dental bridge type scaled

สะพานฟันแต่ละแบบต่างกันอย่างไร ?

หากคุณมีความจำเป็นต้องถอนฟันจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และกำลังมองหาทางเลือกที่ทั้งแข็งแรง กลมกลืนกับฟันปกติมาเติมเต็มฟันที่หายไป สะพานฟันอาจเป็นสิ่งที่คุณกำลังมองหา

สะพานฟันคืออะไร?

สะพานฟัน (Dental bridge) คือฟันปลอมชนิดหนึ่งที่ติดตั้งด้วยการยึดติดกับฟันซี่ข้างๆ โดยใช้ครอบฟัน (Crowns) หรือโครงเหล็ก

โดยปกติแล้วหากฟันซี่ใดหลุดออกไป จะส่งผลกระทบต่อการพูด การออกเสียง การเคี้ยวอาหาร รวมถึงความมั่นใจเวลายิ้มด้วย สะพานฟันจะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวลง

แต่สะพานฟันก็มีหลายแบบให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่ทันตแพทย์ประเมิน ข้อมูลด้านล่างที่จะกล่าวถึงจะช่วยให้คุณพอวางแผนได้ว่าสะพานฟันแบบไหนเหมาะกับคุณ และปูพื้นฐานเบื้องต้นก่อนจะคุยกับทันตแพทย์

สะพานฟันแบบต่างๆ

สะพานฟันแบบดั้งเดิม

สะพานฟันแบบดั้งเดิม (Traditional bridge) คือสะพานฟันที่มีฟันปลอมอยู่ตรงกลางระหว่างครอบฟัน 2 ซี่ หากมองภาพรวมจะดูเหมือนกับฟัน 3 ซี่เรียงต่อกัน บางคนจึงเรียกว่า “สะพานฟันแบบ 3 ซี่”

สะพานฟันแบบดั้งเดิมนี้จะต้องกรอฟันทั้ง 2 ฝั่งของฟันซี่ที่หลุดออก เพื่อให้สามารถใส่ครอบฟันยึดเข้าไปได้

สะพานฟันชนิดนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด แต่เมื่อใส่แล้วจะไม่สามารถถอดออกได้

สะพานฟันแบบยึดติดข้างเดียว

สะพานฟันแบบยึดติดข้างเดียว (Cantilever bridges) คือสะพานฟันที่มีฟันปลอมยึดติดอยู่ข้างครอบฟันเพียงซี่เดียว ลักษณะจึงคล้ายกับกันติดกัน 2 ซี่ บางคนจึงเรียกว่า “สะพานฟันแบบ 2 ซี่”

สะพานฟันแบบยึดติดข้างเดียวต้องกรอฟัน 1 ซี่สำหรับใส่ครอบฟัน ทำให้การใช้สะพานฟันประเภทนี้ไม่กระทบสุขภาพฟันมากนัก แต่ไม่สามารถถอดออกด้วยตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม การมีครอบฟันที่เป็นหลักยึดแค่ซี่เดียวก็มีความเสี่ยงที่สะพานฟันจะเสียหายได้มากขึ้นเช่นกัน

สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์

สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ (Maryland bridges) คือสะพานฟันที่มีฟันปลอมโดดๆ อยู่ซี่เดียว แต่มีโครงเหล็กสำหรับยึดฟันซี่ข้างๆ ทั้ง 2 ฝั่งออกมาคล้ายปีกผีเสื้อ หลายคนจึงอาจเรียกว่า “สะพานฟันแบบปีกผีเสื้อ”

สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ไม่มีส่วนที่เป็นครอบฟัน ดังนั้นจึงไม่ต้องกระทบสุขภาพฟันซี่อื่นๆ เท่ากับสะพานฟันแบบดั้งเดิมและแบบยึดติดข้างเดียว แต่ความแข็งแรงทนทานก็จะลดลงด้วยเช่นกัน

สะพานฟันร่วมกับรากฟันเทียม

สะพานฟันร่วมกับรากฟันเทียม (Implant-supported bridges) เป็นสะพานฟันที่ยึดติดกับรากฟันเทียม ซึ่งต่างกับสะพานฟันแบบอื่นๆ ที่ยึดกับฟันจริงที่สวมครอบฟัน

โดยปกติรากฟันเทียม 1 ตำแหน่งจะใช้ยึดฟันปลอมที่อยู่ตำแหน่งนั้นเพียงซี่เดียวเท่านั้น แต่หากสูญเสียฟันหลายๆ ซี่ต่อกัน การทำสะพานฟันจะช่วยให้ไม่ต้องทำรากฟันเทียมของฟันทุกซี่ เพียงแค่ทำตำแหน่งหัวกับท้ายของฟันที่หลุดออกไป ก็สามารถใช้เป็นที่ยึดให้สะพานฟันได้แล้ว

สะพานฟันแบบถอดได้

สะพานฟันแบบถอดได้ หรือ ฟันปลอมบางส่วนแบบถอดได้ (Removable partial denture) เป็นฟันปลอมฐานพลาสติกสีชมพูคล้ายเหงือกที่หลายคนคุ้นเคย

ฟันปลอมบางส่วนนี้มีข้อดีที่สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ง่ายกว่าสะพานฟันที่กล่าวไปด้านบน

จะเห็นได้ว่าสะพานฟันแต่ละแบบจะมีลักษณะที่แตกต่างกันชัดเจน การจะตัดสินใจทำสะพานฟันแบบใดควรพิจารณาทั้งราคาและความเหมาะสมกับทันตแพทย์ด้วย

Scroll to Top