รู้จัก “หมอเบนซ์” คุณหมอผ่าตัดสมอง กับประสบการณ์ผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง

เผยเรื่องราวชีวิตศัลยแพทย์ผ่าตัดสมอง กับหมอเบนซ์ นพ. จักรี ธัญยนพพร ศัลยแพทย์ระบบประสาท ชำนาญอนุสาขารังสีร่วมรักษาระบบประสาท เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง

หมอชื่อหมอเบนซ์นะครับ เป็นศัลยแพทย์ระบบประสาท หรือเป็นแพทย์ผ่าตัดสมองนั่นเอง หมอเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการผ่าตัดโรคหลอดเลือดสมองทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงโรคทางหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเลือดออกสมอง ภาวะสมองขาดเลือด การผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การ Mapping สมอง การผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง หรือการผ่าตัดอื่นๆ เช่น การผ่าตัดรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยครับ

สารบัญ

โรคหลอดเลือดสมองที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง?

สำหรับโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุในประเทศไทยจะแบ่งออกได้ 2 โรคครับ คือ โรคสมองขาดเลือด และโรคเลือดออกในสมอง ทั้ง 2 โรคนี้สามารถพบได้ถึงประมาณ 40-50% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ใกล้เคียงกับโรคหัวใจครับ

ทำไมโรคหลอดเลือดสมองถึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ?

เพราะโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคของคนที่อายุเยอะขึ้นครับ และเส้นเลือดมีการเปราะบางหรือแข็งขึ้น จึงทำให้เลือดออกง่ายขึ้นหรือสมองตีบตันได้ง่าย โดยเฉพาะในประเทศไทย ทั้งการใช้ชีวิตและการกินอาหารของคนไทยก็มีส่วนทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ค่อนข้างเยอะ 

สัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง สามารถจำได้ง่ายๆ เลยครับ คือคำว่า “BE FAST”

  • B มาจากคำว่า Balance หมายถึง การทรงตัวที่ผิดปกติ หรือคนไข้เสียการทรงตัว เดินเซ ยืนหรือเดินได้ไม่มั่นคง
  • E มาจากคำว่า Eyes หมายถึง คนไข้มีอาการตาบอดเฉียบพลัน ตาบอดครึ่งซีกหรือบอดทั้ง 2 ข้างในคราวเดียวกัน
  • F มาจากคำว่า Face หมายถึง ใบหน้าที่เบี้ยวฉับพลันอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • A มาจากคำว่า Arm หมายถึง แขนขาข้างใดข้างหนึ่งเกิดอาการอ่อนแรงลง อาจจะอ่อนลงเพียงครึ่งเดียว หรืออ่อนแรงทั้งหมดจนแทบขยับไม่ได้เลย 
  • S มาจากคำว่า Speed หมายถึง การพูดจาที่ติดขัด พูดช้าลง หรือพูดไม่ได้เลย
  • T มาจากคำว่า Time จัดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการสังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมอง โดยเมื่อไรที่สังเกตเห็นอาการตั้งแต่ B จนถึง S ให้รีบเรียกรถพยาบาลหรือพาคนไข้เดินทางมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดครับ

โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมองที่พบได้บ่อยในประเทศไทย

โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมองที่พบได้บ่อยในไทยจะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ครับ กลุ่มแรกคือ โรคสมองขาดเลือด พบได้ 2 ใน 3 ของประชากรประเทศไทยเลย และที่รองลงมา คือ โรคเลือดออกในสมอง ซึ่งก็จะแบ่งย่อยลงไปอีก เช่น เลือดออกจากเส้นเลือดฝอย เลือดออกจากเส้นเลือดแดงใหญ่ เลือดออกจากเส้นเลือดดำ

ส่วนอาการของทั้ง 2 โรคนี้เราสามารถสังเกตเหมารวมเหมือนกับอาการ BE FAST ที่ได้กล่าวไปข้างต้นได้เลยครับ

แต่ละโรครักษาได้อย่างไร?

ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น แต่โดยทั่วไป เมื่อรู้ว่ามีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง คุณหมอจะซักประวัติและตรวจร่างกายก่อนเลย เราจะให้คนไข้เข้าสู่กระบวนการ Fast Track โดยทันที ซึ่งหมายถึง แม้คนไข้จะมีบาดแผลหรือโรคประจำตัวอื่นๆ แต่เราคำนึงถึงโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งสำคัญก่อน 

หลังจากตรวจร่างกาย เราก็จะให้คนไข้เอกซเรย์สมอง ซึ่งหากพบว่า มีเลือดออกในสมอง เราก็จะปรึกษากับหมอศัลแพทย์ผ่าตัดสมอง แต่หากพบว่า สมองขาดเลือด เราจะปรึกษาหมออายุรกรรมระบบประสาทเพื่อจ่ายยาละลายลิ่มเลือดบางชนิด หรือมากกว่านั้น หากเราพบว่ามีลิ่มเลือดอุดตันและสามารถรักษาได้ทันที เราจะทำการดึงลิ่มเลือดออกมาในทันทีได้เลยครับ

อาการแบบไหนเข้าข่ายต้องผ่าตัดด่วน

โดนส่วนมากก็เป็นอาการเส้นเลือดในสมองแตก แต่ไม่ใช่ทุกรายนะครับ ขึ้นอยู่กับกรณีไป ไม่ได้หมายความว่า พอคนไข้มีเลือดออกในสมองแล้วต้องผ่าทุกราย บางกรณีถ้าเลือดออกในสมองเยอะ แต่คนไข้อายุมากแล้ว สมองเหี่ยว ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด 

หรือบางกรณีเลือดออกไม่มาก แต่เป็นคนไข้ที่อายุยังน้อยอยู่ท่ี 40-50 ปี ก็อาจจะต้องผ่าตัด หรือถ้าเป็นโรคสมองขาดเลือด อาการรุนแรงมากๆ ก็ต้องผ่าตัดเช่นกัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ การดำเนินของโรค และอาการของคนไข้เป็นหลักครับ

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการผ่าตัดระบบประสาทและสมอง

ในความเห็นของหมอ ประเทศไทยเรามักคิดว่า การผ่าตัดด้วยการใช้กล้องเป็นการผ่าตัดที่ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ แต่ปัจจุบัน หมอบอกไว้เลยครับว่า คุณหมอทุกคนพยายามทำให้แผลผ่าตัดเล็กกันอยู่แล้ว ดังนั้นคำตอบที่ว่า “ผ่าตัดให้ได้แผลเล็กต้องใช้การผ่าตัดด้วยกล้อง” ไม่ใช่คำตอบเสมอไปครับ แต่เราต้องพูดว่า “ในบางกรณีของการผ่าตัดสมองต้องใช้กล้อง” ต่างหาก เพื่อให้การผ่าตัดถูกต้องแม่นยำมากขึ้น 

การผ่าตัดในบางกรณีไม่จำเป็นต้องใช้กล้องเสมอไป และการเปิดแผลผ่าตัดใหญ่หรือเล็กนั้นขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นต่างหาก อย่างในบางกรณีถ้าคนไข้มีเลือดออกมากและเป็นโรคมานานแล้ว เราก็อาจจะผ่าตัดแผลเล็กได้ หรือในบางกรณี คนไข้เลือดไม่มาก สมองขาดเลือดไม่มาก มีเนื้องอกไม่เยอะ แต่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ก็มีเช่นกัน

ดังนั้นแผลผ่าตัดจะใหญ่หรือเล็ก จะใช้กล้องหรือไม่ใช้กล้องนั้นขึ้นอยู่กับโรคครับ ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินการผ่าตัดว่า ใช้หรือไม่ใช้กล้องดี ไม่ได้เกี่ยวกับว่า ใช้กล้องผ่าตัดจะทำให้แผลเล็กลง ไม่ใช่ครับ และอีกประเด็นที่หลายคนเข้าใจผิดว่า การผ่าตัดสมอง ถ้าไม่เลือกวิธีผ่าตัด เราเลือกใช้วิธีให้ยาเคมีบำบัดแทนได้ไหม หรือใช้วิธีฉายแสงแทน หมอบอกเลยครับว่า ปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในการรักษาโรคเนื้องอกในสมอง วิทยาการรักษาโรคเหล่านี้มันพัฒนาเยอะขึ้นเรื่อยๆ และเราไม่ได้ใช้วิธีรักษาเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งอยู่แล้ว 

บางกรณีที่คนไข้เป็นเนื้องอกธรรมดา เราคิดว่า ผ่าตัดครั้งเดียวให้เรียบร้อยก็อาจจะไม่ใช่เสมอไปในยุคปัจจุบัน แต่หมออาจจะให้ฉายแสงร่วมด้วย หรือบางกรณีที่คนไข้เป็นโรคมะเร็งสมอง เราจะเห็นได้ว่านอกจากต้องผ่าตัดสมองแล้ว คนไข้ก็ยังต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงด้วยอีก ซึ่งการฉายแสงก็จะมีเทคนิคย่อยลงไปอีกหลายวิธีด้วย และคนไข้อาจจะต้องฉายแล้วฉายอีกไปเรื่อยๆ หลายครั้ง ดังนั้นการรักษาโรคเกี่ยวกับสมองและระบบประสาทจึงไม่ใช่แค่วิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้นครับ และไม่ได้ให้เป็นทางเลือกคนไข้ว่า เลือกวิธีใดวิธีหนึ่งก็เพียงพอ แต่เราต้องใช้หลายวิธีร่วมกันต่างหาก

