ผ่าตัดโรคนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้องแผลเดียว กับ นพ. ธนเดช วงศ์จารุกร ด้วยบริการจาก HDcare

จัดเต็มทุกข้อมูลและคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคนิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากอะไร ใครเสี่ยงเป็นมากกว่าคนทั่วไป เป็นแล้วปล่อยเอาไว้อันตรายอย่างไร รักษาอย่างไรได้บ้าง 

ให้ข้อมูลโดย นพ. ธนเดช วงศ์จารุกร ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง มีประสบการณ์ทำงานเป็นศัลยแพทย์มามากกว่า 10 ปี และมีประสบการณ์ผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเดียวมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

อ่านประวัติหมอเจมส์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเจมส์” คุณหมอผ่าตัดส่องกล้องกับประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียว]

สารบัญ

ปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่?

มีส่วน โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปและมีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อน โดยคนกลุ่มนี้จะมียีนบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ และตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่วได้มากกว่าคนทั่วไป 

ภาวะอ้วนมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่?

มีส่วน ภาวะอ้วนมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงทำให้ระดับคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นหนึ่งในสารประกอบของน้ำดีเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ จนทำให้น้ำดีตกตะกอนกลายเป็นนิ่วในภายหลังได้

ระดับฮอร์โมนเพศหญิงและการตั้งครรภ์มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่?

มีส่วน การตั้งครรภ์เป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้ระดับฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มสูงขึ้น ทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงมีส่วนทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นได้ แต่ทำให้เกิดการตกตะกอนของนิ่วในถุงน้ำดีได้ในภายหลัง

ผู้ที่กินยาคุมกำเนิด กินยาฮอร์โมนทดแทน เสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไปจริงหรือไม่?

จริง เนื่องจากยาคุมกำเนิดและยาฮอร์โมนทดแทน ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ล้วนส่งผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ และทำให้สมดุลของส่วนผสมในถุงน้ำดีเปลี่ยนแปลงไปในปริมาณที่สูงขึ้น จนเกิดเป็นการตกตะกอนของก้อนนิ่วได้

โรคเบาหวานมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่?

มีส่วน โดยเฉพาะคนไข้โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มคนไข้มีโอกาสที่ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์จะเพิ่มสูงเกินกว่าเกณฑ์ปกติ จนส่งผลทำให้น้ำดีเกิดการตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่วได้

โดยไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ เป็นไขมันที่ร่างกายผลิตจากการกินอาหารประเภทไขมันและแป้ง ทำหน้าที่เป็นพลังงานสำรองของร่างกาย และอีกส่วนจะสะสมอยู่ในรูปแบบเนื้อเยื่อไขมันกับสะสมอยู่ในตับ แต่เมื่อไรก็ตามที่ร่างกายมีการผลิตไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์มากเกินไป ก็จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ได้ เช่น โรคอ้วน โรคไขมันเกาะตับ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วทำให้เกิดก้อนนิ่วได้จริงหรือไม่?

จริง โดยการอดอาหารหรือพฤติกรรมกินน้อยเป็นเวลานานมีส่วนทำให้การบีบรัดของถุงน้ำดีลดลง กลายเป็นการโป่งพองแทน นอกจากนี้ยังทำให้การหลั่งของไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง ทำให้ปริมาณไขมันในน้ำดีเพิ่มสูงขึ้นจนตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วได้

ผู้ที่ต้องการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักหรือรักษาโรคอ้วนจึงควรพิจารณาเกี่ยวกับการผ่าตัดถุงน้ำดีเอาไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดก้อนนิ่วหรือโรคถุงน้ำดีอักเสบในภายหลัง 

โรคถุงน้ำดี ปล่อยไว้ไม่รักษา อันตรายหรือไม่?

คนไข้ที่ตรวจพบโรคนิ่วในถุงน้ำดีร่วมกับมีอาการปวดบริเวณชายโครงด้านขวา แต่ไม่รีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ในแต่ละปีที่คนไข้ประวิงเวลาไม่รักษาไปเรื่อยๆ จะมีโอกาสที่เกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบได้ปีละ 7% ขึ้นไป 

ซึ่งโรคถุงน้ำดีอักเสบที่ไม่รีบรักษาตั้งแต่ระยะแรกก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้ถุงน้ำดีเกิดการติดเชื้อได้อีก และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ถุงน้ำดีเน่า และยิ่งทำให้กระบวนการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคยากขึ้นไปอีก

ดังนั้นหากตรวจพบโรคนิ่วในถุงน้ำดี มีอาการปวดที่ชายโครงด้านขวา หรือมีประวัติเป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบมาก่อน คนไข้ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการผ่าตัดถุงน้ำดีตั้งแต่เนิ่นๆ จะปลอดภัยที่สุด

อายุถึงเกณฑ์เสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว สามารถตรวจคัดกรองก่อนได้หรือไม่?

โดยปกติการตรวจหานิ่วในถุงน้ำดีจะตรวจผ่านการอัลตราซาวด์ช่องท้อง แต่บุคคลทั่วไปไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองหาโรคนี้ล่วงหน้าก่อน หากไม่มีสัญญาณอาการใดๆ เกิดขึ้น

หรือหากมีโอกาสตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง และพบก้อนนิ่วในถุงนำ้ดี แต่คนไข้ไม่มีอาการปวดหรืออาการผิดปกติ แพทย์ก็อาจยังไม่พิจารณาให้ผ่าตัดโดยทันที 

ยกเว้นแต่คนไข้บางกลุ่มที่แม้ไม่มีอาการผิดปกติจากก้อนนิ่ว แต่ก็ควรต้องรีบผ่าตัดนำออกโดยเร็ว เช่น คนไข้ที่เป็นเด็กหรืออายุยังน้อย ผู้ที่มีพันธุกรรมเกี่ยวกับโรคเลือดบางชนิดซึ่งส่งผลทำให้เกิดก้อนนิ่วได้เป็นจำนวนมาก และอาจมีอาการปวดตามมาในภายหลัง

อาการบ่งชี้ของโรคนิ่วในถุงน้ำดี มีอะไรบ้าง?

เมื่อมีก้อนนิ่วเกิดขึ้น คนไข้มักจะมีอาการปวดฉับพลันที่ชายโครงด้านขวาซึ่งเป็นที่อยู่ของถุงน้ำดี โดยรายละเอียดอาการปวดที่พบได้บ่อยจากก้อนนิ่ว มีดังนี้

  • อาการปวดมักกินเวลานาน อาจเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน 
  • ส่วนมากอาการปวดมักเกิดขึ้นหลังมื้ออาหาร หรือช่วงกลางคืน
  • นอกจากปวดชายโครงด้านขวา อาจมีอาการปวดจุกที่ลิ้นปี่ด้วย
  • อาการปวดชายโครงด้านขวาร้าวลามไปถึงสะบักด้านหลัง

การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีมีกี่วิธี?

โรคนิ่วในถุงน้ำดีใช้วิธีรักษาเป็นการผ่าตัด โดยแบ่งออกได้ 2 เทคนิค ได้แก่

1. การผ่าตัดแบบเปิด 

เป็นการผ่าเปิดแผลใต้ชายโครงด้านขวาขนาดประมาณ 6-7 เซนติเมตรเพื่อนำถุงน้ำดีออกมา จัดเป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ คนไข้ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหลายวัน 

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบเปิดก็ยังมีจุดเด่นที่ทำให้แพทย์มองเห็นโครงสร้างอวัยวะในช่องท้องได้อย่างชัดเจน ในปัจจุบันจึงยังมีการใช้การผ่าตัดรูปแบบนี้ในการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีอยู่ โดยนิยมรักษาในคนไข้ที่มีความซับซ้อนของโรคค่อนข้างรุนแรง เช่น 

  • ถุงน้ำดีเน่า 
  • พบหนองในถุงน้ำดี 
  • ถุงน้ำดีมีเยื่อหุ้มลำไส้ห่อหุ้มไว้จนแพทย์มองเห็นท่อน้ำดีไม่ชัด

2. การผ่าตัดผ่านกล้อง 

โดยแพทย์จะผ่าเปิดแผลขนาดเล็กโดยใช้กล้องผ่าตัดเป็นตัวช่วยเพื่อนำถุงน้ำดีออกมา สามารถแบ่งเทคนิคย่อยออกได้อีก 2 เทคนิค ได้แก่

  • การผ่าตัดผ่านกล้องทั่วไป คนไข้จะมีแผลขนาดเล็กทั้งหมด 3 แผล ได้แก่ แผลขนาด1- ½ เซนติเมตรบริเวณสะดือ และแผลบริเวณใต้ลิ้นปี่กับใต้ชายโครงด้านขวาขนาด 5 มิลลิเมตร
  • การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเดียว คนไข้จะมีแผลขนาดเล็กเพียง 1 แผล นิยมใช้ผ่าตัดในคนไข้ที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะอักเสบ หรือภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย

การผ่าตัดด้วยเทคนิคผ่านกล้องเป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ที่ให้ประสิทธิภาพในการรักษาไม่ต่างจากการผ่าแบบเปิด แต่ขณะเดียวกันก็มีจุดเด่นด้านอื่นๆ เสริมเข้ามาอีก เช่น 

  • แผลเล็ก ทำให้มีโอกาสเจ็บแผลน้อยกว่า และทำให้คนไข้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ระยะเวลานอนโรงพยาบาลสั้นขึ้น
  • เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องสามารถซอกซอนไปตามตำแหน่งต่างๆ ในช่องท้องได้อย่างทั่วถึง เช่น ใต้ตับ ใต้กระบังลม บริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้แพทย์สามารถชะล้างสิ่งสกปรกภายในช่องท้องได้อย่างหมดจดขึ้น
  • โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่า

ขั้นตอนการผ่าตัดผ่านกล้องแบบทั่วไปกับแบบแผลเดียว ต่างกันอย่างไร? 

การผ่าตัดผ่านกล้องแบบทั่วไปกับแบบแผลเดียวไม่ได้มีขั้นตอนที่ต่างกันมากนัก ความแตกต่างของ 2 เทคนิคนี้จะอยู่ที่การลงแผลผ่าตัด 

โดยการผ่าตัดผ่านกล้องแบบทั่วไป คนไข้จะมีแผลผ่าตัดถึง 3 แผลด้วยกัน แต่ขณะเดียวกัน การลงแผลผ่าตัด 3 แผลสามารถช่วยให้แพทย์สอดอุปกรณ์ผ่าตัดลงไปได้หลายช่องทาง มีพื้นที่สำหรับใช้มือหยิบจับอุปกรณ์ผ่าตัดได้อย่างอิสระมากกว่า

ส่วนการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเดียว มีข้อดีตรงที่คนไข้จะมีแผลผ่าตัด 1 แผลเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ความชำนาญของแพทย์ในการผ่าตัดมากกว่า เนื่องจากมีปากแผลสำหรับใส่อุปกรณ์และกล้องผ่าตัดเพียง 1 ช่องทาง ทำให้จุดหมุนในการใช้อุปกรณ์ผ่าตัดมีตำแหน่งเดียว แพทย์จึงต้องระวังไม่ให้อุปกรณ์ผ่าตัดชนกันเองด้วย

นอกจากนี้การผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเดียวยังมีการสลับด้านของอุปกรณ์ที่ใส่ลงไปที่แผลกับภาพของอุปกรณ์ที่ขึ้นบนจอภาพในห้องผ่าตัดด้วย เช่น หากแพทย์ใส่อุปกรณ์ทางขวา แต่ภาพอุปกรณ์ที่อยู่บนจอจะอยู่ทางซ้ายแทน 

แพทย์ที่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเดียวได้จึงต้องมีการฝึกผ่าตัดในคนไข้จำนวนไม่ต่ำกว่า 100 เคส เพื่อเพิ่มความคุ้นชินกับรูปแบบการผ่าตัดที่ต่างไปจากการผ่าตัดส่องกล้องทั่วไป

ส่วนกระบวนการเย็บแผลของทั้ง 2 เทคนิคนั้นไม่ต่างกัน โดยแพทย์จะเย็บแผลที่ชั้นเอ็นเนื้อเยื่อยึดผนังช่องท้องอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไส้เลื่อนที่ผนังหน้าท้องในอนาคต

หลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้องแบบแผลเดียว ดูแลตัวเองอย่างไร?

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเดียวค่อนข้างเรียบง่าย เพียงในช่วง 3 สัปดาห์แรกให้งดยกของหนัก งดออกกำลังกายบริเวณกล้ามหน้าท้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้องที่มีแผลผ่าตัดแยกจนเกิดเป็นโรคไส้เลื่อน 

ส่วนโอกาสที่แผลผ่าตัดจะเกิดการติดเชื้อนั้นค่อนข้างตำ่อยู่แล้ว แพทย์จะปิดแผลด้วยผ้าก๊อซแบบกันน้ำให้ และจะนัดคนไข้มาตรวจเช็กแผลในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา

เล่าถึงเคสผ่าตัดโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่ประทับใจ

นพ. ธนเดชได้เล่าถึงเคสผ่าตัดโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่อยู่ในระยะอักเสบรุนแรงมากแล้ว โดยถุงน้ำดีและท่อน้ำดีอยู่ในสภาพเปื่อยยุ่ย คนไข้มีปัญหาความดันโลหิตตก ติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงติดเชื้อที่ถุงน้ำดีด้วย ต้องผ่าตัดด่วนและเย็บท่อถุงน้ำดีผ่านกล้อง 

แต่หลังจากแพทย์ทำการผ่าตัดผ่านกล้องให้ อาการของคนไข้ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถเดินทางกลับบ้านได้หลังผ่าตัดไม่ถึง 1 สัปดาห์  จัดเป็นเคสที่คุณหมอรู้สึกประทับใจที่ได้มีโอกาสรักษาคนไข้ที่อาการอยู่ระดับวิกฤติให้กลับมาอยู่ในระดับปลอดภัยได้อีกครั้ง

ผ่าตัดโรคนิ่วผ่านกล้องแบบแผลเดียว กับ นพ. ธนเดช วงศ์จารุกร

ตรวจเจอก้อนนิ่วในถุงน้ำดี ต้องการผ่าตัดแบบแผลเดียว เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ย่นระยะเวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดสั้นขึ้น และยังผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง มีประสบการณ์ผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเดียวไม่ต่ำกว่า 5 ปี ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอได้เลย

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top