รู้จักกับเห็ดเมา Magic Mushrooms หรือเห็ดขี้ควาย หนึ่งในยาเสพติดประเภทที่ 5

รู้จักกับ เห็ดขี้ควาย หรือเห็ดเมา (Magic Mushrooms) หนึ่งในยาเสพติดประเภทที่ 5

เห็ดจากธรรมชาติที่กินได้มีมากมาย แต่บางชนิดก็เป็นอันตรายและยังผิดกฎหมาย บทความนี้จะมาเล่าถึงความน่ากลัวของเห็ดเมาหรือเห็ดวิเศษ (Magic mushrooms) หรือในไทยเรียกกันว่า “เห็ดขี้ควาย” ซึ่งถูกจัดให้เป็นยาเสพติด เพราะมีสารจากธรรมชาติที่ทำให้ประสาทหลอน 

เห็ดขี้ควายคืออะไร

เห็ดขี้ควาย มีหลายชื่อ เช่น เห็ดเมา เห็ดพิษ เห็ดขี้วัว เห็ดมหัศจรรย์ เห็ดไข่เจียว เห็ดพิเศษ เป็นเห็ดพิษที่มีสารซิโลไซบิน (Psilocybin) และซิโลซีน (Psilocin) ส่งผลให้ประสาทหลอน มึนเมา และอาจถึงขั้นวิกลจริตได้ 

ลักษณะทั่วไปของเห็ดขี้ควาย คือ มีสีเหลืองซีด คล้ายสีฟางแห้ง บนหัวของร่มเป็นสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ บริเวณก้านใกล้ตัวร่มมีแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ สีขาวแผ่ขยายออกรอบก้าน สามารถพบเห็ดขี้ควายได้ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะตามกองมูลควายแห้ง 

ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เห็ดขี้ควายจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดประเภทที่ 5 ถ้าใครมีอยู่ในครอบครอง ทั้งปลูกเพื่อผลิต มีหัวเชื้อ หรือซื้อขาย ถือว่าทำผิดกฎหมาย และมีโทษถึงขั้นจำคุกได้ 

เห็ดขี้ควาย คืออะไร

อาการเมายาจากเห็ดขี้ควาย เมาเห็ดเมา เป็นยังไง 

อาการเมายามีหลายแบบ ทั้งทำให้รู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน แต่บางครั้งยาก็ส่งผลให้ควบคุมความคิดตัวเองไม่ได้ จนเกิดอาการหวาดระแวง ตื่นตระหนก กลัวถูกทำร้ายร่างกาย โดนฆ่า หรือเกิดภาพหลอน 

คาดคะเนยากว่าใครจะมีอาการยังไง แต่ที่แน่ ๆ คือผู้เสพจะควบคุมอาการไม่ได้เลย ยิ่งกับเห็ดขี้ควาย จนกว่าฤทธิ์จะหมดลงไปเอง ซึ่งอาจกินเวลาหลายชั่วโมง 

หลังเห็ดขี้ควายหมดฤทธิ์แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น 

อาการขั้นต้นที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเห็ดเมาหมดฤทธิ์ คือ คลื่นไส้ และง่วงหาวอย่างหนัก ถ้าเสพในปริมาณน้อย อาการข้างเคียงก็จะไม่มาก จะรู้สึกง่วงซึม และผ่อนคลาย 

กลับกัน ถ้าเสพในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดภาพหลอน กระวนกระวาย รู้สึกวิตก และหวาดระแวง บางคนอาจเกิดภาวะสับสนหรือความจำเสื่อมชั่วขณะร่วมด้วย 

ระยะเวลาและความรุนแรงจากการเมาเห็ดขี้ควายจะขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้และฤทธิ์ของเห็ดแต่ละต้น ส่วนระยะเวลาหมดฤทธิ์จะขึ้นอยู่กับอารมณ์ พฤติกรรม และความคาดหวังของผู้เสพเองด้วย 

ผลข้างเคียงจากการเสพเห็ดขี้ควายในระยะสั้น และระยะยาว  

เมื่อเสพเห็ดเมาเข้าไปในร่างกาย สารซิโลไซบินจะแปลงเป็นสารซิโลซีน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สารซิโลซีนจะออกฤทธิ์กับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง เพราะมีโครงสร้างคล้ายกัน ทำให้มีอาการเคลิ้ม รู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน เห็นภาพลวงตา โดยฤทธิ์ของเห็ดเมาจะออกฤทธิ์ภายใน 30–45 นาที และอยู่ในร่างกายราว ๆ 6 ชั่วโมง 

ในระยะยาว ผู้เสพมักจะดื้อยาต่อสารซิโลไซบินและสารซิโลซีน ทำให้ต้องใช้เห็ดมากขึ้นอีกเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดอาการเมา ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต ผู้เสพจะทรมานจากการติดยามากกว่าที่จะรู้สึกมีความสุข เพราะมักจะมีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวัน และการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง

ผลข้างเคียงด้านร่างกายจากการเสพเห็ดขี้ควาย เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เซื่องซึม
  • กล้ามเนื้อและการประสานงานของสมองผิดปกติ 
  • รูม่านตาขยาย 

ถ้าเสพเห็ดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการป่วยทางจิต อย่างโรคจิตเภท หรือเป็นโรคจิตได้ด้วย แม้ผู้เสพจะไม่ได้เสพเห็ดแล้ว แต่ก็ยังเกิดอาการข้างเคียงได้ โดยอาการต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นหลายวัน หรือหลายเดือนหลังจากการเสพ รวมทั้งการเสพเห็ดเมาในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายอย่างรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด

ปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเสพเห็ดขี้ควาย

ถ้าเกิดอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียน หรือท้องร่วงหลังกินเห็ด ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นเห็ดพิษ ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน แต่ไม่ควรขับรถเอง เพราะเห็ดขี้ควายหรือเห็ดเมาจะส่งผลต่อระบบการทำงานของสมอง ทั้งการรับรู้ความเป็นจริง ความคิด การตัดสินใจ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุได้  

วิธีเลิกเสพเห็ดขี้ควาย 

ปัญหาใหญ่นั้นอยู่ในช่วง “กำลังจะเลิก” เพราะเห็ดมีฤทธิ์ทำให้สนุกสนาน เพลิดเพลิน เลยยิ่งทำให้คนที่เสพติดเห็ดขี้ควายมาก ๆ ยิ่งเลิกยากกว่าเดิม 

สัญญาณที่บอกว่าบุคคลนั้น ๆ เสพติดเห็ดขี้ควายคือ อาการเมายาอยู่ตลอด แม้จะไม่ได้ใช้เห็ดอยู่ตอนนั้นก็ตาม อาจพ่วงด้วยการมีปัญหาที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือมีอาการอยากยา และต้องการเสพเห็ดขี้ควายอย่างรุนแรง 

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะสำหรับการเสพติดเห็ดขี้ควาย จะมีเพียงการเข้าร่วมการบำบัดรักษา เข้าศูนย์บำบัดยาเสพติด หรือปรึกษาแพทย์ 

เห็ดขี้ควาย อันตราย เลี่ยงได้เลี่ยง! 

การเสพเห็ดเมาอาจดูไม่ร้ายแรงเหมือนกับการเสพยาเสพติดชนิดอื่น แต่ผู้เสพหลายคนกลับไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่เกิดจากอาการเมาเห็ด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะฝันร้าย เกิดภาพหลอน และอาการดังกล่าวจะไม่หายไปจนกว่าฤทธิ์ของเห็ดจะหมดลง

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ อาจเกิดอันตรายต่อผู้เสพจนต้องนำส่งโรงพยาบาล เพราะเกิดภาวะเห็ดเป็นพิษได้ และผู้เสพเห็ดเมาบางรายอาจมีอาการทางจิตที่เกิดขึ้นหลังจากการเสพแตกต่างกันไป ดังนั้น ควรเลี่ยงการเสพ หรือการทดลองเห็ดเมาใดๆ จะปลอดภัยที่สุด


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top