อาการเจ็บช่องคลอดเป็นหนึ่งในปัญหากวนใจผู้หญิงหลาย ๆ ราย โดยเฉพาะกับสาววัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ พอเกิดอาการแล้ว ส่วนมากมักจะอาย หรือกลัว ไม่กล้าไปตรวจภายใน หรือตรวจกับแพทย์ในคลินิกสูตินรีเวช นั่นอาจเป็นสาเหตุทำให้อาการของโรคไม่หายสักที จริง ๆ แล้ว การตรวจหรือการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดอาการ และความเสี่ยงของผลข้างเคียงร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจจะตามมาได้
อีกสิ่งที่สำคัญ คือควรจดจำอาการและอธิบายรายละเอียดของอาการให้แพทย์ทราบอย่างครบถ้วน เพราะอาการเจ็บช่องคลอดเกิดได้หลายลักษณะ แตกต่างกันไปตามสาเหตุ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น
สารบัญ
ทำความรู้จักกับอาการเจ็บช่องคลอด
อวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ภายใน และ ภายนอก
อวัยวะที่อยู่ภายใน เช่น มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ สำหรับอวัยวะที่อยู่ภายนอก คือตั้งแต่ปากมดลูก จนกระทั่งออกมาจนถึงปากช่องคลอด แคมใหญ่ แคมเล็ก คลิตอริส และหัวหน่าว
บริเวณปากมดลูกภายในถึงปากช่องคลอดภายนอก เรียกว่า บริเวณช่องคลอด ซึ่งอาการเจ็บช่องคลอดจะเกิดขึ้นที่บริเวณนี้เอง
อาการเจ็บช่องคลอดมีหลายลักษณะ และจะมีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ลักษณะของอาการเจ็บช่องคลอด
ลักษณะของอาการเจ็บช่องคลอดที่พบได้ มีดังนี้
- ปวดแสบ ปวดร้อน หรือปวดเหมือนโดนน้ำร้อนลวก
- คันช่องคลอด
- เจ็บจี๊ด ๆ เหมือนมีแมลงกัด
- เจ็บเหมือนมีอะไรสั่นหรือเขย่าอยู่ภายในช่องคลอด
- เจ็บเฉพาะอวัยวะ เช่น คลิตอริส แคมเล็ก แคมใหญ่
- เจ็บมาก ๆ เมื่อมีอะไรมาสัมผัสหรือเสียดสี เช่น ขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือ ระหว่างการทำความสะอาด เช็ด ล้าง
อาการเจ็บช่องคลอด เกิดจากอะไร
เจ็บช่องคลอด เกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนี้
การติดเชื้อ
สาเหตุของอาการเจ็บช่องคลอดที่พบได้บ่อยที่สุดคือการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อรา หรือราว ๆ 75% ของผู้หญิงจะตรวจพบการติดเชื้อนี้ โดยจะมีอาการคัน แสบ และมีตกขาวสีขาวปริมาณมากภายในช่องคลอด
ปกติแล้ว การติดเชื้อราไม่ใช่โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้คู่นอนตรวจหรือรักษา
เชื้ออีกตัวหนึ่งที่ค่อนข้างพบได้บ่อย คือเชื้อแบคทีเรีย Bacterial vaginosis (BV) พบได้ในคนที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย สำหรับการติดเชื้อจากแบคทีเรียนี้มักไม่มีอาการ แต่บางกรณีอาจแสดงอาการได้บ้าง เช่น ปวด คัน แสบร้อน หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็นคาว
การติดเชื้ออื่น ๆ ที่อาจทำให้เจ็บช่องคลอดได้ เช่น โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จากโปรโตซัว (หรือโรคพยาธิในช่องคลอด) หนองในแท้ หรือหนองในเทียม
การบาดเจ็บ
อาการเจ็บช่องคลอด อาจเกิดจากการบาดเจ็บได้ เช่น จากการมีเพศสัมพันธ์ การคลอด การผ่าตัด หรือกระบวนการทางแพทย์อื่น ๆ
สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การบาดเจ็บจากการตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูก ไม่ว่าจะเป็นการคลอดแบบธรรมชาติ หรือการคลอดแบบผ่าตัด
โดยเฉพาะกับผู้ที่คลอดแบบธรรมชาติ อาจจะยิ่งเจ็บช่องคลอดมาก ๆ ได้ เพราะปากช่องคลอดเกิดการฉีกขาดเป็นครั้งแรก การฉีกขาดนี้อาจลึกลงไปถึงบริเวณรูทวารด้านใน หรือขึ้นสูงไปจนถึงบริเวณอวัยวะเพศด้านบนได้
ทั้งนี้ อาการเจ็บช่องคลอดจะขึ้นอยู่กับขนาดของทารก ขนาดของอุ้งเชิงกราน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยในการคลอดด้วย
ช่องคลอดแห้ง
หลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ฮอร์โมนเพศหญิงต่าง ๆ จะต่ำลง รวมถึงฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ด้วย
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลให้เซลล์บริเวณผิวช่องคลอดบางลง ไม่แข็งแรง และขาดความชุ่มชื้น อีกทั้งต่อมเมือกต่าง ๆ ในช่องคลอด ก็จะผลิตสารหล่อลื่นช่องคลอดน้อยลงด้วย
ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ช่องคลอดของสาว ๆ วัยทองแห้ง และอาจทำให้ปวดแสบช่องคลอดขณะขยับเขยื้อนร่างกาย หรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้
ภาวะเจ็บช่องคลอดเรื้อรัง (Vulvar vestibulitis)
ภาวะเจ็บช่องคลอดเรื้อรังส่วนใหญ่หาสาเหตุชัดเจนไม่ได้ อาจพบในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขณะมีเพศสัมพันธ์ การนั่งหรือยืนนาน ๆ การขับขี่ยานพาหนะต่าง ๆ
รวมถึงตอนที่เป็นประจำเดือนและใส่ผ้าอนามัยอยู่ ก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน
มะเร็งปากมดลูก
หากอยู่ในระยะที่เป็นมาก มะเร็งปากมดลูกจะทำให้เจ็บหรือปวดช่องคลอด โดยส่วนมากมักเป็นแบบเรื้อรัง และต้องได้รับยาแก้ปวดขนาดสูง ๆ หรือรับอย่างต่อเนื่อง
ผู้หญิงทั่วไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก ๆ อาจยังไม่แสดงอาการออกมา
มีประวัติเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ
การถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาจนำมาทั้งปัญหาทางด้านจิตใจและร่างกาย เช่น หวาดกลัว ตื่นตระหนก รวมถึงอาการเจ็บปวดบริเวณช่องคลอด จึงจำเป็นต้องรักษา ทั้งทางร่างกาย รวมถึงบำบัดจิตใจควบคู่กันไป
เจ็บช่องคลอด รักษาได้อย่างไรบ้าง
การรักษาภาวะเจ็บบริเวณช่องคลอด ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง ปลอดภัย
โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น และตรวจภายใน บางกรณีอาจมีการอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดหรือทางหน้าท้อง เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
หลังจากนั้น แพทย์จึงจะเริ่มรักษา เช่น เริ่มต้นที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง จากนั้นก็รับยา ทั้งยารับประทานและยาฉีด หรือเข้ารับการผ่าตัด
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
- ไม่ใช้น้ำยาล้างช่องคลอด ให้ล้างช่องคลอดด้วยน้ำเปล่าแทน และเช็ดจนแห้ง เท่านี้ก็เพียงพอ เพราะช่องคลอดจะมีเชื้อปกติในระดับที่สมดุลอยู่แล้ว การใช้น้ำยาหรือการทำความสะอาดมากเกินไป จะทำให้สมดุลของเชื้อเปลี่ยนแปลงไป และอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ได้
- การทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการออกกำลังกาย ไม่ควรใส่ชุดที่แน่นหรือคับเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการอับชื้นได้ โดยเฉพาะบริเวณชุดชั้นใน หากเปลี่ยนชุดชั้นในได้บ่อย ๆ ก็จะดีมาก และเมื่อใส่แล้ว ต้องซัก และนำไปตากแดดจัด เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อในช่องคลอด
- ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้บริเวณอุ้งเชิงกรานและช่องคลอดถูกกระแทกโดยตรง เช่น การซ้อนจักรยานยนต์ การขี่ม้า
- ขณะมีเพศสัมพันธ์ ถ้าช่องคลอดแห้งหรือรู้สึกเจ็บ ให้ใช้เจลหล่อลื่นเสริม เพื่อลดอาการระคายเคือง
- การประคบเย็นบริเวณช่องคลอด จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บช่องคลอดเบื้องต้นได้
การใช้ยา
หากอาการเจ็บช่องคลอดเกิดจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย การรักษาเริ่มต้น คือการรับประทานยาฆ่าเชื้อ โดยรูปแบบ ปริมาณ และวิธีใช้ยา จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุและลักษณะเชื้อ
ถ้ารับประทานยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องรับยาต่อเนื่องเพิ่ม โดยต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสมอ เพื่อการรักษาที่ปลอดภัย
สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพิ่มเติมควบคู่กันไปกับการรักษาสาเหตุหลัก เช่น
- ยาชาเฉพาะที่ เช่น ในกรณีที่เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยวัยทอง
- ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดอาการระคายเคือง บวม หรืออักเสบ
- ยาต้านอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ปวดเรื้อรัง
- ยาทาประเภทครีมที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน ในกรณีที่ช่องคลอดแห้งจากวัยทอง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผนังช่องคลอด ไม่ให้เปราะบางหรือระคายเคืองได้ง่าย
ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต่าง ๆ อาจก่อผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้ ก่อนรับประทานยา หรือใช้ยาใด ๆ ทุกครั้ง จึงควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสมอ
การฉีดยาชาเฉพาะที่
การฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อรักษาอาการเจ็บช่องคลอด เป็นวิธีรักษาที่พบได้น้อยมาก
การฉีดยาชาเฉพาะที่ จะฉีดเข้าไปที่เส้นประสาทบริเวณช่องคลอดโดยตรง เพื่อกดอาการเจ็บหรือปวดบริเวณนั้น ๆ อาจชาชั่วคราว หรือชายาว ๆ ไปเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณยา และตำแหน่งที่ฉีด
การใช้วิธีฉีดยาชา จะทำในกรณีเป็นอาการเจ็บช่องคลอดเรื้อรัง หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ดีขึ้น รวมทั้งกรณีที่ปวดจากการเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็อาจใช้ยาชาเฉพาะที่ได้
การผ่าตัด
ในกรณีที่ทราบสาเหตุของอาการเจ็บและตำแหน่งของโรคอย่างชัดเจน อาจใช้วิธีผ่าตัด เพื่อนำรอยโรคนั้นออกไป เช่น มีฝี หรือก้อนเนื้อที่อักเสบผิดปกติ อาจผ่า เจาะ และดูดเนื้อเยื้อที่อักเสบส่วนนั้นออกไป
ทั้งนี้ การผ่าตัดอาจไม่ใช่วิธีรักษาแรก และใช้รักษาผู้ป่วยทุกรายไม่ได้
การรักษาเสริมอื่น ๆ
การรักษาอาการเจ็บช่องคลอดแบบอื่น ๆ เช่น การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า การฝังเข็ม หรือการนวด
อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวจะรักษาอาการเจ็บได้เฉพาะบางกรณี และอาจรักษาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
เพราะ HDmall ห่วงใยคุณ หลังมีเพศสัมพันธ์ 3 ปี หรือเมื่อถึงวัย 30 อย่าลืมไปตรวจภายใน เพื่อให้มั่นใจว่าน้องสาวแข็งแรง และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ คลิกดูแพ็กเกจดี ๆ ที่เรารวบรวมไว้ให้ หรือจะแช็ตมาสอบถามกันก่อนก็ได้ ที่นี่!
เขียนบทความโดย นพ. ปัญญาวุฒิ ลิ้มสุขวัฒน์