฐมพยาบาลผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน ในกรณีที่มีผู้ป่วยรับสารหนูประเภทของเหลว หรือก๊าซเข้าไป

ผู้ปฐมพยาบาลจะต้องใส่ถุงมือ ชุดป้องกันเคมี หน้ากากป้องกันเคมีเพื่อไม่ให้ตนเองรับสารหนูเข้าไปด้วย และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ให้ผู้ป่วยถอดเสื้อผ้า อุปกรณ์ติดตัวที่อาจปนเปื้อนสารหนูออกทั้งหมด
  • ให้ยาแก้พิษ (antidote) แก่ผู้ป่วย ซึ่งยาต้านพิษสารหนูที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Unithiol, Dimercaprol, Succimer
  • ยาเหล่านี้ควรใช้ในผู้ที่มีอาการแสดงรุนแรงมากๆ และเคยมีประวัติรับสารหนูมาแล้ว แต่หากไม่ใช่ ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน
  • ให้สารเกลือแร่แก่ผู้ป่วย เพื่อทดแทนสารน้ำ สารละลาย Electrolyte สารไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon) ในร่างกาย
  • เก็บตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยอาการ และตรวจระดับสารหนูในร่างกาย โดยอาจทำก่อน หรือหลังให้ยาแก้พิษ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย
  • อาจต้องล้างท้องผู้ป่วยภายใน 4-6 ชั่วโมง

นอกจากการปฐมพยาบาลด้านบน แพทย์จะให้ผู้ป่วยมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ด้วย เพื่อวินิจฉัยความรุนแรงของอาการ เช่น ตรวจภาพรังสีทรวงอก และหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจการทำงานของตับ ตรวจระดับเม็ดเลือด

2. กรณีเกิดอาการแบบระยะยาว

อาการระยะยาวของผู้ป่วยที่ได้รับสารหนูจะต้องรักษาไปตามอาการที่เป็น แต่ไม่มีวิธีที่ทำให้อาการหายขาดได้อย่างแน่นอน เพราะอาการระยะยาวจากการรับสารหนูมักจะเป็นโรคร้ายแรงตามที่กล่าวไปข้างต้น

วิธีรักษาอาการแบบระยะยาวที่ดีที่สุดคือ ให้ผู้ป่วยอยู่ให้ห่างจากแหล่งที่เต็มไปด้วยสารหนู และหมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ รวมถึงโรคที่เป็นอยู่

วิธีป้องกันสารหนูให้ห่างไกลจากร่างกาย

คุณสามารถป้องกันไม่ให้ตนเองและสมาชิกในครอบครัวเผลอรับสารอันหนูเข้าร่างกายได้ ผ่านคำแนะนำต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำที่สะอาด ผ่านการกรอง และฆ่าเชื้อโรคมาแล้ว
  • ไม่ควรดื่มน้ำจากแหล่งธรรมชาติโดยตรง
  • ตรวจสอบฉลากอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มักมีสารหนูเจือปนอยู่ก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง
  • หากใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ลบรอยเปื้อน หรือยาปราบวัชพืชที่ใช้มีสารหนูเป็นส่วนผสมอยู่ควรหลีกเลี่ยง เปลี่ยนยี่ห้อ หรือใช้ในพื้นที่ สิ่งของที่เสี่ยงถูกจับต้องน้อยที่สุด และเก็บให้พ้นมือเด็ก
  • ไม่ควรอยู่อาศัยใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้สารหนูเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทำให้ร่างกายของคุณปนเปื้อน หรือรับสารหนูเข้าไปทีละนิดจนเกิดการสะสม

สารหนูเป็นสารที่มีอันตรายต่อร่างกายรุนแรงมาก สามารถเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคร้ายแรงที่อาจรักษาไม่หายได้ คุณต้องระมัดระวังอยู่ให้ห่างจากสารอันตรายชนิดนี้

นอกจากนี้การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการสารหนู และให้คนในครอบครัวรับรู้ถึงอันตรายจากสารหนูก็จะช่วยให้คุณ และคนที่คุณรักอยู่ห่างไกลอันตรายจากสารชนิดนี้ได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

มีคำถามเกี่ยวกับ สารหนู? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