กลิ่นตัว คือ กลิ่นที่ติดตัวเราซึ่งเกิดจากต่อมกลิ่น (Apocrine gland) บริเวณต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยส่วนมากกลิ่นจะเกิดบริเวณ รักแร้ ท้ายทอย ศีรษะ ขาหนีบ หรือแม้แต่บริเวณอวัยวะเพศก็สามารถเกิดกลิ่นได้
กลิ่นตัวเกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังบริเวณดังกล่าว และเกิดจากการย่อยสลายของเหงื่อจนเกิดเป็นกรดไขมันหลายชนิดรวมถึงเชื้อราจนทำให้เกิดการอับชื้น แล้วเกิดเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ขึ้นมา
กลิ่นตัวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศชายและหญิง แต่เพศชายจะมีกลิ่นที่ค่อนข้างแรงกว่า เพราะในเพศชายนั้นจะมีต่อมเหงื่อที่แยกออกไปเยอะกว่า และมักจะรักษาความสะอาดได้ไม่ดีเท่าเพศหญิง
สารบัญ
ชนิดของเหงื่อที่ร่างกายขับออกมา
ร่างกายของเราจะขับเหงื่อออกมา 2 ชนิด คือ
- อะโพไครน์ (Aprocrine) เป็นเหงื่อที่ร่างกายจะผลิตออกมาบริเวณรักแร้ มือ เท้า บริเวณข้อพับตามร่างกาย และอวัยวะเพศ ซึ่งเหงื่อชนิดนี้จะมีส่วนประกอบของไขมันและโปรตีนที่เป็นอาหารชั้นดีของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้บริเวณที่เหงื่อชนิดนี้ผลิตออกมามักจะเกิดกลิ่นตัวที่รุนแรงกว่าบริเวณอื่น
- เอคครีน (Eccrine) เป็นเหงื่อที่ถูกขับออกจากร่างกายเพื่อลดอุณหภูมิและระบายความร้อนในตัวเรา นั่นคือสาเหตุว่า ทำไมเมื่อเราออกกำลังกายแล้วเหงื่อออกมาเยอะ แต่กลับไม่มีกลิ่นเหม็นอะไร เพราะเหงื่อชนิดนี้จะไม่มีกลิ่นตัวติดมาด้วยนั่นเอง
ปัจจัยในการเกิดกลิ่นตัว
- เชื้อชาติ คนบางชาติพันธุ์จะมีกลิ่นตัวที่แรงกว่าชาติอื่น เช่น ชาวยุโรป ชาวอินเดีย ชาวตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนมากมักจะมีกลิ่นตัวที่แรงกว่าชาติพันธุ์ฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะคนผิวดำ เพราะจะมีพันธุกรรมของต่อมเหงื่อที่มีความรุนแรงกว่าคนผิวขาว
- อาหาร อาหารบางชนิดก็มีผลทำให้เกิดกลิ่นตัวได้ โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมัน นม เนยที่มีกรดไขมันสูง สารระเหยในอาหารเหล่านี้จะถูกขับออกมาพร้อมกับเหงื่อและทำให้เกิดกลิ่นตัวได้
- ฮอร์โมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยรุ่น เพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่มีผลต่อการเกิดกลิ่นตัวได้มาก แต่ปัจจัยนี้จะมีน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
- วัฒนธรรมและสภาพอากาศ ผู้คนบางประเทศที่อยู่ในพื้นที่ที่อากาศหนาวมักจะไม่อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายบ่อยๆ จนส่งผลให้เกิดกลิ่นตัวได้ รวมถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนบางประเทศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดตามร่างกายมากมาย ก็ส่งผลทำให้มีกลิ่นตัวได้ถึงแม้จะมีพันธุกรรมกลิ่นตัวที่ไม่แรงก็ตาม
วิธีลดกลิ่นตัว ทำอย่างไรได้บ้าง
จากปัจจัยที่ทำให้เกิดกลิ่นตัวในข้างต้น เราสามารถลดการเกิดกลิ่นตัวที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น
- รักษาความสะอาดของร่างกายเป็นประจำ โดยการอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเน้นถูสบู่ในบริเวณที่เกิดกลิ่นได้ง่าย เช่น รักแร้ ข้อพับ มือและเท้า รวมถึงซักเสื้อผ้าให้สะอาด งดเว้นการใส่เสื้อผ้าซ้ำก็จะช่วยลดกลิ่นตัวได้ แต่ในกรณีที่หากซักแล้วเสื้อก็ยังมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ติดอยู่อีก ให้เปลี่ยนวิธีซักเป็นแช่ผ้าก่อนซักไว้ประมาณ 15 นาทีแล้ว ค่อยล้างน้ำออก จากนั้นให้แช่น้ำยาปรับผ้านุ่มไว้อีก 15 นาที แล้วค่อยนำขึ้นตาก
