inguinal hernia disease faq

ตอบ 9 คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับไส้เลื่อน

ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อไขมันหรือบางส่วนของลำไส้เคลื่อนจากตำแหน่งปกติในช่องท้อง ออกมาอยู่ด้านนอกผนังช่องท้อง โดยส่วนใหญ่คำว่า “ไส้เลื่อน” มักหมายถึงไส้เลื่อนขาหนีบ ที่จะพบก้อนแถวๆ หัวหน่าว อัณฑะ หรือขาหนีบ

มีหลายความเชื่อเกี่ยวกับไส้เลื่อนที่คนมักเข้าใจผิด HDcare จึงรวบรวมและหาคำตอบมาให้ในบทความนี้

1. ไส้เลื่อน เป็นได้แค่บริเวณขาหนีบเท่านั้นใช่ไหม?

ตอบ: เมื่อคนพูดถึงโรค ไส้เลื่อน ส่วนใหญ่มักหมายถึง ไส้เลื่อนขาหนีบ เนื่องจากเป็นบริเวณที่พบไส้เลื่อนได้บ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับไส้เลื่อนบริเวณอื่นๆ 

แต่ความจริงไส้เลื่อนยังพบได้ที่บริเวณอื่นๆ เช่น สะดือ (มักเกิดในเด็กทารก เรียกกันว่า สะดือจุ่น) บริเวณใต้ขาหนีบ ที่กระบังลม หรือส่วนอื่นของช่องท้องที่เคยรับการผ่าตัดมาก่อน

กล่าวโดยสรุป คือไส้เลื่อนเกิดบริเวณใดก็ได้ ณ ผนังช่องท้องที่เกิดหย่อนยาน จนมีรูหรือช่องว่างให้อวัยวะภายในช่องท้องไหลเลื่อนออกไปด้านนอก

2. ไส้เลื่อน พบในผู้ชายเท่านั้นใช่หรือไม่?

ตอบ: ไม่ใช่ ความจริงแล้วไส้เลื่อนพบได้ทั้งในคนทุกเพศ เนื่องจากช่องทางที่ไส้จะเลื่อนออกมานั้นมีในทั้งเพศชายและเพศหญิง

ตามปกติช่องทางดังกล่าวนี้จะเปิดในระยะที่เป็นตัวอ่อนอยู่ในครรภ์มารดา แล้วจึงค่อยปิดสนิทไปเมื่อโตขึ้น แต่บางคนกลับยังมีช่องที่เปิดเหลืออยู่ หรือยังปิดไม่สนิท

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่าผู้มีช่อง หรือรูในผนังช่องท้องจะต้องเป็นไส้เลื่อนกันทุกคน 

ไส้เลื่อนมักจะเกิดจากมีช่องทางให้ไส้เลื่อนออกมา ร่วมกับมีแรงดันในช่องท้องสูงเกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น ในผู้ที่ท้องผูก ต้องเบ่งถ่ายเป็นประจำ หรือผู้ที่ยกของหนักเป็นประจำ 

นอกจากนี้ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำก็มีความเสี่ยงเป็นไส้เลื่อน เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้เกิดภาวะถุงลมโป่งพอง ไอบ่อย เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น 

อีกกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีผนังช่องท้องบางกว่าคนทั่วไป ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเองหรือเป็นผลจากอายุที่มากขึ้น ก็จะมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนสูงขึ้น

3. ไส้เลื่อน เกิดเพราะไม่ใส่กางเกงในจริงหรือเปล่า?

ตอบ: ไม่จริง ไส้เลื่อนไม่ได้มีสาเหตุมาจากการไม่ใส่กางเกงใน เพราะต้นเหตุของไส้เลื่อนมาจากกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อผนังช่องท้อง ซึ่งอาจหย่อนยาน บาง หรือผ่านการผ่าตัดจนเกิดช่องว่างขึ้น เมื่อร่วมกับความดันในช่องท้องที่เกิดซ้ำๆ จึงทำให้อวัยวะภายในช่องท้อง เช่น แผ่นไขมันหรือลำไส้หลุดออกมาทางช่องว่างดังกล่าวได้

การสวมใส่เสื้อผ้าภายนอก รวมถึงใส่กางเกงใน จึงไม่ได้มีผลช่วยป้องกันการเกิดช่องที่ผนังช่องท้องได้เลย

แต่ในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบแบบที่ยังไม่ต้องผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ใส่กางเกงในที่กระชับเพื่อพยุงก้อนไส้เลื่อนให้อยู่กับที่เท่านั้น จึงอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดได้

4. วิ่งเยอะๆ ทำให้เป็นไส้เลื่อน?

ตอบ: ไม่จริง การวิ่งไม่ได้ทำให้เป็นไส้เลื่อน เนื่องจากไม่ได้ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะไส้เลื่อน หมายถึงมีรูที่ผนังช่องท้องอยู่แล้ว และมีเนื้อเยื่อไขมันหรือลำไส้ไหลเลื่อนออกมาทางรูดังกล่าวแล้ว การออกกำลังกายด้วยการวิ่งโดยไม่มีกางเกงในพยุงไส้เลื่อน อาจทำให้ภาวะไส้เลื่อนแย่ลงได้

5. ผ่าตัดไส้เลื่อนแล้ว จะทำให้เป็นหมันไหม?

ตอบ: โดยทั่วไป การผ่าตัดไส้เลื่อนไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการทางเพศ หรือภาวะเจริญพันธุ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสเลย 

บางกรณีที่เกิดได้น้อยมาก การผ่าตัดไส้เลื่อนอาจทำให้ท่อนำอสุจิเสียหาย หรือทำให้ท่อนำอสุจิตีบตันได้

ในอีกด้านหนึ่ง การมีไส้เลื่อนขาหนีบขนาดใหญ่มากที่ปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษา ก็อาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นทั้งสองข้างของขาหนีบ ก้อนไส้เลื่อนนั้นอาจเบียดองคชาตให้จมลง ทำให้มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ และต่อเนื่องไปถึงความสำเร็จในการปฏิสนธิด้วย

6. ถ้าร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ไม่น่าจะเป็นไส้เลื่อน จริงหรือ?

ตอบ: ไม่จริง ในคนที่แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำก็อาจเกิดภาวะไส้เลื่อนขึ้นได้ ถ้าคนคนนั้นมีรูผนังช่องท้องที่ปิดไม่สนิทอยู่แล้ว ประกอบกับออกกำลังกายในท่าทางที่เพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น การยกน้ำหนัก สควอต ออกกำลังส่วนหน้าท้อง

ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาผู้ชำนาญการถึงท่าการออกกำลังที่ถูกต้อง สอบถามถึงบริเวณที่ควรและไม่ควรลงน้ำหนัก และไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินกว่าร่างกายตัวเองจะรับไหว

เรามีโอกาสเสี่ยงเกิดไส้เลื่อนหรือเปล่า อยากปรึกษาคุณหมอให้แน่ชัด ทักหา HDcare ได้เลย นัดคิวได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องคอยนาน คลิก!

7. คลำพบก้อนที่อัณฑะหรือใกล้ๆ ขาหนีบแสดงว่าเป็นไส้เลื่อนใช่ไหม?

ตอบ: ก้อนที่ขาหนีบ หัวหน่าว อันฑะ ไม่จำเป็นต้องเป็นไส้เลื่อนขาหนีบเสมอไป

เมื่อคลำพบก้อนที่อัณฑะหรือใกล้ๆ ขาหนีบ จริงๆ แล้วอาจเป็นได้หลายอย่าง เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต มีถุงน้ำ ซีสต์ อัณฑะอักเสบ กรณีพบก้อนในเด็กอาจบ่งชี้ถึงภาวะอัณฑะไม่ลงถุง

เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าเป็นโรคอะไร ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และจะได้รับคำแนะนำเรื่องการรักษาอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตหนึ่งซึ่งอาจบอกได้คร่าวๆ ว่าน่าจะเป็นไส้เลื่อน คือ ถ้าดันก้อนที่สงสัยนั้นเข้าไป จะพบว่าก้อนนั้นยุบหายไปได้ ในขณะที่ก้อนอื่นๆ มักไม่ยุบไปไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม

8. ถ้าสงสัยว่าเป็นไส้เลื่อน ต้องไปหาหมอด้านไหน?

ตอบ: ถ้าสงสัยว่าเป็นไส้เลื่อน กรณีเป็นผู้ป่วยเด็ก ให้พบหมอเด็กหรือกุมารแพทย์ ถ้าเป็นผู้ใหญ่สามารถพบศัลยแพทย์ได้

ถ้ากังวลเรื่องการผ่าตัดไส้เลื่อน ควรปรึกษาแพทย์ถึงทางเลือกอื่นๆ ในการรักษา ยิ่งเป็นน้อย ทางเลือกในการรักษาจะยิ่งมีมากขึ้น ถ้าปล่อยไว้นานจนเกิดภาวะที่เรียกว่า “ไส้เลื่อนติดค้าง” (ไส้เลื่อนที่อาการรุนแรงจนลำไส้ติดคาอยู่ที่รูผนังช่องท้อง ไม่สามารถดันให้กลับเข้าผนังช่องท้องได้อีก) จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จำเป็นต้องรับการผ่าตัดโดยด่วน

9. ต่อมลูกหมากโต สูบบุหรี่ เป็นสาเหตุหนึ่งของไส้เลื่อน?

ตอบ: ต่อมลูกหมากโต และ การสูบบุหรี่ ส่งผลให้เป็นไส้เลื่อนได้ เนื่องจากอาการของภาวะต่อมลูกหมากโตคือ ผู้ป่วยมักปัสสาวะไม่ค่อยออก ทำให้ต้องเบ่งถ่ายปัสสาวะแรงกว่าปกติ ส่งผลให้ความดันในช่องท้องมีมากขึ้น ยิ่งเป็นต่อมลูกหมากโตระยะเวลานานๆ ไม่ได้รับการรักษา ความดันในช่องท้องก็ยิ่งเกิดขึ้นซ้ำๆ

ส่วนการสูบบุหรี่นั้นส่งผลให้เกิดถุงลมปอดโป่งพอง นำไปสู่ภาวะไอเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้ความดันในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ถ้าประกอบกับภาวะรูผนังช่องท้องปิดไม่สนิท หรือเป็นผู้มีผนังช่องท้องบาง เคยผ่าตัดช่องท้อง หรือมีบริเวณใดบริเวณหนึ่งของกล้ามเนื้อผนังช่องท้องหย่อนยาน ก็จะทำให้เกิดไส้เลื่อนขึ้นได้

หลากหลายข้อมูลความเชื่อที่คุณรู้มา อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป หากคุณเริ่มสงสัยว่าตัวเองกำลังมีความเสี่ยงเป็นไส้เลื่อนอย่านิ่งนอนใจ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนรักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุด

หากคุณสงสัยว่าตัวเองมีภาวะไส้เลื่อน หรือเริ่มมีอาการแล้วแต่ยังไม่แน่ใจ ไม่รู้จะปรึกษาใครดี ทักหาทีม HDcare ช่วยนัดคิวปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทางสะดวก รวดเร็ว พร้อมดีลพิเศษเพียบ คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top