ริดสีดวงแตก ทำอย่างไร

ริดสีดวงแตก ทำอย่างไร

ริดสีดวงทวาร เกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อและเส้นเลือดบริเวณรูทวาร มักพบบ่อยในคนช่วงอายุ 30–40 ปี บางคนที่เป็นริดสีดวง อาจประสบปัญหาริดสีดวงแตก ทำให้เลือดไหลซึมออกจากรูทวาร ทั้งตอนนั่ง ตอนยืนนาน ๆ หรือตอนขับถ่าย สร้างความกังวลใจ ว่าจะเป็นอันตรายมากหรือไม่ และต้องรักษาอย่างไรดี 

บทความนี้จะพามารู้จักกับสาเหตุของริดสีดวงแตก การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อริดสีดวงทวารแตก แบบไหนที่เรียกว่าอันตราย ควรรีบไปพบแพทย์ และวิธีป้องกันดี ๆ ที่ทำได้ทุกคน 

ริดสีดวงทวาร คืออะไร

ริดสีดวงทวาร พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อบริเวณปากทวารที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ เนื้อเยื่อนี้มีความยืดหยุ่นสูง ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทก หรือแรงเสียดสีระหว่างอุจจาระกับทวารหนัก และช่วยให้รูทวารปิดสนิท

เมื่อมีการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณทวารหนักจากการเบ่งถ่าย ท้องผูก หรือถ่ายบ่อยจากท้องเสีย หรือเมี่ออายุมากขึ้น จะทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณนั้นโป่งพอง เกิดก้อนเนื้อบวมเต่งที่ปากทวารหนักและเลื่อนออกมาจากรูทวาร จนทำให้มีเลือดปนออกมากับอุจจาระนั่นเอง

ริดสีดวงแตก เป็นเพราะอะไร อาการเป็นอย่างไร

ริดสีดวงแตก เกิดจากแรงดันภายในช่องท้อง มาจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น 

  • การเบ่งอุจจาระมากเกินไป ทำให้เส้นเลือดที่โป่งพองอยู่แล้วพองยิ่งขึ้น จนแตกตัวในที่สุด
  • ก้อนอุจจาระแข็งเกินไป เมื่อขับถ่าย ก้อนอุจจาระจะไปเสียดสีกับเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดแตก และมีเลือดไหลออกมา

อาการที่พบได้บ่อย ๆ หลังริดสีดวงแตก คืออาการเจ็บแสบบริเวณรูทวาร พร้อมมีเลือดไหลปริมาณมาก ไหลไม่หยุด 

ริดสีดวงแตก แบบไหนอันตราย ต้องรีบไปพบแพทย์

ถ้าริดสีดวงแตกแล้วเลือดไหลออกมามากกว่าปกติ และไม่หยุดไหลเอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจก่อให้เกิดภาวะซีดจากการขาดเลือด 

ภาวะซีดจากการขาดเลือด จะทำให้ชีพจรเต้นเร็วและแรงขึ้น หน้ามืด มือเท้าเย็น หรือถึงขั้นเป็นลมได้

นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมาก หรือผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนและโรคประจำตัวต่าง ๆ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ปลอดภัย 

ริดสีดวงแตก ดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไร 

  • นำผ้าสะอาดมารอง หรือใส่ผ้าอนามัยไว้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล เพื่อซับเลือดที่ไหลออกมา และป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกมาสัมผัสแผล ควรเลือกผ้าอนามัยแบบกลางคืน เพราะแผ่นใหญ่ รองรับได้ทั่วทั้งก้น ถ้าเลือดไหลมาก ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 3–4 ชั่วโมง 
  • ไม่แนะนำให้แช่น้ำอุ่น เพื่อบรรเทาอาการปวด เพราะความร้อนจะไปขยายหลอดเลือดบริเวณปากทวาร ยิ่งทำให้เลือดไหลมากขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดจากน้ำที่แช่และจากภาชนะใส่น้ำได้อีกด้วย
  • ใช้แผ่นเย็นประคบบริเวณรอบ ๆ ริดสีดวงทวารประมาณ 2–3 นาที ทำ 3 รอบแล้วพัก เพื่อช่วยลดการอักเสบ ช่วยให้เส้นเลือดหดตัว และเลือดหยุดไหล แต่ระวังอย่าให้ผ้าสัมผัสกับริดสีดวงโดยตรง เพราะยังเป็นแผลเปิดอยู่ อาจทำให้ติดเชื้อได้ 
  • อาจใช้ว่านหางจระเข้ช่วยในการปฐมพยาบาล ช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้นได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยลดอาการอักเสบ และสมานแผล วิธีทำคือ นำว่านหางจระเข้สดมาปอกเปลือกออก แล้วล้างยางสีเหลืองออกให้หมด ล้างให้สะอาด ให้เหลือเฉพาะเมือกกับเนื้อวุ้นสีขาวใส ใช้ทาบริเวณที่ริดสีดวงที่แตก 

ริดสีดวงแตก ป้องกันได้ 

  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผักและผลไม้ เพื่อช่วยลดแรงเบ่งในการขับถ่าย
  • ดื่มน้ำสะอาดประมาณวันละ 8–10 แก้ว เพื่อให้ก้อนอุจจาระนิ่มขึ้น ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระแรง ๆ เพราะอาจไปเพิ่มแรงดัน และทำให้เลือดที่โป่งพองในรูทวารแตกได้ 
  • เลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะยิ่งเพิ่มแรงกดบนเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนัก และกีดขวางการไหลเวียนของเลือดที่เป็นรอยโรคของริดสีดวง จนอาจทำให้เส้นเลือดแตกได้ ควรลุกเดินบ้างเป็นระยะ ๆ
  • เลือกใช้กระดาษชำระแบบนุ่ม ใช้กระดาษชำระแบบเปียก หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดก้นหลังการขับถ่าย เพื่อลดแรงเสียดสี และลดการระคายเคืองผิวหนัง
  • หากก้อนริดสีดวงทวารใหญ่มากกว่าปกติ และดันกลับเข้าไปในรูทวารไม่ได้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาและยาที่เหมาะสมตามอาการ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวารแตก
  • กรณีดูแลตัวเองเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น มีอาการเจ็บ หรือก้อนริดสีดวงทวารมีขนาดเท่าเดิม ก็ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน

เป็นริดสีดวงทวาร ไม่ต้องอาย เพราะถ้าเป็นอันตรายขึ้นมาจะแย่ รีบดูแลตัวเองเบื้องต้นและไปหาหมอจะดีกว่า เพื่อจะได้รับการรักษาและยาที่ถูกต้อง ปลอดภัย  

ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงแตก หายได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม และดูแลตัวอย่างเคร่งครัดภายใต้คำแนะนำของคุณหมอ รับรองแข็งแรงเหมือนเดิมแน่นอน 


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top