โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ ส่งผลให้เกิดการสะสมน้ำตาลกลูโคสในเลือดปริมาณสูง จนทำให้เกิดโรค หรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis: DKA) เป็นต้น
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลัก ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เมื่อเป็นโรคเบาหวานจะมีอาการอย่างไร มาเรียนรู้อาการสำคัญที่อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานที่ต้องได้รับการรักษา รวมถึงสาเหตุของเบาหวานแต่ละชนิดว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร
สารบัญ
โรคเบาหวานจะปรากฏอาการอย่างไร
อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่
- กระหายน้ำ และปัสสาวะบ่อยขึ้น
- หิวบ่อยขึ้น
- เมื่อยล้าตามตัว
- มองเห็นภาพซ้อน มองภาพไม่ชัด
- ชา หรือรู้สึกเสียวซ่าน ตามเท้า หรือมือ
- แผลหายช้า หรือไม่หายเลย
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถเริ่มได้อย่างรวดเร็ว เช่น ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่สำหรับอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักเกิดให้เห็นช้ากว่า เช่น หลังช่วงหลายปีผ่านไป และอาจมีอาการให้สังเกตน้อยมาก จนคุณอาจไม่ได้สังเกตเห็น
นอกจากนี้ หลายคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่า เป็นโรคเบาหวานจนกว่าจะมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานเกิดขึ้น เช่น ตาพร่ามัว หรือโรคหัวใจ และตรวจพบโรคเบาหวานโดยบังเอิญ
สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 1
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกัน (ระบบของร่างกายในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมและการติดเชื้อ) เข้าทำลายเบต้าเซลล์ในตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากกรรมพันธุ์ ร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคได้ ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่แน่ชัด รวมถึงวิธีป้องกัน หรือชะลอการเกิดโรค
สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การดำเนินวิถีชีวิต กรรมพันธุ์ ภาวะดื้ออินซูลิน เป็นต้น
คนที่มีแนวโน้มจะพัฒนาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือ คนที่ไม่ค่อยขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน และมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจทำให้เกิดความต้านทานต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2
ตำแหน่งของไขมันสะสมในร่างกายยังมีผลแตกต่างกัน ไขมันหน้าท้องส่วนเกินนั้น เกี่ยวข้องกับความต้านทานต่อฮอร์โมนอินซูลินในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมไปถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อดูว่า น้ำหนักของคุณเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือไม่ โปรดเทียบกับแผนภูมิดัชนีมวลกาย (BMI)
ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีสาเหตุเริ่มต้นจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อตับและเซลล์ไขมันไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้ดีเช่นเคย เป็นผลให้ร่างกายต้องการอินซูลินมากขึ้น เพื่อช่วยให้เซลล์รับน้ำตาลกลูโคสจากเลือดไปใช้งาน
ในช่วงแรก ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินมากขึ้นเพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปตับอ่อนก็จะไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอเท่าที่ต้องการ และทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงขึ้นจากสาเหตุดังกล่าว
กรรมพันธุ์และประวัติครอบครัว
นอกจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แล้ว ยีนบางตัวในสายกรรมพันธุ์ อาจทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากคุณเป็นกลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์เหล่านี้:
- ชาวแอฟริกันอเมริกัน
- ชาวอะแลสกา
- ชาวอเมริกันอินเดียน
- ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
- ละตินอเมริกา / ติน
- ชนพื้นเมืองฮาวาย
- ชาวเกาะแปซิฟิก
สาเหตุของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่พัฒนาขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในครรภ์ควบคู่กับปัจจัยทางพันธุกรรมและการดำเนินชีวิต ดังนั้น ในระหว่างการฝากครรภ์แพทย์จึงมีการตรวจภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนแก่แม่และบุตรขณะตั้งครรภ์
ภาวะดื้อต่ออินซูลินในหญิงตั้งครรภ์
ฮอร์โมนที่ผลิตโดยรกทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในผู้หญิงทุกคนในช่วงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะสามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอที่จะเอาชนะภาวะดื้อต่ออินซูลินเหล่านั้น แต่บางคนก็ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการนั้น ทำให้เกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั่นเอง
และเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะน้ำหนักเกินก็เกี่ยวข้องกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์เช่นกัน ผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจเกิดภาวะภาวะดื้อต่ออินซูลินเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ การมีน้ำหนักมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์ก็อาจถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นไปได้
ปัจจัยอื่นที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวาน
การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม
- โรคเบาหวานชนิดโมโนเจนิก (Monogenic diabetes) เกิดจากการกลายพันธุ์ หรือการเปลี่ยนแปลงของยีนเดี่ยวที่อยู่บนสายโครโมโซม ความผิดปกติเหล่านี้มักจะถ่ายทอดส่งต่อกันในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น แต่บางครั้ง การกลายพันธุ์ของยีนเกิดขึ้นเองได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับจากพ่อหรือแม่โดยตรง
การกลายพันธุ์ของยีนเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำให้เกิดโรคเบาหวานผ่านกลไกที่ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้หรือผลิตได้แต่ไม่สามารถหลั่งออกมาได้
ชนิดของโรคเบาหวานที่พบมากที่สุดของโรคเบาหวานกลุ่มนี้ คือเบาหวานทารกแรกเกิด (จะเกิดอาการขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต) และโรคเบาหวานที่เริ่มมีอาการไวในช่วงวัยเยาว์ (maturity-onset diabetes of the young) หรือ MODY
แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคเบาหวานที่เริ่มมีอาการไวในช่วงวัยเยาว์ ในช่วงระหว่างวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ช่วงต้น แต่บางครั้งก็ไม่มีอาการ และได้รับการวินิจฉัยภายหลังในช่วงที่มีอายุมากขึ้นก็เป็นได้ - โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) จะทำให้เกิดการผลิตเมือกหนา ซึ่งทำให้เกิดแผลเป็นในตับอ่อน โดยแผลเป็นเหล่านี้สามารถขัดขวางไม่ให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้มากเพียงพอ
- โรคฮีโมโครมาโตซิส (Hemochromatosis) เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายเก็บธาตุเหล็กไว้มากเกินไป ถ้าไม่ได้รับการรักษา เหล็กที่สะสมไว้ สามารถแทรกซึมและเข้าทำลายตับอ่อน รวมถึงอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้
โรคฮอร์โมน
โรคฮอร์โมนบางโรคทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดมากเกินไป ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินจนเกิดเป็นโรคเบาหวานตามมาได้ เช่น
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome) เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือมักเรียกว่าฮอร์โมนแห่งความเครียดมากเกินไป
- ภาวะอโครเมกาลี (Acromegaly) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของโครงสร้างร่างกายมากเกินไป
- ภาวะไทรอยด์สูง (Hyperthyroidism) คือ ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป
ความเสียหายต่อตับอ่อน
ภาวะตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับอ่อน และการบาดเจ็บต่อตับอ่อน อาจทำให้เบต้าเซลล์ถูกทำลายไป หรือกระทบกระเทือนจนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ส่งผลให้เกิดเป็นโรคเบาหวานตามมา ถ้าตับอ่อนที่เสียหายถูกกำจัดออกไป โรคเบาหวานจะเกิดขึ้นเนื่องจากการสูญเสียของเบต้าเซลล์ดังกล่าว
ยา
ยาบางตัวอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลสูงได้ โดยมีกลไกหลักๆ ได้แก่ รบกวนการหลั่งอินซูลิน เป็นพิษต่อเบต้าเซลล์ เพิ่มการสร้างน้ำตาลจากตับ หรือรบกวนการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินได้ ได้แก่
- ยาขับปัสสาวะบางชนิด เช่น ยากลุ่ม Thiazide
- ยากันชักบางตัว
- ยาจิตเวช
- ยารักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเอชไอวี (HIV)
- ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Fluoroquinolone
- ยาเพนตามิดีน (Pentamidine) ยาที่ใช้ในการรักษาโรคปอดบวมชนิดหนึ่ง
- ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) ยาที่ใช้ในการรักษาอาการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคไขข้ออักเสบ โรคหืดหอบ กลุ่มอาการลูปัส และอาการลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล
- ยาคุมกำเนิด
- ยาต้านภูมิคุ้มกัน ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
- ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Beta blocker
- ยาลดไขมันในโลหิตบางชนิด เช่น ไนอะซิน (Niacin) ยากลุ่มสตาติน (Statin)
อย่างไรก็ตาม การเกิดภาวะน้ำในเลือดสูงนั้นเป็นเพียงผลข้างเคียงที่อาจเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แต่หากคุณใช้ยาเหล่านี้ แล้วกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดพูดคุยกับแพทย์ประจำตัว ถึงโอกาส ความเสี่ยง และแนวทางที่เป็นไปได้ในการรักษา
โรคเบาหวานสามารถรักษาได้หรือไม่
นอกจากโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่สามารถหายได้เองหลังจากคลอดลูก โรคเบาหวานชนิดอื่นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันมีวิธีควบคุมโรคเบาหวานไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคส การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด หรือการใช้ยาฮอร์โมนอินซูลีน เพื่อทำให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นำพลังงานได้
อย่างไรก็ตาม การรักษาและการป้องกันเบาหวานขั้นแรกคือการควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
โดยอาหารที่รับประทานอาหารควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานผักให้มาก เพิ่มการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติทั่วไป
หนทางที่ดีที่สุดในการรักษาโรคเบาหวาน คือป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวาน โดยคุณสามารถตรวจภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้ที่โรงพยาบาล เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล