เคยได้ยินกันใช่มั้ย “กินยาเยอะระวังเป็นโรคไต” “กินยาเยอะทำให้ไตวาย” ถ้าเจ็บป่วย ไม่สบายก็ต้องกินยาอยู่ดี
หลายคนเลยอาจสงสัยว่ายาที่เรากินในชีวิตประจำวันส่งผลอย่างไรกับไตบ้าง กินยาเยอะอันตรายกับไตจริงไหม วันนี้ HDmall มีคำแนะนำเกี่ยวกับการกินยามาฝาก และยาประเภทไหนที่ควรระวังในการกินบ้าง ไปเช็กกัน!
สารบัญ
ยากับอันตรายต่อไต
ไตทำหน้าที่ขจัดของเสียและสารพิษในร่างกาย รวมถึงยา วิตามิน สารต่าง ๆ ที่ร่างกายได้รับเข้าไป แต่ไม่ใช่ยาทุกชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของไต
สาเหตุสำคัญที่ทำให้การกินยาอาจเป็นอันตรายต่อไตมาจากพฤติกรรมการใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นการกินยาปริมาณมาก การกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการซื้อยามาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
ยิ่งเป็นวิตามิน สมุนไพร ยาสามัญประจำบ้าน หรือยาที่ซื้อกันได้ทั่วไปตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ (Over-the-counter drugs: OTC) หลายคนอาจจะเข้าใจว่ากินได้อย่างปลอดภัย ไม่อันตราย เพราะซื้อมาใช้ได้เองเลย แต่ยาเหล่านี้อาจสะสมในร่างกาย หรือเกิดอันตรายต่อไตในคนที่เป็นโรคอยู่แล้วได้
กลุ่มยาที่ควรระวังในการกิน
ตัวอย่างกลุ่มยาที่ควรระวังในการกิน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อไต
ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
ยากลุ่มนี้จะใช้บรรเทาอาการปวด เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน ลดไข้ บรรเทาอาการอักเสบ ถือเป็นยาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน และหาซื้อง่ายตามร้ายขายยา
ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาโปรเซน (Naproxen) และยาไดโคลฟีแนค (Diclofenec)
ยากลุ่มนี้สามารถทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง ไตทำงานแย่ลง และส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาฆ่าเชื้อ
สิ่งที่สำคัญที่สุดของยากลุ่มนี้ คือ ต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และดื่มน้ำตามมาก ๆ หลังกินยา เพราะยาอาจตกผลึกหรือตกตะกอนภายในไต และท่อปัสสาวะได้
ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
ยาลดกรดในกระเพาะอาหารจะมีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมหรือแมกนีเซียม อาจเกิดการสะสมในร่างกาย เพราะไตไม่สามารถกำจัดเกลือแร่เหล่านี้ออกได้ตามปกติ
ยาแก้แพ้
ยาแก้แพ้บางชนิดแม้จะกินในปริมาณปกติอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไตได้ เพราะการทำงานของไตที่ลดลง ทำให้ยาสะสมในร่างกายได้มากขึ้น เช่น ยาเซทิริซิน (Cetirizine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) ยาเลโวเซทิริซีน (Levocetirizine)
ยาที่ต้องละลายน้ำ
ยาประเภทนี้จะมีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก ทำให้ร่างกายได้รับโซเดียม น้ำ และเกลือแร่มากเกินไป เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียม ยาแอสไพรินชนิดเม็ดฟู่ วิตามินต่าง ๆ อย่างวิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
ยาระบาย
ยาระบายที่มีแมกนีเซียมหรือฟอสเฟตเป็นส่วนประกอบ ทั้งแบบยากินและยาสวนทวาร อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกิดการสะสมของฟอสเฟตในร่างกาย
อาหารเสริม
หลายคนเชื่อว่าการรับประทานอาหารเสริมจะทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอต่อวัน เราไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม
อาหารเสริมบางชนิดอาจมีส่วนประกอบของโพแทสเซียมและแมกนีเซียม ทำให้สะสมในร่างกาย หรืออาหารเสริมบางชนิดมีผลกระทบกับผู้ป่วยโรคไต เช่น มีโปรตีนสูง ทำให้การทำงานของไตลดลง
ยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน
ยากลุ่มนี้มักจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนและระบุตัวยาที่ชัดเจน จึงมักมีสารอันตรายเจือปนมากับยา เช่น โลหะหนัก (ตะกั่ว ทองแดง ปรอท) และสารสเตียรอยด์
ถ้าได้รับสารเหล่านี้เป็นเวลานานจะทำให้พิษสะสมในไต ส่งผลให้เนื้อเยื่อไตตาย และเป็นโรคไตเรื้อรังในที่สุด
รวมถึงการกินสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่ลดลง ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
กินยาอย่างไร ไม่ให้ไตพัง
คำแนะนำในการใช้ยาให้ปลอดภัยกับร่างกายและการทำงานของไต
- ใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรจ่ายยามาเท่านั้น ไม่ควรใช้ตามคำแนะนำคนอื่นหรือโฆษณา เพราะการใช้ยาไม่ถูกโรคอาจทำให้ยาไม่ได้ผล และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา
- ไม่ควรซื้อกินยาเองเพิ่มเติม เพราะยาบางกลุ่มออกฤทธิ์คล้ายกัน เมื่อกินร่วมกันจะส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้นโดยไม่จำเป็น
- ก่อนใช้ยาควรอ่านฉลากยา ดูรายละเอียดว่าเป็นยารูปแบบใด ใช้กับใคร ใช้ในปริมาณเท่าไร เพื่อให้ร่างกายได้รับยาในปริมาณมากพอในการรักษาโดยไม่เกิดพิษ และไม่น้อยเกินไปจนไม่สามารถรักษาโรคได้
- การกินยาควรกินให้ตรงตามเวลาและต่อเนื่อง เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ยาก่อนอาหารควรกินตอนท้องว่าง ยาหลังอาหารควรกินหลังอาหารไม่เกิน 15-30 นาที ยาหลังอาหารทันที ควรกินหลังอาหารทันที หรือยากินเมื่อมีอาการ หากไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องใช้ยา
- หลังกินยาควรดื่มน้ำสะอาดให้มากพอ เพื่อลดความเสี่ยงการตกผลึกหรือตะกอนที่เกิดจากยา
การใช้ยาทุกประเภทควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เพื่อรับคำแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง และมีผลกระทบต่อร่างกายน้อยที่สุด หากพบอาการผิดปกติจากการใช้ยา ควรรีบพบแพทย์ทันที
ยิ่งใช้ยาแบบผิด ๆ มานานเท่าไหร่ ไตก็ถูกทำร้ายมากเท่านั้น เช็กสุขภาพไตและร่างกาย รู้ก่อน ปรับก่อน ร่างกายแฮปปี้! HDmall.co.th มีโปรให้เลือกครบ โปรตรวจสุขภาพไต โปรตรวจเลือด และโปรตรวจสุขภาพอื่น ๆ เลือกตรวจได้จาก รพ. และคลินิกใกล้บ้าน พร้อมรับส่วนลดพิเศษเพิ่มอีก