คุยกับ “หมอแซน” คุณหมอสูตินรีแพทย์กับปัญหาโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน

คุยกับสูตินรีแพทย์ หมอแซน แพทย์หญิงศันสนีย์ อังสถาพร สูตินรีแพทย์หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare 

หมอแซนนะคะ หมอเป็นหมอเฉพาะทางด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและมะเร็งนรีเวชค่ะ

โรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง?

สำหรับโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยจะเป็นช่องคลอดอักเสบ เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด และการคลำพบก้อนได้ที่ท้องน้อย ซึ่งก็อาจจะเกิดบริเวณมดลูกหรือรังไข่ค่ะ

แต่ละโรคอาการเป็นอย่างไร?

ถ้าเป็นอาการช่องคลอดอักเสบ อาการก็จะแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อที่ทำให้อักเสบค่ะ เราจึงต้องแยกก่อนว่า อาการนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ตกขาวเป็นสีเขียว สีเหลือง มีลักษณะเป็นสีขาวเหมือนก้อนแป้ง อาจจะมีอาการคันร่วมด้วย มีไข้ ปวดท้องน้อย หรือบางรายถ้าเป็นมาก ๆ ก็อาจจะมีผื่นที่อวัยวะเพศ มีอาการเจ็บอวัยวะเพศด้วยค่ะ

ส่วนกลุ่มภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อาการของภาวะนี้ก็จะแตกต่างกันไปเหมือนกัน คนไข้บางกลุ่มประจำเดือนจะมามาก มานานผิดปกติ หรือมาแบบกะปริดกะปรอย บางกลุ่มก็จะมีเลือดออกนอกรอบประจำเดือน 

และสุดท้าย กลุ่มที่คลำเจอก้อนที่ท้องน้อย คนไข้บางรายอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยค่ะ แต่พอตรวจสุขภาพแล้วดันเจอ หรือคลำเจอก้อนที่ท้องน้อยได้เอง ร่วมกับมีปัญหาด้านการปัสสาวะหรืออุจจาระ มีอาการปวดท้องร่วมด้วยก็เป็นได้ ปัญหานี้อาจเกิดได้จากถุงน้ำในรังไข่ หรือการมีก้อนเนื้องอกที่มดลูก

การรักษาโรคทางนรีเวช ทำได้ยังไงบ้าง?

การรักษาโรคทางนรีเวชจะขึ้นอยู่กับว่า ความผิดปกตินั้นเกิดขึ้นที่อวัยวะไหน 

ถ้าเป็นภาวะช่องคลอดอักเสบ หากเกิดจากเชื้อราก็สามารถรักษาด้วยการเหน็บยาทางช่องคลอด แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะเป็นการให้ยารับประทาน ยกเว้นแต่ถ้าเป็นการติดเชื้อจากกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราก็ต้องดูว่าเป็นเชื้ออะไร แล้วรักษาไปตามการติดเชื้อนั้น ๆ 

ส่วนภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เราต้องดูตามอวัยวะของคนไข้ที่มีเลือดออก เช่น เลือดออกจากอวัยวะเพศ ทางช่องคลอด หรือทางปากมดลูก โพรมดลูก แล้วก็รักษาไปตามตำแหน่งนั้น

ส่วนการคลำเจอก้อนที่ท้องน้อย การรักษาจะขึ้นอยู่กับผลตรวจวินิจฉัยค่ะ เช่น ถ้าเราพบว่าก้อนนี้น่าจะเป็นถุงน้ำที่มาจากฮอร์โมนผู้หญิงเอง หรือเกิดจากการตกไข่เอง และคนไข้ไม่มีอาการเยอะ ก็อาจจะใช้เป็นวิธีติดตามอาการไปก่อนเท่านั้น เพราะถุงน้ำอาจหายได้เอง 

ยกเว้นแต่ถ้าเราสงสัยว่า ถุงน้ำนั้นอาจจะเป็นก้อนเนื้อไม่ดี หรือก้อนเนื้อที่ควรผ่าตัดนำออก ก็ต้องมีการรักษาด้วยการผ่าตัดให้คนไข้

อาการแบบไหนเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งทางนรีเวชบ้าง?

