ถ้าคนใกล้ชิดของคุณกำลังติดยาเสพติด คุณอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนคนนั้นผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ บทความนี้จะพามารู้จักกับอาการติดยาเสพติด วิธีรักษาอาการติดยา รวมถึงขั้นตอนในการบำบัดคนที่ติดยาเสพติดด้วย
สารบัญ
การเสพยาเสพติด และการติดยาเสพติด ต่างกันอย่างไร
การเสพยา หมายถึง การใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นยาที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ตาม
การติดยา หมายถึง การใช้ยาเสพติดที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้เสพมีอาการติดยา หรือต้องการเสพยาตลอดเวลา
การเสพยาเสพติด คืออะไร
การเสพยา หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้หมายความว่าจะมีอาการเสพติดเสมอไป เช่น คนคนหนึ่งสูบกัญชา 3–4 ครั้ง ก็ไม่ได้แปลว่าเสพติดกัญชา แต่ถ้ายังคงสูบอยู่เรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะทำให้กลายเป็นคนติดกัญชาได้
ในความเป็นจริง คนเราจะเสพติดสิ่งใดก็ได้ ไม่ใช่แค่ยาเสพติดอย่างเดียว สารอื่น ๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ กาว หรือยาอื่น ๆ ก็สามารถทำให้เกิดพฤติกรรมการเสพติดได้เช่นกัน
อีกทั้งสารบางประเภททำให้ผู้เสพเกิดอาการติดยาอย่างรุนแรงได้ แม้จะเป็นการลอง หรือเสพเพียงครั้งเดียวก็ตาม เช่น โคเคน เฮโรอีน
อาการติดยา เป็นอย่างไร
อาการติดยา คือการที่ผู้เสพยาควบคุมตัวเองให้ห่างจากยาไม่ได้ อยากเสพยาตลอด เช่น คนที่เสพติดโคเคน ก็จะหยุดใช้โคเคนไม่ได้ และยิ่งอยากใช้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ
การติดยานั้นส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ดังนี้
- เกิดความผิดปกติทางจิตและอารมณ์ ฤทธิ์ของยาเสพติดหลายชนิดก่อให้เกิดความผิดปกติภายในสมองและระบบประสาทของผู้เสพ เช่น เห็นภาพหลอน มีกำลังมากมายมหาศาล ตื่นตัวตลอดเวลา หรืออาจกลายเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตได้
- อาการลงแดง เป็นอาการทางร่างกายที่ผู้เสพแสดงออกมาเมื่อขาดยา หรือต้องการเลิกยา เช่น ท้องร่วงรุนแรง ตัวสั่น รู้สึกหวาดกลัว หรือเห็นภาพหลอน
- อาการดื้อยา เป็นอาการที่ทำให้ผู้เสพต้องการยาในปริมาณที่มากขึ้น และมีจำนวนครั้งในการเสพถี่ขึ้นด้วย
- ก่ออาชญากรรม เมื่อเงินไม่พอ ผู้เสพจึงมักก่ออาชญากรรมเพื่อให้ได้เงินมาซื้อยา บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าชิงทรัพย์ได้
- ระบบการทำงานภายในร่างกายเกิดความผิดปกติ ยาเสพติดจะเข้าไปก่อกวนและทำลายระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายหลายด้าน เช่น ทำให้ความดันโลหิตสูง มีไข้ เลือดออกในสมอง ตาลาย ง่วงซึม ท้องผูก มองเห็น และได้ยินผิดเพี้ยนไป
สัญญาณของการติดยาเสพติด
สัญญาณที่บ่งบอกได้ชัดเจนที่สุดว่ากำลังติดยาเสพติดอยู่ คือการที่ต้องเสพยานั้น ๆ อยู่เป็นประจำอย่างขาดไม่ได้ และก็ยังมีสัญญาณอื่น ๆ อีกเหมือนกัน เช่น
พฤติกรรมทางจิต
- ไม่สุงสิงกับใคร แยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว
- ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหายาเสพติด
- อารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว วิตกกังวล ซึมเศร้า
- เลิกทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำเป็นประจำ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี หรืองานอดิเรกต่าง ๆ
- มีปัญหาเรื่องการเรียนหรือการทำงาน เช่น ขาดเรียน ผลการทำงานแย่ลง
- เมื่อมีปัญหา หรือเกิดความเครียด ก็มักจะหาทางออกด้วยการเสพยา
- มีพฤติกรรมการลักขโมย เพื่อนำเงินไปซื้อยาเสพติด
- เลิกยาหรือเลิกดื่มสุราไม่ได้ แม้จะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม
- หันไปคบเพื่อนกลุ่มที่เสพยาด้วยกัน หรือมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะเสพยา
พฤติกรรมภายนอก
- มีอาการตัวสั่นหรือป่วย เมื่อพยายามหยุดใช้ยาเสพติด
- พฤติกรรมการกินอาการเปลี่ยนไป ทำให้น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ
- ต้องเสพยาในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา และรู้สึกดีขึ้น
- พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลง
อยากเลิกเสพยา ต้องทำอย่างไร
การเลิกเสพยาให้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยานั้นเกี่ยวข้องกับระบบอวัยวะภายในร่างกาย แม้ว่าจะอยากเลิกเสพแค่ไหน แต่ถ้าร่างกายยังหยุดเสพไม่ได้ โอกาสเลิกยาก็ยิ่งยาก
การจะเลิกยาให้ได้อย่างเด็ดขาด คนที่ไว้ใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท คนรัก สมาชิกในครอบครัว หรือแพทย์ประจำตัว
ถ้าไม่กล้าคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง แนะนำให้เลือกคุยกับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ หรือปรึกษานักบำบัดยาเสพติดไปเลย เพื่อจะได้รับแนวทางในการเลิกยาเสพติดที่ถูกต้อง
อีกสิ่งสำคัญที่ผู้เสพติดยารวมทั้งคนใกล้ชิดต้องเข้าใจ คือ การที่ผู้ติดยาหยุดเสพยาไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเขาอ่อนแอ และความพยายามในการเลิกยานั้นเริ่มใหม่ได้เสมอ
เคล็ดลับในการเลิกยาเสพติด
1. บอกเพื่อน ๆ ว่า กำลังพยายามเลิกเสพยาอยู่
เพื่อนที่หวังดีจริง ๆ จะเข้าใจ เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำ และจะสนับสนุนให้คุณเลิกยาเสพติดด้วย รวมทั้งจะสนับสนุนให้คุณเลิกยาเสพติดให้ได้
แต่นั่นหมายความว่า คุณจะคงต้องเลิกคบกลุ่มเพื่อนที่เสพยา และเข้ากลุ่มเพื่อนใหม่ที่สนับสนุนช่วยเหลือ และเห็นอกเห็นใจคุณอย่างแท้จริง
2. ปรึกษาเพื่อน หรือคนในครอบครัวเมื่อต้องการพวกเขา
คุณไม่ควรแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยลำพัง เพราะยังมีคนรอบตัวคอยเป็นกำลังใจ พร้อมเสมอที่จะช่วยคุณให้พ้นจากการติดยา บางครั้งคุณอาจต้องโทรศัพท์หาเพื่อน หรือคุยกับใครสักคนกลางดึกในขณะที่รู้สึกต้องการเสพยาขึ้นมา
ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการเลิกยาเสพติด คุณอาจบอกคนที่คุณไว้ใจ หรือคนใกล้ชิด เพื่อให้เขาเตรียมรับมือกับอาการลงแดง อาการทางประสาท หรือผลกระทบเกี่ยวกับจิตใจที่จะเกิดขึ้นระหว่างพยายามเลิกยา
3. ควรระลึกไว้เสมอว่า การติดยา ไม่ได้แปลว่าเป็นคนไม่ดี
หากคุณกำลังนั่งคิดถึงวันที่ตกเป็นทาสของยาเสพติดจนทำให้คุณรู้สึกแย่ แนะนำให้รีบพูดคุย หรือปรึกษาใครสักคน คุณอาจระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรน่าอาย
การบอกให้คนอื่นรู้ถึงความรู้สึกจะช่วยให้คุณยืนหยัดกับความพยายาม และท้ายสุดคุณก็จะสามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างถาวร
นอกจากนี้ คนรอบตัวอาจเข้าใจในตัวคุณมากขึ้นด้วยว่า คุณรู้สึกอย่างไร แล้วมีปัญหาอะไรที่ทำให้คุณต้องหันไปพึ่งการเสพยา
4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเสพยา
หากคุณอยู่ระหว่างการเลิกยาเสพติด ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการถูกชักชวนไปเสพยาได้ง่าย หรืออาจถูกบังคับให้เสพยาอีกครั้ง เช่น การอยู่ในสถานบันเทิง หรืองานปาร์ตีตอนกลางคืน
ถ้าจำเป็นต้องไปจริง ๆ ให้แจ้งพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิดให้รับทราบไว้ เพราะเมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือ จะได้มีคนพาคุณออกไปจากสถานการณ์ดังกล่าวทันที
ขั้นตอนการบำบัดรักษาผู้ที่ติดยาเสพติด
ถ้าต้องการหายขาดจากการติดยาเสพติด สามารถเข้าร่วมโครงการบำบัดยาเสพติดได้ตามสถานพยาบาลต่าง ๆ
โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นเตรียมการ (Pre–admission)