ปัจจุบันมีนวัตกรรมอะไรบ้างที่เข้ามาช่วยรักษาโรคสมองและระบบประสาท

ปัจจุบันในช่วง 10 ปีให้หลังมีค่อนข้างเยอะมากครับ โดยจะเห็นได้ว่า เมื่อ 10 ปีก่อน เราจะได้ยินการใช้โรบอทผ่าตัดกันเป็นยุคแรกๆ เลย โดยเอามาใช้เรื่องการผ่าตัดศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ 

ส่วนปัจจุบันนี้ ไม่ใช่การใช้โรบอท แต่ไม่ว่าจะโรบอท เอไอ หรือเนวิเกเตอร์ต่างๆ ที่ช่วยสร้างแผนที่ในสมอง ล้วนทำให้หมอผ่าตัดได้ง่ายขึ้น แม่นยำมากขึ้น แผลผ่าตัดเล็กลง เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีส่วนค่อนข้างเยอะครับ รวมถึงวิทยาการต่างๆ เช่น การฉายแสงระหว่างผ่าตัดก็ทำได้ การอุดหลอดเลือดเพื่อเตรียมตัวก่อนผ่าตัดและผ่าตัดในคราวเดียวกันก็ทำได้เช่นกัน หรือหมอผ่าตัดไปแล้ว ต้องการดูว่า เอาเนื้องอกออกไปหมดหรือยังในห้องผ่าตัดเลยก็ทำได้ 

ดังนั้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หมอเห็นความแตกต่างค่อนข้างเยอะครับ จึงไม่อยากให้กลัวการผ่าตัดสมองกันแล้ว เพราะจากตอนนี้ วิทยาการผ่าตัดสมองก็พัฒนามาจนถึงจุดที่หมอมองว่า ก็ปลอดภัยอยู่พอสมควรแล้วครับ และให้ผลการรักษาค่อนข้างดีด้วย

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยไม่ผ่าตัด ต้องทำยังไง?

ขึ้นอยู่กับรอยโรค อย่างที่หมอบอกไปว่า การผ่าตัดเลือดออกในสมองบางชนิด ถ้าเลือดออกไม่มากก็ไม่ต้องผ่าตัด เพราะเลือดสามารถแห้งได้เอง หรือการรักษาโรคลิ่มเลือดในสมองอุดตัน นอกจากการใช้ยาแล้ว หากเรามีเวลามากพอและเนื้อสมองยังตายไม่มากนัก เรายังมีวิทยาการใส่สายสวนที่สามารถดึงเอาลิ่มเลือดออกจากสมองได้เลย ถือเป็นวิทยาการรักษาโรคในประเทศไทยที่ใหม่ด้วยครับ

การใส่สายสวนดึงลิ่มเลือด ช่วยเพิ่มโอกาสให้หายขาดจากโรคมากน้อยแค่ไหน?

หากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การรักษาโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดก็อาจจะให้เป็นยาละลายลิ่มเลือด โดยเราเพียงเพื่อหวังว่า คนไข้จะอาการดีขึ้นบ้าง จากนั้นก็ไปลุ้นต่อเอาเองว่า ต้องผ่าตัดสมองด้วยหรือไม่ ซึ่งในสมัยก่อน การให้ยารักษาอย่างเดียวโดยที่สมองยังไม่ตายหรือตายไปแล้วก็ตาม ล้วนอาจทำให้เกิดภาวะอัมพาตได้ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด

แต่ในปัจจุบัน หากเราพาคนไข้ส่งโรงพยาบาลได้เร็ว ให้การรักษาได้เร็ว การใช้สายสวนลากลิ่มเลือดในสมองออกมาโดยที่สมองยังไม่ตาย สามารถทำให้เราคาดการณ์ได้ว่า จะทำให้คนไข้มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ คนไข้ที่มีปัญหาแขนขาอ่อนแรงก็อาจจะกลับมามีแรงได้ถึง 70-80% หรือบางรายก็ 100% เลย เหมือนไม่เคยมีอาการของโรคนี้มาก่อนครับ

ประสบการณ์ผ่าตัดที่ยากและประทับใจของคุณหมอ

สำหรับเคสแรก เป็นการผ่าตัดคนไข้ที่มีเนื้องอกที่สมองขนาดใหญ่ และเซลล์มะเร็งก็ลุกลามไปถึงใบหน้าด้วย แต่หมอก็สามารถผ่าตัดเอาเนื้องออกมาได้ทั้งหมด ผลการรักษาออกมาดี ถึงแม้จะใช้ระยะเวลารักษานาน รวมถึงต้องสร้างใบหน้าเทียม กะโหลกศีรษะเทียม ต้องทำงานร่วมกับคุณหมอหลายท่านและจากหลายแผนกด้วยครับ

ซึ่งหลังการรักษา การพยากรณ์โรคของคนไข้ตอนนั้นคือ เขาจะอยู่ได้นานขึ้น และปัจจุบันตอนนี้ผ่านไป 10 ปีแล้ว เขาก็ยังอยู่ได้โดยไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำของเนื้องอกและเซลล์มะเร็งอีก เป็นผลการรักษาที่ค่อนข้างดีและทำให้หมอประทับใจครับ

ส่วนอีกเคสหนึ่งคือ หมอมีคนไข้รายหนึ่งที่เป็นอัมพาตมาประมาณ 6-7 เดือนแล้ว และได้รับการรักษาอยู่ต่างจังหวัด จากนั้นญาติคนไข้ก็โทรมาปรึกษาว่า อยากจะลองหาทางเลือกในการรักษาอื่นๆ นอกจากที่ต่างจังหวัด หมอก็ได้ให้คนไข้ลองเอกซเรย์สมองอีกครั้ง ซึ่งก็พบว่า มีหลอดเลือดสมองตีบ และเนื้อสมองยังตายไม่มาก 

หมอเลยใช้บอลลูนใส่เข้าไปผ่านสายสวนทางขา วิธีนี้ไม่ใช่การผ่าตัดนะครับ จากนั้นหมอก็ฉีดสีเข้าไป และพบว่า หลอดเลือดมีตำแหน่งที่ตีบอยู่ หมอก็ใช้บอลลูนขยายตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบนั้น ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น 

จากที่คนไข้เป็นอัมพาตซีกขวา ขยับแขนขาได้น้อย พูดก็ไม่ค่อยได้มาก หลังจากนั้นก็สามารถพัฒนาการช่วยเหลือตนเองได้ถึงประมาณ 70-80% ในสัปดาห์แรกครับ และเมื่อผ่านไป 3 เดือน คนไข้ก็สามารถเดินกลับมาหาหมอได้ สามารถพูดได้ตามปกติ เป็นอีกเคสที่หมอค่อนข้างประทับใจครับ

HDcare ในมุมมองของคุณหมอเป็นอย่างไร?

สำหรับบริการ HDCare หมอขอใช้คำว่า เป็นโรงพยาบาลเคลื่อนที่ดีกว่า เพราะในปัจจุบันเวลาไม่สบาย เราเปิดเน็ตก็เจอแล้วว่าการรักษาควรเป็นยังไง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ บางครั้งเราก็ไม่มั่นใจว่า ข้อมูลในสื่อต่างๆ นั้นน่าเชื่อถือได้หรือไม่ อย่างหมอก็ได้รับข้อมูลที่ผิดๆ มาเยอะมาก และในปัจจุบันก็มีข้อมูลการรักษาที่ไม่ตรงเยอะมากด้วย จนนำไปสู่การรักษาโรคที่ผิดๆ ได้

ดังนั้นหมอเลยมองว่า HDCare เป็นบริการอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้น เป็นเหมือนเซนเตอร์ที่ทำให้คนไข้ได้เข้ามาศึกษาข้อมูลการรักษาที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ก่อน และได้นำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ด้วย ไม่เหมือนไปเปิดตามเว็บในอินเทอร์เน็ตและไม่แน่ใจว่า เป็นเรื่องจริงไหม หรือเป็นแค่คำบอกเล่าเฉยๆ และในหลายๆ กรณี คำบอกเหล่าพวกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องจริงด้วยครับ

และประโยชน์อีกส่วนหนึ่งของบริการ HDCare คือ นอกจากในแง่การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก็ยังช่วยให้คนไข้เข้าถึงแพทย์ได้ง่าย อย่างน้อยถ้าวันหนึ่งเรากังวลเรื่องโรคหลอดเลือดสมองขึ้นมา ยังไม่ต้องมาหาหมอก็ได้ เราก็เปิดหน้าเว็บ HDCare เพื่อดูว่า มีบริการรักษาอะไรได้บ้าง 

นอกจากนี้คนไข้ยังเลือกคุณหมอที่ทำการรักษาได้ด้วย หรือถึงแม้จะไม่ได้ตกลงทำการรักษากัน อย่างน้อยเราก็ได้นัดคุยกัน ให้หมอได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคนไข้โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไร ถือเป็นการตอบโจทย์สังคมยุคปัจจุบัน และทำให้คนไข้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top