มีได้หลากหลายเลย เช่น 

  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยเฉพาะในคนไข้กลุ่มที่เป็นวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว 
  • การคลำเจอก้อนที่ท้องน้อย 
  • พบก้อนใหญ่บริเวณอุ้งเชิงกราน 
  • ตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ
  • มีแผลที่อวัยวะเพศแบบเป็น ๆ หายๆ เป็นระยะเวลานาน

การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชมีกี่วิธี?

การรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวช เราสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดเปิดแผลทางหน้าท้อง หรือการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กค่ะ เวลาหมอคุยกับคนไข้เพื่อเลือกวิธีผ่าตัดกัน เราจะดูผลตรวจวินิจฉัยว่า เป็นโรคมะเร็งชนิดไหน ขนาดก้อนมะเร็งใหญ่แค่ไหน ระยะที่เป็นเยอะแค่ไหนแล้ว รวมถึงปรึกษาเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียในการผ่าตัดแต่ละวิธีด้วย

นอกจากนี้การผ่าตัดโรคทางนรีเวชยังแตกต่างไปจากการผ่าตัดอื่น ๆ ด้วยค่ะ เพราะนอกจากผ่าตัดในส่วนของรอยโรคแล้ว ในบางโรคเรายังอาจต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ผ่าตัดข้างเส้นเลือดแดงใหญ่ รวมถึงตัดไขมันที่คลุมช่องท้องหรือเก็บน้ำในช่องท้องไปส่งตรวจด้วย หรืออาจเป็นการตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ ส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยระยะของโรค และวางแผนการรักษาได้แม่นยำขึ้น

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคทางนรีเวช

ข้อแรก จะมีบางคนเข้าใจว่าการสวนล้างช่องคลอดทำให้ช่องคลอดสะอาด ลดการเกิดตกขาวและเกิดกลิ่นได้ ซึ่งไม่จริงนะคะ 

เพราะช่องคลอดของคนเราจะมีแบคทีเรียดีในปริมาณที่สมดุลอยู่แล้ว ช่วยยับยั้งการเกิดความผิดปกติที่ช่องคลอดได้ ซึ่งการยิ่งไปสวนล้างช่องคลอดอาจทำให้แบคทีเรียพวกนี้เกิดความผิดปกติได้ และทำให้มีตกขาวมากขึ้น หรือมีอาการคันแสบช่องคลอดได้

ข้อที่สอง หลายคนมักคิดว่าการใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในคนที่มีคู่นอนหลายคนจะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างแน่นอน ข้อมูลไม่จริงนะคะ ถุงยางสามารถป้องกันได้ก็จริง แต่ไม่ทั้งหมด 

เพราะถึงแม้เราจะสวมถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ แต่ในระหว่างนั้นคู่นอนก็สามารถมีการสัมผัสทางผิวหนังส่วนอื่นได้ และยังมีโอกาสทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อยู่ค่ะ

เคล็ดลับในการพูดคุยกับคนไข้ของหมอแซนเป็นอย่างไร?

เราต้องใจเย็น ๆ และรับฟังสิ่งที่คนไข้มีปัญหาค่ะ รวมถึงการตรวจร่างกายก็ต้องตรวจอย่างเบามือ ถ้าส่วนไหนคิดว่า คนไข้จะต้องเจ็บบ้าง ก็ต้องแจ้งให้คนไข้ทราบล่วงหน้าก่อน ระหว่างตรวจจะได้ไม่ตกใจเกินไปค่ะ

HDcare ในมุมมองของคุณหมอเป็นอย่างไร?

หมอเข้ามาทำงานในบริการ HDcare จากการแนะนำของแพทย์ที่รู้จักกันค่ะ เพราะหมอเห็นว่า HDcare มีทีมงานที่ดูแลคนไข้ตั้งแต่ขั้นตอนการปรึกษาเลย คนไข้สามารถติดต่อพูดคุยกับทีมงานได้ตลอด สามารถนัดคุยกับแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย และทีมงาน HDcare ก็ยังเป็นผู้ช่วยประสานงานกับทางแพทย์ได้ เป็นบริการที่สะดวกสบายกับทั้งฝั่งคนไข้และฝั่งแพทย์เลยค่ะ

สำหรับคนไข้ที่มีอาการผิดปกติบริเวณน้องสาว เช่น เลือดออกผิดปกติ มีตกขาวผิดปกติ ปวดท้องน้อย มีผืนแผลที่อวัยวะเพศ สามารถทำนัดผ่าน HDcare เพื่อเข้ามาปรึกษากับแพทย์ได้เลยนะคะ

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top