Default fallback image

ภาวะสมองฝ่อ อาการทางสมองพบบ่อยในผู้สูงอายุ

เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้สูงอายุหลายคนอาจต้องเผชิญกับภาวะสมองฝ่อ แล้วสมองฝ่อคืออะไร เหมือนสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ไหม วันนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับภาวะสมองฝ่อให้มากขึ้น เพื่อให้รู้วิธีรับมือ และดูแลคนที่คุณรักได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ 

ภาวะสมองฝ่อ คืออะไร 

สมองฝ่อหรือสมองเหี่ยว (Cerebral atrophy หรือ Brain atrophy) เป็นภาวะสูญเสียเซลล์สมอง และการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองลดน้อยลง โดยอาจเกิดขึ้นบางส่วนของสมอง (Focal Atrophy) หรือสมองฝ่อทุกส่วน (Generalized Atrophy) ทำให้ปริมาณของเนื้อสมองน้อยลง สมองมีขนาดเล็กลง 

หากสมองฝ่อบริเวณใดจะส่งผลต่อการทำงานส่วนนั้นที่สมองควบคุมอยู่ เช่น สมองฝ่อส่วนที่ควบคุมอวัยวะจะส่งผลต่ออวัยวะนั้นโดยตรง หรือสมองฝ่อส่วนความจำ จะทำมีปัญหาด้านความทรงจำ และนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้

ภาวะสมองฝ่อ เหมือนภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

คนทั่วไปคิดว่าสมองฝ่อกับสมองเสื่อมหมายถึงโรคเดียวกัน มีปัญหาด้านความทรงจำอย่างเดียว จริง ๆ แล้ว สมองฝ่อกับสมองเสื่อม (Dementia) ไม่เหมือนกัน แต่มีความเกี่ยวข้องกัน

ภาวะสมองเสื่อมหรือโรคสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานของสมองเสื่อมถอยลง ส่งผลให้ระบบประสาทและสมองผิดปกติหลายด้าน ทั้งความทรงจำ การคิด อารมณ์ พฤติกรรม และอื่น ๆ จนกระทบกับการใช้ชีวิต แต่สมองเสื่อมอาจทำให้เซลล์สมองตาย นำไปสู่ภาวะสมองฝ่อได้ 

ส่วนภาวะสมองฝ่อไม่ได้มีการทำงานของสมองเสื่อมถอย แต่ปริมาณของเนื้อสมองน้อยลง อาการจะขึ้นอยู่กับสมองส่วนใดฝ่อ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องสูญเสียความทรงจำเสมอไป ยกเว้นสมองฝ่อบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ 

ภาวะสมองฝ่อเกิดจากอะไร  

ปกติแล้ว สมองฝ่อมักเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวัยที่อายุมากขึ้น ทำให้พบบ่อยในผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 75 ปีขึ้นไป แต่สามารถเกิดในช่วงวัยอื่นได้เช่นเดียวกัน โดยจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ  เช่น 

  • ปัญหาสุขภาพที่มีผลให้เซลล์ประสาทเสื่อม เช่น โรคฮันติงตัน (Huntington’s disease) โรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมชนิดต่าง ๆ โรคสมองพิการ (Cerebral palsy) และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) 
  • การบาดเจ็บทางสมอง ทำให้เซลล์สมองขาดเลือดและตายลง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน การขาดออกซิเจน และอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนทางสมอง
  • การติดเชื้อบางชนิดบริเวณสมอง เช่น โรคเอดส์ โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือโรคซิฟิลิส 
  • พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป อดอาหาร และพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของสมองฝ่อ เช่น การได้รับสารพิษ การขาดออกซิเจน หรือร่างกายมีสารโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) มากเกินไป

อาการสมองฝ่อเป็นแบบไหน

อาการสมองฝ่อจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณของสมองที่ได้รับความเสียหาย โดยมากจะพบอาการต่อไปนี้ 

  • มีความบกพร่องทางการสื่อสาร เช่น พูดลำบาก พูดซ้ำ พูดไม่ปะติดปะต่อ เลือกใช้คำไม่ถูกต้อง พูดไม่จบประโยค เขียนหนังสือลำบาก ไม่เข้าใจความหมายของคำต่าง ๆ 
  • สมองเสื่อม ทำให้สูญเสียความทรงจำ คิดช้า เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ยาก มีปัญหาด้านการพูด การเคลื่อนไหว การจัดการความคิดให้เป็นระบบ อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง อาจเห็นภาพหลอน
  • มีอาการชัก กล้ามเนื้อเกร็ง ชักกระตุก ขบฟัน กลอกตาผิดปกติ เคลื่อนไหวผิดปกติ หมดสติ 

หากพบอาการในข้างต้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด และรับการรักษาที่เหมาะสม ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติ อาการผิดปกติ และตรวจร่างกายทั่วไป 

จากนั้นจะส่งตรวจตามอาการที่เข้าข่าย และประเมินการทำงานของสมอง เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT Scan) การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเลือดหาสารเคมีบางอย่าง

ภาวะสมองฝ่อรักษาได้ไหม 

การรักษาภาวะสมองฝ่อต้องดูตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค หากเกิดจากสาเหตุที่รักษาได้ การรักษาจะช่วยให้อาการสมองฝ่อดีขึ้นได้ แต่อาการอาจไม่หายขาด ซึ่งมีทั้งการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด หรือทำกิจกรรมบำบัด การผ่าตัด และอื่น ๆ 

นอกจากนี้ ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันตามแพทย์แนะนำ ปรับสถานที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายยิ่งขึ้น

ภาวะสมองฝ่อป้องกันได้ไหม

การหมั่นดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอเป็นส่วนสำคัญที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองฝ่อลงได้ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ หาวิธีคลายเครียดที่เหมาะสม ไม่สูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์

คนที่มีโรคประจำตัว ควรควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายสมอง โดยฝึกการคิด ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ลองทำกิจกรรมใหม่ หากใครมีปัจจัยเสี่ยงของโรค อายุมากขึ้น ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจสุขภาพสมองได้ 

เรื่องสมอง ตรวจคัดกรองก่อนได้ ไม่ต้องกลัวฝ่อ ลองดู แพ็กเกจตรวจสมอง HDmall.co.th มัดรวมไว้ให้ หลากหลาย ใกล้บ้าน คุณภาพคุ้มราคา! 

Scroll to Top