ตับเป็นอวัยวะสำคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในช่องท้อง มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วยย่อยอาหารและกำจัดสารพิษ เมื่อตับหยุดทำงานกะทันหันหรือ “ตับวายเฉียบพลัน” อาจทำให้ตับและอวัยวะอื่นได้รับความเสียหาย และมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง HDmall ชวนทุกคนมาเข้าใจภาวะน่ากลัวนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้เราสามารถป้องกันและรับมือได้อย่างถูกวิธี
สารบัญ
ภาวะตับวายเฉียบพลัน คืออะไร
ภาวะตับวายเฉียบพลัน (Acute Liver Failure: ALF) เป็นภาวะที่เซลล์ตับได้รับความเสียหายมากจนไม่สามารถฟื้นฟูได้เป็นปกติ ทำให้ตับหยุดทำงานอย่างกะทันหัน นอกจากสร้างความเสียหายให้ตับเองแล้ว ยังส่งผลให้อวัยวะอื่นได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อย แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของตับวายเฉียบพลัน เกิดจากอะไร
สาเหตุพบได้บ่อยของภาวะตับวายเฉียบพลัน ได้แก่
- การรับประทานยาเกินขนาด เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด หลัก ๆ แล้วจะเป็นยากลุ่มอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือพาราเซตามอล (Paracetamol) ที่รู้จัก รวมถึงอาจเกิดได้จากยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ยาต้านเศร้า ยาต้านเชื้อรา และยารักษาโรคลมชัก ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ตับ
- อาหารเสริมและสมุนไพรบางชนิด การรับประทานอาหารเสริมและสมุนไพรบางชนิดเป็นปริมาณมากติดต่อกัน อาจทำให้เกิดตับวายเฉียบพลันได้
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis Virus) และไวรัสอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซี และอี การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus: CMV) หรือการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีซิมเพลกซ์ (Herpes Simplex Virus) ที่ก่อให้เกิดโรคเริม
- การได้รับสารพิษ เช่น สารพิษจากเห็ดระโงกพิษ (Amanita Phalloides) สารทำความเย็น และสารเคมีในอุตหกรรมอื่น ๆ
- ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Diseases) เป็นภาวะที่ทำให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติไป เช่น โรควิลสัน (Wilson’s Disease) ภาวะตับคั่งไขมันหรือไขมันพอกตับเฉียบพลัน
- โรคของหลอดเลือดในตับ การอุดตันในหลอดเลือดอาจทำให้เกิดการขาดเลือดหรือเลือดไปเลี้ยงตับได้น้อยลง อาจทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลันได้
- โรคมะเร็งในระยะแพร่กระจาย มะเร็งจากอวัยวะอื่น ๆ สามารถลุกลามไปที่ตับ เป็นสาเหตุให้ตับวายเฉียบพลันได้
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ โดยทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะต่าง ๆ ได้
อาการตับวายเฉียบพลัน เป็นแบบไหน
คนส่วนมากมักตรวจเจอภาวะตับวายเฉียบพลันจากค่าตับที่สูงขึ้นตอนไปตรวจสุขภาพ โดยอาการที่บ่งบอกถึงภาวะตับวายเฉียบพลัน ได้แก่ จุกแน่นใต้ชายโครงด้านขวา รู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลียคล้ายเป็นหวัด คลื่นไส้ ท้องเสีย
เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่าน อาเจียนเป็นเลือด ช้ำหรือเกิดเลือดออกได้ง่าย ท้องมานหรือพุงใหญ่คล้ายตั้งครรภ์จากน้ำในช่องท้อง รู้สึกสับสน ซึม และหมดสติ หากเกิดอาการรุนแรงเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการอาจเกิดได้รวดเร็วจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
ไม่อยากเสี่ยงตับวาย ตรวจเช็กสุขภาพตับได้ที่ HDmall.co.th หาแพ็กเกจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ดูความผิดปกติตับ หรือแพ็กเกจตรวจสุขภาพตับอื่น ๆ คลิกเลย จองได้ก่อนในราคาโปรโมชั่น แถมได้ส่วนลดเพิ่มทุกครั้งที่จองแพ็กเกจอื่น อยากให้แอดมินแนะนำแพ็กเกจให้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม แชทเลย
การวินิจฉัยตับวายเฉียบพลัน แพทย์ตรวจอะไรบ้าง
ขั้นแรกจะต้องมีการสอบถามประวัติ และตรวจร่างกาย เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงและประเมินความรุนแรงของภาวะตับวายเฉียบพลัน เช่น ประวัติการใช้ยา การสัมผัสสารเคมี ความเสี่ยงในการติดเชื้อ โรคประจำตัว และอาการผิดปกติที่บ่งบอกถึงภาวะตับวายเฉียบพลัน นอกจากนี้ แพทย์จะมีการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมร่วมด้วย เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อดูว่าตับทำงานได้ดีหรือไม่ โดยการทดสอบระดับการแข็งตัวเลือด และวัดค่าเอนไซม์ตับต่าง ๆ
- การดูภาพถ่ายทางรังสีวิทยา เช่น การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูโครงสร้างของตับและหาสาเหตุของการเกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน
- การเจาะชิ้นเนื้อตับ (Liver Biopsy) มักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้แน่ชัด โดยแพทย์จะนำตัวอย่างของเนื้อตับบางส่วนออกมาตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน
ภาวะตับวายเฉียบพลัน เป็นแล้วรักษาได้ไหม
ตับวายเฉียบพลันเป็นภาวะรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยมักต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังอาการและภาวะแทรกซ้อน โดยการรักษาภาวะตับวายเฉียบพลัน แพทย์จะรักษาตามอาการและสาเหตุ เช่น
- ตับวายเฉียบพลันจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด แพทย์จะให้ยาต้านพิษหรือถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) เพื่อลดการดูดซึมตัวยาเข้าสู่ร่างกาย
- ตับวายเฉียบพลันจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสตัวอักเสบบี
- ตับวายเฉียบพลันจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง แพทย์จะให้ยาลดการอักเสบหรือยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วย
หากตับเสียหายหนักมากจนไม่สามารถรักษาได้ หรือรักษาแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการปลูกถ่ายตับ และมีการใช้เครื่องพยุงการทำงานของตับ (Liver Support Device) ระหว่างรอการปลูกถ่ายตับจนกว่าจะหาตับที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย
ป้องกันภาวะตับวายเฉียบพลัน ได้อย่างไร
ตับวายเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่รู้ตัว ยิ่งในกลุ่มผู้ไม่เคยพบโรคตับมาก่อน ยิ่งต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเอง การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น ไม่รับประทานยาเกินปริมาณ หลีกเลี่ยงการใช้อาหารเสริมและสมุนไพรโดยไม่จำเป็น หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง คนที่ไม่มีภูมิต้านต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี และพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ อย่างการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน