อีกหนึ่งอาการผิดปกติที่แม้จะไม่เป็นอันตรายรุนแรงต่อสุขภาพ แต่สามารถรบกวนชีวิตประจำวันได้ไม่น้อย คือ อาการปัสสาวะเล็ด ซึ่งมักทำให้หลายคนรู้สึกรำคาญ และไม่มั่นใจในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน
บทความนี้จะพาคุณทำความเข้าใจสาเหตุ ประเภท วิธีตรวจ และแนวทางการรักษาอาการปัสสาวะเล็ดอย่างครอบคลุมที่สุด
สารบัญ
อาการปัสสาวะเล็ดคืออะไร?
อาการปัสสาวะเล็ด (Urinary Incontinence) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้ จนทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือปัสสาวะไหลระหว่างที่ยังไม่ต้องการขับถ่าย ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นระหว่างทำกิจวัตรที่เกิดแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม หัวเราะ การออกกำลังกาย
อาการปัสสาวะเล็ดสามารถแบ่งประเภทของอาการออกได้ 4 ประเภท ได้แก่
- อาการปัสสาวะเล็ด เมื่อเกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น (Stress Incontinence) มักเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยไอ จาม หัวเราะ เดิน ลุกนั่ง ออกกำลังกาย
- อาการปัสสาวะเล็ด ร่วมกับปวดปัสสาวะฉับพลัน (Urge Incontinence) มักเกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวเร็วเกินไป ทั้งที่ปัสสาวะยังไม่เต็มกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดปัสสาวะแบบฉับพลับและรุนแรง แต่ยังไม่ทันไปถึงห้องน้ำก็จะปัสสาวะเล็ดหรือราดเสียก่อน
- อาการปัสสาวะเล็ดและราด ทั้งขณะที่เกิดแรงดันในช่องท้อง และจากอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน (Mixed Incontinence) เป็นอาการปัสสาวะเล็ดจากหลายปัจจัยร่วมที่ทำให้คนไม่สามารถกลั้นปัสสาวะไว้ได้ ทั้งในส่วนกิจวัตรที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ ของกระเพาะปัสสาวะที่ทำให้ผู้ป่วยปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน เช่น การคลายตัวขึ้นมาเองของท่อปัสสาวะ ท่อปัสสาวะอักเสบ
- อาการปัสสาวะเล็ด เนื่องจากมีปัสสาวะค้าง (Overflow Incontinence) เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถขับปัสสาวะออกมาได้หมด ทำให้ยังมีน้ำปัสสาวะค้างอยู่ และผู้ป่วยไม่สามารถกลั้นไว้ได้ จึงมีน้ำปัสสาวะเล็ดและมักจะกินเวลาเกือบทั้งวันทั้งคืนทำให้รู้สึกรำคาญ เนื่องจากอวัยวะเพศจะเปียกชื้นอยู่ตลอด
ลักษณะของอาการปัสสาวะเล็ด
อาการปัสสาวะเล็ดสามารถสังเกตอาการได้ง่ายๆ โดยผู้ป่วยจะมีปัสสาวะเล็ดออกมาระหว่างที่ทำกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม หัวเราะ ลุกนั่ง ออกกำลังกาย
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นปัสสาวะราด และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงกลางวัน หรือระหว่างนอนหลับ ทำให้ต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย รวมถึงมีปัญหาปัสสาวะรดที่นอน
สาเหตุของอาการปัสสาวะเล็ด
อาการปัสสาวะเล็ดสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกายผู้ป่วย เช่น
- กล้ามเนื้อพยุงอุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง
- ภาวะหย่อนของผนังช่องคลอดด้านหน้า
- ท่อปัสสาวะและหูรูดท่อปัสสาวะหล่อนตัว
- การตั้งครรภ์ ทำให้กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับจากการเติบโตของทารก รวมถึงทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ กระเพาะปัสสาวะคลายตัวมากกว่าปกติ และเมื่อคลอดบุตรแล้ว กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานก็มีโอกาสอ่อนลงจนควบคุมการปัสสาวะได้ยาก
- อายุที่มากขึ้น ทำให้กระเพาะปัสสาวะจุน้ำปัสสาวะได้น้อยลง
- ช่วงวัยหมดประจำเดือน ทำให้ฮอร์โมนที่เสริมความแข็งแรงให้กับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะผลิตน้อยลง
- อาการท้องผูกเรื้อรัง
- พฤติกรรมสูบบุหรี่
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคพาร์กินสัน โรคต่อมลูกหมากโต
- การใช้ยาบางชนิด
ใครเสี่ยงมีอาการปัสสาวะเล็ด
- เพศหญิงมีโอกาสพบอาการปัสสาวะได้มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่เพิ่งผ่านการคลอดบุตร หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- เพศชายที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต
- ผู้สูงอายุ
วิธีตรวจอาการปัสสาวะเล็ด
แพทย์จะเป็นผู้ประเมินรายการตรวจวินิจฉัยอาการปัสสาวะเล็ดที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย โดยรายการตรวจที่นิยมใช้ ได้แก่
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถช่วยคัดแยกประเภทของอาการปัสสาวะเล็ดได้มากพอสมควร ในผู้ป่วยบางรายหากสามารถตอบคำถามของแพทย์เกี่ยวกับอาการปัสสาวะเล็ดได้อย่างชัดเจน ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งวิธีการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ เพิ่มเติม
- คำถามที่แพทย์มักถามสำหรับวินิจฉัยอาการปัสสาวะเล็ด ได้แก่
- อาการปัสสาวะเล็ดเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ เป็นมานานหรือยัง
- มีอาการปัสสาวะเล็ดประมาณกี่ครั้งต่อวัน
- ปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมามากน้อยแค่ไหน
- ลักษณะของปัสสาวะเป็นลำพุ่งหรือเป็นหยดเล็กๆ
- ความเร่งรีบในการไปถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้ง
- ขับปัสสาวะไปแล้วยังปวดปัสสาวะอยู่หรือไม่
- เคยมีประวัติตั้งครรภ์มาก่อนหรือไม่
- รายการตรวจร่างกายที่มักนิยมใช้สำหรับวินิจฉัยอาการปัสสาวะเล็ด ได้แก่
- การตรวจภายในสำหรับผู้ป่วยผู้หญิง
- การตรวจทางทวารหนักสำหรับผู้ป่วยผู้ชาย เพื่อหาความเสี่ยงโรคต่อมลูกหมากโต
- คำถามที่แพทย์มักถามสำหรับวินิจฉัยอาการปัสสาวะเล็ด ได้แก่
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจวัดปริมาณปัสสาวะหลังปัสสาวะเสร็จ
- การอัลตราซาวด์ช่องท้อง
- การส่องกล้องท่อปัสสาวะ หรือกระเพาะปัสสาวะ
- การตรวจปัสสาวะพลศาสตร์ (Urodynamic tests)
วิธีรักษาอาการปัสสาวะเล็ด
อาการปัสสาวะสามารถรักษาได้หลายวิธีตั้งแต่วิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ไปจนถึงการรักษาภายใต้การดูแลจากแพทย์ ดังนี้
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด เช่น การลดน้ำหนัก การหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การงดหรือจำกัดปริมาณการดื่มน้ำและเครื่องดื่มคาเฟอีนก่อนนอน การฝึกบริหารอุ้งเชิงกราน การฝึกขมิบช่องคลอด
- การนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า เพื่อเสริมความแข็งแกรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
- การใช้ยา เช่น ยาควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ยาฮอร์โมน ยาฆ่าเชื้อ
- การผ่าตัดใส่สลิงพยุงท่อปัสสาวะ
อาการปัสสาวะเล็ด อันตรายไหม?
อาการปัสสาวะเล็ดเป็นอาการที่ไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ แต่มักทำให้เกิดความรำคาญ และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง
การป้องกันอาการปัสสาวะเล็ด
บางปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดนั้นอาจมีวิธีป้องกันได้ยาก แต่เรายังสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดอาการนี้ได้ ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพบางประการ เช่น
- งดการสูบบุหรี่ และงดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- งดการยกของหนัก หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง แต่ควรปฏิบัติภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ลดน้ำหนัก รักษาน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์เหมาะสมอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ก่อนนอน
- ยังต้องดื่มน้ำให้เพียงพอเสมอ ผู้ป่วยบางรายอาจมองว่าควรดื่มน้ำให้น้อยเพื่อจำกัดความถี่ในการปัสสาวะ แต่ความจริงแล้ว การดื่มน้ำน้อยเกินไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการลดความจุของกระเพาะปัสสาวะได้ และยังเสี่ยงทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคท้องผูกซึ่งทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดตามมาได้
- งดการกลั้นปัสสาวะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
อาการปัสสาวะเล็ดเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่อาจไม่ส่งผลอันตรายร้ายแรง แต่ก็สามารถทำให้กิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิตแย่ลงได้ ดังนั้นเมื่อสังเกตว่ามีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือมีปัสสาวะเล็ดอย่างที่ไม่เคยเป็น ควรเข้ารับการตรวจและรักษาจากแพทย์โดยเร็ว
เริ่มมีอาการปัสสาวะเล็ด กลั้นฉี่ไม่ค่อยอยู่ ต้องรักษาอย่างไร ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคปัสสาวะเล็ด จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย