ฟันผุ ปวดฟัน ปัญหาพื้นฐานของเด็กๆ แม้จะดูเป็นปัญหาธรรมดา แต่กลับสร้างความหนักใจให้ผู้ปกครองไม่น้อย เพราะหลายคนอาจกังวลว่าหากไปพบทันตแพทย์แล้วเด็กกลัวการทำฟัน หรือถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาจะทำอย่างไร
ไม่แน่ใจว่า ต้องพาเด็กไปพบทันตแพทย์เด็กเฉพาะทางหรือไม่ หรือไม่ทราบว่า ควรต้องพาเด็กไปพบทันตแพทย์เมื่อไร และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาเท่าไร สารพัดความกังวลของผู้ปกครอง HD มีคำตอบ
สารบัญ
- ทำฟันเด็ก จำเป็นต้องพบทันตแพทย์เด็กหรือไม่ ทำอย่างไรไม่ให้เด็กกลัวการทำฟัน?
- ควรพาลูกไปทำฟันเด็ก พบทันตแพทย์เด็กเมื่อไร?
- หากเด็กไม่ยินยอมทำฟัน ทันตแพทย์จะมีวิธีรักษาอย่างไร?
- ทำฟันเด็ก ปัญหาหลักที่พบคืออะไร?
- การเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟันสำหรับเด็กให้ห่างไกลจากฟันผุ
- ปรับพฤติกรรม บอกลาปัญหาฟันผุ
- ค่าใช้จ่ายในการทำฟันเด็ก
ทำฟันเด็ก จำเป็นต้องพบทันตแพทย์เด็กหรือไม่ ทำอย่างไรไม่ให้เด็กกลัวการทำฟัน?
การพาเด็กไปพบทันตแพทย์นับเป็นสิ่งสำคัญมาก หากเป็นการทำฟันครั้งแรกๆ ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์เด็กเพราะอาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการไปพบทันตแพทย์ทั่วไป
ทันตแพทย์เด็กจะไม่เพียงรักษาฟันเท่านั้น แต่จะใช้หลักจิตวิทยาในการพูดคุย แนะนำเครื่องมือต่างๆ รวมถึงวิธีการรักษาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ทำให้เด็กรู้สึกว่า “การทำฟันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด” รวมถึงสร้างบรรยากาศให้เด็กรู้สึกสนุก ผ่อนคลาย จนเกิดความประทับใจและพร้อมให้ความร่วมมือในการรักษา
โดยส่วนใหญ่ การทำฟันเด็กในครั้งแรก ทันตแพทย์จะพยายามทำฟันเด็กด้วยขั้นตอนง่ายๆ และใช้เวลาไม่นาน เช่น ขัดฟัน เคลือบหลุมร่องฟันซี่ที่ยังไม่ผุ เคลือบฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ รวมทั้งชื่นชมและมีรางวัลให้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี
ยังมีอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามคือ นอกจากผู้ปกครองจะต้องแปรงฟันให้เด็กทุกวันแล้ว ผู้ปกครองควรหมั่นตรวจดูสุขภาพฟันของเด็กด้วยตนเองในเบื้องต้น
หากเห็นลักษณะที่ผิดปกติไป เช่น เห็นฟันมีรู มีคราบ สีเหลือง น้ำตาล หรือดำ เหงือกแดงบวม หรือมีหนอง ในเด็กที่เริ่มพูดได้อาจบอกอาการได้ หากเด็กเริ่มมีอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรพาไปพบทันตแพทย์เด็กโดยเร็วที่สุด
เพราะหากฟันผุน้อยจะรักษาง่ายใช้เวลาไม่นาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อความรู้สึกของเด็กทั้งสิ้น
ควรพาลูกไปทำฟันเด็ก พบทันตแพทย์เด็กเมื่อไร?
ผู้ปกครองหลายคนมักพาเด็กไปพบทันตแพทย์ก็ต่อเมื่อเริ่มมีปัญหาสุขภาพฟัน เช่น ฟันผุ ปวดฟัน หรือฟันน้ำนมใกล้หลุดเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วสามารถพาเด็กไปพบทันตแพทย์ได้ทันทีเมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น หรืออายุประมาณ 6 เดือน
ทั้งนี้เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากและอาจเคลือบฟลูออไรด์ แม้ว่าช่วงเวลานั้นเด็กอาจยังไม่มีปัญหาสุขภาพฟันใดๆ เลยก็ตาม
ทันตแพทย์จะสอนการแปรงฟัน หรือการทำความสะอาดช่องปากอย่างเหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย และแนะนำพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ รวมทั้งสร้างความคุ้นเคยในการมาพบทันตแพทย์ อุปกรณ์ทำฟัน ห้องทำฟัน และเพื่อไม่ให้เด็กเกิดความกลัว
ทันตแพทย์เด็กจะดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้เด็กไปจนถึงอายุ 12 ปี เมื่อพ้นจากช่วงวัยนี้แล้ว ผู้ปกครองก็สามารถพาไปพบทันตแพทย์ทั่วไปได้
หากเด็กไม่ยินยอมทำฟัน ทันตแพทย์จะมีวิธีรักษาอย่างไร?
ปัญหาหลักที่พบในการทำฟันเด็กคือ เด็กหลายๆ คนมักกลัวคนแปลกหน้า กลัวการทำฟัน และไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา โดยปกติแล้วทันตแพทย์จะมีการพูดคุย สร้างความคุ้นเคยกับเด็กในเบื้องต้น จนเด็กรู้สึกผ่อนคลายและยินยอมรับการรักษา
แต่หากการสื่อสารไม่สำเร็จและจำเป็นต้องทำการรักษาเร่งด่วน ทันตแพทย์จะต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครองเพื่อทำการรักษา
หากเด็กดิ้นมาก บางครั้งอาจต้องใช้ผ้าห่อตัวเด็กไว้ขณะรักษา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้ แต่อย่างไรก็ตาม การบังคับถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ทำ เพราะอาจทำให้เด็กมีทัศนคติไม่ดีต่อการทำฟัน
ทำฟันเด็ก ปัญหาหลักที่พบคืออะไร?
ปัญหาสุขภาพฟันที่พบในเด็กโดยส่วนใหญ่คือ ปัญหาฟันผุ ซึ่งพบได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือนเป็นต้นไป และจะผุมากขึ้นอย่างรวดเร็วในเด็กวัย 1-3 ปี
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณะสุขระบุว่า กว่า 50% ของเด็กวัย 3 ปี มีปัญหาฟันผุเฉลี่ย 2.7 ซี่ต่อคน ขณะที่กว่า 78% ของเด็กวัย 5 ปี มีปัญหาฟันผุเฉลี่ย 4.4 ซี่ต่อคน
ส่วนใหญ่ปัญหาฟันผุในวัยเด็กมักเกิดจากการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันไม่ถูกวิธี เช่น ไม่แปรงฟัน ชื่นชอบการรับประทานลูกอม ขนมหวาน หรือขนมขบเคี้ยว ไม่ใช้ไหมขัดฟัน แปรงฟันไม่ถูกวิธี
การเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟันสำหรับเด็กให้ห่างไกลจากฟันผุ
แปรงสีฟันและยาสีฟันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการช่วยดูแลสุขภาพฟันของเด็ก ป้องกันปัญหาฟันผุ ซึ่งแปรงสีฟันและยาสีฟันของเด็กแต่ละช่วงวัยก็มีความแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ช่วงแรกเกิด
ฟันน้ำนมยังไม่ขึ้น ผู้ปกครองสามารถดูแลช่องปากด้วยการหมั่นใช้ผ้าก๊อซสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดเหงือกและลิ้นให้ทารก ไม่ควรปล่อยให้ลิ้นมีฝ้าขาวหนาจนเกินไป เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
ช่วง 6 เดือน (หรือตั้งแต่มีฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น) ถึง 3 ปี
ควรเลือกแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม หน้าตัดตรง แต่ก็ไม่ควรเลือกขนแปรงที่นุ่มจนเกินไป ซึ่งอาจไม่สามารถกำจัดคราบแบคทีเรียออกได้เลย ทั้งนี้ใช้ร่วมกับยาสีฟันเด็กที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 1000 ppm ได้เลยตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรก
โดยบีบยาสีฟันลงบนแปรงสีฟันขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหรือแค่เป็นฟิล์มบางๆ บนแปรงสีฟัน แปรงบนตัวฟันให้ถึงขอบเหงือกหลังจากแปรงเสร็จแล้วใช้ผ้าก๊อซสะอาดเช็ดฟองออก
เมื่อเด็กมีอายุประมาณ 2 ปี ผู้ปกครองควรเริ่มสอนให้เด็กรู้จักการบ้วนน้ำและแปรงฟันเองในเบื้องต้น เพื่อให้เด็กคุ้นเคย แต่ผู้ปกครองต้องช่วยแปรงฟันซ้ำด้วยทุกครั้ง เพราะเด็กยังไม่สามารถแปรงฟันได้ทั่วถึง ทันตแพทย์จะแนะนำให้ผู้ปกครองแปรงฟันซ้ำให้เด็กจนถึงอายุ 8 ปี ทั้งนี้เพราะพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก มือ และนิ้วมือ ซึ่งใช้ควบคุมการแปรงฟันจะพัฒนาสมบูรณ์ที่ช่วงเวลานี้
ช่วง 3-6 ปี
ควรเลือกแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม หน้าตัดตรง ใช้ร่วมกับยาสีฟันเด็กที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 1000 ppm โดยบีบยาสีฟันลงบนแปรงสีฟันขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพด แปรงบริเวณฟัน
ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพปากและฟัน ในบางรายที่มีฟันผุมาก ทันตแพทย์จะนัดรักษาต่อเนื่อง และอาจต้องนัดมาตรวจสุขภาพฟันทุก 3 เดือน
นอกจากนี้ผู้ปกครองควรใช้ไหมขัดฟันขัดฟันทุกซี่ให้เด็กทุกครั้งก่อนการแปรงฟัน เพื่อกำจัดเศษอาหารที่อาจติดอยู่ตามร่องเหงือกและฟัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของฟันผุ
ปรับพฤติกรรม บอกลาปัญหาฟันผุ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กมีปัญหาฟันผุเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานและการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันไม่เหมาะสม แต่หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ก็จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพช่องปากและฟันที่แข็งแรง โดยควรปฏิบัติตัวดังนี้
- แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร หรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน
- ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- ผู้ปกครองต้องสอนให้เด็กแปรงฟันอย่างถูกวิธี โดยการแปรงฟันแต่ละครั้งควรใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที ดังนี้
- วางขนแปรงแนบกับตัวฟันถึงของเหงือก โดยเอียงขนแปรงเป็นมุมประมาณ 45 องศากับตัวฟัน
- สำหรับเด็ก ใช้วิธีการขยับแปรงไป-มาเล็กน้อยสั้นๆ ในแนวนอน ขยับไปเรื่อยๆจนครบทุกซี่ (Bass Technique)
- แปรงให้ทั่วทุกซี่ ทั้งด้านนอก ด้านในของฟันบนและฟันล่างให้สะอาด
- ส่วนด้านบดเคี้ยวให้ถูไปมาตามแนวฟันทั้งซ้าย-ขวา จนสะอาด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวานและขนมขบเคี้ยวระหว่างวัน เพราะโดยส่วนใหญ่เด็กจะไม่มีโอกาสแปรงฟันในตอนกลางวัน ทำให้เศษขนมสะสมอยู่บนตัวฟันและตามซอกฟันจนเกิดฟันผุได้
- หากให้เด็กดื่มนมก่อนนอน ควรให้เด็กแปรงฟันหลังดื่มนมทุกครั้ง เพราะแบคทีเรียสามารถนำน้ำตาลจากนมไปทำปฏิกิริยาจนเกิดกรดกัดกร่อนฟัน ทำให้ฟันผุได้
- อย่ารอให้ฟันน้ำนมที่ที่ผุหลุดออกไปเอง แต่ควรพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟันในกรณีที่ยังอุดได้ เพราะการผุอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลต่อรากฟัน หรือโพรงประสาทฟันได้
- พบทันตแพทย์เด็กอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพฟันและเคลือบฟลูออไรด์ หากพบฟันผุ จะได้รีบรักษาอย่างทันท่วงที
ค่าใช้จ่ายในการทำฟันเด็ก
ค่าใช้จ่ายในการทำฟันเด็กนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เด็กมีปัญหาทางช่องปากมากน้อยแค่ไหน หากเป็นการตรวจสุขภาพฟันธรรมดา พร้อมเคลือบฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ประมาณ 500 บาทขึ้นไป แต่หากมีปัญหาฟันผุ ปวด หรือต้องรักษาโรคใดเพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามการรักษานั้น
การพาเด็กไปพบทันตแพทย์เด็กเป็นประจำ คือหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับช่องปากและฟันไปได้ แต่การทำฟันเด็กก็เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ข้อนี้จะช่วยป้องกันโรคทางช่องปากและฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช