ไส้เลื่อนขาหนีบ เป็นโรคที่พบได้ในทั้งเด็กทารกหรือวัยผู้ใหญ่ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ไส้เลื่อนขาหนีบในระยะแรกอาจไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ บางกรณีอาจนำไปสู่ภาวะอวัยวะขาดเลือด เนื้อเยื่อตาย หรือติดเชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นผู้ที่สงสัยว่าตัวเองเป็นไส้เลื่อนขาหนีบจึงควรรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์
ไส้เลื่อนขาหนีบรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว และทิ้งรอยแผลเป็นเพียงขนาดเล็กจนแทบมองไม่เห็นเอาไว้เท่านั้น
สารบัญ
ไส้เลื่อนขาหนีบ คืออะไร?
ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal Hernia) คือ ภาวะที่มีเนื้อเยื่อไขมันหรือบางส่วนของลำไส้เลื่อนทะลุผนังช่องท้องส่วนล่างบริเวณที่อ่อนแอ ออกมาสู่บริเวณขาหนีบ จนเกิดเป็นก้อนบริเวณขาหนีบ อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
ไส้เลื่อนขาหนีบเป็นชนิดไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับไส้เลื่อนชนิดอื่นๆ โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ถึง 7 เท่า และกว่า 50% ของผู้ชายที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป มักมีภาวะไส้เลื่อนขาหนีบ
ภาวะไส้เลื่อนขาหนีบเองอาจไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ภายหลัง เช่น อาจทำให้ลำไส้ขาดเลือด เนื้อเยื่อตาย หรือติดเชื้อ ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาไส้เลื่อนด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ณ ปัจจุบัน
ไส้เลื่อนขาหนีบแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- ไส้เลื่อนขาหนีบที่เกิดจากผนังช่องท้องหย่อนยาน (Direct Inguinal Hernia) ไส้เลื่อนลักษณะนี้ทำให้ลำไส้ยื่นออกมา เกิดเป็นก้อนบริเวณหัวหน่าว
- ไส้เลื่อนที่เคลื่อนออกมาตามรูเปิดบริเวณขาหนีบ (Indirect Inguinal Hernia) เมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดา รูเปิดที่ว่านี้ใช้เป็นทางเดินเลือดมาเลี้ยงลูกอัณฑะ ตามปกติรูจะเปิดไปเอง แต่ในทารกบางราย รูดังกล่าวอาจเปิดค้างอยู่หรือปิดไม่สนิท แม้ว่าจะคลอดออกมาแล้ว จึงเป็นช่องทางให้ลำไส้หรือเนื้อเยื่อไขมันจากช่องท้องส่วนล่าง เลื่อนหลุดออกมาได้ ถ้าเป็นไส้เลื่อนลักษณะนี้ มีโอกาสที่เนื้อเยื่อไขมันหรือลำไส้เคลื่อนต่อไปยังถุงอัณฑะได้
สาเหตุของ ไส้เลื่อนขาหนีบ คืออะไร?
ไส้เลื่อนขาหนีบ มีต้นเหตุจากกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อผนังช่องท้องหย่อนยาน จนเกิดรูที่ทำให้เนื้อเยื่อไขมันหรือลำไส้เคลื่อนผ่านได้ ความหย่อนยานนี้อาจเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเอง หรือมาจากภาวะสุขภาพ หรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่น
- อายุมากขึ้น
- ไอเรื่อรัง
- เบ่งถ่ายบ่อยๆ
- ออกกำลังกายบางท่า
- การตั้งครรภ์
- ทำงานที่ต้องยืนต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ภาวะอ้วนมากจนมีผลต่อแรงดันในช่องท้อง
- ผ่านการผ่าตัดบริเวณช่องท้องมาก่อน
อาการ ไส้เลื่อนขาหนีบ เป็นอย่างไร?
ไส้เลื่อนขาหนีบ เป็นภาวะที่สังเกตความผิดปกติได้ด้วยตนเอง ได้แก่
- พบก้อนบริเวณขาหนีบ อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และจะยิ่งสังเกตเห็นชัดเมื่อยืนตรงหรือเกร็งกล้ามเนื้อ อาจรู้สึกเจ็บหรือปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย
- รู้สึกไม่สบายตัวบริเวณขาหนีบ โดยเฉพาะเวลางอตัว ไอ หรือยกของหนัก
- รู้สึกหนักๆ หรือเหมือนมีอะไรถูกลากไปมาบริเวณขาหนีบ
- รู้สึกถึงแรงดัน หรืออ่อนแรง บริเวณขาหนีบ
สำหรับไส้เลื่อนขาหนีบในเด็กทารก ผู้ปกครองอาจสังเกตเห็นก้อนที่ขาหนีบของเด็ก ซึ่งจะเห็นชัดขึ้นเวลาเด็กร้องไห้ ไอ หรือเบ่งถ่าย นอกจากนี้ยังอาจสังเกตพฤติกรรมการกินของเด็ก โดยเด็กที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบมักไม่ค่อยอยากอาหาร
ถ้าสงสัยว่ามีอาการที่เข้าข่ายไส้เลื่อนขาหนีบ ร่วมกับมีภาวะดังต่อไปนี้ จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์โดยด่วนเนื่องจากอาจบ่งบอกว่ามีภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้
- รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงขึ้นมากะทันหัน
- ก้อนที่สงสัยว่าเป็นไส้เลื่อนเปลี่ยนเป็นสีแดง ม่วง หรือดำคล้ำ
- ผายลมไม่ออก
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรค ไส้เลื่อน รึเปล่า อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจตรวจคัดกรอง หรือผ่าตัดไส้เลื่อนราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
วิธีรักษาโรค ไส้เลื่อนขาหนีบ มีวิธีไหนบ้าง
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นไส้เลื่อนขาหนีบ แต่มีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจพิจารณาให้รักษาด้วยวิธีเบื้องต้น เช่น ให้สวมใส่อุปกรณ์พยุงไส้เลื่อน หรือรอสังเกตอาการไปก่อน ยังไม่ต้องผ่าตัดทันที
กรณีเป็นผู้ป่วยเด็ก แพทย์อาจกดให้อวัยวะที่เคลื่อนออกจากผนังช่องท้องกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม ก่อนจะพิจารณาให้ผ่าตัด
สำหรับไส้เลื่อนขาหนีบที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด รบกวนการใช้ชีวิต หรือแพทย์พิจารณาว่าอาจก่อให้เกิดอันตราย แนวทางการรักษาหลักคือผ่าตัด โดยเทคนิคการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนขาหนีบในปัจจุบัน ได้แก่
1. ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบแบบเปิด
การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด (Open Hernia Repair) เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม การผ่าตัดจะเริ่มจากระงับความรู้สึกผู้ป่วย ด้วยการใช้ยาชาเฉพาะที่ วางยาสลบ หรือให้ยาระงับประสาท จากนั้นจึงผ่าเปิดบริเวณขาหนีบของผู้ป่วย แล้วจัดอวัยวะที่เลื่อนออกจากผนังช่องท้องให้กลับเข้าที่ เมื่อเสร็จเรียบร้อยค่อยเย็บซ่อมรูเปิดที่ผนังช่องท้อง พร้อมทั้งเสริมความแข็งแรงบริเวณนั้นด้วยตาข่ายทางการแพทย์ ก่อนจะเย็บปิดแผล
หลังการผ่าตัดแพทย์มักให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายทันที แต่อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะกลับมาประกอบกิจวัตรประจำวันตามปกติได้
2. ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบแบบส่องกล้อง
การผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Inguinal Hernia Repair) การผ่าตัดจะเริ่มจากแพทย์ระงับความรู้สึกผู้ป่วยด้วยวิธีวางยาสลบ จากนั้นกรีดเปิดรูขนาด 0.5-1 เซนติเมตรที่หน้าท้องผู้ป่วยจำนวน 3-5 รู อาจมีการอัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ช่องท้องผู้ป่วยเพื่อขยายพื้นที่และให้เห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน
จากนั้นใช้อุปกรณ์ผ่าตัดร่วมกับกล้องกำลังขยายสูงใส่เข้าไปในช่องท้องผู้ป่วยทางรูที่กรีดเปิดไว้ เพื่อทำการผ่าตัดนำอวัยวะภายในที่เลื่อนออกจากตำแหน่งปกติให้กลับเข้าตำแหน่งเดิม
รวมถึงเย็บซ่อมแซมผนังช่องท้อง พร้อมเสริมความแข็งแรงด้วยตาข่ายทางการแพทย์
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง อาจมีการใช้แขนหุ่นยนต์ ซึ่งบังคับโดยแพทย์ร่วมด้วย เพื่อให้การผ่าตัดเข้าถึงบริเวณเล็กๆ อย่างแม่นยำขึ้น
3. ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบแบบส่องกล้องแผลเดียว
การผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้องแผลเดียว (Single Incision Laparoscopic Inguinal Hernia Repair) เป็นเทคนิคผ่าตัดซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วแทบไม่หลงเหลือแผลเป็นบนร่างกายผู้ป่วย
การผ่าตัดเริ่มจากแพทย์ระงับความรู้สึกผู้ป่วยด้วยวิธีวางยาสลบ จากนั้นเปิดแผลขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร 1 รู บริเวณรูสะดือ แล้วใส่อุปกรณ์หน้าตาคล้ายท่อ ประกอบด้วยช่องหลายขนาดเข้าไป เพื่อเป็นช่องทางใส่เครื่องมือผ่าตัดต่างๆ รวมถึงกล้องเข้าสู่ช่องท้องผู้ป่วย
อุปกรณ์ผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียวมีความยืดหยุ่น สามารถงอและซอกซอนเข้าสู่ช่องแคบๆ ภายในช่องท้องได้ ช่วยลดความบอบช้ำของอวัยวะภายใน
กล้องกำลังขยายสูงที่ใส่เข้าไปทางรูสะดือ จะฉายภาพออกมาที่จอขนาดใหญ่ในห้องผ่าตัด แพทย์จะอาศัยดูภาพจากจอเพื่อให้ผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ
เมื่อเปรียบเทียบการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดกับแบบส่องกล้อง ผู้ป่วยมักรู้สึกสบายกว่าเมื่อรับการผ่าตัดแบบแผลเล็ก มีแผลเป็นน้อยกว่า และฟื้นตัวเร็วกว่า ส่วนผลการรักษาของสองเทคนิค เมื่อเทียบในระยะยาวแล้วถือว่าไม่ต่างกันมาก
การป้องกัน ไส้เลื่อนขาหนีบ มีวิธีไหนบ้าง?
ไส้เลื่อนอาจเกิดขึ้นเองจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อหรือเนื่อเยื่อที่ปกป้องอวัยวะในช่องท้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถป้องกันได้ 100% อย่างไรก็ตาม สามารถลดความเสี่ยงการเป็นไส้เลื่อนได้ โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความดันสูงในช่องท้อง เช่น
- รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ลดความเสี่ยงของอาการท้องผูกที่ทำให้ต้องนั่งขับถ่ายเป็นเวลานานหรือต้องเบ่งอุจจาระแรงๆ
- เลี่ยงการยกของหนัก หรือถ้าจำเป็น ควรยกโดยออกแรงจากขา ไม่ทิ้งน้ำหนักที่ท้องหรือหลัง
- ถ้าออกกำลังกายประเภทยกน้ำหนัก ควรทำให้ถูกท่า โดยอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
- ออกกำลังกายประเภทเสริมสร้างความแข็งแรงที่แกนกลางลำตัว เพื่อให้กล้ามเนื้อช่องท้องคงความแข็งแรงเอาไว้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้สารอาหารครบถ้วนในปริมาณพอเหมาะ ควบคุมไม่ให้น้ำหนักเกิน
- ถ้าเจ็บป่วยโดยมีอาการไอ จาม ควรรักษาให้หายขาด
ไส้เลื่อนขาหนีบเป็นชนิดไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยที่สุดในไส้เลื่อนทั้งหมด แม้จะพบในเพศชายมากกว่า แต่ก็พบได้ในเพศหญิงเช่นกัน แนวทางรักษาหลักคือการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีหลายเทคนิค
การตัดสินใจเลือกเทคนิคผ่าตัดให้เหมาะสมจำเป็นต้องทำร่วมกับแพทย์ เพราะความรุนแรงของโรค รวมถึงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน การรักษาจึงแตกต่างกันไปด้วย
ถ้ามีสัญญาณบอกว่าอาจเป็นไส้เลื่อน ไม่ควรละเลยสัญญาณเหล่านั้น เนื่องจากไส้เลื่อนมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะนำไปสู่ภาวะอวัยวะขาดเลือด เนื้อเยื่อตาย หรือติดเชื้อได้
กังวลใจใช่ไหม กลัวว่าจะเป็นไส้เลื่อนอยู่รึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย