นิ่วในถุงน้ำดีอันตรายไหม สัญญาณไหนที่บ่งบอกว่าควรพบแพทย์ การตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีทำอย่างไร นิ่วในถุงน้ำดีหายเองได้ไหม…ในบทความนี้เรารวบรวม 12 เรื่องที่หลายคนอยากรู้ และเข้าใจผิดเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี มาไว้ให้แล้ว
เรื่องที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี
สารบัญ
- 1. ถุงน้ำดีคืออะไร สำคัญอย่างไรกับร่างกาย
- 2. นิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร
- 3. นิ่วในถุงน้ำดีอันตรายไหม
- 4. สัญญาณไหนที่บ่งบอกว่าควรพบแพทย์
- 5. พฤติกรรมการกินส่งผลให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีอย่างไร
- 6. ทำไมนิ่วในถุงน้ำดีพบมากในผู้หญิง
- 7. การตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีทำอย่างไร
- 8. ก่อนตรวจนิ่วในถุงน้ำดีต้องเตรียมตัวอย่างไร
- 9. นิ่วในถุงน้ำดี หายเองได้ ไม่ต้องรักษา
- 10. หากยังไม่มีอาการ ยังไม่จำเป็นต้องตรวจ
- 11. นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากพันธุกรรม ไม่สามารถป้องกันได้
- 12. ยาสมุนไพรใช้รักษานิ่วในถุงน้ำดีได้
1. ถุงน้ำดีคืออะไร สำคัญอย่างไรกับร่างกาย
ตอบ: ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย มีลักษณะเป็นรูปถุง อยู่บริเวณหน้าท้อง ทำหน้าที่กักเก็บน้ำดี โดยทั่วไปมีปริมาณประมาณ 50 มิลลิลิตร เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป แล้วอาหารเข้าสู่กระบวนการย่อย ถุงน้ำดีจะบีบตัวให้น้ำดีลงมาผสม เพื่อช่วยให้ไขมันละลายและย่อยได้
2. นิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร
ตอบ: นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) คือ การตกตะกอนของสารต่างๆ ในน้ำดี เช่น คอเลสเตอรอล บิลิรูบิน จนเกิดเป็นนิ่ว โดยมีสาเหตุมาจากการที่สารละลายหลักในถุงน้ำดีเสียสมดุล แล้วขับออกมาไม่หมด จึงตกตะกอนกลายเป็นนิ่วอยู่ภายใน ซึ่งนิ่วอาจมีขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ก็ได้ นอกจากนี้อาจพบก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อนก็ได้
3. นิ่วในถุงน้ำดีอันตรายไหม
ตอบ: ผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดี หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ก้อนนิ่วอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือสะสมมากขึ้น และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ตับและตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตัน ติดเชื้อรุนแรง หรืออาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งถุงน้ำดีได้
4. สัญญาณไหนที่บ่งบอกว่าควรพบแพทย์
ตอบ: หากมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะหลังจากรับประทานอาหารมันๆ ปวดจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือชายโครงด้านขวา ปวดร้าวบริเวณไหล่ หลัง หรือสะบักขวา รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุภายใน 1-2 สัปดาห์
แต่หากมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม มีไข้ หนาวสั่นร่วมด้วย ควรรีบไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายได้
5. พฤติกรรมการกินส่งผลให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีอย่างไร
ตอบ: พฤติกรรมการกินส่งผลให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ โดยเฉพาะการกินอาหารไขมันสูงและกากใยต่ำเป็นประจำ เช่น อาหารทอด ปิ้งย่าง เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเลบางชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาหารเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดการตกตะกอนของคอเลสเตอรอล
6. ทำไมนิ่วในถุงน้ำดีพบมากในผู้หญิง
ตอบ: นิ่วในถุงน้ำดีนอกจากจะเกิดจากพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายแล้ว ยังพบได้มากในผู้หญิง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงขึ้น โดยผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โดยเฉพาะผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิด รับประทานฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน รวมทั้งผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และตั้งครรภ์บ่อยครั้ง ล้วนมีความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
7. การตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีทำอย่างไร
ตอบ: แพทย์จะเริ่มต้นตรวจวินิจฉัยจากการซักประวัติอาการและตรวจร่างกาย รวมทั้งตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ และตรวจวินิจฉัยโดยการทำอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน เพื่อหาก้อนนิ่วในถุงน้ำดี และหาภาวะถุงน้ำดีอักเสบ วิธีนี้ถือเป็นวิธีการตรวจที่เห็นผลได้ชัดเจน ใช้เวลาไม่นาน สามารถทราบผลได้ทันที
นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน รวมทั้งใช้เข็มเจาะผ่านตับเข้าไปในท่อน้ำดี ซึ่งจะทำในกรณีที่ท่อน้ำดีอุดตัน
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีเป็นอย่างไร? เจ็บไหม ต้องเตรียมตัวอย่างไร อ่านต่อในบทความนี้เลย
8. ก่อนตรวจนิ่วในถุงน้ำดีต้องเตรียมตัวอย่างไร
ตอบ: ก่อนตรวจนิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยการงดอาหาร และเครื่องดื่มที่มีไขมันทุกชนิด ประมาณ 4-6 ชั่วโมงก่อนตรวจ แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นถุงน้ำดีได้อย่างชัดเจน
หากยังมีคำถามคาใจเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี ต้องการคำตอบที่แน่ชัด หรืออยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี
9. นิ่วในถุงน้ำดี หายเองได้ ไม่ต้องรักษา
ตอบ: นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่ไม่สามารถหายเองได้ หากมีอาการปวดท้องรุนแรง จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรักษา โดยการรักษาที่เห็นผลมากที่สุดในปัจจุบัน คือการผ่าตัด หากตรวจพบเร็ว ก็สามารถรักษาได้ง่าย และผลการรักษาก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
10. หากยังไม่มีอาการ ยังไม่จำเป็นต้องตรวจ
ตอบ: ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีในช่วงเริ่มต้น มักไม่ได้มีอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นนิ่ว จึงปล่อยให้นิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ หลายรายมีอาการปวดท้อง แต่มักจะเข้าใจผิดว่า เป็นโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน จึงรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ
กว่าจะทราบว่าเป็นนิ่วถุงน้ำดี อาการก็รุนแรงเพิ่มขึ้นแล้ว ดังนั้น ทางที่ดี หากพบว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปี
11. นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากพันธุกรรม ไม่สามารถป้องกันได้
ตอบ: แม้ว่านิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรมได้บางส่วน แต่สาเหตุหลักก็มักจะเกิดจากพฤติกรรมของเรา ซึ่งสามารถป้องกันได้ โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและกากใยต่ำ เช่น อาหารทอด ปิ้งย่าง เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเลบางชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ควรควบคุมน้ำหนักให้คงที่ ไม่ปล่อยให้น้ำหนักเกินเกณฑ์ หากต้องการลดน้ำหนัก ไม่ควรใช้วิธีอดอาหาร เพื่อให้น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ ควรปรับพฤติกรรมการกิน ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ และหมั่นตรวจเช็กสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
12. ยาสมุนไพรใช้รักษานิ่วในถุงน้ำดีได้
ตอบ: หลายคนเชื่อว่า การใช้ยาสมุนไพรสูตรต่างๆ เช่น น้ำแกนสับปะรด บอระเพ็ด ลิ้นทะเล เป็นวิธีการที่ช่วยรักษานิ่วในถุงน้ำดีได้ แต่ความจริงแล้วยังไม่มีงานวิจัยใดที่รองรับ และไม่ปรากฏว่า สามารถใช้รักษานิ่วในถุงน้ำดีให้หายได้
ฉะนั้นหากสงสัยว่ามีอาการนิ่วในถุงน้ำดี หรือตรวจพบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้าผ่าตัดรักษาจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด
หากคุณมีความเสี่ยง หรือมีอาการที่เข้าข่ายนิ่วในถุงน้ำดี และอยากตรวจให้แน่ใจ เพื่อที่จะได้วางแผนวิธีการรักษาอย่างถูกต้อง อย่าลังเลที่จะไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม ร้ายแรง
ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดีใช่ไหม? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย