เข้าใจกลไกของประจำเดือน
รอบประจำเดือนปกติของผู้หญิง เกิดจากการทำงานของต่อมใต้สมองบริเวณศีรษะ รังไข่ และมดลูกในอุ้งเชิงกราน ทำงานประสานงานกันอย่างสลับซับซ้อน ในแต่ละรอบของประจำเดือนจะมีการตกของไข่ที่รังไข่ และมีการสร้างฮอร์โมนอย่างเพียงพอที่จะช่วยพัฒนาเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัว พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิของไข่ที่ตกจากฝ่ายหญิง กับอสุจิจากฝ่ายชาย
ถ้ารอบเดือนใดไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวนั้นก็จะหลุดลอดออกมาเป็นประจำเดือน และเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการผลิตไข่อันสมบูรณ์ของรอบเดือนต่อๆ ไป
นิยามประจำเดือนมาช้า และมาเร็ว
ตามคำจำกัดความของสหพันธ์สูตินรีเวชแพทย์ระหว่างชาติให้คำจัดความเกี่ยวกับประจำเดือนของผู้หญิง ดังนี้
ความถี่ของรอบประจำเดือน
- ถี่ น้อยกว่า 24 วัน
- ปกติ 24-38 วัน
- ห่าง มากกว่า 38 วัน
ระยะเวลาของรอบประจำเดือน
- สั้น น้อยกว่า 4 วัน
- ปกติ 4-8 วัน
- นาน มากกว่า 8 วัน
ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ ส่วนใหญ่จะมีรอบเดือนช้ากว่านานกว่า 38 วันขึ้นไป
โดยการที่ประจำเดือนมาช้านั้น เราต้องทำการแยกจากภาวะประจำเดือนขาดจากการตั้งครรภ์เสียก่อน ซึ่งอาจจะสำรวจเบื้องต้นจากการคุมกำเนิดของตัวเองว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด มีอาการที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น อาการแพ้ท้อง หรืออาจจะทำการตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์ด้วยตนเองก่อนที่บ้าน หรือถ้าไม่แน่ใจ สามารถเข้ารับการตรวจโดยการเจาะเลือดตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาช้า
หลังจากแน่ใจแล้วว่าไม่มีการตั้งครรภ์ สาเหตุอื่นๆ ที่สามารถทำให้ประจำเดือนมาช้าได้มีดังต่อไปนี้
- ความเครียด ความเครียดเป็นสาเหตุหลัก อาจมีผลกระทบต่อการหลั่งของฮอร์โมนบางตัว ที่ทำให้การตกของไข่ผิดปกติ และมีผลกระทบทางอ้อมทำให้ผนังมดลูกผิดปกติ ตามมาด้วยภาวะประจำเดือนมาช้า
- น้ำหนักตัว ไม่ว่าจะน้อยไปหรือมากเกินไปก็มีผลกระทบกับประจำเดือนได้ รวมถึงผู้หญิงที่ออกกำลังกายหนักเกินไป เช่น วิ่งมาราธอน หรือผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวน้อยจากโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในการกิน เช่น อะนอเร็กเซีย (Anorexia) โดยมีการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 10 เปอร์เซนต์ไทล์ (Percentile) ทำให้ร่างกายเกิดภาวะการหยุดตกของไข่ และตามมาด้วยภาวะประจำเดือนมาช้า
- โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เป็นสาเหตุให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (Androgen) มากเกินไป ส่งผลทำให้สมดุลของฮอร์โมนที่มีผลต่อการผลิตและหลุดลอกของผนังมดลูกที่จะหลุดออกมาเป็นประจำทุกเดือนผิดปกติ ประจำเดือนจึงมาช้าได้เช่นกัน
- การหยุดใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือโพรเจสติน (Progestin) ในผู้หญิงบางรายอาจเป็นสาเหตทำให้ไข่ไม่ตก และต้องใช้เวลานานถึงกว่า 6 เดือน ประจำเดือนถึงกลับสู่ภาวะปกติ
- โรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ก็มีผลกับรอบประจำเดือน เพราะการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลในเลือดมีผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน นอกจากนี้การคุมเบาหวานไม่ดีก็เป็นสาเหตุทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
- โรคทางฮอร์โมนต่อมใต้สมองบางอย่าง เช่น โรคไทรอยด์ เป็นสาเหตุทำให้ประจำเดือนมาช้า หรือไม่มีประจำเดือน เนื่องจากโรคไทรอยด์มีผลกับระบบการเผาผลาญของร่างกาย ดังนั้นจึงกระทบกับฮอร์โมนด้วยเช่นกัน
- อายุ ในระยะก่อนเข้าสู่วัยทองจริงในผู้หญิง โดยอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 45-55 ปี จะเป็นช่วงที่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกายไม่คงที่ ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อประจำเดือนที่อาจจะมาช้าผิดปกติได้
ประจำเดือนมาช้า อันตรายหรือไม่?
ประจำเดือนมาช้านั้นอันตรายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดภาวะดังกล่าวว่าเกิดจากอะไร
อาการที่ควรจะไปพบแพทย์โดยทันที ได้แก่
- หลังจากประจำเดือนมาช้าแล้วกลับมาเลือดออกปริมาณมากๆ
- มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ อาเจียน ปวดท้องมาก
- มีเลือดออกผิดปกติแม้เข้าสู่วัยทองแล้ว
- ไม่สบายใจ ที่ประจำเดือนมาช้า
พบปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนมาช้าสักระยะโดยเฉพาะเมื่อเกิน 14 วัน ควรปรึกษาและพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษาต่อไป
คำถามพบบ่อย ตอบโดยทีมแพทย์
อยากทราบว่าประจำเดือนเลื่อนนานสุดกี่วัน เมนไม่มากี่วันถึงท้องคะ ?
ปกติประจำเดือนจะมาทุก 28-30 วัน (ซึ่งช่วงปกติของรอบเดือนสามารถอยู่ในช่วง 21-35 วันได้ครับ) และแต่ละรอบจะมีระยะเวลาประมาณ 3-7 วันครับ
การที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- มีปัญหาการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอ
- ระดับฮอร์โมนในเลือดผิดปกติ
- รังไข่ผิดปกติ เช่น การมีถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS)
- ความเครียด/วิตกกังวล/อารมณ์แปรปรวน
- การออกกำลังกายที่หนักเกินไป
- น้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไป
- ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
- ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
- ตั้งครรภ์
ในเบื้องต้น แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์ จดบันทึกรอบประจำเดือนให้ชัดเจน และไปพบแพทย์สูตินรีเวชเพื่อตรวจประเมินอาการและหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ
ตอบโดย นพ. ชินไตร ถาวรลัญฉ์
ประจำเดือนมาช้ามากค่ะ 40-55 วันมาครั้งหนึ่ง บางทีก็นานถึง 78 วันถึงจะมาครั้งหนึ่ง อายุ 17 ปี ต้องตรวจภายในใช่ไหมคะ?
เรื่องประจำเดือนยังไม่มา ถ้ายังไม่เกิน 7 วัน หมอแนะนำว่าสามารถรอก่อนได้ครับ ปกติประจำเดือนสามารถมาช้าได้ไม่เกิน 7 วัน ถ้ากังวลหรือเครียดก็อาจทำให้มาช้าขึ้นไปอีกได้ครับ
การที่ประจำเดือนมาไม่ตรงรอบหรือขาด อาจเกิดได้จาก
- ความเครียด ทำให้ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
- โรคถุงน้ำรังไข่อาการคือ ประจำเดือนมักมาไม่สม่ำเสมอร่วมกับพบลักษณะของฮอรโมนเพศชาย(มีสิว มีขนเยอะ)
- เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (ช็อคโกเเลตซีสต์) อาการคือ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้นครับ
- การที่อายุเริ่มเยอะ เช่น 40-45 ปี จะเข้าสู่ช่วงก่อนวัยทอง ประจำเดือนก็มาไม่สม่ำเสมอได้ครับ
- ความผิดปกติของต่อมใต้สมองซึ่งมีหน้าที่หลั่งฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่ก็ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ครับ หากประจำเดือนขาดนานๆร่วมกับบีบหัวนมเเล้วมีน้ำนมไหล
หากเดิมประจำเดือนมาปกติ แล้วประจำเดือนเกิดไม่สม่ำเสมอ โดยที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ หรือตรวจการตั้งครรภ์แล้วไม่พบว่าท้อง (ซึ่งสามารถตรวจได้เมื่อประจำเดือนขาดไป) แนะนำให้ไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมครับ
ตอบโดย นพ. วชิรวิทย์ สุทธิศักดิ์
เมนส์ไม่มากี่วันถึงท้องคะ อาการเหมือนจะประจำเดือนจะมาแต่ไม่มา ตรวจตอนขาด 2 วันขึ้น 1 ขีด ?
ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (hCG) จะถูกสร้างขึ้นมาจากรกเมื่อมีการตั้งครรภ์ โดยกว่าจะมีการสร้างและหลั่งออกมามากพอที่ชุดทดสอบทางปัสสาวะจะตรวจพบได้ ต้องใช้เวลาประมาณ 14 วันหลังการปฏิสนธิค่ะ
ตามปกติแล้ว ไข่มักจะตกในช่วงกึ่งกลางของรอบเดือน และการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงดังกล่าวจะมีโอกาสที่จะเกิดการปฏิสนธิได้ แต่หากไม่เกิดการปฏิสนธิ หรือมีการปฏิสนธิแล้วแต่ไข่ที่ผสมกับอสุจิไม่สามารถฝังตัวที่เยื่อบุมดลูกได้สำเร็จ เยื่อบุมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน และถือเป็นการเริ่มต้นรอบเดือนใหม่
รอบประจำเดือนของผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิด สามารถอยู่ในช่วง 21 – 35 วันค่ะ สำหรับคนที่มีรอบประจำเดือน 28 วัน ไข่จะตกประมาณวันที่ 14 และหากไม่มีการตั้งครรภ์ ประจำเดือนก็จะมาอีกประมาณ 14 วันหลังจากนั้น ดังนั้น ในคนทั่วไปที่มีรอบประจำเดือนไม่ต่ำกว่า 28 วัน และฮอร์โมนไม่แปรปรวน ไข่มักจะตกในช่วงกึ่งกลางของรอบเดือน หากไม่มีประจำเดือนมาตามกำหนด ก็ควรจะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น (เนื่องจากน่าจะห่างจากวันที่มีการปฏิสนธิอย่างน้อย 14 วันแล้ว)
แต่สำหรับคนที่มีความแปรปรวนของฮอร์โมน ซึ่งอาจทำให้วันไข่ตกคลาดเคลื่อนไปจากที่คาดไว้ อาจเร็วหรือช้ากว่าเดิม ดังนั้นจึงยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้แม้จะมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไม่ใช่ช่วงกึ่งกลางของรอบเดือน
สมมติว่าไข่ตกช้ากว่าที่คาดไว้หลายวัน เมื่อตรวจการตั้งครรภ์หลังประจำเดือนขาดใหม่ ๆ ซึ่งอาจยังห่างจากวันที่ปฏิสนธิไม่นานพอ ก็อาจทำให้ยังตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ เนื่องจากปริมาณ hCG ยังไม่มากพอ
เพื่อให้ผลการตรวจเชื่อถือได้ แนะนำว่า
- ใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ให้ถูกวิธี เนื่องจากชุดตรวจแต่ละยี่ห้ออาจมีรายละเอียดการใช้ต่างกัน
- ตรวจในระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ตรวจในตอนเช้าหลังตื่นนอน เพราะเป็นเวลาที่ฮอร์โมนเข้มข้นที่สุด ทำให้การอ่านผลง่ายขึ้น และตรวจห่างจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดอย่างน้อย 14 วันค่ะ
ดังนั้น ในกรณีที่ตรวจการตั้งครรภ์รอบแรกหลังประจำเดือนขาด 2 วันแล้วให้ผลลบ (คือขึ้น 1 ขีด) ควรทบทวนว่า 1. ใช้ชุดตรวจถูกต้องตามวิธีที่แนะนำบนกล่องหรือไม่ และ 2. ตรวจในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือยัง เช่น หากใช้ชุดตรวจถูกวิธีแล้ว ตรวจหลังตื่นนอนแล้ว แต่ห่างจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดไม่ถึง 14 วัน ให้รอตรวจใหม่อีกครั้งเมื่อครบกำหนดเวลานั้น หรือหากประจำเดือนมาก่อนก็ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำค่ะ
แนวทางในการจัดการกับปัญหาประจำเดือนมาช้า ที่สำคัญคือเราต้องเฝ้าระวังอาการแต่เนิ่น ๆ ผู้หญิงทุกคนควรจดบันทึกรอบเดือนของตนเองว่าประจำเดือนมาช้าหรือไม่ รวมถึงตรวจเช็คสุขภาพและตรวจภายในประจำปีเป็นระยะ หากพบภาวะผิดปกติใด ๆ ก็ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเหมาะสมค่ะ
ตอบโดย ภกญ. จินตนา แสงโพธิ์
คำถามที่เกี่ยวข้อง
- กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนไม่มา รู้ได้ยังไงว่าไม่ท้อง ?
- กินยาคุมกี่วัน ถึงปล่อยในได้ ?
- ตรวจฉี่ไม่ท้อง แต่ประจําเดือนไม่มาเพราะอะไร ?
- เมนส์มาช้า 1 อาทิตย์ เพราะอะไร ?
- ประจําเดือนไม่มา แต่มีตกขาว ท้องไหม ?
เขียนบทความโดย นพ. ปัญญาวุฒิ ลิ้มสุขวัฒน์