ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B (Influenza type B) เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ก่อไข้หวัดใหญ่ที่พบได้บ่อยในคน อาการอาจไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A แต่ใช่ว่าจะละเลยได้ เร่งเช็กสัญญาณอาการไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B และเรียนรู้วิธีป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ กัน
สารบัญ
ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B เกิดจากอะไร ติดต่ออย่างไร
ต้นเหตุไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B ไม่ต่างจากสายพันธุ์ A คือ การติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ในระบบทางเดินหายใจ จนเกิดอาการในระบบอวัยวะดังกล่าวตามมา
ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่สำคัญ ได้แก่ ยามากาตะ (Yamagata) และวิคตอเรีย (Victoria) จะเกิดการติดเชื้อแค่ในคนเท่านั้น ต่างจากสายพันธุ์ A ที่ติดเชื้อได้ทั้งคน และสัตว์
การแพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B มาจากหลายช่องทาง ได้แก่
- การหายใจเอาละอองเชื้อไวรัสที่ปะปนอากาศเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อเหล่านี้มาจากการไอหรือจามของผู้ป่วย
- การสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น กอด จับมือ หรือใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน
- การสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส แล้วนำมือนั้นมาสัมผัสใบหน้า
อาการไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B มีอะไรบ้าง
หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายมักแสดงอาการใน 1–4 วัน อาการมักไม่รุนแรงเท่าไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A แต่ลักษณะอาการจะคล้ายกัน เช่น
- มีไข้สูงเฉียบพลัน 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- ปวดศีรษะ
- ไอ เจ็บคอ
- น้ำมูกไหล คัดจมูก
- อ่อนเพลีย หนาวสั่น
- ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร แต่พบได้น้อยมาก
ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B หายได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
กรณีอาการรุนแรงขึ้นหรือพบอาการผิดปกติอื่น เช่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม มีปัญหาการหายใจ ปวดมาก อ่อนเพลียมาก ไข้สูงไม่ยอมลดลง ชัก เวียนหัวรุนแรง หรือหมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์
กลุ่มเสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B รุนแรง มีใครบ้าง
ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B อาจเป็นปัญหาใหญ่ในเด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีปัญหาสุขภาพ เพราะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนสุขภาพดีทั่วไป
กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะต่ำกว่า 2 ปีลงไป
- คนสูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- สตรีมีครรภ์
- ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคเอดส์ โรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง และผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบ โรคปอด หรือโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบประสาท โรคการเผาผลาญ โรคการทำงานของกล้ามเนื้อ โรคตับ โรคไต หรือโรคเลือด
- คนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วน
วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B
ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B ป้องกันได้หลายวิธี ดังนี้
- งดอยู่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมถึงแยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ หรือทำความสะอาดด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์
- สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเมื่อออกไปนอกบ้านหรืออยู่ในพื้นที่แออัด
- เช็ดล้างทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณที่สัมผัสบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวจับบันได กุญแจ หรือโทรศัพท์
- หมั่นดูแลตัวเองให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกาย ทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีประโยชน์ หรือพักผ่อนให้เพียงพอ
ในทุกปีต้องไม่ลืมไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยมีวัคซีน 2 ชนิดให้เลือก ได้แก่ ชนิด 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 ชนิด จะช่วยป้องกันสายพันธุ์ A จำนวน 2 สายพันธุ์ย่อยอย่าง H1N1 และ H3N2 แต่จะมีความต่างตรงสายพันธุ์ B คือ ชนิด 3 สายพันธุ์จะป้องกันเพียงสายพันธุ์ Yamagata หรือ Victoria อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่ชนิด 4 สายพันธุ์ จะป้องกันได้ทั้งคู่
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ไม่เพียงลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ แต่ยังลดความรุนแรงของโรคและความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน รวมถึงลดโอกาสเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย
ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่แพทย์มักเน้นย้ำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี
อย่าคิดว่า ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ B ไม่รุนแรงแล้วจะออกไปเชิดได้ รีบหา แพ็กเกจฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ด่วน! ที่ HDmall.co.th มีให้เลือกครบในราคาสบาย รีบฉีดแล้วไปเชิดกันนน