ยาขับปัสสาวะ เป็นยาที่ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ และเกลือที่ถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ Thiazide (ไธอะไซด์) Loop (ลูป) Potassium-sparing (โพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก) มักใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 กลุ่ม แต่ไม่ได้ช่วยในการรักษาความดันโลหิตสูง ได้แก่ carbonic anhydrase inhibitor (คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอ) และ osmotic diuretic (ออสโมติก ไดยูเรติก)
สารบัญ
การใช้ยาขับปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะ นิยมใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยจะไปช่วยลดปริมาณน้ำในเส้นเลือด จึงช่วยลดความดันโลหิตได้
ส่วนโรคอื่นๆ ที่ใช้ยาขับปัสสาวะในการรักษา คือ ภาวะหัวใจวาย ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจนั้นสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ไม่ดี ทำให้เกิดสารน้ำสะสมในร่างกาย และทำให้เกิดอาการบวม ยาขับปัสสาวะจะช่วยลดสารน้ำส่วนเกินเหล่านี้
ชนิดของยาขับปัสสาวะ
ยาปัสสาวะนั้นมี 3 ชนิดคือ Thiazide, Loop และ Potassium-sparing ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนั้นจะทำให้ร่างกายขับสารน้ำออกมามากขึ้นในรูปแบบปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide
Thiazide เป็นยาที่มีการใช้มากที่สุด และมักใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยากลุ่มนี้ไม่เพียงแต่ลดสารน้ำในร่างกายเท่านั้น แต่ยังทำให้หลอดเลือดคลายตัว บางครั้งอาจจะมีการใช้ร่วมกับยาลดความดันกลุ่มอื่นได้
กลไกการออกฤทธิ์
ยาในกลุ่มนี้จะยับยั้งกลไกการดูดกลับเกลือแร่ชนิดโซเดียมและคลอไรด์ที่ท่อไตส่วนปลาย ทำให้ปริมาณน้ำถูกดูดกลับสู่เลือดลดลงด้วย
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น
- Chlorothiazide (โคลโรไธอะไซด์ )
- Chlorthalidone (โคลธาลิโดน)
- Hydrochlorothiazide (ไฮโดรโคลโรไธอะไซด์)
- Metolazone (เมโทลาโซน)
- Indapamide (อินดาพาไมด์)
ยาขับปัสสาวะแบบ Loop
ยาขับปัสสาวะในกลุ่มนี้มักจะใช้รักษาภาวะหัวใจวาย
กลไกการออกฤทธิ์
ยาในกลุ่มนี้จะเพิ่มการขับโซเดียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ที่ส่วนท่อไต บริเวณ ลูป ออฟ เฮนเล (loop of henle)
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น
- Torsemide (ทอร์เซไมด์)
- Furosemide (ฟูโรซีไมด์)
- Bumetanide (บูเมทาไนด์)
- Ethacrynic acid (อีธาไครนิค แอคซิด)
ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Potassium-sparing
ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Potassium-sparing จะช่วยลดสารน้ำที่อยู่ในร่างกาย โดยไม่ทำให้เสียโพแทสเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย ในขณะที่ยาขับปัสสาวะกลุ่มอื่นนั้นจะขับโพแทสเซียมออกไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ยากลุ่มนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงว่า มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เช่น ผู้ที่กำลังรับประทานยาตัวอื่นที่ทำให้โพแทสเซียมลดลง
ยาในกลุ่มนี้ลดความดันได้ไม่ดีเท่ากับยาขับปัสสาวะกลุ่มอื่น ดังนั้นแพทย์อาจจะสั่งยาควบคู่กับยาลดความดันตัวอื่น
ตัวอย่างยาในกลุ่ม Potassium-sparing เช่น
- Amiloride (อามิโลไรด์)
- Spironolactone (สไปโรโนแลคโทน)
- Triamterene (ไทรแอมเทรีน)
- Eplerenone (อีพลีรีโนน)
ผลข้างเคียงของยาขับปัสสาวะ
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
- มีโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- โพแทสเซียมในเลือดสูง (สำหรับยากลุ่ม Potassium-sparing)
- โซเดียมต่ำ
- ปวดหัว
- เวียนหัว
- หิวน้ำ
- น้ำตาลในเลือดสูง
- เป็นตะคริว
- คอเลสเตอรอลสูงขึ้น
- มีผื่นที่ผิวหนัง
- โรคเกาต์
- ท้องเสีย
ผลข้างเคียงที่รุนแรง
ในบางรายอาจจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น
- แพ้ยา
- ไตวาย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
สิ่งที่ต้องทำ
หากมีผลข้างเคียงในระหว่างที่รับประทานยาควรปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจจะพิจารณาเปลี่ยนยา หรืออาจจะใช้ยาอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น แต่ไม่ว่าคุณจะมีผลข้างเคียงหรือไม่ อย่าหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
ความเสี่ยงของการใช้ยาขับปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะเป็นยาที่ปลอดภัย แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงได้ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นๆ หรือใช้ยาตัวอื่นอยู่ ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มใช้ยาขับปัสสาวะต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้ง ถ้ามีภาวะต่อไปนี้
- เบาหวาน
- ตับอ่อนอักเสบ
- โรคลูปัส
- โรคเกาต์
- ปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน
- ปัญหาเกี่ยวกับไต
- ขาดน้ำบ่อยๆ
ปฏิกิริยาระหว่างยา
ก่อนที่จะเริ่มใช้ยาตัวใหม่ทุกชนิด ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาตัวอื่นที่กำลังรับประทานอยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง สมุนไพร หรืออาหารเสริม โดยเฉพาะยาที่อาจจะทำปฏิกิริยากับยาขับปัสสาวะ เช่น
- Cyclosporine (ไซโคลสปอรีน)
- ยาต้านเศร้าเช่น Fluoxetine (ฟลูออกซิทีน) และ Venlafaxine (เวนลาฟาซีน)
- ลิเทียม
- Digoxin (ไดจอกซิน)
- ยาลดความดันตัวอื่น
Q&A
ยาขับปัสสาวะสามารถช่วยลดน้ำหนักได้หรือไม่
ยาขับปัสสาวะนั้นจะขับน้ำออกจากร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลง แต่ไม่ได้ลดลงอย่างถาวร ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดน้ำหนักอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ หากใช้ไม่เหมาะสม อาจทำให้ไตวายตามได้ อย่าใช้ยาขับปัสสาวะเองโดยไม่อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาทุกชนิด เพราะแพทย์สามารถช่วยบอกได้ว่า ยา หรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นปลอดภัยสำหรับคุณหรือไม่
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ธวัลรัตน์ ปานแดง