ความเชื่อที่ว่า “ไม่ใส่กางเกงใน ทำให้เป็นไส้เลื่อน” เป็นความเชื่อที่ผิดหรือไม่ บทความนี้จะให้ข้อเท็จจริงว่าไส้เลื่อนเกิดจากสาเหตุใด วิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดคือวิธีไหน ไปหาคำตอบกัน
สารบัญ
‘รู’ ที่ผนังช่องท้อง ต้นเหตุของไส้เลื่อน
ก่อนที่จะไปทราบสาเหตุของไส้เลื่อน มาทำความรู้จักอีกหนึ่งอวัยวะสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับ ภาวะไส้เลื่อน กันก่อน นั่นคือ ผนังช่องท้อง (Abdominal Wall)
ผนังช่องท้อง เป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีระบบการไหลเวียนเลือดและระบบประสาทเป็นของตัวเอง กล้ามเนื้อกลุ่มนี้จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโครงสร้างที่แข็งแรง ทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายใน และช่วยเพิ่มแรงดันในช่องท้องเมื่อร่างกายต้องการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น เวลาพ่นลมหายใจออก เบ่งถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
โดยปกติผนังช่องท้องนี้จะปิดสนิท ไม่มีช่องว่าง หรือรูใดๆ แต่หากผนังช่องท้องนี้เกิดมี รู หรือ ช่องว่าง ขึ้น จะเป็นทางให้เนื้อเยื่อไขมันหรือบางส่วนของลำไส้ที่อยู่ข้างในเลื่อนออกมาด้านนอกได้ และเป็นต้นเหตุของภาวะไส้เลื่อนนั่นเอง
สาเหตุของรูเหล่านี้ อาจมาจากความผิดปกติแต่กำเนิด ที่ผนังช่องท้องปิดไม่สนิท หรือเกิดจากกล้ามเนื้อช่องท้องบางบริเวณอ่อนแอหรือหย่อนยานกว่าส่วนอื่น
ดังนั้น การใส่หรือไม่ใส่กางเกงใน จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการเกิดโรคไส้เลื่อนแต่อย่างใด
ไม่ใส่กางเกงในไม่ได้ทำให้เป็นไส้เลื่อน แต่ถ้าเป็นไส้เลื่อนแล้ว กางเกงในอาจช่วยได้?
ไส้เลื่อนที่เรารู้จักกันโดยส่วนใหญ่ คือ ไส้เลื่อนขาหนีบ แต่จริงๆ แล้ว ไส้เลื่อนเกิดได้หลายบริเวณในร่างกาย ได้แก่ กระบังลม สะดือ กล้ามเนื้อหน้าท้อง ขาหนีบ หรือส่วนบนของต้นขาด้านใน
ถ้าพบว่าเป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือบริเวณส่วนบนของต้นขาด้านใน แต่ยังมีขนาดเล็ก อาการไม่รุนแรง สามารถดันไส้เลื่อนกลับเข้าผนังช่องท้องได้ แพทย์อาจให้รอดูอาการไปก่อน ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทันที
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวไส้เลื่อนอาจจะปูดออกมาตอนไหนก็ได้ การคอยดันกลับเรื่อยๆ อาจทำให้เสียบุคลิกภาพ เสียความมั่นใจ ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่ต้องการผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้สวมใส่กางเกงในที่รัด กระชับ เพื่อช่วยพยุงไม่ให้ไส้เลื่อนปูดออกมา
วิธีการประคับประคองอาการด้วยกางเกงในนี้ จึงอาจเป็นส่วนที่ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดว่า การไม่ใส่กางเกงใน ทำให้เกิดไส้เลื่อนได้
ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด
แม้กางเกงในที่ช่วยพยุงไส้เลื่อน จะช่วยประคับประคองอาการได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นการรักษาที่ต้นตอ เพราะรูที่ผนังช่องท้องยังคงอยู่
นอกจากนี้กางเกงในที่ใส่พยุงจะต้องค่อนข้างรัด เพื่อให้กระชับมากที่สุด ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และก่อให้เกิดความอับชื้น เป็นสาเหตุของปัญหาสุขอนามัยอย่างเชื้อราตามมาได้
ผู้ป่วยจึงควรพิจารณาการรักษาที่ต้นเหตุ อย่างการผ่าไส้เลื่อน ไว้เป็นอีกทางเลือก
ปัจจุบันการผ่าไส้เลื่อนมี 2 เทคนิคหลักๆ ได้แก่
- การผ่าไส้เลื่อนแบบเปิด (Open Hernia Repair) เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ซึ่งจะกรีดเปิดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนเป็นแผลกว้างหนึ่งแผล เข้าไปจัดตำแหน่งอวัยวะภายในให้กลับสู่ตำแหน่งเดิม แล้วเย็บซ่อมแซมรูผนังช่องท้อง
- การผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Inguinal Hernia Repair) แพทย์จะเจาะรูเล็กๆ 3-4 รู แทนการเปิดแผลขนาดใหญ่ เพื่อเป็นช่องทางนำอุปกรณ์ผ่าตัด เข้าไปผ่าตัดด้านใน วิธีนี้ช่วยให้อวัยวะภายในบอบช้ำน้อย เสียเลือดน้อย ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดสั้น และโอกาสติดเชื้อน้อยกว่า
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคผ่าตัดส่องกล้องแบบใหม่ เรียกว่า ผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว (Single Incision Laparoscopic Inguinal Hernia Repair) ซึ่งใช้รักษาไส้เลื่อนขาหนีบ โดยเจาะรูเล็กๆ ที่สะดือเพียง 1 รู ให้เป็นช่องทางใส่อุปกรณ์และทำการผ่าตัด วิธีนี้เมื่อผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้วจะแทบไม่มีแผลเป็นหลงเหลือเลย
จากการศึกษาผลลัพธ์การผ่าตัดไส้เลื่อนทั้ง 2 เทคนิค พบว่าในระยะยาวแล้วให้ประสิทธิภาพในการรักษาไส้เลื่อนไม่ต่างกัน
การผ่าตัดไส้เลื่อน นอกจากจะเป็นการผ่าตัดนำลำไส้กลับเข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง ร่วมกับเย็บปิดรูผนังช่องท้องแล้ว แพทย์อาจจะติดตาข่ายทางการแพทย์ เพื่อเสริมความแข็งแรงของผนังช่องท้อง เพื่อลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำอีกด้วย
หากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อน หรือกำลังป่วยเป็นไส้เลื่อนอยู่ ต้องการผ่าตัดรักษา ทักหา HDcare ได้เลย! เราพร้อมช่วยดูแลคุณ ทั้งนัดคิวปรึกษาคุณหมอ หรือหาแพ็กเกจผ่าตัดราคาดีจาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย