จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น โรคหัวใจ มีวิธีไหนบ้างที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ควรตรวจสุขภาพหัวใจเมื่อใดและบ่อยแค่ไหน ไม่มีอาการผิดปกติ แปลว่าไม่เป็นโรคหัวใจจริงหรือไม่…บทความนี้รวบรวมทุกเรื่องเกี่ยวกับโรคหัวใจมาฝาก มาดูกันว่า สิ่งที่คุณกำลังกังวลนั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
สารบัญ
- 1. สาเหตุหลักของโรคหัวใจคืออะไร
- 2. อาการใดบ้างที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ
- 3. ภาวะหัวใจล้มเหลวคืออะไร สัญญาณเตือน
- 4. โรคหัวใจมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง
- 5. มีวิธีใดบ้างที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
- 6. ความเครียดส่งผลอย่างไรต่อโรคหัวใจ
- 7. การออกกำลังกายแบบไหนช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง
- 8. ควรตรวจสุขภาพหัวใจเมื่อใดและบ่อยแค่ไหน
- 9. โรคหัวใจเกิดเฉพาะในผู้สูงอายุจริงไหม เด็กเป็นโรคหัวใจได้ไหม
- 10. ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ แปลว่าไม่มีโรคหัวใจจริงไหม
- 11. การออกกำลังกายหนักๆ ช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ไหม
- 12. ถ้ากินยาลดไขมันแล้ว ก็ไม่ต้องคุมอาหารมากนัก
1. สาเหตุหลักของโรคหัวใจคืออะไร
ตอบ: สาเหตุหลักของโรคหัวใจ มักเกี่ยวข้องกับการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น
- ไขมันในเลือดสูง ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูงทำให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด
- ความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจโดยทำให้หลอดเลือดแดงเสียหาย
- การสูบบุหรี่ ส่งผลให้หลอดเลือดตีบตันและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
- โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมหัวใจ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเบาหวานมักมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
- การใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและโซเดียมมากเกินไป ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียดเรื้อรัง
- ประวัติครอบครัว หากมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคหัวใจ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจก็จะเพิ่มขึ้น
2. อาการใดบ้างที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ
ตอบ: สัญญาณเตือนของโรคหัวใจที่ควรระวัง ได้แก่
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือตึงเครียด
- หายใจลำบาก เมื่อออกแรง หรือขณะนอนราบ
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือไม่เป็นจังหวะ
- เหงื่อออกมาก โดยไม่มีสาเหตุจากการออกกำลังกายหรืออากาศร้อน
- บวม ที่ข้อเท้า เท้า ขา หรือหน้าท้อง
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมหนัก
- เวียนหัวหรือเป็นลม เลือดไม่ไหลเวียนไปยังสมองเพียงพอ
- ปวดหรืออึดอัดที่แขน คอ หรือหลัง อาจร่วมกับเจ็บหน้าอก
- คลื่นไส้หรืออาเจียน ร่วมกับเจ็บหน้าอกหรือหายใจลำบาก
- หายใจหอบ เมื่อออกกำลังกาย หรือเมื่อทำกิจกรรมที่เคยทำได้โดยไม่ปัญหา
3. ภาวะหัวใจล้มเหลวคืออะไร สัญญาณเตือน
ตอบ: ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) คือสภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากหัวใจอ่อนแอลง หรือมีความสามารถในการบีบตัวลดลง ทำให้เกิดการสะสมของของเหลวในปอดหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
สัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกถึงภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่
- หายใจลำบาก หายใจติดขัด โดยเฉพาะเมื่อออกแรง หรือรู้สึกหายใจลำบากขณะนอนราบ
- บวม บวมที่ข้อเท้า ขา หรือหน้าท้องเนื่องจากการสะสมของของเหลว
- อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยง่ายแม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมหนัก
- อาการไอ มีอาการไอเรื้อรัง หรือไอแล้วมีเสมหะที่มีฟองสีชมพูหรือขาว
- น้ำหนักเพิ่ม การที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจบ่งบอกว่าเกิดภาวะการคั่งน้ำ
- ใจสั่น รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วหรือไม่เป็นจังหวะ
4. โรคหัวใจมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง
ตอบ: การรักษาโรคหัวใจมีหลายวิธีตามประเภทและความรุนแรงของโรค ได้แก่
- การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การเลิกสูบบุหรี่ และการลดความเครียด
- การใช้ยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และการแข็งตัวของเลือด
- การรักษาด้วยหัตถการและผ่าตัด เช่น การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน การผ่าตัดบายพาสหัวใจ การซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิด Defibrillator และการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน
- ในกรณีที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง การปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาคอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา
5. มีวิธีใดบ้างที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
ตอบ: หากต้องการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ควรปรับพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์
- รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และอุดมไปด้วยผัก ผลไม้ และธัญพืช
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หยุดสูบบุหรี่
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์
- ผ่อนคลายความเครียดเป็นประจำ โดยฝึกทำสมาธิหรือฝึกหายใจลึกๆ
นอกจากนี้ควรหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดปัญหาสุขภาพ
6. ความเครียดส่งผลอย่างไรต่อโรคหัวใจ
ตอบ: ความเครียดสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ โดยเพิ่มความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
นอกจากนี้ ความเครียดเรื้อรังยังกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่เป็นอันตรายและเพิ่มการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดแดงเสียหาย
ไม่เพียงเท่านั้น ความเครียดยังกระตุ้นพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น การจัดการความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพหัวใจให้ดี
7. การออกกำลังกายแบบไหนช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง
ตอบ: การออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจมีหลายประเภท ดังนี้
- การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือเดินเร็ว ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจและหลอดเลือด
- การฝึกความแข็งแรง เช่น การยกน้ำหนัก หรือการใช้ยางยืด ซึ่งช่วยเสริมกล้ามเนื้อและช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- การออกกำลังกายแบบ HIIT (High Intensity Interval Training) คือ วิธีออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูงในระยะเวลาสั้นๆ สลับกับการพัก ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจและระบบการหายใจ
- การออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่น เช่น โยคะ เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ และยังช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี
8. ควรตรวจสุขภาพหัวใจเมื่อใดและบ่อยแค่ไหน
ตอบ: ควรตรวจสุขภาพหัวใจเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรืออาการผิดปกติอื่นๆ และควรตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอหากคุณมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- มีโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ และตามคำแนะนำของแพทย์
- อายุเกิน 40 ปี ควรเริ่มตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง
- มีอาการหรือปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจสุขภาพตามความเหมาะสม
สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการหรือปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ควรตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
9. โรคหัวใจเกิดเฉพาะในผู้สูงอายุจริงไหม เด็กเป็นโรคหัวใจได้ไหม
ตอบ: แม้ว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจค่อนข้างสูง เนื่องจากมักจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด แต่โรคหัวใจก็สามารถเกิดขึ้นในคนอายุน้อยได้เช่นกัน โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจในคนที่อายุน้อย ได้แก่
- กรรมพันธุ์ ประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- พฤติกรรมสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และการขาดการออกกำลังกาย
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- ความเครียด การบริหารจัดการความเครียดไม่ดี มีความเครียดเรื้อรัง
10. ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ แปลว่าไม่มีโรคหัวใจจริงไหม
ตอบ: การที่ไม่มีอาการเจ็บหน้าอก ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เป็นโรคหัวใจเสมอไป เพราะโรคหัวใจบางชนิดอาจไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรก หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น
- โรคหลอดเลือดหัวใจ อาจไม่มีอาการชัดเจนจนกว่าอาการจะรุนแรงหรือเกิดภาวะหัวใจวาย
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจไม่มีอาการปวดหรือรู้สึกผิดปกติ แต่ยังสามารถเป็นอันตรายได้
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ บางกรณีอาจไม่มีอาการจนกว่าภาวะจะลุกลาม
ดังนั้น การตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำแม้จะไม่มีอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะหากมีปัจจัยเสี่ยงเช่น ประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน
11. การออกกำลังกายหนักๆ ช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ไหม
ตอบ: การออกกำลังกายที่ช่วยให้หัวใจแข็งแรงนั้น ไม่ใช้การออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อให้หัวใจเต้นแรง แต่เป็นการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต และช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีผลดีต่อสุขภาพหัวใจ
12. ถ้ากินยาลดไขมันแล้ว ก็ไม่ต้องคุมอาหารมากนัก
ตอบ: การรับประทานยาลดไขมัน ไม่ได้หมายความว่าสามารถรับประทานอาหารอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับสุขภาพไขมันหรือคอเลสเตอรอลในเลือด
แม้ว่ายาลดไขมันสามารถช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ แต่การควบคุมอาหารยังคงมีความสำคัญในการรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดอย่างยั่งยืน การรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ไฟเบอร์สูง ไขมันและโซเดียมต่ำยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
เชื่อว่า 12 เรื่องที่นำมาฝากในบทความนี้ น่าจะช่วยให้หลายคนหายคาใจและหมดกังวลเกี่ยวกับโรคหัวใจแล้ว
ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจที่เรารู้มาใช่เรื่องจริงไหม? เข้าใจผิดหรือเปล่า? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย