ท้องผูก ขับถ่ายยาก ถ่ายไม่สุด ท้องผูกสลับท้องเสีย มีมูกเลือดปน…รู้ไหม อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้!
โรคมะเร็งลำไส้คืออะไร อาการที่เด่นชัดเป็นยังไง เกิดจากสาเหตุใด เป็นแล้วรักษาได้ไหม มีวิธีรักษากี่วิธี บทความนี้จะพาไปเจาะลึกทุกแง่มุมให้คุณทราบ
สารบัญ
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร? มีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) เป็นอีกโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเองข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่าในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้รายใหม่ถึง 15,000 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้โรคมะเร็งลำไส้ เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ และเจริญเติบโตกลายเป็นติ่งเนื้อ ก่อนจะพัฒนากลายเป็นเชื้อมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ โดยแบ่งระยะได้ดังต่อไปนี้
- ระยะที่ 0: มีติ่งเนื้อเกิดขึ้นที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นบ่อเกิดสำคัญที่มักจะพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลัง แต่หากตรวจพบในระยะนี้ แพทย์สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต
- ระยะที่ 1: ก้อนติ่งเนื้อเริ่มพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง และฝังตัวเข้าไปในใต้เยื่อบุลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายลึกลงไปยังชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ รวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง
- ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
- ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น มักไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาเลย หรืออาจแสดงอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบขับถ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้บางคนอาจละเลย และคิดว่าไม่ใช่อาการร้ายแรงได้ จึงไม่ได้เข้ารับการรักษา
หรือบางคนอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจเลือด หรือตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ถึงค่อยเจอรอยโรค
หรือในผู้ป่วยหลายรายก็มักมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจไปทับซ้อนกับอาการของโรคในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ อีกได้ จนทำให้ไม่รู้ว่า กำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยอาการเด่นๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปวดท้อง โดยมักจะปวดแสบร้อน หรือรู้สึกปวดเป็นตะคริวที่ท้อง
- ท้องเสียสลับท้องผูก
- ท้องอืด หรือรู้สึกแน่นท้อง คล้ายกับอาหารไม่ย่อย ไม่ผายลม
- หลังถ่ายอุจจาระ ยังรู้สึกว่าขับถ่ายไม่สุด
- มีอุจจาระปนเลือดสด หรือมีสีคล้ำมาก
- ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไป เช่น เป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือเรียวยาวกว่าปกติ
- มีไข้
- น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อ่อนเพลียง่ายผิดปกติ
- พบภาวะโลหิตจาง
หากใครเริ่มรู้สึกว่า ตนเองมีอาการเหล่านี้ หรือมีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่ผิดสังเกต แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หากมีสัญญาณเสี่ยงจะได้วางแผนรักษาได้ทัน
สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เชื่อกันว่า โรคนี้สามารถเกิดได้จากปัจจัยกระตุ้นบางประการ เช่น
- อายุที่มากขึ้น โดยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักพบได้บ่อยในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป และพบบ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- ประวัติมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือมีประวัติเกี่ยวกับโรคที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม
- มีประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้
- โรคเบาหวาน รวมถึงการมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ หรือมีภาวะอ้วน
- พฤติกรรมการกินอาหารแปรรูป อาหารประเภทเนื้อแดงบ่อยครั้ง การบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงเป็นประจำ
- พฤติกรรมสูบบุหรี่
- พฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย
วิธีตรวจโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
แนวทางการตรวจโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถแบ่งออกได้ 3 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่
- การเก็บอุจจาระ เพื่อหาเลือดที่ปะปนในอุจจาระและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สามารถช่วยตรวจคัดกรองโรคในระบบทางเดินอาหารได้หลายอย่าง เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคริดสีดวงทวาร ถุงผนังลำไส้ใหญ่โป่งพอง การมีติ่งเนื้อและเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ รวมถึงเนื้องอกชนิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Colonoscopy ผ่านการสอดอุปกรณ์และสารทึบรังสีเข้าไปในทวาร เพื่อถ่ายภาพเงาภายในลำไส้ซึ่งอาจมีลักษณะผิดปกติ และเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งลำไส้ได้
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยแพทย์จะสอดลำกล้องขนาดเล็กที่โค้งงอได้เข้าไปในทวารหนัก เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ได้อย่างละเอียด
วิธีรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
วิธีรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะแบ่งออกได้ 3 วิธีหลัก ๆ ได้แก่
- วิธีผ่าตัด (Surgery) เพื่อตัดนำลำไส้และต่อมน้ำเหลืองส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเซลล์มะเร็งออก นิยมใช้รักษาในผู้ที่พบโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกๆ โดยแบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 2 รูปแบบคือ
- การผ่าตัดแบบเปิด (Open Colectomy) เป็นการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ประมาณ 20-30 เซนติเมตรทางหน้าท้อง นิยมใช้ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก หรือก้อนมะเร็งไปติดกับเนื้อเยื่อข้างเคียงมาก
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Colectomy) เป็นการผ่าตัดเปิดแผล 3-4 รู ขนาดรูละประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ทำให้เจ็บแผลน้อยกว่า และฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วกว่า
- วิธีฉายแสง (Radiation Therapy) หรือการทำรังสีรักษา เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงในการกำจัดและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยส่วนมากนิยมรักษาร่วมกับวิธีผ่าตัดและการทำเคมีบำบัด
- วิธีทำเคมีบำบัด หรือการทำคีโม (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาที่สามารถหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ นิยมรักษาร่วมกับวิธีผ่าตัดหรือวิธีฉายแสง
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากยิ่งตรวจพบเร็ว โอกาสรักษาหายขาดก็สูง ฉะนั้นหากพบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการผิดปกติที่คล้ายคลึงกับโรคมะเร็งลำไส้ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองอย่างละเอียด เพื่อจะได้รักษาได้ทันท่วงที
ไม่แน่ใจว่าปวดท้องแบบนี้ อึเป็นแบบนี้คือสัญญาณโรคอะไรมั้ย ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย