รู้หรือไม่ สาเหตุหลักทำให้ตับอักเสบมาจาก “การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ” และแทบไม่แสดงอาการให้รู้ตัว ยิ่งปล่อยให้ตับอักเสบไปเรื่อย ๆ จะก่อให้เกิดตับแข็ง และมะเร็งตับในอนาคต
เชื้อไวรัสตับอักเสบมีอยู่หลายชนิด การติดต่อและแพร่กระจายเชื้อจะแตกต่างกันไปด้วย ไม่ว่าจะติดต่อชนิดไหนก็ล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพตับทั้งสิ้น ไปดูกันว่า ไวรัสตับอักเสบมีกี่ชนิด ชนิดไหนพบบ่อย อาการเป็นแบบไหน และมีวัคซีนป้องกันได้ไหม
สารบัญ
ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) คืออะไร มีกี่ชนิด
ไวรัสตับอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่ตับ เซลล์ตับถูกทำลายทีละน้อย จนเกิดผังผืดหรือรอยแผลเป็นในตับ เรียกว่าภาวะตับแข็ง และเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งตับ
ไวรัสตับอักเสบอาจเป็นการอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์หรือชนิดของไวรัส แบ่งได้เป็น 5 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี และอี โดยไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี และซี จะพบบ่อยกว่าไวรัสตับอักเสบชนิดดีและอี
อาการและการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
ไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดมีการแพร่กระจายเชื้อต่างกัน แต่อาการผู้ติดเชื้อไวรัสตับเสบมักจะคล้ายคลึงกัน ดังนี้
ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A virus)
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอเป็นชนิดที่พบบ่อย เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพิคอร์นาวิริเด (Picornavirus) ผ่านการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส หรืออุจจาระที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำ แต่ไม่ติดต่อจะไม่ติดต่อทางน้ำลายและปัสสาวะ
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอทำให้เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลันของตับหลังติดเชื้อประมาณ 2–6 สัปดาห์ อาการมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงมากจนเสียชีวิต ส่วนใหญ่เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี จะมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ ส่วนผู้ใหญ่อาการจะรุนแรงและชัดเจนกว่า
อาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอที่มักพบ คือ อ่อนเพลีย ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีไข้ จุกแน่นท้องใต้ชายโครงขวา ถ่ายเหลว ตาเหลือง ตัวเหลือง (ดีซ่าน)
หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมสามารถหายได้ในช่วง 2 เดือน เมื่อหายเป็นปกติแล้ว จะไม่เป็นพาหะของโรคที่แพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น และไม่เป็นเรื้อรัง เพราะร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้หลังจากฟื้นตัว
ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus)
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นอีกชนิดที่พบบ่อย ติดต่อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ ทั้งการสัมผัสโดน การใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน หรือใบมีดโกน ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผล หรือรอยถลอกทางผิวหนัง
รวมถึงการสักและการเจาะร่างกายที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ป้องกัน และการถ่ายทอดจากแม่ที่ติดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นช่องทางการติดเชื้อที่พบบ่อยในประเทศไทย
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะทำให้ตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนมากไม่มีอาการให้ชัดเจน อาการจะเริ่มแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1–3 เดือน เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ อ่อนแรง อาจมีไข้ ปวดท้องหรือจุกแน่นใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะมีสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง
หลังติดเชื้อร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้น อาการจะดีขึ้นในช่วง 2–4 สัปดาห์ และมักจะหายได้ภายใน 3 เดือนหากไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่อาจยังมีเชื้อหลงเหลือในร่างกาย ทำให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ หรือเป็นพาหะ จึงต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจว่ายังมีเชื้อหลงเหลือหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางส่วนอาจมีการติดเชื้อต่อเนื่อง มักเป็นการติดเชื้อตั้งแต่เด็ก หากเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไปจะเข้าสู่ระยะตับอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดพังผืดในตับหรือภาวะตับแข็ง และเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งตับ
ตับอักเสบเรื้อรังระยะแรกอาจไม่มีอาการ หรือมีเล็กน้อยเหมือนตับอักเสบเฉียบพลัน พอโรคลุกลามขึ้นมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องบวม เท้าบวม อาเจียนเป็นเลือด ตัวเหลือง ตาเหลือง
ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus)
เชื้อไวรัสตับอักเสบซี แบ่งย่อยเป็นชนิดที่ 1–6 ในประเทศไทยจะพบชนิดที่ 1 และ 3 ได้บ่อยกว่าชนิดอื่นหรือราว 40% มักก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังมากกว่าตับอักเสบเฉียบพลัน
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะคล้ายกับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี คือ ติดต่อทางเลือดจากผู้ติดเชื้อ หรือทางเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน แต่ไม่ติดต่อกันทางการให้นมบุตร การไอและจามรดกัน การกินอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีระยะแรกจะก่อให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยแทบไม่มีอาการเลย หรือมีอาการน้อย เป็นอาการทั่วไป มักเกิดหลังติดเชื้อราว 6–8 สัปดาห์ เช่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดชายโครงขวา และปัสสาวะสีเข้ม
หลายคนเลยไม่รู้ว่าตนติดเชื้อ ยกเว้นได้รับการตรวจเลือด เมื่อไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ตับถูกทำลายไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง นำไปสู่ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับในอนาคตได้
ไวรัสตับอักเสบดี (Hepatitis D virus)
ไวรัสตับอักเสบดีเป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ เพิ่มจำนวนเองไม่ได้ ต้องอาศัยโปรตีนของไวรัสตับอักเสบบีเข้าสู่ตับ คนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีจึงเป็นคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อนเท่านั้น
ไวรัสตับอักเสบดีติดต่อกันผ่านทางการสัมผัสกับเลือดที่มีเชื้อ การใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อ มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรังได้เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบบี
อาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีระยะแรกจะคล้ายคลึงกับไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น เช่น อ่อนเพลีย อาจมีไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และปัสสาวะสีเข้ม หากเกิดตับอักเสบเฉียบพลันอย่างรุนแรงอาจเสี่ยงชีวิตได้
กรณีเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีแบบเรื้อรัง ร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะเร่งการเป็นมะเร็งตับได้เร็วมากยิ่งขึ้น 2–3 เท่า เมื่อเทียบกับคนติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพียงอย่างเดียว
ไวรัสตับอักเสบอี (Hepatitis E virus)
ไวรัสตับอักเสบอีคล้ายกับไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อผ่านทางการกินอาหาร หรือน้ำที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน อุจจาระปนเปื้อนในอาหารและน้ำ ทำให้ตับอักเสบเฉียบพลัน เมื่อหายแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่เป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น และไม่เป็นเรื้อรัง
คนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีมักไม่แสดงอาการ หากมีอาการก็มักจะไม่รุนแรงนักคล้าย ๆ กับไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น เช่น อุจจาระมีสีซีด ปัสสาวะมีสีเข้ม ตาเหลืองและตัวเหลือง อ่อนเพลีย อาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง
ตารางเปรียบเทียบไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด
ชนิด | ชนิดเอ (A) | ชนิดบี (B) | ชนิดซี (C) | ชนิดดี (D) | ชนิดอี (E) |
การติดเชื้อ | พบบ่อย | พบบ่อย | พบบ่อย | พบน้อย | พบน้อย |
การแพร่เชื้อ | กินอาหารและน้ำปนเปื้อนเชื้อ | ทางเลือด เพศสัมพันธ์ และแม่สู่ลูก | ทางเลือด เพศสัมพันธ์ | ทางเลือด เพศสัมพันธ์ |
กินอาหารและน้ำปนเปื้อนเชื้อ |
ผลต่อตับ | ตับอักเสบเฉียบพลัน ไม่เป็นเรื้อรัง | ตับอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง อาจนำไปสู่โรคตับ และมะเร็งตับ | ตับอักเสบเฉียบพลัน ไม่เป็นเรื้อรัง | ||
วัคซีนป้องกัน | วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6–12 เดือน | วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 0, 1, 6 เดือน | ไม่มีวัคซีนป้องกัน | วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีป้องกันได้ | ไม่มีวัคซีนป้องกัน |
ไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด มีโอกาสรักษาหายไหม
ไวรัสตับอักเสบเอ และอี
ส่วนใหญ่หายได้เอง หรือรักษาแล้วจะหายขาด ร่างกายมีภูมิต่อโรค ทำให้ไม่เป็นโรคซ้ำอีก และไม่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง แต่ไวรัสตับอักเสบอี มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคตับอักเสบรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ มีโอกาสแท้งลูกและเสี่ยงเสียชีวิตได้มาก
ไวรัสตับอักเสบบี
ผู้ป่วยราว 90% มักเป็นแบบเฉียบพลัน มีโอกาสหายขาดได้เอง มีเพียงส่วนน้อยราว 5–10% กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และยังคงตรวจพบเชื้ออยู่ตลอด เพิ่มโอกาสเป็นตับแข็ง และอาจเป็นมะเร็งตับในอนาคต
ไวรัสตับอักเสบซี
ผลการรักษาขึ้นกับชนิดของไวรัสตับอักเสบซี ผู้ป่วยประมาณ 85 % เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะนำไปสู่การเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ
ไวรัสตับอักเสบดี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีเกิดเฉพาะในคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ค่อนข้างน้อย และยังเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีร่วมด้วย
การป้องกันตัวให้ห่างจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ
ไวรัสตับอักเสบป้องกันได้โดยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในข้างต้น และฉีดวัคซีนป้องกันไว้รัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ ตามคำแนะนำต่อไปนี้
ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ
วัคซีนจะช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ถือเป็นวิธีป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบที่มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันมีเฉพาะวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น แต่วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีได้ด้วย
- วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป จะฉีดทั้งหมด 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 6–12 เดือน
- วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด จะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เข็มแรกฉีดตามเวลาที่นัด เข็มที่ 2 ฉีดห่างจากเข็มแรกภายใน 1 เดือน และเข็มที่ 3 ฉีดห่างจากเข็มที่ 2 ภายใน 6 เดือน
เมื่อฉีดครบแล้ว ส่วนใหญ่ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงเกือบ 100% แต่ต้องฉีดให้ครบตามจำนวนของวัคซีนชนิดนั้น ๆ บางคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงอาจต้องตรวจเลือดซ้ำ
เช็กโปรวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ
รักษาสุขอนามัยที่ดี
รักษาความสะอาดส่วนตัวและส่วนรวม เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนกินอาหารหรือสัมผัสใบหน้า ไม่กินอาหารหรือดื่มน้ำที่เสี่ยงปนเปื้อน เลือกกินอาหารปรุงสุก น้ำดื่มสะอาด ผักผลไม้ควรล้างให้สะอาดก่อนกิน เมื่อกินอาหารรวมกับผู้อื่นควรให้ช้อนกลาง
มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
เมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง และไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อลดโอกาสได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว
หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งจากผู้อื่นโดยไม่ป้องกัน
สารคัดหลั่งสามารถเป็นตัวนำพาเชื้อไวรัสมาสู่ผู้ที่สัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำอสุจิของผู้ติดเชื้อ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใส่ถุงมือหรืออุปกรณ์ช่วยป้องกัน
ไม่ใช่เข็ม ของมีคม หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เข็มฉีดยา ใบมีดโกน แปรงสีฟัน หรืออุปกรณ์ในการสัก เพราะอาจมีเชื้อไวรัสติดมา หากมีบาดแผลหรือมีรอยถลอกอาจได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้
ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติของร่างกาย และการตรวจเลือดเองยังช่วยให้ทราบถึงการติดเชื้อไวรัสที่ตับได้ด้วย เป็นผลดีต่อการรักษา ลดโอกาสเกิดอาการรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน
ป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าแก้ทีหลัง ตรวจสุขภาพตับ ฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ จองผ่าน HDmall รับโปรสุดคุ้ม เลือกรพ. หรือคลินิกใกล้บ้านได้เลย