- รับประทานอาหารให้เหมาะสม การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นวิธีที่จะช่วยลดกลิ่นตัวได้ โดยให้เน้นรับประทานอาหารประเภทผักสดทั้งใบเขียว ใบเหลือง และผลไม้สดชนิดต่างๆ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีธาตุสังกะสี หรือแมกนีเซียม เช่น ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท อาหารทะเล อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงอาหาร ผัก และผลไม้ที่มีกลิ่นแรง เช่น สะตอ ทุเรียน หัวหอม กระเทียม ปลาร้า รวมถึงการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดด้วย
- ลดความเครียด ความเครียดเป็นอีกสาเหตุที่จะยิ่งทำให้กลิ่นตัวเราแรงขึ้นได้ เพราะร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมามากขึ้น ฉะนั้นเราจึงควรลดความเครียดและมีการแบ่งเวลาพักผ่อนให้จิตใจได้สดชื่นผ่อนคลายบ้าง รวมถึงอาจหาสิ่งที่ชอบทำในยามว่างเพื่อให้ตนเองไม่หมกมุ่นกับความเครียดเกินไป เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิ้ง ไปพบปะเพื่อนฝูง
- พักผ่อนให้เพียงพอ การฝืนไม่ยอมพักผ่อนอย่างเพียงพอเมื่อร่างกายต้องการจะยิ่งเข้าไปกระตุ้นความเครียด และอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับรวมถึงทำให้มีกลิ่นตัวแรงขึ้นกว่าเดิม
- หลีกเลี่ยงการขัดผิวบ่อยๆ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า การขัดผิวจะทำให้ผิวดูขาวสว่างและสดใสขึ้น ความจริงแล้ว การขัดผิวบ่อยๆ จะไปทำลายแบคทีเรียดีในผิวของเรา และยิ่งทำให้กลิ่นตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น คุณควรขัดผิวแค่เพียง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น
- ทำดีท็อกซ์ การล้างพิษในร่างกายจะทำให้กรดไขมันที่หมักหมมอยู่ภายในลดลงไปด้วย และส่งผลให้กลิ่นตัวที่เกิดจากภายในลดลงตามลงไป
- รับประทานวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินซีซึ่งจะช่วยลดความเครียดได้ดี และยังมีวิตามินอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยลดกลิ่นตัวได้ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบีรวม วิตามินบี 6 สังกะสี และแมกนีเซียม รับประทานเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ ก็สามารถระงับกลิ่นตัวได้แล้ว
- เลี่ยงอาหารก่อพิษ เช่น อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ทั้งหมู เนื้อ ไก่ ไข่ ตับ รวมทั้งช็อกโกแลต ลูกเกด ถั่วลิสง เพราะจะทำให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังขับไขมันออกมามาก โดยเฉพาะรักแร้ ที่สำคัญจะทำให้เกิดสารพิษตกค้างในลำไส้ จนก่อให้เกิดเหงื่อที่มีกลิ่นเฉพาะตัว แต่อย่างไรก็ตาม อาหารที่กล่าวมาข้างต้นมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานแต่พอดี เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหารไปด้วย
สารเคมีที่ช่วยในการระงับกลิ่นตัว
- สารส้ม ใช้สารส้มทาถูที่รักแร้หลังจากอาบน้ำทุกครั้ง โดยให้ทารักแร้ที่ยังเปียกอยู่ซ้ำ 2 รอบทั้งเช้าและเย็น ทำแบบนี้ทุกวัน กลิ่นตัวจากรักแร้ก็จะดีขึ้น
- สารส้มและพิมเสน ให้นำสารส้มผสมกับพิมเสนอย่างละเท่าๆ กัน แล้วบดให้ละเอียด จากนั้นผสมแป้งฝุ่น หรือดินสอพอง ลงไป หยดน้ำตามลงไปนิดหน่อย แล้วนำมาทาที่รักแร้ จากนั้นปล่อยให้แห้ง สูตรนี้ให้ทำในช่วงกลางคืนก่อนนอน แล้วตอนเช้าค่อยล้างออก
- น้ำมันสะระแหน่ หยดน้ำมันที่สกัดจากสะระแหน่ 2-3 หยดใส่ลงในอ่างอาบน้ำ หรือหยดลงบนฝ่ามือแล้วค่อยถูสบู่ตาม เพราะสะระแหน่มีคุณสมบัติเป็นยาดับกลิ่นตามธรรมชาติอยู่แล้ว
- น้ำหอม โรลออน และสเปรย์ระงับกลิ่นกาย เป็นอุปกรณ์ดับกลิ่นกายที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยให้ใช้ทา หรือฉีดให้ทั่วร่างกาย เพื่อระงับกลิ่น โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ข้อพับ หลังหู และหน้าอก ก่อนออกไปทำงานหรือไปเรียนในทุกๆ เช้า
- ฉีดโบท็อกซ์ สำหรับผู้ที่ใช้วิธีดับกลิ่นตัวจากสารเคมี 4 ข้อด้านบนแล้วไม่ได้ผล แนะนำให้ลองปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดโบท็อกซ์ที่สามารถลดเหงื่อและยับยั้งสารที่หลั่งออกมาพร้อมเหงื่อได้ วิธีนี้สามารถยับยั้งเหงื่อได้ถึง 83% แต่มีข้อเสียคือ จะต้องฉีดซ้ำอยู่เรื่อยๆ ทุก 3-6 เดือน และราคาทำต่อครั้งค่อนข้างสูง
แต่สำหรับผู้ที่มีกลิ่นตัวรุนแรงกว่า และสารเคมีใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยลดกลิ่นตัวได้ อีกทั้งยังมีกลิ่นตัวเหม็นคล้ายกับปลาเน่า มีลมหายใจและน้ำลายที่มีกลิ่นเหม็นมาก นั่นแสดงว่าคุณอาจมีอาการผิดปกติของร่างกายโดยตรง ทางการแพทย์เรียกว่า “โรคกลิ่นตัวเหม็นเน่า”
โรคกลิ่นตัวเหม็นเน่า
โรคกลิ่นตัวเหม็นเน่า (Fish Malodor Syndrome: FOS) เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีกลิ่นติดตัวที่เหม็นรุนแรงกว่ากลิ่นตัวทั่วไป โดยจะมีกลิ่นคล้ายกับกลิ่น “ปลาเน่า” และมักเป็นที่รังเกียจของสังคม รวมถึงจะต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นจึงจะช่วยลดกลิ่นตัวลงได้
โรคนี้มักเกิดได้จากพันธุกรรม การรับยาบางตัว หรือโรคบางชนิด เช่น โรคตับพิการ
โรคกลิ่นตัวเหม็นเน่ามีสาเหตุมาจาก “สารไตรเมทิลามีน” (Trimethylamine: TMA) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่นตัวโดยการขับออกผ่านทางเหงื่อ ปัสสาวะ และสารคัดหลั่งที่ทำงานผิดปกติ
สาร TMA จะพบได้มากในอาหารบางชนิด เช่น ไข่แดง เนื้อสัตว์ทะเล และถั่วบางชนิด โดยอาหารเหล่านี้จะนำพาสาร TMA เข้าสู่ตับ ซึ่งในคนปกติจะมีเอนไซม์ในตับคอยทำลายสารชนิดนี้เพื่อไม่ให้เกิดเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ขึ้นมา
แต่ผู้ป่วยโรคกลิ่นตัวเหม็นเน่าจะไม่มีเอนไซม์ดังกล่าวและทำให้สาร TMA ไม่ถูกทำลาย จนเกิดเป็นกลิ่นตัวและกลิ่นปากที่เหม็นกว่าคนปกติ
วิธีรักษาโรคกลิ่นตัวเหม็นเน่า
โรคกลิ่นตัวเหม็นเน่ายังไม่มีวิธีการรักษาที่หายขาดได้ จึงมีแต่วิธีบรรเทาและรักษาเบื้องต้นเท่านั้น เช่น
- พยายามลดอาหารที่มีสารโคลีนสูง เพราะสารโคลีน (Choline) จะถูกแบคทีเรียในทางเดินอาหารเปลี่ยนเป็นสาร TMA แล้วถูกดูดซึมเข้าร่างกายจนทำให้เกิดกลิ่นตัวขึ้น โดยอาหารที่มีสารโคลีนสูง ได้แก่ ไข่แดง ตับหมู แฮม ปลาทูน่า ปลาเค็ม ทุเรียน ถั่วทุกชนิด และเต้าเจี้ยว
- ใช้ยาปฎิชีวนะ เช่น รับประทานยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) 250 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือรับประทานครั้งเดียวปริมาณ 2 กรัม วันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อไปยับยั้งการทำงานของแบคทีเรีย แต่ห้ามรับประทานยาตัวนี้ติดต่อกันเกิน 3 เดือน เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ และท้องเสียได้ ฉะนั้นเมื่อกลิ่นตัวเบาลงแล้วต้องหยุดใช้ยานี้ทันที
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดความเครียด หรือยาระงับประสาทใดๆ เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้ โดยส่วนใหญ่จะมีความเครียดและวิตกกังวลต่อกลิ่นตัวที่มีผลในการเข้าสังคมจนต้องรับประทานยาเพื่อระงับความเครียดที่เกิดขึ้น โดยไม่รู้ว่า ยาดังกล่าวจะยิ่งส่งผลให้กลิ่นตัวแรงมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่จัด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้กลิ่นตัวแรงมากขึ้น และยังทำให้สาร TMA เพิ่มมากขึ้นด้วย
ผู้ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับกลิ่นตัวหลายรายมักจะมีสภาพจิตใจที่แย่ ไม่มั่นใจในตนเอง หลายรายมักจะเก็บเนื้อเก็บตัวและมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าได้เพราะรู้สึกว่า ตนน่ารังเกียจและไม่เป็นที่ต้องการของสังคม
ดังนั้นการศึกษาหาวิธีดูแลตนเองเพื่อบรรเทากลิ่นตัวให้ลดลง จะสามารถดึงความมั่นใจในตนเองกลับมาได้ และยังทำให้ภาพลักษณ์ของตนเองดูดี มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นกว่าเก่าอีกด้วย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี