foamy urine

ปัสสาวะเป็นฟอง อันตรายไหม รักษาอย่างไร

ปัสสาวะเป็นกิจวัตรที่ใคร ๆ ก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และแต่ละคนต่างก็มีลักษณะ รวมถึงความถี่ในการปัสสาวะแตกต่างกันออกไป แต่หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่บางคนเจอ คือการ “ปัสสาวะเป็นฟอง” ที่ดูน่ากลัวและพาให้สงสัยว่าแบบไหนอันตรายไหม เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรได้บ้าง บทความนี้จะไขปัญหาคาใจให้เอง 

ปัสสาวะเป็นฟอง เกิดจากอะไร 

ปัสสาวะเป็นฟองนั้นเกิดได้จากหลากหลายกรณี เช่น สบู่ในน้ำของโถส้วม การปัสสาวะเยอะ ๆ ในครั้งเดียว การถูกบังคับให้ปัสสาวะ หรือการปัสสาวะเร็วมาก เพราะความเร็วก็ทำให้เกิดฟองชั่วคราวได้ แต่ถ้าไม่ใช่สาเหตุดังกล่าว ปัสสาวะเป็นฟองก็อาจมาจากปัญหาสุขภาพได้ ดังนี้

1. ภาวะขาดน้ำ

ถ้าปัสสาวะเข้มข้นสูงและมีสีเข้มมาก ก็อาจทำให้ปัสสาวะเป็นฟองได้ เกิดจากการดื่มน้ำไม่มากพอจะไปเจือจางสารอื่น ๆ ในปัสสาวะ 

นอกจากนี้ ยังอาจมาจากการสูญเสียน้ำในร่างกายด้วยก็ได้ เช่น จากการออกกำลังกาย หรือขับออกเป็นเหงื่อในสภาพอากาศร้อนจัด 

สำหรับกรณีนี้ วิธีป้องกันก็คือการดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำหรือสูญเสียน้ำเยอะจนปัสสาวะมีความเข้มข้น 

2. โรคไต

หนึ่งในหน้าที่ของไตคือการกรองโปรตีนออกจากเลือด ซึ่งโปรตีนเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญ เช่น รักษาสมดุลของของเหลว 

ถ้าไตเสียหายหรือเป็นโรคไต โปรตีนในไตก็จะไหลออกมาปนกับปัสสาวะ หรือที่เรียกกันว่า ภาวะโปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria) 

เมื่อมีโปรตีนในปัสสาวะมากเกินไป ความตึงผิวของปัสสาวะก็จะลดลง ทำให้ปัสสาวะเกิดฟองได้ 

อาการของโรคไตมีหลากหลาย เช่น คันผิว คลื่นไส้ หายใจติดขัด บวม รู้สึกเหนื่อยโดยหาสาเหตุไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย อาเจียน และภาวะโปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria) ก็ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคนี้เช่นกัน 

ถ้ามีอาการเหล่านี้ และคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไต โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน และปัสสาวะเป็นฟองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย 

3. โรคเบาหวาน

สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงนั้นมีหลากหลาย และโรคเบาหวานก็เป็นหนึ่งในนั้น 

ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้จะมีน้ำตาลกลูโคสในร่างกายมากกว่าคนอื่น ถ้ามีปริมาณสูงเกินไป ก็จะทำให้ไตมีปัญหากับการกรองโมเลกุลน้ำตาล 

เมื่อไตมีปัญหา ไตก็จะปล่อยกลูโคสส่วนเกินและโปรตีนเข้าไปในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเป็นฟอง

อาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด ปากแห้ง คันผิว รู้สึกกระหายน้ำต่อเนื่อง อยากไปเข้าห้องน้ำ หิวและเหนื่อยโดยหาสาเหตุไม่ได้ 

4. ความผิดปกติทางร่างกาย

  • ภาวะโปรตีนในปัสสาวะมากเกินไป (Nephrotic Syndrome)
  • กระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะอักเสบ
  • การหลั่งอสุจิย้อนทาง เป็นอาการที่อสุจิย้อนกลับเข้ากระเพาะปัสสาวะผู้ชาย
  • การตั้งครรภ์ 

5. พฤติกรรมบางอย่าง

  • บริโภคโปรตีนมากเกินไป
  • มีความเครียดสะสม
  • สูบบุหรี่ 
  • มีสารบางอย่างในปัสสาวะสูงเกินไป เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน
  • ออกกำลังกายหรือทำงานฝืนร่างกายมากเกินไป

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นอีกทางที่ช่วยลดปัญหาการเกิดฟองในปัสสาวะได้ และยังลดความเสี่ยงในการพบโรคอันตรายได้ด้วย 

การวินิจฉัยอาการปัสสาวะเป็นฟอง 

ผู้ป่วยต้องเก็บปัสสาวะของตัวเองตลอดวัน และแพทย์จะนำตัวอย่างปัสสาวะไปทดสอบ เพื่อหาสาเหตุของอาการปัสสาวะเป็นฟอง 

หมอจะตรวจสอบว่าปัสสาวะมีระดับโปรตีนสูงหรือไม่ โดยการเทียบจำนวนโปรตีนในเลือด อัลบูมิน (Albumin) กับปริมาณของเสีย ครีเอตินิน (Creatinine) ถ้าอัตราส่วนของสองอย่างนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย ก็แปลว่าไตบาดเจ็บหรือเป็นโรคไต จนส่งผลต่อกระบวนการกรองของเสีย 

นอกจากวิธีนี้แล้ว แพทย์อาจจะใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด มั่นใจได้ว่าโครงสร้างของไตไม่มีปัญหา 

ปัสสาวะเป็นฟอง รักษาอย่างไร 

การจะรักษาภาวะปัสสาวะเป็นฟองนั้นอยู่กับสาเหตุของอาการด้วย เช่น 

  • ถ้าเกิดจากการที่ร่างกายขาดน้ำ ก็ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นจนปัสสาวะกลายเป็นสีใสหรือสีเหลืองซีด
  • ถ้าเกิดจากโรคเบาหวาน แพทย์จะจ่ายยาลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ ซึ่งผู้ป่วยก็ต้องคอยตรวจระดับของน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจจ่ายยาให้กับผู้ที่เป็นโรคไตระยะแรก

    ถ้าเป็นโรคไตจากความดันโลหิตสูง แพทย์อาจให้ยาลดความดันโลหิตที่ช่วยลดโปรตีนในปัสสาวะด้วย เช่น กลุ่มยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors หรือ Angiotensin-converting enzyme inhibitors) และยาลดความดันโลหิตกลุ่มแอนจีโอเทนซิน (ARBs หรือ Angiotensin receptor blockers)

แม้จะรักษาด้วยการใช้ยาแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตก็เป็นสิ่งที่ควรทำ 

เช่น หันมากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เค็มน้อย โซเดียมต่ำ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต  หรือเลี่ยงอาหารรสหวานเพื่อรักษาระดับของน้ำตาลในเลือด  

นอกจากนี้ยังควรออกกำลังกายเป็นประจำและไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดฟองในปัสสาวะให้น้อยลง

ปัสสาวะเป็นฟองเกิดได้จากหลายสาเหตุ ลองเช็กดูให้ดีว่าเกิดจากอะไรกันแน่ และอย่าลืมรักษาสุขภาพให้ดี ดื่มน้ำเยอะ ๆ พักผ่อนมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

คำถามที่พบบ่อย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD

Scroll to Top