เป็นขั้นตอนการสัมภาษณ์ผู้ที่ติดยา และครอบครัว เพื่อเข้าใจถึงภูมิหลังและการใช้ชีวิตของผู้ติดยามากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้ผู้ติดยามีความตั้งใจในการรักษา
นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจร่างกายเบื้องต้น การเอกซเรย์ และการตรวจปัสสาวะด้วย
2. ขั้นถอนพิษยา (Detoxification)
เป็นการบำบัดร่างกายที่ยังคงอยู่ในสภาวะติดยาเสพติดอยู่ โดยอาจใช้ยาในการรักษาด้วย เช่น ยาเมทาโดน (Methadone) หรือยาสมุนไพร
แบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
- การถอนพิษแบบผู้ป่วยใน ให้ผู้ติดยานอนค้างคืนที่โรงพยาบาล เพื่อบำบัดอาการติดยาเสพติด และรักษาอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย
- การถอนพิษแบบผู้ป่วยนอก สำหรับการบำบัดแบบนี้ ผู้ติดยาไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล แต่จะให้ยากลับไปกินที่บ้านตามกำหนด เมื่อถึงเวลานัด ก็เดินทางมาบำบัดที่โรงพยาบาลอีกครั้ง
3. ขั้นการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation)
หลังจากบำบัดอาการทางกายแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการปรับสภาพจิตใจของผู้ติดยาให้เข้มแข็ง เช่น ปรับบุคลิกภาพ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบำบัดจิตใจ
โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ติดยารู้จักรับผิดชอบตนเอง รู้จักแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตช และฝึกควบคุมอารมณ์ให้ได้
นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ติดยาได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ที่มีประสบการณ์เหมือน ๆ กันด้วย
4. ขั้นการติดตามดูแล (After-Care)
เป็นการติดตามอาการผู้ติดยาหลังบำบัด เพื่อไม่ให้กลับไปติดยาเสพติดซ้ำอีกครั้ง รวมถึงให้กำลังใจ และให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์
นอกจากนี้ อาจมีการไปเยี่ยมเยียนหรือนัดพบ เพื่อตรวจดูอาการผู้เสพติด โดยมีการซักถาม ใช้แบบสอบถาม และต้องตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดด้วย
การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการอยากยา ครอบครัวทำอะไรได้บ้าง
ก่อนจะช่วยเหลือผู้ที่มีอาการอยากยา จำเป็นต้องทราบก่อนว่า การเลิกยานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ความเข้าใจในตัวผู้ที่ติดยาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ
การคอยช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ที่ติดยาในฐานะคนในครอบครัวถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ครอบครัวทำได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้
- ต้องเข้าใจผู้ติดยา
- ช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้พบตัวกระตุ้น
- สังเกตและเฝ้าระวังอาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการอยากยา
- ไม่ตำหนิผู้ป่วยเมื่อมีอาการอยากยา
- อาจหากิจกรรมให้ทำ หรือทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
- ให้กำลังใจผู้ป่วย และอยู่เป็นเพื่อนขณะที่เกิดอาการ
- ชื่นชมผู้ป่วยเมื่อเขาต่อสู้กับอาการอยากยาได้
- พาผู้ป่วยไปรักษา เพื่อบรรเทาอาการทรมานของผู้ป่วย และช่วยไม่ให้เสพอีกต่อไป
สำหรับผู้ที่เคยติดยาเสพติด ถ้ามีความคิดที่จะกลับไปใช้ยาอีกครั้ง แนะนำให้ลองถามตัวเองดี ๆ อีกสักครั้งว่า “ทำไมถึงต้องกลับไปใช้ยาอีก”
และทางที่ดี รีบหาคนปรึกษา และช่วยเหลือจะดีกว่า อาจเป็นคนที่เคยอยู่ข้าง ๆ คุณตอนที่เลิกยาครั้งก่อนก็ได้ และให้จำไว้เสมอว่า ช่วงเวลาที่เลิกยามันยากและทรมานแค่ไหน
ที่สำคัญ อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพราะยาเสพติดมีอันตรายถึงชีวิต และการกลับไปเสพยาอีกครั้ง อาจแลกด้วยชีวิตที่ไม่อาจคืนกลับมาได้
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ภกญ. สุภาดา ฟองอาภา