ใครที่มีผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ ติดเชื้อ HPV ที่ปากมดลูก หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติและหาสาเหตุไม่ได้ คุณอาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหรือเพื่อรักษาความผิดปกติผ่านวิธีนี้ ซึ่งในปัจจุบันการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกแบ่งออกได้หลายเทคนิค โดยเทคนิคที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ “การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า” หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “การทำ LEEP”
แล้วการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้ามีขั้นตอนอย่างไร อาการข้างเคียงหลังตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก พักฟื้นนานหรือไม่ สามารถส่งผลข้างเคียงต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้หรือเปล่า มาค้นหาคำตอบพร้อมข้อมูลส่วนอื่น ๆ ที่คุณควรรู้ในบทความนี้
ให้ข้อมูลโดยแพทย์หญิงศันสนีย์ อังสถาพร หรือ “หมอแซน” สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและมะเร็งนรีเวช หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอแซนได้ที่นี่ [คุยกับ “หมอแซน” คุณหมอสูตินรีแพทย์กับปัญหาโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน]
สารบัญ
- การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก ทำเพื่ออะไร?
- การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก ทำให้หายขาดจากโรคมั้ย?
- การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกทำได้กี่วิธี?
- ทำไมการตัดปากมดลูกออกด้วยห่วงไฟฟ้าจึงเป็นที่นิยมมากที่สุด?
- ใครที่จำเป็นต้องเข้ารับการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า?
- ข้อดีและข้อจำกัดของการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
- อุปกรณ์ที่ใช้เรียกว่าอะไร มีหลักการทำงานอย่างไร?
- การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทำ LEEP
- การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า มีขั้นตอนอย่างไร?
- ระยะเวลาในการผ่าตัด
- ชิ้นเนื้อจะถูกตัดออกไปมากน้อยแค่ไหน?
- ชิ้นเนื้อที่ได้จะถูกนำไปทำอะไรต่อ?
- การพักฟื้นและการดูแลตนเองหลังการรับบริการ
- อาการแบบไหนที่ต้องรีบกลับมาพบแพทย์ทันทีหลังการผ่าตัด
- การนัดติดตามผลต้องกลับมาพบแพทย์และตรวจอะไรบ้าง?
- อาการข้างเคียงหลังตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก LEEP
- Q&A เรื่องที่คนมักสงสัยเกี่ยวกับการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก
- ตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก กับ พญ.ศันสนีย์ ด้วยบริการจาก HDcare
การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก ทำเพื่ออะไร?
การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก มีวัตถุประสงค์ในการทำหัตถการ 2 อย่าง ได้แก่
- เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติม ในกรณีที่คนไข้มีผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ปากมดลูกก่อนหน้านี้ แต่ยังหาข้อสรุปได้ไม่แน่ชัดว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกหรือไม่
- เพื่อการรักษาโรค ในกลุ่มคนไข้ที่มีความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูกในระยะที่เป็นรอยโรคก่อนเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก ทำให้หายขาดจากโรคมั้ย?
ในกรณีที่คนไข้มีความผิดปกติที่ปากมดลูกโดยเป็นรอยโรคก่อนเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกโดยครอบคลุมชิ้นเนื้อส่วนที่มีความผิดปกติทั้งหมดและขอบของชิ้นเนื้อที่ตัดออกไม่มีความผิดปกติร่วมด้วย คนไข้ก็สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้
การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกทำได้กี่วิธี?
- การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยใบมีด
- การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า มีลักษณะเป็นลวดร้อนที่นำกระแสไฟฟ้าและสามารถตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกได้
- การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยเลเซอร์กำลังสูง
ทำไมการตัดปากมดลูกออกด้วยห่วงไฟฟ้าจึงเป็นที่นิยมมากที่สุด?
เนื่องจากห่วงไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย สามารถตัดชิ้นเนื้อได้ง่าย และยังห้ามเลือดได้ในเวลาเดียวกันด้วย
ใครที่จำเป็นต้องเข้ารับการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า?
- ผู้ที่ตรวจพบเซลล์บริเวณปากมดลูกผิดปกติในระยะก่อนโรคมะเร็งที่รุนแรง
- ผู้ที่ผลตรวจเซลล์ที่ปากมดลูกเป็นชนิดมะเร็ง แต่รอยโรคไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
- ผู้ที่ตรวจวินิจฉัยแยกรอยโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุรอยโรคได้ ไม่แน่ชัดว่าเป็นชนิดใด
ข้อดีและข้อจำกัดของการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
ข้อดีของการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า คือ ทำหัตถการได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน รวมถึงสามารถห้ามเลือดได้ในเวลาเดียวกับที่ตรวจชิ้นเนื้อ
ส่วนข้อจำกัดของการทำหัตถการนี้ คือ อาจทำให้ปากมดลูกคนไข้สั้นลง ทำให้หากคนไข้ตั้งครรภ์ในอนาคตก็อาจมีโอกาสแท้งบุตรได้
อุปกรณ์ที่ใช้เรียกว่าอะไร มีหลักการทำงานอย่างไร?
อุปกรณ์ห่วงไฟฟ้ามีอีกชื่อเรียกว่า “LEEP” ดังนั้นจึงเรียกการทำหัตถการนี้ได้อีกชื่อว่า “การทำ LEEP”
โดย LEEP จะมีลักษณะเป็นลวดไฟฟ้าที่มีรูปทรงทั้งแบบครึ่งวงกลมและแบบสี่เหลี่ยม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงรูปทรงและขนาดของห่วงไฟฟ้าที่เหมาะต่อคนไข้แต่ละราย หลังจากต่ออุปกรณ์เสร็จแล้ว ตัวห่วงไฟฟ้าจะนำกระแสไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและทำให้สามารถตัดชิ้นเนื้อพร้อมกับห้ามเลือดในเวลาเดียวกันได้
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทำ LEEP
- ซักประวัติสุขภาพและตรวจร่างกายกับแพทย์
- ต้องตรวจชิ้นเนื้อเพื่ออ่านผลตรวจก่อนว่า คนไข้มีข้อบ่งชี้ในการทำ LEEP หรือไม่
- เตรียมตัวก่อนทำ LEEP เช่น เจาะเลือด ตรวจดูโรคประจำตัว
- งดน้ำและอาหารคืนก่อนทำ LEEP
- งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนทำ LEEP 3-7 วัน
- กินอาหารได้ตามปกติ ยกเว้นอาหารที่มีโอกาสทำให้เจ็บป่วยหรือท้องเสีย
- ไม่ต้องสวนล้างช่องคลอดก่อนมาทำ LEEP เนื่องจากแพทย์จะทำความสะอาดช่องคลอดให้ในห้องผ่าตัดอยู่แล้ว
การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า มีขั้นตอนอย่างไร?
- แพทย์จะระงับความรู้สึกคนไข้ก่อนเริ่มผ่าตัด โดยสามารถเลือกได้ระหว่างการฉีดยาชาเฉพาะที่ปากมดลูก หรือฉีดยาสลบเข้าทางหลอดเลือด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและระยะเวลาในการผ่าตัด
- แพทย์ทำความสะอาดช่องคลอด อวัยวะเพศ ปากมดลูกคนไข้
- แพทย์ใช้ห่วงไฟฟ้าตัดเก็บชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูก และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- แพทย์ห้ามเลือดบริเวณแผลให้หยุดไหล
- คนไข้นอนพักฟื้นประมาณ 2 ชั่วโมงที่โรงพยาบาล จากนั้นสามารถเดินทางกลับบ้านได้
ระยะเวลาในการผ่าตัด
ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดไม่เกิน 30-40 นาที
ชิ้นเนื้อจะถูกตัดออกไปมากน้อยแค่ไหน?
ขนาดของชิ้นเนื้อที่จะถูกตัดออกในคนไข้แต่ละรายจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยชิ้นเนื้อก่อนทำหัตถการ โดยแพทย์จะพิจารณาจากทั้งรอยโรค อายุของคนไข้ รวมถึงประวัติว่าเคยมีบุตรมาก่อนหรือไม่
ชิ้นเนื้อที่ได้จะถูกนำไปทำอะไรต่อ?
หลังตัดชิ้นเนื้อแล้ว ตัวชิ้นเนื้อจะถูกนำส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
การพักฟื้นและการดูแลตนเองหลังการรับบริการ
หลังผ่าตัด คนไข้จะพักฟื้นประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วเดินทางกลับบ้านได้เลย
อาการแบบไหนที่ต้องรีบกลับมาพบแพทย์ทันทีหลังการผ่าตัด
กลุ่มอาการผิดปกติหลังผ่าตัดที่คนไข้ควรเดินทางมาพบแพทย์ในทันที ได้แก่
- มีตกขาวคล้ายหนอง
- มีไข้
- ปวดท้องน้อย
- มีเลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมากกว่าเดิม
การนัดติดตามผลต้องกลับมาพบแพทย์และตรวจอะไรบ้าง?
แพทย์จะนัดหมายให้คนไข้กลับมาฟังผลตรวจชิ้นเนื้อและวางแผนการดูแลสุขภาพในระยะยาวหลังผ่าตัดครบ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนัดกลับมาตรวจดูแผลที่ช่องคลอดในอีก 2-3 สัปดาห์
อาการข้างเคียงหลังตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก LEEP
มีอาการข้างเคียงหลังตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก อยู่บ้าง เช่น
- มีภาวะแผลติดเชื้อ
- มีตกขาว
- มีอาการปวดหน่วงท้องน้อย
- มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย
- ในคนไข้ที่มีข้อบ่งชี้ต้องตัดชิ้นเนื้อที่มีขนาดใหญ่ อาจมีโอกาสที่ปากมดลูกสั้นลง ทำให้เมื่อตั้งครรภ์ในอนาคตก็อาจคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตรได้
Q&A เรื่องที่คนมักสงสัยเกี่ยวกับการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก
1.หลังตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก สามารถมีลูกได้เมื่อไร?
คนไข้ต้องรอให้แผลหายสนิท ต้องมีประจำเดือนปกติมาแล้ว 1 รอบ และไม่มีผลตรวจชิ้นเนื้อที่ไม่มีเชื้อมะเร็งหรือข้อบ่งชี้ในการตัดชิ้นเนื้อเพิ่มก่อน หลังจากนั้นจึงสามารถมีบุตรได้
2. คนไข้ที่ทำ LEEP และเกิดการตั้งครรภ์ภายหลังการทำ LEEP จะส่งผลกระทบต่อทารกหรือไม่?
การตัดชิ้นเนื้อสามารถทำให้คนไข้ปากมดลูกสั้นลงได้ ทำให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกแต่อย่างใด
3. มีโอกาสที่คนไข้จะต้องทำ LEEP ซ้ำหรือไม่ และการทำ LEEP ซ้ำมีความเสี่ยงอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง โดยเฉพาะการมีบุตร
มีโอกาสทำซ้ำได้ โดยการทำ LEEP ซ้ำจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลตรวจชิ้นเนื้อไม่ครอบคลุมความผิดปกติทั้งหมด โดยที่ช่องคลอดของคนไข้ยังมีเซลล์ที่ผิดปกติหลงเหลืออยู่ จึงจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้ออีกครั้งเพื่อนำรอยโรคที่เหลือออก
ซึ่งการทำ LEEP ซ้ำก็สามารถทำให้ปากมดลูกคนไข้สั้นลงอีกได้ และทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตรได้หากเกิดการตั้งครรภ์ในอนาคต
ตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก กับ พญ.ศันสนีย์ ด้วยบริการจาก HDcare
มีข้อบ่งชี้ต้องตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก แต่กลัวเจ็บหรือรู้สึกกังวล ต้องการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บริการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกกับ HDcare สามารถตอบโจทย์ความกังวลของคุณได้
โดยตั้งแต่ขั้นตอนทำนัดกับโรงพยาบาล คนไข้จะมีทีมงานแอดมินช่วยประสานงานกับโรงพยาบาลให้โดยไม่ต้องทำเรื่องติดต่อเอง และเมื่อเดินทางมาถึงโรงพยาบาล บริการ HDcare จะจัดหาพยาบาลผู้ช่วยคอยอยู่เป็นเพื่อนคนไข้ทุกขั้นตอน แม้มาคนเดียวก็สบายใจหายห่วง ผ่าตัดได้อย่างสบายใจ
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย